counters
hisoparty

โรคข้อต่อขากรรไกร (TMD) ต้องรักษา.... ก่อนสายเกินแก้

4 years ago

ข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular joint) เป็นข้อต่อระหว่างฐานกระโหลกศรีษะและขากรรไกรล่าง ข้อต่อนี้จะมีตำแหน่งอยู่ที่หน้ารูหูประมาณ 1 เซนติเมตร หากเราใช้นิ้วมือแตะที่ตำแหน่งหน้าหูและอ้าปากกว้าง ก็จะรู้สึกว่ามีกระดูกเคลื่อนดันผิวหน้าออกด้านข้าง ตำแหน่งนี้ ก็คือตำแหน่งของข้อต่อขากรรไกรนั่นเอง

ข้อต่อขากรรไกร มีความสำคัญเหมือนข้อต่อส่วนต่างๆ ในร่างกาย เช่นข้อต่อหัวเข่า ข้อศอก แขน ขา หากมีการสึกหรอจากการใช้งาน ก็จะมีอาการเจ็บปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหว ส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันได้ ข้อต่อขากรรไกรนั้นหากมีปัญหา ก็จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดที่หน้าหู หรือกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ตั้งแต่ขมับไปถึงส่วนคอได้ ข้อต่อขากรรไกรนั้น เป็นส่วนที่หัวข้อต่อขากรรไกรล่าง วางประกบในเบ้าของส่วนฐานกระโหลกหน้ารูหู โดยระหว่างกระดูกข้อต่อขากรรไกรและเบ้าที่ฐานกระโหลก จะมีข้อกระดูกอ่อนรูปร่างคล้ายเบ้า หวํ๋าที่กลางแผ่นกระดูกอ่อน กั้นระหว่างกระดูกทั้งสอง และแผ่นกระดูกอ่อนนี้จะเคลื่อนไหวหน้าหลังได้ เมื่อมีการอ้าปาก หุบปาก หรือเคลื่อนขากรรไกรซ้าย ขวา ทำให้การเคลื่อนไหวคล่องและไม่เกิดปัญหาต่อข้อกระดูกแข็งทั้งสองส่วน แผ่นกระดูกอ่อนนี้ มีกล้ามเนื้อบดเคี้ยวมาเกาะ มีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยงและประสานเป็นระบบข้อต่อที่มีความซับซ้อนมาก ปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถทำการถ่ายเปลี่ยนข้อต่อขากรรไกรได้เหมือนข้อเข่าหรือข้อสะโพกได้ เพราะฉะนั้น หากข้อต่อขากรรไกรพังเสียหาย เราก็ได้แต่รักษาตามอาการไปเท่านั้น ต้องทนทุกข์ทรมานไปตลอดชีวิต การดูแลรักษาข้อต่อขากรรไกรให้ดี เพื่อให้ใช้งานได้ดีที่สุดจนเราอายุมากๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

อาการที่บ่งบอกว่าข้อต่อขากรรไกรอาจเริ่มมีปัญหา ได้แก่ เจ็บหน้าหู เมื่ออ้าปาก หุบปาก เคี้ยวอาหารแข็งแล้วเจ็บหน้าหูไม่ใช่ฟัน อ้าปากแล้วมีเสียงคลิ้กหน้าหู หรือเสียงกรอบแกรบ อ้าปากไม่ขึ้น หรืออ้าปากได้ลำบาก (คนปกติจะอ้าปากได้กว้างประมาณ 50 เซนติเมตร หรือสามารถใส่นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางสามนิ้วในแนวตั้ง เข้าปากได้) ปวดกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าตั้งแต่ขมับไปคอ และอ่อนล้าบริเวณใบหน้าหากเริ่มมีอาการข้างต้นเหล่านี้ แนะนำให้รีบเข้าพบทันตแพทย์ เพราะอาการจากข้อต่อขากรรไกรมักจะมีสาเหตุเริ่มมาจากฟัน หากรักษาให้หายได้เร็ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะถูกเยียวยา และข้อต่อก็จะเป็นปกติดีต่อไป

อาการรุนแรง ที่บ่งบอกว่า ข้อต่อขากรรไกร มีปัญหารุนแรง ต้องรักษาเร่งด่วน ได้แก่
• อ้าปากไม่ขึ้นเลย
• อ้าปากแล้วขากรรไกรค้าง หุบปากไม่ลง

อาการทั้งสองนี้ จะพัฒนามาจากอาการข้างต้นที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา โดยปล่อยให้อาการเกิดต่อเนื่อง จนข้อต่อกระดูกอ่อนของขากรรไกรหลวมหรือหลุดจากเบ้า ไม่กลับคืนตำแหน่ง จะมีอาการเจ็บปวดอย่างมาก และเมื่อรักษาแล้วก็ไม่หายขาด มักจะเป็นอีกเป็นระยะๆ

โรคข้อต่อขากรรไกรนั้น เป็นกลุ่มอาการของโรค ภาษาอังกฤษเรียกว่า Temporomandibular joint disorder หรือ TMD พบได้ในช่วงอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (อาจเพราะผู้หญิงเครียดง่ายกว่าผู้ชาย) มักพบในคนที่มีฟันสึกเยอะๆ หรือฟันหายไปหลายซี่ พบในคนที่ชอบกินอาหารแข็ง เหนียว ที่การกัดบดอาหารจะเพิ่มความเครียดกับข้อต่อขากรรไกร หรือในคนที่นอนกัดฟัน หรือกัดขบฟันเมื่อเครียด และในช่วงที่มีภาวะบ้านเมือง มีปัญหา น้ำท่วมชุมนุม ก็พบคนไทยเป็นโรค TMD มากกว่าช่วงบ้านเมืองสงบสุขการรักษาของหมอฟัน มีตั้งแต่การจัดการกับฟันที่เสียหายและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค การใส่เฝือกฟันเพื่อการรักษา หรือการคุยให้ความรู้และปรับพฤติกรรมการนอน การกินอาหาร เป็นต้น



ในกรณีที่เป็นรุนแรงมาก อาจต้องรักษาร่วมกับการให้ยา ทั้งยาทานและยาฉีดเข้าข้อต่อขากรรไกร หรือฉีดโบท็อกซ์ที่กล้ามเนื้อบดเคี้ยว เพื่อลดอาการให้หายอย่างฉับพลัน การผ่าตัดนั้น เป็นทางเลือกสุดท้าย หากข้อต่อเสียหายอย่างหนัก แต่จากงานวิจัย ผลสำเร็จก็ยังไม่มากอยู่ดี ดังนั้น การดูแลแก้ไขแต่เนิ่นๆ นั้น จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด

แล้วพบกันใหม่ครับ

Story By รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงามและทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE