counters
hisoparty

รู้หรือไม่ น้ำลาย... ช่วยให้ฟันแข็งแรง

6 years ago

ถ้าผมบอกว่า น้ำลายในช่องปากมีส่วนสำคัญมากๆ ที่ช่วยให้ฟันในช่องปากแข็งแรง ฟันไม่ผุ จะมีคนเชื่อผมไหมครับ หลายคนคงรู้สึกว่า น้ำลายเป็นของสกปรก เพราะเมื่อเราบ้วนน้ำลายใส่แก้วทิ้งเอาไว้สัก 2-3 ชั่วโมง เราจะพบว่า น้ำลายของเรานั้น ส่งกลิ่นเหม็นขึ้นมาได้ หลายๆ คนจึงมีความเชื่อที่ว่า เรามีกลิ่นปาก เป็นเพราะน้ำลายของเราบูด เราจึงมักรังเกียจน้ำลายแม้จะเป็นน้ำลายของเราเอง ซึ่งเมื่อมันออกจากช่องปากมา ก็มีอันกลัวหรือไม่ชอบ ไม่อยากสัมผัสมันแล้ว จริงๆ แล้ว น้ำลายนั้นไม่ใช่สิ่งน่ารังเกียจหรือน่ากลัวแต่อย่างใด น้ำลายเป็นสารคัดหลั่งที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่หลายๆ อย่าง ในการช่วยย่อยอาหารเป็นสารหล่อลื่น ช่วยให้เราสามารถกลืนอาหารได้โดยไม่ติดคอ และน้ำลายก็ยังมีประโยชน์ ช่วยให้ฟันของเราไม่ผุและแข็งแรงอีกด้วย

น้ำลายคืออะไร
น้ำลายเป็นสารคัดหลั่งจากต่อมน้ำลายที่ผลิตของเหลวและขับออกมาในช่องปากของมนุษย์ น้ำลายมนุษย์ประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99.5) ที่เหลืออีก 0.5% ประกอบไปด้วย สารอิเล็กโทรไลต์ (ได้แก่ โซเดียม โปแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม คลอไรด์ ไบคาร์บอเนต ฟอสเฟต และไอโอดีน) สารเมือกโปรตีน (Mucopolysaccharides, glycoprotein) เซลล์เยื่อบุผิว (ซึ่งสามารถสกัด DNA ได้) เอนไซม์ ( Amylase, Lipase และ เอนไซน์ย่อยอื่น ๆ) และสารต้านจุลชีพ (ได้แก่ สารคัดหลั่ง Imunoglobulin A, Lysozyme และอื่น ๆ) เมื่อน้ำลายผลิตออกมาในช่องปาก จะผสมผสานกับเซลล์เยื่อบุช่องปากที่หลุดลอกออกมาและผสมกับเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้เมื่อบ้วนน้ำลายทิ้งไว้ภายนอกปาก

หน้าที่ของน้ำลาย
• ช่วยในการย่อยอาหารขั้นต้น เอนไซม์ที่พบในน้ำลาย (Amylase และ Lipase) มีความสำคัญในการเริ่มต้นกระบวนการย่อยสลายแป้งและไขมันในอาหาร ก่อนที่เราจะกลืนลงสู่กระเพาะอาหาร เอนไซม์ Amylase ช่วยในการย่อยแป้งและน้ำตาล ซึ่งแป้งและน้ำตาลที่ยังไม่ผ่านการย่อย จะเกิดการย่อยต่อที่ลำไส้เล็ก เช่นเดียวกับเอนไซม์ Lipase ที่ย่อยไขมันในขั้นต้น ก่อนที่จะไปย่อยอีกครั้งในลำไส้เล็ก น้ำลายจึงมีส่วนช่วยในการย่อยอาหารขั้นต้น
• น้ำลายทำหน้าที่หล่อลื่นอาหารให้เปียกและลื่น ทำให้เรากลืนได้คล่อง และปกป้องพื้นผิวเยื่อเมือกของช่องปากในขณะเคี้ยวอาหาร หากไม่มีน้ำลายช่องปากเราคงมีบาดแผลมากมายจากอาหารที่ไปขูดเยื่อเมือกช่องปากนั่นเอง
• ช่วยปรับสภาพกรด-ด่างภายในช่องปาก และช่วยให้ฟันไม่ผุ ในแต่ละวัน น้ำลายจะถูกผลิตออกมาจากต่อมน้ำลายประมาณ 1 -1.5 ลิตร น้ำลายจะมีค่าความเป็นกรด-ด่างประมาณ 6.2 - 7.4 ซึ่งถือว่ามีค่าใกล้กลาง เมื่อสภาวะช่องปากมีค่าความเป็นกรด-ด่างต่ำกว่า 5.5 เคลือบฟันของมนุษย์จะเริ่มถูกทำลาย แต่น้ำลายที่ขับออกมาในช่องปาก จะเจือจางลดความเป็นกรดนี้ ทำให้ความเป็นกรด-ด่างสูงขึ้น เคลือบฟันของมนุษย์จะไม่ถูกอันตราย
• มีส่วนช่วยซ่อมแซมผลึกเคลือบฟันบริเวณพื้นผิวฟัน แคลเซียมในรูปสารอิเล็กโทรไลต์จะสามารถตกตะกอนเข้าซ่อมแซมผลึกเคลือบฟันส่วนที่สึกหรอที่ผิวได้ ฟันจึงไม่ถูกทำลาย
• ช่วยควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ สาร Imunoglobulin A และ Lysozyme ยังช่วยทำลายจุลินทรีย์ Streptococcus Mutans เชื้อที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคฟันผุได้อีกด้วย น้ำลายจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการควบคุมอนามัยช่องปาก และป้องกันการเกิดโรคฟันผุได้
• ช่วยให้การรับรสดีขึ้น เพราะน้ำลายทำให้อาหารเหลวขึ้น การรับรสอาหารของต่อมรับรสที่ลิ้นจะดีขึ้นด้วย หากน้ำลายน้อย การรับรสอาหารจะลดลง

น้ำลายน้อย....ปัญหาสำคัญ อย่าละเลย
ภาวะน้ำลายน้อย จะส่งผลเสียมากมายต่ออวัยวะในช่องปากและการใช้ชีวิตประจำวัน เมื่อน้ำลายน้อยลง จะส่งผลให้เกิดฟันผุได้ง่ายขึ้น ต่อมรับรสที่ลิ้นฝ่อ กระพุ้งแก้มอาจติดเชื้อราได้ง่าย ลิ้นอาจแตกเป็นร่อง กลืนได้ลำบาก และมีกลิ่นปาก

สาเหตุที่อาจทำให้น้ำลายน้อย
• การดื่มน้ำน้อย ส่งผลต่อปริมาตรน้ำลายในช่องปากที่ลดลง ทำให้สภาพช่องปากมีความเป็นกรดมาก เกิดฟันผุได้ง่าย สภาพน้ำในร่างกายน้อย ยังอาจเกิดได้จากการเสียเหงื่อมาก หากออกกำลังกายมาก ก็ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายผลิตน้ำลายมากขึ้น
• โรคทางระบบบางโรค อาจส่งผลให้น้ำลายน้อยได้ เช่น เบาหวาน ความดัน Sjögren’s syndrome โรคเลือดจาง เอดส์ โรคติดเชื้อของต่อมน้ำลาย โรค Rheumatoid arthritis
• ทานยาที่มีผลลดน้ำมูก ยาแก้หวัด ยาลดความอ้วน ยานอนหลับ ยาลดความเครียด ยาขับปัสสาวะ ยาต่าง ๆ เหล่านี้ มีผลให้ปริมาณน้ำลายในช่องปากลดลง
• การกิน ดื่ม ได้แก่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ นอกจากจะไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังมีผลเสียต่อสุขภาพเหงือกและฟันด้วย ผลกระทบโดยตรงคือ ทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากระคายเคือง ทำให้น้ำลายน้อยลง ทำให้เหงือกระคายเคือง การดื่มกาแฟ ทำให้น้ำลายน้อยลงชั่วคราว หากนิยมดื่มกาแฟ ก็ควรทานน้ำตามให้มากขึ้น กาแฟมีผลให้น้ำลายน้อยลง ซึ่งเสริมสภาพความเป็นกรดในช่องปาก
• สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่มีผลทำร้ายฟันและเหงือกอย่างรุนแรง บุหรี่ทำให้น้ำลายในช่องปากไหลน้อยลง เกิดสภาพที่ส่งเสริมให้ฟันผุง่าย การสูบบุหรี่จึงทำให้สูญเสียฟันไปก่อนวัยอันควร
• อายุมากขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดภาวะน้ำลายผลิตได้น้อยลง
• ภาวะที่ต้องคีโมรักษาโรคมะเร็ง รวมถึงการฉายแสงฆ่าเซลล์มะเร็ง เซลล์ในร่างกายจะผลิตน้ำลายได้น้อยลงด้วย เกิดภาวะน้ำลายน้อยได้

น้ำลายมีความสำคัญอย่างมากต่ออวัยวะในช่องปาก หากน้ำลายน้อย ต้องรีบแก้ไข แก้ที่สาเหตุ หรือดื่มน้ำให้มากขึ้นและอาจใช้น้ำลายเทียมช่วยได้ เมื่อมีปัญหาน้ำลายน้อยอย่างรุนแรง

Story by รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE