counters
hisoparty

THAI SILK IS THE BEGINING OF THAI FASHION : คุณฟอร์ด - กุลวิทย์ เลาสุขศรี

7 years ago

ด้วยบทบาทหน้าที่ของคุณฟอร์ด - กุลวิทย์ เลาสุขศรี ซึ่งเป็นทั้งบรรณาธิการบริหารของนิตยสารแฟชั่นชั้นนำ Vogue Thailand และยังมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาของพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (Queen Sirikit Museum of Textiles) ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้นำทางด้านวงการแฟชั่นอีกท่านหนึ่ง ที่หากจะทำอะไรก็ตามก็จะเป็นที่กล่าวขวัญถึง และถูกจับตามองของวงการแฟชั่น และด้วยความรู้สึกชื่นชอบผ้าไหมไทยมานาน จึงได้กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อผ้าไหมไทยไว้อย่างน่าสนใจในสกู๊ปพิเศษนี้ว่า

“ตั้งแต่เริ่มต้นมาก็จะเป็นคนที่คลุกคลีกับผ้าไทยมานานแล้ว เพราะเป็นแฟชั่นชนิดแรกของคนไทย ซึ่งถ้าเราพูดถึงแฟชั่นในเมืองไทยเกิดขึ้นมาอย่างไร เราก็ต้องย้อนคิดกลับไปมองตั้งแต่คนทอผ้าเลี้ยงตัวหนอน ปลูกหม่อน แล้วให้หนอนมากินใบหม่อน แล้วก็เอามาย้อมสีธรรมชาติ เอามามัดลาย และเอามาทอเป็นผ้าจนเป็นผ้าไหม นี่คือจุดกำเนิดของผ้าไทย ซึ่งเป็นรากเหง้าของแฟชั่นไทย เพราะฉะนั้นผ้าไทยมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมานานมาก โดยเฉพาะคนที่ชอบแฟชั่น และสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ผ้าไทยในชนบทสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งมีอาชีพเป็นเกษตรกร และใช้วิถีภูมิปัญญาของคนไทยในเรื่องการทอผ้าไหมจนกลายเป็นอาชีพเสริมของเขาได้”

ความภาคภูมิใจและประทับใจในการจัดงาน  ‘Vogue Gala’
“จากการที่ได้มีโอกาสริเริ่มจัดงาน ‘Vogue Gala’ ขึ้นเพื่อยกระดับผ้าไทยท้องถิ่นจากทั่วประเทศ เพราะเห็นว่าเราเป็นนิตยสารหัวนอกและเป็นนิตยสาร Vogue ซึ่งสามารถเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมต่อวัฒนธรรมของต่างชาติกับวัฒนธรรมของไทยเข้าด้วยกันได้ โดยการใช้ผ้าไหมไทยเป็นตัวเชื่อม จึงได้คิดว่าในฐานะที่มีบทบาทของการเป็นบรรณาธิการนิตยสารแห่งนี้แล้ว เราน่าจะนำพาผ้าไหมไทยออกไปสู่สายตาชาวต่างประเทศหรือสายตาดีไซเนอร์ชาวต่างชาติ จึงได้เริ่มโครงการนี้ขึ้นมา แต่ในช่วงเริ่มต้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายมาก เพราะกว่าที่เราจะทำให้เขาเชื่อ ทำให้เขารู้จักผ้าไหมไทย ก็ต้องใช้เวลาในการทำให้เขาเข้าใจในโครงการนี้ ประกอบกับโครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นการนำรายได้จากการประมูลของโครงการไปช่วยโครงการ The Vogue Fashion Fund ซึ่งช่วยสนับสนุนดีไซเนอร์ในเมืองไทย เขาจึงมองเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะฉะนั้นดีไซเนอร์ที่เราไปติดต่อด้วย จึงเข้าใจในหลักการและในสิ่งที่เรากำลังจะทำ และพอเขาได้สัมผัสผ้าไหมไทยแล้ว ก็ทำให้ทุกคนหลงเสน่ห์ และอยากทำโครงการนี้ด้วยกัน

“และครั้งล่าสุดที่จัดงานเป็นครั้งที่ 4 เราก็ได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จเป็นการส่วนพระองค์มาเป็นองค์ประธานในงาน และความประทับใจทุกๆ ครั้งที่จัดงานก็คือ แขกทุกท่านที่มาจะกระตือรือร้นในการหาผ้าไทยมาตัดเป็นชุดราตรีสำหรับมาร่วมในงาน  เพราะทราบว่าภายในงานนี้เรากำลังส่งเสริมการสวมใส่ผ้าไหมไทย ก็คิดว่าเป็นงานที่ดี ซึ่งผ้าที่เราส่งไปให้กับทางดีไซเนอร์ทั้งหมดก็เป็นผ้าไหมมัดหมี่จากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ เพราะฉะนั้นเราก็คิดว่ากำลังทำให้ผ้าไหมมัดหมี่จากอีสานเป็นที่รู้จัก และไม่ว่าดีไซเนอร์ที่เราไปติดต่อ ในอนาคตเขาจะใช้ผ้าไหมไทยหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่สิ่งสำคัญก็คือว่า เราได้ทำหน้าที่เผยแพร่และส่งเสริมให้ผ้าไทยที่ทอโดยชาวบ้านในภาคอีสานเป็นที่รู้จัก”

‘ทอฟ้าผ้าไทย’ ความภาคภูมิใจในการสนับสนุนดีไซเนอร์รุ่นใหม่
“นอกจากการจัดงาน ‘Vogue Gala’ ก็มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน ในรายการ ‘ทอฟ้าผ้าไทย ครั้งที่ 3’’  ก็รู้สึกประทับใจ เพราะได้เห็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่เข้ามาในรายการนี้ เขากระตือรือร้นที่จะรู้จักและอยากรู้จักผ้าไหมไทย พอได้สัมผัสผ้าไหมที่มาจากภาคเหนือหรืออีสาน ทั้งผ้าขิด ผ้าแพรวา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าชาวเขาต่างๆ เขาก็รู้จักนำไปปรับใช้ในดีไซน์ที่ทันสมัย ตรงนี้ถือว่าเราเป็นการปูพื้นฐานให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้รู้จักและเห็นคุณค่าของผ้าไหมไทย สิ่งสำคัญคือไม่อยากให้ลืมรากเหง้าของความเป็นไทย และการส่งเสริมในเรื่องนี้ ในที่สุดจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกรักในรากเหง้าของตัวเอง”

Mix & Match
“ในเรื่องการประยุกต์ผ้าไทย (Mix & Match) ให้เข้ากับการแต่งกายในชีวิตยุคปัจจุบันนั้น จริงๆ แล้วผ้าไหมไม่ได้เป็นผ้าที่ใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษหรือสำคัญเท่านั้น แต่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย อย่างวันนี้ที่ใส่มา ก็คือ ผ้าไหมมัดหมี่ที่นำมาตัดเป็นกางเกง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อันที่จริงคุณสมบัติของผ้าไหม ก็คือ เราสามารถใช้ได้ทุกวัน อาจจะต้องมีการดูแลบ้างแต่ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไรเลย โดยเฉพาะเสน่ห์ของผ้าไหมแต่ละผืนจะมีความแตกต่างกันหมด ทั้งลวดลายและสีก็เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราใส่ ก็คือ เรากำลังสวมใส่งานศิลปะอย่างหนึ่ง”

เลือกผ้าไหมให้เหมาะสม
“การเลือกผ้าไหมไทยให้เหมาะสมกับตนเองและการใช้งานนั้น ต้องบอกก่อนว่าลวดลายผ้าไหมไทยมักจะเป็น Geometric คือเป็นรูปทรงเรขาคณิต บางคนอาจรู้สึกไม่ค่อยคุ้นหรือประหม่าในการหยิบไปใช้ แต่จริงๆ เราเริ่มจากการที่ใช้ลายเล็กๆ ก่อน อย่างตัวสูททักซิโด้ที่นำมาก็เป็นผ้าไหมมัดหมี่ แต่เป็นลายเล็กๆ เราก็เริ่มจากตรงนี้ก่อน และเริ่มจากการใช้เป็นชิ้นบนหรือชิ้นล่างนำมา Mix & Match ก่อน ถ้าเกิดว่าไม่ค่อยมีความมั่นใจในการใส่ทั้งชุดเป็นผ้าไหม ก็เริ่มจากชิ้นเล็กๆ ก่อน เช่น ใช้ผ้าไหมเป็นกระโปรง หรือเบลาซ์ก่อน และถ้าคิดว่าตาผ้าไหมใหญ่เกินไป ก็ให้เลือกที่สี เพราะว่าหลายๆ คนไม่ได้นำผ้าไหมมาใช้เป็นผ้านุ่ง แต่นำมาตัดเป็นเสื้อให้ทันสมัย เราก็เลือกผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นตาเล็กๆ และไม่เลือกใช้โทนสีที่ Color Commoditization มาก เพราะโดยปกติชาวบ้านจะใช้สีจากธรรมชาติที่แวดล้อมในการย้อม ซึ่งบางหมู่บ้านก็จะทอด้วยสีสันสดใส บางหมู่บ้านก็ทอด้วยสีเอิร์ธโทน”

ส่งเสริมคนรุ่นใหม่อนุรักษ์ผ้าไหมไทย
“ขอฝากถึงคนรุ่นใหม่ในเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ผ้าไหมไทย ซึ่งเรื่องนี้เราก็คงได้ยินมาตลอด แต่ไม่ค่อยมีคนหยิบขึ้นมาใช้ แม้กระทั่งดีไซเนอร์เอง พอพูดถึงผ้าไหม เขาก็คิดว่าเป็นโจทย์ยาก เพราะลวดลายบนผ้าไหมมัดหมี่เป็นเรขาคณิต เพราะฉะนั้นเวลาจะคิดออกมาเป็นงานทางด้านแฟชั่นแล้ว ก็ต้องใช้ความเข้าใจพอสมควร แต่ทุกคนก็ควรจะหยิบมาใช้ เพราะนี่คือรากเหง้าและการเริ่มต้นของแฟชั่นไทย และก็เชื่อเลยว่าทุกคนที่ได้หยิบผ้าไหมไทยมาใช้แล้วจะหลงเสน่ห์ และที่สำคัญทุกดีไซเนอร์จากที่ได้คลุกคลีด้วย เริ่มต้นจากการกลัวก่อน แล้วในที่สุดทุกคนก็กลับมาหลงรัก และเป็นหน้าที่ของดีไซเนอร์ทุกคนที่จะทำให้ผ้าไทยเป็นที่รู้จักมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นพอเรามีโครงการผ้าไหมไทยขึ้น ดีไซเนอร์ทุกรุ่นอยากเข้ามาช่วย เพราะทุกคนตระหนักดีว่า พวกเขาคือกระบอกเสียงให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก ผ้าไหมไทย ในรูปแบบบริบทที่มีความทันสมัยเข้าไปรวมอยู่ในการออกแบบด้วย”

แม่แห่งแผ่นดิน
“สุดท้ายเนื่องในโอกาสเป็นเดือนของวันแม่แห่งชาติ และวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทำหน้าที่เป็นพระราชินีตั้งแต่พระชนมายุยังน้อยมากๆ และยังทรงทำหน้าที่เป็นพระราชชนนีให้กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระราชธิดาทั้ง 3 พระองค์ ซึ่งพระองค์ท่านก็ทรงทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในขณะเดียวกันก็เสด็จไปในพื้นที่กันดารหลายๆ แห่งของประเทศไทย เคียงข้างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ทรงตระหนักว่า ยังมีคนยากจนในเมืองไทยอีกเป็นจำนวนมากที่พระองค์ต้องช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งที่พระองค์หยิบยื่นให้กับคนไทยไม่ใช่เงินทอง หรือข้าวของที่นำไปใช้แล้วหมดไป แต่สิ่งที่พระองค์ทรงหยิบยื่นให้คือ อาชีพ เพราะสิ่งเหล่านี้จะอยู่กับชาวบ้านไปอีกนาน และแฝงไว้ด้วยข้อความสำคัญอย่างหนึ่งที่พระองค์ทรงมอบให้ ก็คือ อยากให้ชาวบ้านอนุรักษ์ศิลปะโบราณของไทย นั่นก็คือ การทอผ้าไหม ซึ่งเริ่มจะเลือนหายไป พอพระองค์ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพขึ้นมา พระองค์ก็ทรงเริ่มการพัฒนาการทอผ้าของคนไทย จีงเกิดเป็นศิลปาชีพ เพราะเป็นอาชีพที่เป็นศิลปะ และเป็นอาชีพเสริม ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของพระองค์ที่ทรงมอบให้กับคนไทย และมีอีกหลายอย่างที่ทรงทำก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรักที่พระองค์ทรงมีให้กับคนไทยทุกคน เสมือนพระองค์เป็น ‘แม่ของแผ่นดิน’

Photo By : PRAYUTH
Author By : SARANWALAI

SHARE