counters
hisoparty

YOU EVER LIVE ONCE - คุณศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ

4 years ago

ใครจะรู้ว่า ‘YELO HOUSE’ ที่กลายมาเป็น Creative Space ยอดฮิตอย่างทุกวันนี้ เคยถูกทิ้งให้รกร้างเดียวดายมาหลายสิบปีจนวันหนึ่งได้ถูกรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง จากกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ 4 คน ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ บุคคลที่เราจะมาพูดคุยกับเขาในวันนี้ คุณเหลียง - ศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท Atelier Of Architects

‘YELO HOUSE’
“ง่ายๆ เลยครับ สำหรับ ‘YELO HOUSE’ ที่ตั้งชื่อว่า HOUSE คือหมายถึง บ้าน เพราะเราคิดว่า คำว่าบ้านนั้นให้มิติที่น่าสนใจ เหมือนกับเราเปิดบ้านของเราต้อนรับเพื่อน และเป็นคำที่รู้สึกว่าทำให้เกิดอะไรขึ้นที่นี่ก็ได้ บางคนเขาพูดถึง ‘YELO HOUSE’ ว่าเป็นอะไรก็อยู่ที่ว่าเขาไปเจอมุมไหน ถ้ามาดูงานศิลปะก็จะเรียกที่นี่ว่าเป็นแกลเลอรี่ บางคนมาทานอาหารที่ YELO CAFE ก็คิดได้ว่า ‘YELO HOUSE’ เป็นร้านอาหาร ซึ่งผมก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้มันเป็นแบบนี้ แต่มันก็สนุกดีเหมือนกันครับ ถ้าย้อนกลับไปถามว่า ‘YELO HOUSE’ คืออะไร ผมคิดว่ามันเป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผมกับคนที่อยู่แถวนี้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีครับ

“ผมอยู่แถวนี้มา 20 กว่าปี และผมเห็นโกดังนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปไหนมาไหนเห็นตลอด เห็นระยะไกลบ้าง ใกล้บ้าง จนเมื่อได้มาเช่าออฟฟิศอยู่ที่ตึกตรงข้ามก็ได้เห็นใกล้ขึ้น ผมรู้สึกชอบที่นี่มาตลอดนะ ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยเห็นข้างในชัดๆ เลย ถ้าจะมีเห็นบ้างก็จากการมองผ่านตามช่องของประตูเหล็กแว้บๆ เห็นว่าข้างในมีสกายไลท์ แต่ผมไม่เคยเห็นมันเต็มตาจริงๆ และเพิ่งมีโอกาสได้เข้ามาข้างใน และเห็นทุกอย่างครั้งแรกเมื่อสัก 4 ปีที่แล้วก่อนที่จะมาเริ่มทำโปรเจกต์ตรงนี้ครับ สิ่งที่ทำให้ผมชอบที่นี่ก็คือ หลังคาฟันเลื่อย และสกายไลท์ เพราะมันให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับแกลเลอรี่ที่นิวยอร์ก ผมคิดเลยว่าแสงมันต้องดีแน่ๆ ซึ่งตอนแรกรู้แค่นั้นจริงๆ ครับ นอกนั้นไม่รู้อะไรเลย ขนาดความกว้าง หรือแม้กระทั่งใครเป็นเจ้าของ (หัวเราะ)

“พอเราได้มีโอกาสทำโครงการฯ นี้แล้ว ผมต้องบอกเลยว่าผมเปลี่ยนแปลงที่นี่น้อยมาก หลายอย่างแทบจะเหมือนเดิม คือผมพยายามออกแบบ แบบไม่ออกแบบ พยายามใส่ของใหม่ไปแล้วให้มันหาย ซึ่งของใหม่ที่เห็นอย่างเช่น ราวกันตก ประตู กระจก หน้าต่าง ผมพยายามให้มันสีเข้มๆ เวลามองแล้วให้มันหายไปเลย นอกนั้นตรงพื้นที่เราเหยียบพวกนี้ไม่ได้ทำใหม่นะครับ สีเหลืองในนี้คือของเก่าเป๊ะ ไม่ได้ทาทับเลย สำหรับผมที่นี่ตอนนี้ไม่ได้ต่างจากภาพแรกที่ผมเห็นนะ แค่ว่าภาพแรกมันรก มีขยะเยอะ แต่ตอนนี้สิ่งที่เปลี่ยนไปแน่ๆ คือ มันกลับมามีชีวิต จากสถานที่ที่ไม่มีคนเข้ามา 20 ปี ในวันแรกที่เปิดนิทรรศการของพี่ป๊อด – ธนชัย อุชชิน  มีคนเข้ามา 300 คน คือเพื่อนพี่ป๊อดเพียบเลย ศิลปินใหญ่ๆ อย่าง อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ก็มาเพราะมาดูงานพี่ป๊อด ซึ่งผมตกใจมาก อธิบายไม่ถูกเลยครับ”

 

ชื่อของ ‘YELO HOUSE’ มาจากอะไร
“จริงแล้วชื่อที่นี่มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนหรอกครับ มันมาจากสีเหลืองนี่แหละ เพราะว่ามันเป็นภาพแรกที่มองเข้ามา สิ่งที่เด่นแล้วรู้สึกว่าเป็นภาพจำลืมไม่ลงของที่นี่ก็คือเสาสีเหลืองกับกราฟิกสีเหลือง แต่ถ้าเขียนที่นี่ว่า YELLOW ธรรมดา เสิร์ชหาในกูเกิ้ล ที่นี่ก็จะหายไปเลย เราจึงเลือกคำว่า YELO ซึ่งมันก็คล้ายๆ เป็นคำล้อเลียนกับคำว่า YOLO น่ะแหละ แต่ผมรู้สึกว่า YELO (You Ever Live Once) มันเพราะกว่าคำว่า (You Only Live Once) ผมรู้สึกว่าพอฟังคำว่า Only รู้สึกว่ามันปิด คุณมีชีวิตได้แค่ครั้งเดียว แต่คำว่า Ever มันหมายถึงว่า คุณมีชีวิตอยู่นะ มันรู้สึกผ่อนคลายกว่าแล้วก็เปิดมากกว่า อีกอย่าง YELO มันจำง่ายเวลาสะกดมีตัวอักษรแค่ 4 ตัว เลยคุยกันกับพี่ๆ พาร์ทเนอร์สรุปเป็นเอกฉันท์เป็น YELO ครับ”

ส่วนตัวคุณเป็นคนใช้ชีวิตแบบ You Ever Live Once?
“แน่นอนว่า You Ever Live Once อยู่แล้วแหละ ผมคิดว่าที่จับพลัดจับผลูตัดสินใจมาทำตรงนี้ ลงเงินลงแรง ลงสมาธิอะไรต่างๆ มา มันก็ใช่แล้วแหละครับ” (หัวเราะ)

การบริหารที่นี่เหมือนหรือแตกต่างกับการบริหารงานที่อื่น
“จริงๆ ผมไม่กล้าเรียกที่นี่ว่าเป็นธุรกิจ หรือว่าเป็นการบริหารงานเลย สำหรับผมที่นี่ ที่เราคุยกันกับพาร์ทเนอร์ เราเห็นเป็นบ้าน เราเห็นเป็นเพื่อน เราไม่เคยมีการตั้งค่า KPI เป้าหมายยอดขายอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ เราแค่ให้เป็นที่ที่อยู่รวมกันของเพื่อนๆ มีขาดเหลืออะไรเราก็คุยกัน ปาร์ตี้กัน เถียงกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง เป็นเพื่อนกัน ทุกคนเป็นคนที่เราอยากเจอ ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็น Business แบบนั้น เพราะฉะนั้นมันคงไปเปรียบเทียบกับธุรกิจอะไรอย่างอื่นที่เราดูไม่ได้

“ส่วนตัวผมว่า Benefit มันไม่ได้เป็นเงินอย่างเดียว ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้มันมีรายได้ มันก็มีโอกาสเข้ามาเรื่อยๆ มีคนมาชวนทำนู่นทำนี่อยู่เรื่อยๆ อย่างล่าสุด ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่เซอร์ไพรส์ผมมาก คือเมื่อสักเดือนสองเดือนมานี้ มีกลุ่มคนมาจัดกิจกรรมเต้นแทงโก้ที่นี่ ซึ่งผมไม่คิดว่ากลุ่มคนเต้นแทงโก้จะสนใจมาเต้นที่แกลเลอรี่นี้ แต่เขาก็มาเป็นกลุ่มเป็นชาวต่างชาติ แต่งตัวดีไม่ใช่แต่งตัวแพงนะ แต่เป็นคนที่ดูรุ่มรวย เนี้ยบๆ ทานไวน์ ดู Classy มาก และอีกกลุ่มเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนชื่อกลุ่ม NOOK เขามาทำเป็นกิจกรรม 4 วัน โดยมีกิจกรรมย่อยๆ ในแต่ละวัน สัก 10 กว่ากิจกรรม เป็นกิจกรรมที่บำบัดความรู้สึกผู้คน นอกนั้นบางทีก็เป็นกลุ่มมาร้องเพลงบ้าง มาฝึกโยคะร่วมกันบ้าง มีหลากหลายมากครับที่มาทำกิจกรรมที่นี่ คือบางอย่างก็เป็นเหมือนการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เราเองก็ไม่เคยรู้จักด้วยครับ ซึ่งในอนาคตผมคิดว่าน่าจะมีอะไรใหม่ๆ มาอีกมากมาย”

‘YELO HOUSE’ เป็นตัวเชื่อมโยงของคนหลากหลายกลุ่ม
“ผมว่าแกนกลางของที่นี่ เป็นเรื่องของศิลปะ อะไรที่เป็นศิลปะเราก็รู้สึกว่าเป็นเพื่อนกัน อยากให้มาทำที่นี่ มาเจอกันที่นี่ ผมกับพวกพี่ๆ พาร์ทเนอร์เราเชื่อว่าศิลปะมันทำให้ชีวิตคนดีขึ้น แค่นั้นเลยครับ แล้วผมเป็นหุ้นส่วนคนเดียวที่อยู่ใกล้มาก ซึ่งผมก็หวังว่ามันจะทำให้ชีวิตผมดีขึ้น รวมถึงน้องๆ ที่ออฟฟิศผมแค่นั้นเลย คือผมอยากเจอใคร อยากทำอะไร อยากใช้เวลาแบบไหน ผมก็พยายามทำให้กับที่นี่ หรือชวนคนที่จะมีทิศทางแบบนั้นมาอยู่ที่นี่ก็เท่านั้นเองครับ"

ณ วันนี้ อยากให้ทุกคนรู้จัก ‘YELO HOUSE’ อย่างไร
“ผมไม่ได้คิดที่จะไปเจาะจงว่าที่นี่เป็นอะไร คือ ‘YELO HOUSE’ จะเป็นอะไรก็ได้ที่คนคนนั้นจะมาหาจากที่นี่ ผมอยากให้ ‘YELO HOUSE’ เป็นสิ่งนั้นให้กับคนที่เขามาหาสิ่งที่เขาต้องการ คุณอยากดูงานศิลปะ ที่นี่ก็เป็นแกลเลอรีได้ อยากล้างฟิล์ม อยากทานอาหาร ที่นี่ก็เป็นสิ่งนั้นให้กับเขาได้ เป็นอะไรก็ได้สำหรับคนที่เขามองหาสิ่งที่ที่นี่มี ซึ่งทุกอย่างมันร้อยกันด้วยศิลปะนะครับ แกนกลางของเราที่นี่คือศิลปะ”  

SHARE