counters
hisoparty

เคล็ดลับการดูแลเหงือกและฟันสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง

6 years ago

โรคมะเร็ง เป็นโรคที่ใครๆ ก็กลัว และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตน ปัจจุบันนี้พบผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งมากขึ้น และอัตราการรักษาให้หายขาดก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้ตรวจสอบพบมะเร็งแต่เนิ่นๆ และรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีการทางการแพทย์ ได้แก่

การให้ยาทำลายเซลล์มะเร็ง (Chemotherapy) หรือที่มักเรียกสั้นๆ ในกลุ่มคนไทยว่า คีโม คือการให้ยาชนิดต่างๆ เข้าร่างกายไปฆ่าเซลล์มะเร็งที่เป็น (ในขณะเดียวกัน ยาดังกล่าวก็ส่งผลฆ่าเซลล์ปกติของร่างกายไปด้วย)
การฉายรังสี (Irradiation therapy) โดยการให้รังสีกำลังสูงเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ ไม่ให้ลุกลามและควบคุมจนหมดไป แต่การฉายแสงอาจเกิดผลข้างเคียงคือ เกิดการไหม้ของผิวหนังที่ผ่านการ ฉายแสง และอาจเกิดการยึดติดของเนื้อเยื่อที่ถูกรังสีฉาย
การผ่าตัด (Surgery) คือการผ่าตัดเอาเซลล์มะเร็งออกไป โดยมักใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีการทั้งสองเบื้องต้น เพื่อนำเซลล์เนื้อร้ายนี้ออกไปทั้งหมด

วิธีการรักษามะเร็งนั้น เป็นการรักษาโดยการทำลายเซลล์แบบไม่เลือก กล่าวคือเซลล์ปกติที่ไม่ใช่มะเร็งในร่างกายก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่อรักษาโรคมะเร็งหายขาดแล้ว คนไข้กลุ่มหนึ่งจึงต้องกลับมาฟื้นฟูสภาพร่างกายต่าง ๆ

ฟันและอวัยวะในช่องปากเป็นส่วนที่เกิดปัญหาหลังการรักษาด้วยวิธีคีโม และการฉายแสง ได้แก่ การเกิดภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย เนื่องจากต่อมน้ำลายถูกทำลายและทำงานน้อยลง ทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย การฉายรังสีรักษามะเร็งบริเวณใบหน้า จะทำให้เกิดภาวะปวดแสบปวดร้อนของลิ้นและกระพุ้งแก้ม ต่อมรับรสทำงานได้ไม่ดี ต่อมน้ำลายฝ่อ และกลืนได้ลำบาก ความรุนแรงของรังสียังอาจทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อรอบฟัน ทำให้เกิดโรคเหงือกง่าย ฟันกร่อน และที่สำคัญที่สุดคือกระดูกที่ได้รับรังสีนั้น จะเกิดภาวะเซลล์กระดูกน้อย ทำให้กระดูกตายได้ง่าย เมื่อมีการติดเชื้อหรือมีการถอนฟันหลังการฉายแสง

การดูแลเหงือกและฟันในผู้ป่วยมะเร็งจึงมีความสำคัญมาก เพราะหากหายจากโรคมะเร็งแล้วไม่สามารถทานอาหารได้ ร่างกายก็จะอ่อนแอและทรุดโทรมลงอีก และยังสามารถเกิดปัญหาจากการติดเชื้อในช่องปากตั้งแต่ฟันผุ เหงือกอักเสบเป็นหนอง และกระดูกขากรรไกรตาย ปัญหาจึงเกิดไม่จบแม้โรคร้ายจะหายไปแล้วก็ตาม

การดูแลรักษาช่องปากในผู้ป่วยมะเร็งที่เหมาะสม แบ่งเป็นสองระดับคือ ระดับก่อนเริ่มการรักษามะเร็งด้วยสามวิธีดังกล่าวข้างต้นและระดับหลังรักษามะเร็ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องระมัดระวังดูแลช่องปากให้ดี ได้แก่ ผู้ป่วยที่กำลังได้รับคีโมทั่วร่างกาย และผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะถึงคอที่ได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็ง

การดูแลรักษาช่องปากในผู้ป่วยมะเร็งก่อนเริ่มการรักษามะเร็ง
แม้การรักษามะเร็งจะมีความเร่งด่วน แต่การดูแลฟันก่อนการรักษานั้น จัดว่ามีความสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กล่าวคือ การรักษาคีโมทั่วร่างกายนั้น จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอลงไป ฟันที่ติดเชื้อ หรือรักษารากฟันไม่สมบูรณ์นั้น อาจเกิดการอักเสบ และเป็นหนองขึ้นได้ แม้แต่เหงือกเองที่ดูแลรักษาไม่ดีพอก็เกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น ก่อนการรักษามะเร็ง จึงควรเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด หัตถการที่ควรได้รับการรักษาได้แก่
1. การกำจัดคราบหินปูนและรักษาโรคเหงือก
2. การอุดฟันและกำจัดรอยผุทั้งหมด
3. การถอนฟันที่รักษาไม่ได้แล้ว ซึ่งหากไม่ถอนฟัน จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อและอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิตได้
4. การรักษารากฟันที่ไม่สมบูรณ์ ควรรักษารากฟันใหม่ หรือถอนฟันทิ้ง
5. ฝึกหัดการแปรงฟัน ใช้เส้นไหมขัดฟันให้เกิดความชำนาญ และอาจใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือทาสารเคลือบฟัน (ได้แก่ toothmousse) ก่อนนอนทุกคืน

การทำฟันก่อนการรักษามะเร็งนั้น เน้นการกำจัดแหล่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากให้หมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะในขณะที่รักษามะเร็ง ร่างกายเกิดความอ่อนแอ ภาวะติดเชื้อต่าง ๆ จะเกิดขึ้นได้ง่าย และอาจเกิดความรุนแรงขึ้น การรักษาภาวะดังกล่าวอาจเกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อยาคีโมที่ใช้ก็เป็นได้

การดูแลรักษาช่องปากในผู้ป่วยมะเร็งหลังการรักษามะเร็ง
ในภาวะหลังการรักษาโรคมะเร็งนั้น การดูแลรักษาเหงือกและฟัน ควรเป็นการดูแลรักษาตามอาการเท่านั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแสบปวดร้อนในช่องปาก ผิวหนังบริเวณที่ฉายแสงไหม้และกระด้าง อ้าปากได้ยาก และน้ำลายน้อย ทันตแพทย์จะให้การดูแลรักษาเพิ่มเติมจากผู้ป่วยปกติดังนี้
1. ดูแลกำจัดคราบหินปูนและรักษาโรคเหงือกทุกสามหรือสี่เดือน
2. ทาหรือเคลือบฟลูออไรด์ทุกสามหรือสี่เดือน เพราะภาวะน้ำลายน้อย ส่งผลให้ฟันผุได้ง่าย
3. แนะนำให้จิบน้ำบ่อยๆ หรือใช้น้ำลายเทียม ภาวะน้ำลายน้อยจะทำให้ฟันผุได้ง่าย ฟันผุที่เกิดขึ้นเร็ว จะส่งผลให้ฟันผุทะลุโพรงฟันได้ เกิดการติดเชื้อไปสู่กระดูกรองรับฟัน
4. บริหารและเคลื่อนขากรรไกร ให้อ้าปากหุบปากต่อเนื่องวันละประมาณ 50 รอบ เพื่อไม่ให้เนื้อเยื่อยึด การฉายแสงส่งผลอย่างมากต่อคลอลาเจนใต้ผิวและบริเวณข้อต่อขากรรไกรต่างๆ
5. รักษาตามอาการเช่นรักษารากฟัน อุดฟัน ทำครอบฟันที่ไม่ได้ก่อให้เกิดเลือดออก หรือเป็นแผลในช่องปาก
6. ไม่ถอนฟัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีทั่วร่างกายหรือบริเวณศีรษะและใบหน้า เพราะจะเสี่ยงต่อภาวะกระดูกตาย (Osteo-radio-necrosis) ซึ่งเป็นภาวะกระดูกตายที่รุนแรงมาก จะต้องตัดขากรรไกร หรือกระดูกตายนั้นออก และอาจเกิดการลามไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากต้องมีการถอนฟัน จะต้องทำโดยทีมแพทย์และทันตแพทย์ที่มีการระมัดระวังป้องกันอย่างดี

เมื่อการรักษามะเร็งเสร็จสิ้นลงนั้น ผลของยาคีโม ยากดภูมิ และการฉายรังสี ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การดูแลรักษาโรคในช่องปากจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกายด้วย ผู้ป่วยที่เคยรักษาโรคมะเร็ง ต้องแจ้งต่อทันตแพทย์ทุกคนว่าตนได้ผ่านการรักษาอย่างไรมาบ้าง ทันตแพทย์ก็จะต้องให้การดูแลผู้ป่วยโดยการควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อใด ๆ ในช่องปาก ต้องสอนให้ผู้ป่วยสามารถดูแลอนามัยในช่องปากได้ดีขึ้น และระมัดระวังการให้ยาที่อาจมีผลต่อตับและไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ยาใดๆ หัตถการเช่นการถอนฟัน การใส่รากเทียม ในผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะและขากรรไกรนั้น อาจก่อให้เกิดการตายของกระดูกได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรอยู่ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อระมัดระวังปัญหาการติดเชื้อในช่องปาก

Story by รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE