ร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ทุกระบบจะทำงานร่วมกันเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ อวัยวะแบ่งตามประเภทหลักๆ ได้สองประเภท คือ อวัยวะภายนอก ได้แก่ อวัยวะที่มองเห็นได้เช่นตา หู ลิ้น ฟัน จมูก แขน ขา ผิวหนัง ฯลฯ และ อวัยวะภายใน ได้แก่ อวัยวะที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น สมอง หัวใจปอด หลอดอาหาร กระเพาะ อาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับ ไต รังไข่ กระดูก ฯลฯ ทุกอวัยวะทั้งภายนอกและภายในทำงานได้อย่างเป็นระบบเพื่อการดำเนินชีวิต
ก่อนที่เราจะไปถึงการดูแลสุขภาพองค์รวม เพื่อบำรุงรักษาให้อวัยวะทุกระบบของร่างกายอยู่ในสภาพที่สมดุลและพร้อมทำงาน รวมถึงมีการซ่อมแซมตนเองได้เมื่อมีปัญหา เราควรเรียนรู้ระบบต่างๆของร่างกายพอสังเขป
ระบบต่างๆ ของร่างกายมนุษย์มีมากมายหลายระบบ ทำงานสอดประสานกันเพื่อการดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์ แต่ละระบบมีหน้าที่เฉพาะด้าน ระบบที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างพลังงานหล่อเลี้ยงร่างกาย ได้แก่ระบบย่อยอาหาร ระบบหมุนเวียนโลหิตและระบบหายใจ ซึ่งการสร้างพลังงานจากสารอาหารจะผลิตของเสียออกมาด้วย ระบบขับถ่ายจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบอื่นๆ ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และการทำงานอย่างสอดคล้องกันของระบบต่าง ๆ นั้น ถูกควบคุมและสั่งการด้วยระบบประสาท ผ่านการทำงานโดยการหดและคลายตัวของระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น
ระบบต่าง ๆของร่างกายมนุษย์ ได้แก่
1. ระบบผิวหนัง (Intergumentary System) ทำหน้าที่ห่อหุ้มปกคลุมร่างกาย ประกอบด้วยผิวหนัง (Skin) และอวัยวะที่เปลี่ยนแปลงมาจากผิวหนัง เช่น ขน ผม เล็บ ต่อมเหงื่อ ต่อมน้ำมัน
หน้าที่หลักของผิวหนังคือการเป็นด่านป้องกันไม่ให้อวัยวะภายใต้ผิวหนังนั้นได้รับอันตรายจากสารเคมี เชื้อโรค และแสงแดด ขณะที่เส้นผมและเล็บซึ่งยาวและงอกใหม่ จะช่วยเสริมการปกป้องอวัยวะใต้ผิวหนังนอกจากจะมีหน้าที่ในการปกป้องร่างกายจากอันตรายภายนอก และขับถ่ายออกเสีย นอกจากนี้ผิวหนังยังมีหน้าที่ในการรับความรู้สึกอีกด้วย โดยผิวหนังจะรับความรู้สึกแล้วส่งข้อมูลไปยังสมอง เพื่อให้สมองสั่งการให้ร่างกายตอบสนองอีกทีหนึ่ง อีกทั้งผิวหนังยังสามารถทำหน้าที่ดูดซึมสารบางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้อีกด้วย เช่น ยาทาบรรเทาอาการแก้ปวด และการทำหน้าที่รายงานความผิดปกติของร่างกายอีกด้วย โดยจะแสดงออกมาให้เห็นได้ทางผิวหนัง เช่น อาการหน้าแดง ผืนแดงขึ้นเนื่องจากการแพ้ยาหรือการแพ้อาหาร
ระบบผิวหนัง เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม ระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาแต่กำเนิด (Innate Immunity)
ระบบภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาแต่กำเนิด หมายถึง ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ถูกสร้างขึ้นเองและติดตัวมาตั้งแต่เกิด เช่น ส่วนของผิวหนัง เยื่อบุ และเยื่อเมือกต่างๆ ซึ่งเป็นปราการด่านแรกในการป้องกันเชื้อโรค และเป็นภูมิคุ้มกันโรคที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
2. ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular System) ทำหน้าที่ช่วยทำให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว
หน้าที่สำคัญของกล้ามเนื้อ ได้แก่ คงรูปร่างท่าทางของร่างกาย (Maintain Body Posture) ยึดข้อต่อไว้ด้วยกัน (Stabilize Joints) ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว (Provide Movement) โดยการเปลี่ยนพลังงานที่ได้จากสารอาหารมาเป็นพลังงานกล(Mechanical Energy) หรือพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังช่วยรักษาระดับอุณหภูมิของร่างกาย(Maintain Body Temperature) โดยผลิตความร้อนออกมาตามที่ร่างกายต้องการ
ระบบกล้ามเนื้อเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทุกสัดส่วนของร่างกายที่เป็นสิ่งสำคัญในการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของคนเรา เราจึงควรสร้างเสริมให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงและทนทานอยู่เสมอ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดโรค โรคกล้ามเนื้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคมะเร็งกล้ามเนื้อ (โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน)
แนวทางในการบำรุงรักษาระบบกล้ามเนื้อ มีดังนี้
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ อาหารประเภทโปรตีนจะช่วยในการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หากเกิดภาวะขาดอาหารอย่างรุนแรงหรือประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อถูกทำลายในช่วงที่เข้าสู่วัยชรา อาจทำให้กล้ามเนื้อลีบเล็กลงไม่มีเรี่ยวแรงได้เพราะโปรตีนเป็นองค์ประกอบในเซลล์กล้ามเนื้อสลายตัว ส่วนอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจะให้พลังงานแก่กล้ามเนื้อทำให้สามารถใช้กล้ามเนื้อในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ ได้แก่ การเพิ่มความแข็งแรงและทนทานของกล้ามเนื้อโดยการดึงข้อ วิดพื้นหรือการทำท่าลุกนั่ง การฝึกความคล่องแคล่วโดยการวิ่งกลับตัว วิ่งเก็บสิ่งของ รวมถึงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ และการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอื่นๆ ให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง อดทน เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วขนาดของกล้ามเนื้อและเส้นใยกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่และแข็งแรงขึ้น มีจำนวนเส้นเลือดฝอยกระจายอยู่ในกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น จึงมีแก๊สออกซิเจนไปสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ทนทานขึ้น
3. พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ หลังจากที่เราต้องทำงานมาตลอดวันหรือหลังออกกำลังกาย อีกทั้งเป็นการพักซ่อมแซมกล้ามเนื้ออีกทางหนึ่ง
4. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ เพราะการมีอารมณ์ไม่ดี เคร่งเครียดหรือวิตกกังวลเป็นประจำจะทำให้กล้ามเนื้อแขน ขา หน้าตา มีการเกร็งตัวมากขึ้น จึงมักปวดกล้ามเนื้อตามคอ หลัง บางคนอาจปวดกระบอกตา เพราะกล้ามเนื้อรอบตาเกร็งตัว
3. ระบบโครงกระดูก (Skeletal System) ทำหน้าที่ทำงานร่วมกับระบบกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ เป็นโครงร่างของกล้ามเนื้อร่างกาย
ระบบโครงกระดูก (Skeleton system) เป็นระบบที่เป็นที่ยึดเกาะของระบบกล้ามเนื้อ (Muscular system) เพื่อช่วยในการค้ำจุนร่างกาย ปกป้องอวัยวะภายในรักษาร่างกายให้คงตัว ช่วยในการเคลื่อนไหวในทุกๆ ด้าน อาทิ นั่ง นอน เดิน หยิบจับ ออกกำลัง เป็นต้น อีกทั้งเป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุ โดยเฉพาะแคลเซียมและฟอสฟอรัส นอกจากนี้ไขกระดูกซึ่งเป็นเนื้อเยื่อกระดูกชั้นในจะสร้างเม็ดเลือดแดง รวมถึงเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ ในระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย
โรคระบบข้อและกระดูก หมายถึง โรคที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่องและความผิดปกติของระบบข้อและกระดูก โดยส่วนมากจะพบว่าอาการผิดปรกติ มีอาการเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับข้อและกระดูก พบมากในกลุ่มคนน้ำหนักตัวมาก และกลุ่มผู้สูงอายุ โรคเกี่ยวกับข้อ เช่น โรคเกาต์ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ โรคข้อเสื่อม โรคข้อเข่าเสื่อม โรครูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคข้ออักเสบติดเชื้อ ส่วนโรคเกี่ยวกับกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกทับเส้น โรคเส้นทับกระดูก กระดูกเคลื่อนหรือหลุดออกจากข้อ โรคกระดูกเสื่อม เป็นต้น
แล้วพบกันใหม่ครับ
Author By : หมอเฟิร์น และ Dr.C