counters
hisoparty

พูดไม่ชัด เพราะ.....ฟัน

6 years ago

การพูดออกเสียงนั้น เกี่ยวข้องกับริมฝีปาก ลิ้น เพดานปาก และฟัน เสียงที่เปล่งเป็นคำพูดต่างๆ เกิดจากการออกเสียงผ่านช่องปาก อวัยวะในช่องปากจึงมีบทบาทต่อการออกเสียงคำต่างๆ ฟันในช่องปากทุกซี่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟันหน้า) มีส่วนในการบังคับเสียงร่วมกับริมฝีปาก ลิ้น และฟัน ทันตแพทย์จะเลือกใช้การออกเสียงคำต่างๆ ในการบูรณะฟัน เพื่อกำหนดความสูงของฟันหลัง ร่วมถึงความยาวและตำแหน่งของฟันหน้า หากท่านไปทำฟันมา และพบว่า การพูดของท่านผิดปกติไป อาจเป็นไปได้ว่า ฟันที่ทำมานั้น อาจมีลักษณะที่ไม่เหมาะสม อาจมีความสูงหรือความยาวที่ผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหา...... พูดไม่ชัดได้

ในกรณี ที่ท่านไปทำฟันเพียงซี่หรือสองซี่ อาจไม่มีปัญหาต่อการพูดใดๆ แต่ถ้าเมื่อไรที่ท่านไปทำฟันหลังมาหลายซี่ หรือทำฟันหน้าบางซี่นั้น (นอกจากจะตรวจสอบว่าเคี้ยวได้ดีไหมแล้ว) ควรทำการตรวจสอบเสียงพูดต่างๆ ว่าสามารถพูดได้ชัดไหม

คำที่ใช้ในการทดสอบ เสียงพูด ได้แก่ เสียง “ฟ ฝ”

คำที่ใช้ในการทดสอบ ได้แก่ คำว่า
“ฝอฝี....ฟันเฟือง...ฝักแฟง”
หรือคำในภาษาอังกฤษ
“Forty four, Forty five, Forty six”
หากพูดไม่ชัด อาจเพราะฟันหน้าที่ทำมา มีฟันยาวเกินไป หรือมีฟันยื่นเกินไป

ทั้งนี้ เมื่อพูดคำที่ใช้เสียง “ฟ ฝ” นั้น ฟันบนคู่หน้าจะมาแตะที่รอยต่อส่วนเปียกและส่วนแห้งของริมฝีปากล่าง หากฟันยื่นเกินไป หรือยาวเกินไป จะทำให้ออกเสียงได้ไม่ชัด

ในบุคคลทั่วไป ที่มีฟันยื่นผิดปกติ ก็จะมีปัญหาในการออกเสียง “ฟ ฝ” ด้วย สามารถเข้าพบทันตแพทย์เพื่อรักษาฟันนั้นๆ ด้วยการจัดฟัน หรือบูรณะฟัน

เสียง “อี” ยาวๆ

ทดสอบโดยให้ออกเสียงคำว่า อี ลากเสียงนานๆ

อี.....อี.....อี.....อี.....อี.....อี.....อี.....อี.....อี

เสียงนี้ใช้ตรวจสอบความยาวฟันหน้า ว่ามีความยาวฟันหน้าเหมาะสมกับวัยไหม เมื่อออกเสียงนี้ ริมฝีปากบนและล่างจะห่างจากกัน เผยให้เห็นฟันหน้าบนตั้งแต่ฟันกรามน้อยข้างหนึ่งถึงฟันกรามน้อยอีกข้างหนึ่งในผู้ที่อายุน้อย เมื่อออกเสียงอี ควรมองเห็นความยาวฟันหน้าบนไม่ต่ำกว่า 50% หากมีความยาวน้อย สามารถบูรณะฟันให้ฟันหน้าบนยาวขึ้นได้ถึง 80% ของความยาวฟันหน้าเมื่อออกเสียงอีในผู้สูงอายุ จะมองเห็นความยาวฟันหน้าบนน้อย เนื่องจากกล้ามเนื้อรอบริมฝีปากเริ่มหย่อนยานสามารถบูรณะฟันให้ฟันหน้าบนยาวขึ้นได้ไม่เกิน 50% ของความยาวฟันหน้าเมื่อออกเสียง E ไม่เช่นนั้น ฟันที่บูรณะจะให้ความรู้สึกว่ายาวเกินไป

เสียง “ส เสือ” หรือ เสียง S

ทดสอบโดยให้ออกเสียงคำว่า
“สี่แสนสี่หมื่นสี่พันสี่ร้อยสี่สิบสี่”
หรือคำในภาษาอังกฤษ
“She sell sea shell on the seashore”

เสียง ส เสือ คือเสียงลมที่ถูกขับออกจากช่องปาก โดยเสียงจะถูกขับออกมาด้านหน้าผ่านช่องระหว่างฟันหน้าบนและฟันหน้าล่าง โดยมีลิ้นวางสัมผัสเบาๆ ที่ด้านเพดานของฟันคู่หน้าบน ขากรรไกรล่างจะขยับออกมานำให้ปลายฟันหน้าล่างจะชนสัมผัสปลายฟันหน้าบนพอดี

หากพูดไม่ชัด อาจเกิดจาก
• ทำฟันหน้ามาแล้วยาวเกินไป หรือฟันบนที่ทำยื่นเกินไป ในขณะที่ฟันล่างที่ทำมาหุบเข้าด้านลิ้นมากเกินไป
• ฟันหลังที่ทำมาสูงมากเกินไป ทำให้เมื่อออกเสียง ส เสือ ฟันหลังจะชนและสบกระแทกกัน

พูดไม่ชัด เพราะเนื้อยึดใต้ลิ้น
นอกจากฟันที่ยาว สูง เรียงตัวไม่ดี ซึ่งทำให้พูดไม่ชัดแล้ว ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พูดได้ไม่ชัด ทั้งนี้เกิดเพราะเนื้อยึดใต้ลิ้นเกาะใกล้ส่วนปลายลิ้น ทำให้ไม่สามารถยกลิ้นสัมผัสส่วนเพดานปาก ส่งผลให้พูดคำควบกล้ำได้ไม่ชัดเจน เพราะการออกเสียง “ร” และ “ล” นั้นจะต้องนำลิ้นไปแตะที่บริเวณเพดานปาก ก่อนออกเสียงดังกล่าวออกมา หากเนื้อยึดใต้ลิ้นเกาะใกล้ส่วนปลายลิ้น จะทำให้ไม่สามารถกระดกลิ้น และออกเสียงได้ถูกต้อง ในสภาวะเนื้อยึดใต้ลิ้นเกาะใกล้ส่วนปลายลิ้นนั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการตัดเนื้อยึดใต้ลิ้นออกบางส่วน ก็จะทำให้ลิ้นมีอิสระในการเคลื่อนไหวขึ้น-ลงได้ดี ทั้งนี้ สามารถปรึกษาทันตแพทย์ ให้ช่วยพิจารณาตัดเนื้อยึดใต้ลิ้นที่เกาะใกล้ส่วนปลายลิ้นออก ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ง่ายและแผลหายเร็ว ส่งผลดีในระยะยาวต่อผู้ป่วยได้ ความชัดเจนของเสียงพูดในการสื่อสารนั้น เกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ เสียงที่เปล่งเป็นคำพูดต่างๆ เกิดจากการออกเสียงผ่านช่องปาก อวัยวะในช่องปากจึงมีบทบาทต่อการออกเสียงคำต่างๆ ริมฝีปาก ลิ้น เพดานปาก และฟันมีส่วนในการบังคับเสียง หากพบความผิดปกติในการออกเสียง สามารถตรวจสอบกับแพทย์และทันตแพทย์ได้

Story by รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE