counters
hisoparty

NEW Step...ของ ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์

5 years ago

เป็นที่กล่าวขาน และถูกชื่นชมอย่างมากถึงความสวยงาม และความโดดเด่นอย่างมีเอกลักษณ์ ของสถานีรถไฟฟ้า MRT วัดมังกร ที่อยู่ในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล เพราะเนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของคนไทยเชื้อสายจีน ทำให้สถานีนี้ ได้ถูกออกแบบและตกแต่งอย่างพิถีพิถัน ในรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีส รวมถึงได้นำลวดลายของมังกรมาประดับใช้ในบริเวณสถานี ตั้งแต่เพดานบริเวณชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร โดยได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ และยังได้มีการออกแบบเพดานให้มีความรู้สึกเหมือนกำลังลงไปอยู่ใต้ท้องของมังกร โดยให้ประตูทางเข้าสถานีเป็นส่วนหาง และหัวของมังกรอยู่ภายในบริเวณสถานี

และเหตุผลที่ทำให้เราได้มาสัมผัสกับความสวยงามนี้ ตั้งแต่เพิ่งเปิดให้บุคคลทั่วไปได้ทดลองใช้ ก็เพราะที่นี่คือสถานที่ที่เรานัดพบกับนักธุรกิจหนุ่ม ผู้อยู่เบื้องหลังรูปแบบของโฆษณาสุดอลังการ ซึ่งถ้าใครได้เดินทางมาที่สถานีนี้คงจะเคยได้เห็นกันมาบ้างแล้ว วันนี้เราจะมาพูดคุยกับเขา ถึงคอนเซ็ปต์ วิธีคิด ในการจัดการพื้นที่โฆษณาที่แตกต่างและน่าสนใจของเขา กับ คุณโจ้ - ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ บีเอ็มเอ็น / BMN บริษัทที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT

ในวันที่เรานัดพูดคุยกัน คือวันเดียวกับที่ เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู เปิดตัว Interactive Art Station ครั้งแรกในประเทศไทย ที่สถานีรถไฟฟ้า MRT วัดมังกร ซึ่งนี่คือ โปรเจ็คท์แรก ของ BMN กับการขายพื้นที่แบบเหมาทั้งสถานีในการทำโฆษณา

“โปรเจ็คท์นี้ เรียกว่าเป็นการทำมีเดียแบบที่เหมาทั้งสถานี ซึ่งเป็นมีเดียที่อิมแพ็คมากๆ ครับ เพราะเขาออกแบบให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนที่ใช้บริการรถไฟฟ้า และออกแบบให้คล้องจองกับสถาปัตยกรรมของสถานีด้วย” คุณโจ้บอกเล่าให้ฟังเมื่อเราเริ่มต้นไถ่ถามถึงภาพโฆษณาที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานี

ที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์การทำโฆษณาที่สวยงามและเป็นไปในทางเดียวกันของทั้งสถานีแบบนี้มาได้อย่างไร
“ต้องขอเล่าตั้งแต่เริ่มต้นนะครับ จริงแล้วนี่คือข้อกำหนดว่าสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ภายในเกาะรัตนโกสินทร์ ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมโดยรอบของเมือง เพราะถือว่าเป็นเมืองเก่า เป็นเมืองอนุรักษ์ของกรุงเทพมหานคร ใน TOR ที่การก่อสร้างรถไฟสถานีใต้ดินได้แจ้งเลยว่า ต้องออกแบบให้สอดคล้อง ทางผู้รับเหมาก็จะไปออกแบบมาแล้วทาง รฟม. จะดูแล้ว Approve ซึ่งสถานีนี้เป็นงานที่ ITD เขาเป็นคนออกแบบมาแล้ว รฟม. ก็ร่วมกันศึกษาพิจารณาว่ามันเหมาะสม เพราะย่านนี้เป็นไชน่าทาวน์ ส่วนในงานของผม ในแง่ของ BMN เราได้มองเห็นว่าเราอาจสามารถทำให้สถานีนี้สวยขึ้นไปอีก โดยมีสปอนเซอร์เข้ามา ซึ่ง ณ วันนี้คือเนสกาแฟ เราให้โจทย์แรกเขาไปคือ ต้องเข้ากับรูปแบบสถานี เรามีการพูดคุยกันก่อน ว่าอยากได้ประมาณไหน เพื่อยังคงคาแรกเตอร์ของสถานีนี้ เพราะที่นี่คือไชน่าทาวน์ ของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นโฆษณาหรือการประชาสัมพันธ์ใดๆ ก็ตามอยากจะให้ออกมาเป็นแนวที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งเขาได้มาช่วยทำให้ภาพรวมของสถานีนี้สวยขึ้นไปอีกจริงๆ เพราะเขานำอาร์ต และกิมมิกต่างๆ เข้ามาใส่ไว้ ในรูปแบบ Interactive Art Station พร้อมกับพลิกโฉมสถานีรถไฟฟ้า MRT ให้เป็น ‘ดินแดนหอมหมื่นลี้’ นำเสนอผลงานศิลปะแบบจีน ผสานเทคโนโลยีเออาร์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้คนได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ถือเป็นการเชื่อมวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเข้ากับผลงานศิลปะได้ดีทีเดียว

“ทั้งนี้รวมถึงสถานีอื่นๆ เช่น สนามไชย ด้วยนะครับ เพราะเขามีคอนเซ็ปต์เป็นแบบไทยๆ การทำโฆษณาก็ต้องให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของสถานีเช่นเดียวกันครับ”

ความยากง่ายในการขายพื้นที่โฆษณาในลักษณะเหมาทั้งสถานี
“จริงแล้วก็มีความยากอยู่ เพราะว่าเราต้องมานั่งเคลียร์ลูกค้าที่ซื้อยาว เช่น ซื้อ 2 – 3 เดือน 6 เดือนไว้แล้ว แต่ว่าเราก็มีเวลาที่สามารถทำได้ครับ ยิ่งถ้ามีลูกค้าสนใจแล้วจองไว้ล่วงหน้าเราจะสามารถ Manage ได้ง่ายขึ้นครับ”

จุดเด่นในการทำสื่อโฆษณาในสถานีรถไฟฟ้า MRT
“ผมว่าจุดเด่นในการทำสื่อของ MRT คือเรามีพื้นที่ที่สามารถเล่นลูกเล่นได้เยอะ เราเป็นพื้นที่ปิด ฉะนั้นลูกค้าสามารถทำกิมมิกต่างๆ ได้มากมาย เขาสามารถใช้ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ สามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นแสงสีเสียง ปล่อยกลิ่นได้ ปล่อยเสียงได้ แล้วผมมองว่า MRT นี่ เวลาทำสื่อต่างๆ มันจะมีความอิมแพ็คมาก คือลูกค้าสามารถทำให้ผู้โดยสารอยู่ใน Environment ของสิ่ง
สิ่งนั้นได้เลย คือมันไม่ใช่เป็นแค่กล่องไฟ ไม่ได้เป็นแค่ภาพนิ่งแล้ว คุณสามารถทำเป็น Environment ที่ทำให้ผู้โดยสารมีประสบการณ์ร่วมไปกับสื่อสื่อนั้นได้ด้วยครับ ยกตัวอย่างนะครับ ถ้าคุณดูทีวี พอมีโฆษณาเราเปลี่ยนช่องได้ ดูในอินเตอร์เน็ตเราก็คลิกปิดได้ แต่โฆษณารูปแบบ Out - Of-Home Media ยังไงต้องเห็น มันไม่สามารถเปลี่ยนได้ และความอิมแพ็คมันหล่อหลอมไปกับไลฟ์สไตล์ทุกวัน ใช้บริการทุกวันก็จะเห็นโฆษณาเหล่านั้นทุกวันครับ” (ยิ้ม)

ทำทุกอย่างบนความพอดี
“ตอนแรกที่เราขายพื้นที่โฆษณาแบบเหมาทั้งสถานี ผมค่อนข้างเป็นกังวลเหมือนกันนะครับ เพราะคำว่าโฆษณา บางทีเหมือนเป็นดาบสองคม ถ้าเราขายมากเกินไป เราตั้งใจในการยัดเยียดมากเกินไป คนจะแอนตี้ คนจะไม่ชอบ คนจะมีเสียงด้านลบออกมา ซึ่งผมก็คอยติดตามว่ามีเสียงด้านลบไหมสำหรับสถานีวัดมังกร แต่พอออกมาแล้วผู้โดยสารชอบมาก และชมเชยว่ามันเป็นการโฆษณาที่ดี ไม่ใช่การยัดเยียด มันคือการทำสอดคล้องไปกับไลฟ์สไตล์ของคนจริงๆ เราก็แฮปปี้ เพราะตอนแรกก็กลัวนิดหนึ่ง คือเราเองไม่อยากที่จะยัดเยียดโฆษณา ผมเข้าใจคนนะ การยัดเยียดอะไรมากเกินไป คนไม่ชอบ เราเองยังไม่ชอบเลย แต่สำหรับสิ่งที่เราทำอยู่เรียกว่าเป็นการออกแบบที่ผสมผสาน และออกมาลงตัว สวยงามครับ ไม่มากไป ไม่น้อยไป นี่คือข้อดีในการมาซื้อพื้นที่โฆษณาใน MRT ครับ”

Story by Arunlak
Photo by Prayuth
VDO by Okie

SHARE