ความหมายของคำว่า ‘มัธยม’ ตามพจนานุกรมนั้นหมายถึงเพียงลำดับของการศึกษา ที่สานต่อช่วงประถมศึกษา และอุดมศึกษาเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตามสำหรับหลายๆ คน มัธยมถือเป็นช่วงเวลาของความทรงจำ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาชีวิตไปสู่เส้นทางที่กว้างใหญ่กว่าเดิม จนทำให้คำว่ามัธยม สำหรับแต่ละคนมีความหมายแตกต่างกัน สำหรับบางคนมัธย อาจหมายถึงช่วงของการค้นหาตัวตน สำหรับบางคนมัธยมอาจหมายถึงช่วงเวลาที่เริ่มจะมีความชัดเจนกับอนาคต แล้วสำหรับคุณล่ะ คำว่า มัธยม ของคุณมีความหมายว่าอะไร...
นี่คือคำนิยามของคำว่า ‘มัธยม’ ที่ตีพิมพ์อยู่บนใบสูจิบัตรในนิทรรศการ ‘Mathayom Art Exhibition’ ของเด็กวัยมัธยมปลาย 4 คน จากโรงเรียนนานาชาติ กรุงเทพ (ISB) ที่ต้องการถ่ายทอดตัวตน ความรู้สึก ประสบการณ์ในวัยมัธยมของพวกเขาผ่านผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ มากกว่า 40 ผลงาน ณ Yelo House เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน - 10 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
โดยเด็กมัธยมทั้ง 4 คน ได้แก่ คุณแพรว ธนวิสุทธิ์, คุณณพ จึงสวนันทน์, คุณชวิศา อังควานิช และ คุณเชษฐ์สุดา เฉลิมวัฒน์ ต่างมีความชื่นชอบในงานศิลปะเหมือนกัน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีความคิด มุมมอง ในช่วงวัยที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงของพวกเขา โดยต่างได้หยิบยกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นด้านความรู้สึก หรือประสบการณ์จริง ทั้งทางด้านนามธรรม และรูปธรรม ถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะที่หลากหลายรูปแบบ อาทิ งานจิตรกรรม (Painting), งานประติมากรรม (Sculpture), งานภาพปะติด (Collage), งานศิลปะจัดวาง (Installation) และศิลปะภาพถ่าย (Photography) เพื่อบอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขากำลังสนใจ โดยงานของแต่ละคนนั้น มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน แบ่งตามความสนใจของแต่ละคน โดยเราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงแรงบันดาลใจในแต่ละชิ้นงานของพวกเขา
คุณณพ จึงสวนันทน์ ผลงานของเขาร้อยเรียงขึ้นจากคอนเซ็ปต์ ‘ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย’ แม้ด้วยวัยเพียง 18 ปี แต่ว่าเขามองเห็นสังคมของความไม่เท่ากัน และทำผลงานในเชิงเสียดสีสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสะท้อนให้เห็นอีกหลายแง่มุมที่ใครหลายคนไม่เคยมองเห็น ยกตัวอย่างผลงานภาพถ่ายของคนงานก่อสร้างที่ชื่อว่า Behind the Scene ซึ่งเขาได้ถ่ายภาพนี้ในไซต์งานก่อสร้าง ที่กำลังสร้างตึกสักตึก ณพให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนงานเหล่านั้นกำลังสร้างขึ้น เขารู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่และสำคัญ แต่ในทางกลับกันคนทั่วไปกลับมุ่งไปให้ค่ากับตึกที่พวกเขากำลังสร้างเท่านั้น แต่ไม่ได้มองเห็นความสำคัญของบุคคลเบื้องหลังเหล่านี้
Author: Arunlak
Photo: Prayuth
VDO: Sirawit
Author By : Arunlak