counters
hisoparty

ท่านอานันท์ ปันยารชุน : ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Foundation)

9 years ago
Operation-Smile-Foundation_P1 ด้วยบุคลิกที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มและความเมตตาของท่านอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทย อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หลายๆ โครงการการกุศลได้เรียนเชิญท่านเข้าร่วมโครงการนั้นๆ ดังเช่นที่ มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Foundation) ได้รับเกียรติจากท่านมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ ความเป็นมาของโครงการมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม และวัตถุประสงค์ของโครงการ มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม (Operation Smile Foundation) เป็นองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2525 โดยนายแพทย์วิลเลียม แมกกี และภรรยา มีพันธกิจในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ รวมถึงแผลไฟไหม้ และความผิดปกติบนใบหน้าอื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมูลนิธิสร้างรอยยิ้มมีสำนักงานกระจายอยู่ใน60 ประเทศทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย การออกหน่วยลงพื้นที่ให้การผ่าตัดครั้งแรกของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ประเทศไทย จึงได้รับการจดทะเบียนก่อตั้งเป็นองค์กรการกุศล ให้การรักษาผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ที่ยากไร้ อาศัยในพื้นที่ห่างไกลทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันมีการมอบการผ่าตัดเปลี่ยนชีวิตจากมูลนิธิสร้างรอยยิ้มไปแล้วกว่า 9,000 ครั้ง จากความอุตสาหะของคณะแพทย์ พยาบาลอาสาสมัคร และคณะทำงานอาสาสมัครของมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เหตุผลในการเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ของโครงการนี้ ผมรู้จักกับ Operation Smile Foundation ในปี 2539 ตอนนั้นผมได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตัดสินรางวัลสำหรับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชน โดยใช้ชื่อว่า Conrad N. Hilton Humanitarian Prize ซึ่งในปีนั้น Operation Smile Foundation ได้รับรางวัล ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับดร. บิล แมกกี ผู้ก่อตั้ง Operation Smile Foundation และได้ชักชวนให้ทีมงานอาสาสมัครของเขาเข้ามาช่วยเหลือคนไทยที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งทางดร. บิล แมกกีก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย หลังจากนั้นผมก็ได้ช่วยประสานงานกับทีมแพทย์จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเพื่อเตรียมการออกหน่วยช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ในประเทศไทย และทาง Operation Smile Foundation หรือมูลนิธิสร้างรอยยิ้มได้ติดต่อผมเพื่อเชิญให้มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ ซึ่งผมมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนมูลนิธิฯ อย่างเต็มที่ แพทย์และพยาบาลอาสาสมัครที่เข้ามาร่วมทำงานมาจากประเทศใดบ้าง แพทย์และพยาบาลอาสาสมัครหลักๆ แล้ว คือแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครที่อยู่ในประเทศไทย เนื่องด้วยแพทย์และพยาบาลของเรามีความสามารถสูงอยู่แล้ว แต่ในบางโครงการก็อาจจะมีแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครจากต่างชาติเข้าร่วมบ้างเพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยเดินทางมาจากอเมริกา ออสเตรเลีย ฯลฯ
Operation-Smile-Foundation_P2 ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จำนวนเท่าใด และสามารถรักษาได้จำนวนเท่าใดต่อปี ในประเทศไทยโดยเฉลี่ยจะมีเด็ก 2,000 รายต่อปีที่มีภาวะปากแหว่ง หรือเพดานโหว่ซึ่งทางมูลนิธิสร้างรอยยิ้มสามารถมอบการรักษาให้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุน ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิมอบการผ่าตัดให้ได้ประมาณ 500-800 ครั้งต่อปี ขั้นตอนสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษา ผู้ป่วยสามารถติดต่อเข้ามาที่มูลนิธิฯ ได้โดยตรงที่ 02 652 0515-6 หรือติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อขอรับการรักษา ปัจจุบันมีองค์กรใดที่เข้าร่วมช่วยเหลือกับมูลนิธิฯ มีหลายองค์กรที่ให้การสนับสนุน ณ ปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะให้การรักษาได้ทั่วถึงยังมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ทราบถึงสิทธิ์ของเขา ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินค่าเดินทาง อยู่ห่างไกล พ่อแม่มาทำงานในเมือง ผู้ป่วยอยู่กับญาติและญาติไม่สามารถพาไปพบแพทย์ได้ ทางมูลนิธิสร้างรอยยิ้มจะเข้าไปช่วยลดช่องว่าง และเติมเต็มให้กับระบบสาธารณสุขให้เกิดความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ด้วยการเดินทางไปมอบการผ่าตัดให้ถึงที่ ช่วยเหลือค่าเดินทาง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น นอกจากนั้นแล้วทางมูลนิธิยังดูแลด้านการฝึกพูด ซึ่งปัจจุบันจำนวนนักอรรถบำบัด (Speech Therapist)   มีไม่มากเท่าที่ต้องการ ประมาณ 146คนทั่วประเทศ แต่จะมีประมาณ 66 คนที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ได้ โดยส่วนใหญ่จะประจำอยู่ในกทม การฝึกพูดต้องใช้เวลา เพราะต้องแก้ไขการพูดไปเรื่อยๆ อีกทั้งเรายังให้การดูแลด้านทันตกรรม นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยหลายๆ ราย ที่มีปัญหาซับซ้อน อาทิเช่น ความผิดปกติบนใบหน้า แผลไหม้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ทางมูลนิธิเราก็ให้การช่วยเหลือและดูแล ยิ่งไปกว่านั้น ทางมูลนิธิฯ ร่วมมือกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) จัดฝึกอบรมการกู้ชีพขั้นสูง (Advanced Cardiovascular Life Support: ACLS) การอบรมการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support: BLS) และการกู้ชีพขั้นสูงในเด็ก (Pediatric Advanced Life Support: PALS) ให้แก่บุคลากรแพทย์และพยาบาลไทยทั่วประเทศ Operation-Smile-Foundation_P3 ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยในแต่ละปี ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการผ่าตัด ความซับซ้อนของการผ่าตัด ค่าผ่าตัดเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25,000 บาทต่อการผ่าตัดหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ทางมูลนิธิก็ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีแผลไหม้ น้ำร้อนลวก ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาค่อนข้างสูง ประมาณหลักแสนถึงล้านบาท นิยามความสุขของท่าน และอะไรที่เป็นความสุขที่สุดของท่าน การให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และไม่มีเงื่อนไข อย่างปัจจุบันนี้ได้เข้ามาช่วยมูลนิธิฯ ผมก็มีความสุขแล้วที่ได้สร้างชีวิตใหม่ และรอยยิ้มให้กับเด็กๆ “การมอบรอยยิ้มให้เด็กๆ เปรียบเสมือนการเปลี่ยนชีวิตของเขาเหล่านั้น เป็นการให้เขาเหล่านั้นได้มีชีวิตใหม่ที่สดใส และมีอนาคตที่ดีขึ้น” ท้ายนี้ท่านอานันท์ ปันยารชุน ได้ฝากเสริมเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าร่วมสมทบทุนกับโครงการของมูลนิธิสร้างรอยยิ้มนี้ สามารถบริจาคผ่านธนาคารดังนี้ ชื่อบัญชีมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม ธนาคารกรุงเทพสาขาซอยอารีบัญชีเลขที่ 127-435422-2 ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาเพลินจิตบัญชีเลขที่ 059-285134-9 ธนาคารกรุงศรีสาขาเพลินจิตทาวเวอร์บัญชีเลขที่ 285-135204-6 ธนาคารกรุงไทยสาขาการไฟฟ้านครหลวงเพลินจิตบัญชีเลขที่ 092-013280-4 หรือสามารถติดต่อได้ตามที่อยู่ข้างล่างนี้ มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม 29/1อาคารปิยะเพลส หลังสวนห้องเลขที่13A/2ชั้น13 ซอยหลังสวน ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ10330 โทรศัพท์:02 652 0515-6 โทรสาร:02 652 0517 อีเมล:thailand@operationsmile.org เว็บไซต์:www.operationsmile.or.th Operation-Smile-Foundation_P4

SHARE