counters
hisoparty

ฟันคุดเกิดจากอะไร ทำไมจึงต้องถอน มาหาคำตอบกัน!

5 years ago

ฟันคุดเป็นการเรียกฟันในช่องปากที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาในช่องปากได้ สาเหตุส่วนใหญ่อาจเกิดจากขากรรไกรมีพื้นที่ไม่พอ ทำให้ฟันซี่นั้นๆไม่สามารถขึ้นเบียดออกมาในช่องปากได้ ฟันที่พยายามขึ้นจะมีแรงดันมหาศาล ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้มากฟันที่คุดนั้นอาจเป็นฟันหน้าหรือฟันกรามน้อยซี่ใดซี่หนึ่ง แต่ฟันคุดที่พบมากที่สุด เป็นฟันคุดของฟันกรามใหญ่ซี่สุดท้ายในช่องปากคำถามคาใจทุกคนก็คือ ฟันคุดซี่สุดท้ายนี้ทำไมทำให้เราเจ็บปวดรวดร้าวมากฉบับนี้ เรามารู้จักฟันคุดและตอบคำถามว่าฟันคุดทำไมต้องถอนออกกัน

เวลาฟันคุดอักเสบจะทรมานมาก เราอาจคิดว่าฟันซี่เดียว แถมไม่ได้ขึ้นมาให้เราใช้งาน จะทรมานเจ้าของได้มากถึงขนาดนี้ ทานยาแก้ปวดธรรมดาก็เอาไมอยู่ อักเสบเร็วมาก หน้าก็ระบมไปทั้งหน้าทานข้าวก็ไม่ได้ เพราะปวดแผล และอ้าปากไม่ขึ้น ต้องทานยาแก้ปวดชนิดแรงๆ และยาแก้อักเสบ พอหายปวดก็ดีใจมาก แต่ก็ไม่กล้าไปผ่าออก เพราะกลัวเข็มและที่สำคัญหมอฟันช่างน่ากลัวเหลือเกิน ช่างเป็นช่วงเวลาที่ทรมานมากๆ และแล้วอีกไม่นานมันก็จะปวดขึ้นมาอีก เหล่านี้คงเป็นความคิดของหลายๆคนต่อฟันคุดซี่นี้ที่ทำกับเจ้าของได้อย่างเจ็บแสบจะทิ้งไว้ให้มันทรมานเป็นระยะ หรือให้หมอฟันถอนออก(ทรมานครั้งเดียว) ดี คงเป็นคำถามที่หลายคนอยากได้คำตอบมาก เพื่อใช้ในการชั่งน้ำหนักกันถ้าอย่างนั้นเราคงต้องทราบว่าความทรมานของทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

ฟันคุด ทำไมจึงเป็นอันตราย
ฟันคุดเป็นฟันที่ไม่ได้ขึ้นตรงๆ ตามฟันปกติทั่วไป ฟันกรามใหญ่ซี่สุดท้ายนี้ มีช่วงอายุที่ฟันจะขึ้นได้พบตั้งแต่อายุ 15-23 ปี โดยฟันอาจจะขึ้นมาในช่องปากไม่ได้ โดยทิศทางของตัวฟันจะมีแนวการขึ้นที่เอียงๆ หรือพุ่งเข้าหาฟันกรามซี่ที่สอง หรือขึ้นได้บางส่วนแบบปริ่มๆ เหงือก หรือขี้เกียจสุดๆ คือไม่ยอมขึ้นมาให้เห็นส่วนของตัวฟันเลย
ฟันคุดนี้ แรงงอกของฟัน จะไปดันฟันกรามใหญ่ซี่ที่สองทำให้มีอาการปวดฟัน เหงือกที่คลุมฟันคุดก็อาจจะบวม เมื่อทานอาหาร อาหารจะกระแทกเหงือกร่วมกับ เศษอาหารอาจจะไปอุดติดบริเวณเหงือก ทำให้หมักหมมและเหงือกก็จะอักเสบบวมแดง อาจจะอักเสบบวมจนหน้าบวมโย้ได้ อาจทำให้อ้าปากไม่ขึ้น เคี้ยวอาหารก็ไม่ได้เพราะฟันบนกัดลงมาบนเหงือกบวมๆ ที่คลุมฟันอยู่ ไม่ได้ต่างอะไรจากเอามือไปวางบนทั่งแล้วใช้ค้อนตี อาการบวมมันเริ่มจากจุดนี้ลามไปถึงกระพุ้งแก้ม และลามไปจนทำให้หน้าบวม เนื่องจากหนองที่มาจากการอักเสบของเหงือกไหลย้อนไปสู่เนื้อเยื่อใต้เหงือก เข้าสู่ช่องว่างในใบหน้าเรา
กรณีที่ฟันคุดไม่ได้ทำให้เหงือกอักเสบหรือบวมแต่ขึ้นมาในช่องปากไม่ได้ ฟันซี่ใหญ่นอนฝังอยู่ในขากรรไกร อาจมีผลทำให้มวลกระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางลง มีโอกาสหักได้ง่าย ละลายรากฟันข้างเคียงจากการดันตัว ของมัน มีโอกาสกลายเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอก ทำให้ฟันผุได้ง่าย

การรักษาฟันคุด ทำอย่างไร
ทันตแพทย์จะผ่าตัดหรือถอนฟันคุดออก ขึ้นกับลักษณะความรุนแรงของฟันคุดและตำแหน่งของฟันที่ฝังอยู่ในกระดูก กรณีฟันคุดที่ฝังอยู่ในกระดูกทั้งหมด ทันตแพทย์จะผ่าตัดเปิดเหงือกที่คลุมฟันออกแล้วทำการกรอกระดูกที่คลุมฟันออก แล้วทำการแบ่งฟันออกจากเบ้าฟัน โดยในขั้นตอนการผ่าทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การระงับประสาทที่ดี อาการปวดของเจ้าของฟันจะเกิดหลังจากยาชาหมดฤทธิ์ อาการบวมหลังผ่าตัด ขึ้นกับปริมาณความกระทบกระเทือนต่อกระดูกและเหงือก ซึ่งจะเป็นไปตามลักษณะฟันคุดของแต่ละบุคคล การหายของแผลจะรวดเร็วและไม่มีอาการอักเสบอีกต่อไป การผ่าตัดฟันคุดออกไปจึงเหมือนการตัดไฟ แต่ต้นลม
เมื่อมีฟันคุด ไม่ควรรอให้มีอาการบวมอักเสบก่อนแล้วถึงจะไปเอาออก การผ่าตัดฟันคุดออกในแต่ละรายนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการคุดของฟัน ทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าควรผ่าตัดออกหรือสามารถเก็บฟันคุดไว้โดยไม่ต้องผ่าตัดออก จึงควรปรึกษาทันตแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ ถึงแม้จะต้องผ่าตัดเอาออก ทันตแพทย์ก็จะมีวิธีการผ่าเอาฟันคุดออกโดยการระงับประสาททำให้ ระหว่างในขณะรักษา ผู้ป่วยจะไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ แต่หลังจากการรักษา ก็อาจจะมีการปวดระบมของแผลได้ อาจมีอาการแก้มบวมรับประทานอาหารได้ลำบาก หลังผ่าตัดประมาณ 2-3 วัน อาการต่างๆ ก็จะทุเลาลง และจะเริ่มหายเป็นปกติ

การดูแลรักษาหลังผ่าฟันคุด
อาการบวมมากหรือน้อยหลังจากการถอนฟันขึ้นอยู่กับความยากง่ายของฟันซี่นั้นๆ แต่ก็มีวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยลดอาการบวม โดย 48 ชั่วโมงแรก ให้ทำการประคบแก้มข้างที่ผ่าฟันคุดด้วยน้ำเย็นหรือถุงเย็นหลังจากนั้นให้เปลี่ยนเป็นประคบด้วยน้ำอุ่นต่อ อาการบวมที่เกิดขึ้นก็จะหายได้เร็วขึ้น

ทำไมหลังผ่าฟันคุด จึงปวดมาก
เป็นเพราะมีการกรอกระดูกที่คลุมตัวฟันออกไป ทำให้เกิดอาการปวดหลังจากการผ่า หากไม่มีการกรอตัดฟันหรือกรอกระดูก อาการปวดก็จะน้อยกว่า อาการปวดนั้นจะค่อยๆ ลดลงภายใน 1-2 วัน การบวมอาจทให้อ้าปากได้ลำบาก การผ่าฟันคุดไม่จำเป็นจะต้องทำการดมยาสลบ ใช้การให้ยาชาเฉพาะตำแหน่งก็พอ

ควรจะผ่าฟันคุดเมื่อใด
การผ่าฟันคุดในวัยหนุ่มสาวมักจะไม่ค่อยพบปัญหาแทรกซ้อนหลังผ่ามากนัก เพราะแผลหายเร็วกว่าปล่อยทิ้งไว้ และฟันคุดอาจมีรากฟันที่สั้น เนื่องจากฟันยังสร้างรากไม่สมบูรณ์ แต่ในผู้สูงอายุ ฟันจะติดแน่นกับกระดูก และรากฟันคุดก็อาจมีการสร้างที่สมบูรณ์แล้ว ทำให้ผ่าตัดออกยากขึ้นผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดมีมากกว่า หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ความเสี่ยงก็มีมากขึ้นตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาผ่าก็เมื่อมีอาการ ซึ่งในขณะนั้นมักจะมีการอักเสบ ปวด เป็นหนอง และอ้าปากได้น้อยทำได้ยากและมีปัญหาได้มากกว่าเมื่อยังไม่มีอาการ

ข้อปฏิบัติหลังการถอนฟันหรือผ่าตัดฟันคุด
• ไม่ควรรบกวนบริเวณแผล
• ห้ามบ้วนปากแรงๆ เพราะแผลจะขยับและเลือดออก ให้บ้วนปากเบาๆ เท่านั้น
• กัดผ้าก็อสไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังนำผ้าก็อสออกแล้วพบว่า เลือดยังไหลไม่หยุดให้กัดผ้าเพิ่มอีก15 -30 นาที
• ในวันแรกหลังการผ่าตัดควรนอนหมอนสูงเพื่อลดการบวม ควรทานอาหารอ่อนเช่น ข้าวต้ม ป้องกันเศษอาหารไปติดบริเวณแผล
• สองวันแรกควรทานยาแก้ปวดทุก 4-6 ชั่วโมงและประคบน้ำเย็น
• รับประทานยาแก้อักเสบตามที่แพทย์สั่ง อย่างเคร่งครัด
• แปรงฟันบริเวณอื่นที่ไม่ได้ผ่าฟันตามปกติ แต่ควรระมัดระวังไปกระทบกระเทือนแผล และไม่บ้วนน้ำ แรงๆ เพราะจะทำให้ clot เลือดหลุดออกได้ จะมีเลือดไหลอีก
• วันที่ 3 หลังการผ่าตัดให้อมน้ำอุ่นบ้วนปากบ่อยๆจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และประคบน้ำอุ่น
• การบวมเป็นจ้ำเขียวเป็นการตอบสนองตามปกติของร่างกาย แต่ถ้ามีอาการบวมมากให้ปรึกษาแพทย์
• ไม่ควรสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์

STORY BY รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE