counters
hisoparty

ลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นของ คุณเอี๋ยม - วีรชัย มั่นสินธร

1 year ago

            มรดกที่สามารถส่งต่อกันได้หาใช่จะเป็นเพียงทรัพย์สินเงินทองเท่านั้น หากแต่ความจริงแล้วยังหมายรวมถึงวิธีคิด คำสั่งสอน และเคล็ดลับต่างๆ ที่ผู้เป็นพ่อคนหนึ่งจะได้ถ่ายทอดให้กับทายาทของเขา ซึ่งวันนี้ได้มีนักธุรกิจรุ่นใหญ่ท่านหนึ่ง ที่เขาได้ลุกขึ้นมาแชร์เคล็ดลับการทำธุรกิจให้กับคนอื่นๆ รวมถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ต้องการพี่เลี้ยงบนเวทีแห่งการต่อสู้ในโลกธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่ากลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้ เขาได้ส่งต่อให้กับลูกชายของเขาเฉกเช่นเดียวกัน กับ คุณเอี๋ยม – วีรชัย มั่นสินธร ที่หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเขากันมาแล้วจากการเปิดคอร์ส'เตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดของธุรกิจในปี 2023 ให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่’ ที่มีกระแสตอบรับอย่างท่วมท้นจากผู้ที่สนใจ

             โดย HiSoParty ครั้งนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณเอี๋ยม – วีรชัย มั่นสินธร ที่มาพร้อมลูกชาย คุณอู๋ - ฑิฆัมพร มั่นสินธร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในการทำงานและการใช้ชีวิตของเขา และสิ่งที่ได้ถ่ายทอดสู่ลูกๆ ให้เราได้ฟังเพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งต่อให้กับผู้ที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป...

             ก่อนอื่นเราได้ให้คุณเอี๋ยมเล่าให้ฟังถึง การเปิดอบรมที่เพิ่งผ่านพ้นไปของเขา กับ 'เตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดของธุรกิจในปี 2023 ให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่’ ว่ามีจุดเริ่ม รวมถึงกระแสตอบรับว่าเป็นอย่างไรบ้าง

             “โครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่เราอยากช่วยเหลือคนที่ทำธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งบังเอิญตัวผมเองนั้นมีประสบการณ์กับการเป็นตัวช่วยเหลือที่เคยอยู่สภาอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นประธานสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน เพราะฉะนั้นในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนไทยเพื่อจะไปค้าขายที่จีน หรือคนจีนจะมาลงทุนในไทย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ตัวเองได้สั่งสมประสบการณ์ รวมถึงรู้จักช่องทางต่างๆ มากมาย วันหนึ่งมานั่งคิดว่าที่ผ่านมาเราทำ ภายใต้สภาอุตสาหกรรม ซึ่งคนที่ได้รับประโยชน์อาจจะเป็นเฉพาะกลุ่ม หรือกลุ่มเล็กมาก จึงได้มีความคิดที่อยากจะเปิดกว้างทางความช่วยเหลือให้กับคนอื่นๆ คนภายนอกด้วย ทำให้เกิดโครงการฯ นี้ขึ้นมา ซึ่งเมื่อได้ประกาศเปิดตัวและมีโอกาสไปบอกเล่าผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก และปรากฏว่ามีคนสมัครเข้ามาเป็นพันราย แต่เราต้องคัดออกมาเหลือเพียง 30 รายเท่านั้น ถือว่าประสบความสำเร็จเกินที่คาดไว้ และยังมีกระแสเรียกร้องให้เราเปิดอบรมอีก ซึ่งอยู่ในการพิจารณาต่อไปครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ได้รู้เลยคือ มีคนไทยอีกมากมายที่อยากไปทำธุรกิจในตลาดเมืองจีน และเขาต้องการคำแนะนำ” ทันทีที่ได้ฟังคำตอบพร้อมกับความจริงในใจที่สื่อออกมาอย่างชัดเจนว่าอยากทำสิ่งนี้เพื่อคนอื่นจริงๆ เราอดคิดไม่ได้ว่าเขาจะทำไปทำไม ในเมื่อเขาไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย ซึ่งคุณเอี๋ยมยังคงยิ้มอย่างใจดีแล้วตอบกับเราว่า

             “ย้อนไปสมัยก่อน ผมไปเรียนปีนังตั้งแต่เด็กจนจบไฮสคูล แล้วก็ไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น จากนั้นกลับมาเมืองไทยก็มาช่วยงานครอบครัวเลย ซึ่งปรากฏว่าความโชคดีบางทีก็กลายเป็นความเหมือนจะไม่โชคดี (หัวเราะ) คือ หากเราเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่ เมื่อมีปัญหาเราคงกลับไปหาอาจารย์ ถามโน่นถามนี่ได้ หรือ ถ้าเรามีเพื่อนร่วมรุ่นคงมีที่คุยที่ปรึกษา อย่างนี้เป็นต้น แต่คือเราไม่มีตัวช่วยเหล่านี้เลย ทุกอย่างเราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีคนที่คอยให้โอกาส สร้างแรงบันดาลใจอะไร ทำให้ธุรกิจของเราไปช้า แต่เราก็สู้และผ่านมาได้ ซึ่ง ณ วันนี้พอมองออกไปข้างนอก คนอื่นที่เขาเจอเหตุการณ์อย่างเราเขาไม่มีตัวช่วย เขาจะลำบากกว่าเรามากแค่ไหน อันนี้เรื่องที่หนึ่ง ส่วนเรื่องที่สอง คือว่าผมเคยผ่านประสบการณ์ล้มลุกคลุกคลาน เคยเป็นหนี้เป็นสิน ทำให้รู้แล้วว่าการทำธุรกิจกว่าจะสำเร็จมันไม่ได้ง่าย ถ้าไม่มีโค้ชที่ดี ไม่ได้มีพ่อแม่รวย หรือว่ามีช่องทาง มันก็จะยาก และด้วยปีนี้ผมอายุ 66 จึงตั้งต้นว่าชีวิตเราจะเริ่มต้นที่ 66 ด้วยการเอาประสบการณ์ เอาความรู้ทุกอย่าง ส่งมอบให้กับลูกหลานคนอื่น เพราะในธุรกิจของเราเอง เราได้ส่งมอบให้ลูกแล้ว ซึ่งลูกก็รับช่วงไปได้ระดับหนึ่ง จึงมานั่งคิดว่าประสบการณ์ตรงนี้ที่เรามี ที่เราสั่งสมมา เราให้กับลูกคนอื่นบ้างดีไหม นี่จึงเป็นที่มาของการลุกขึ้นมาทำคอร์สนี้ และการทำงานต่างๆ เพื่อสังคมครับ”

ในวัย 66 ปีของคุณเอี๋ยม อยากจะบอกอะไรกับคนรุ่นใหม่ในยุคนี้
             “คำเดียวเลย ‘อย่าเหลิง’ บางคนสำเร็จแล้วนึกว่าชีวิตนี้ก็ต้องทำอะไรสำเร็จทุกอย่างมันไม่ใช่ คือเวลาคุณอายุน้อยแล้วสำเร็จเร็วคุณจะมั่นใจมาก ทำให้เมื่อคุณอายุมากขึ้น ทำงานใหญ่มากขึ้น คุณไม่ระวังตัวเอง เวลาพลาดตอนนั้น เราพลาดใหญ่ เพราะเล็กๆ ไม่พลาด ส่วนตัวผม ผมอยากให้ลูกๆ ของผม เขาได้มีโอกาสพลาดเล็กพลาดน้อย เพราะความเสียหายมันไม่เยอะ แล้วให้เขาสั่งสมความเข้มแข็งไปเรื่อยๆ ผมยินดีที่จะให้ลูกผมมีโอกาสได้ผิดพลาดในจุดที่ผมดูแลเขาได้ และเขาจะได้เรียนรู้ทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ผมว่ามันดีมากกว่าสอน เพราะสอนเขาไม่ได้คิดตามเราหรอก ให้เขาลองทำแล้วผิดพลาด ลองผิดลองถูก เจอด้วยตัวเองจริงๆ เลยดีกว่า เพราะจะทำให้เขาจดจำมันได้”

แล้วในชีวิตของคุณเอี๋ยม ตอนช่วงชีวิตที่เป็นลูก เคยต้องเห็นวิกฤตอะไรของพ่อแม่ในการทำธุรกิจหรือเปล่า
             “วิกฤตสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ของผม มันไม่ได้มีอะไรมาก เพราะตอนนั้นเราเป็นธุรกิจเล็กๆ มันไม่ได้มี Impact อะไร เพราะธุรกิจเล็กๆใช้เงินสด ซื้อเงินสด ขายเงินสด เพราะฉะนั้นมันไม่มีความเสี่ยง แต่วันหนึ่งถ้าคุณอยากโต มันก็เกิดความเสี่ยงมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ในการทำธุรกิจ มันจะมีด้วยกันประมาณ 3 ยุค ยุคแรกของชีวิตเริ่มต้นธุรกิจก็ต้องทำด้วยแรงตัวเอง ด้วยมือตัวเอง ด้วยกำลังกายตัวเอง คุณต้องทำต้องผลิต ต้องขาย พอยุคที่ 2 คุณต้องเริ่มจ้างลูกน้อง เริ่มให้คนอื่นทำ ส่วนตัวเราก็เป็นผู้นำ นี่คือการบริหาร และเราต้องเป็นนักบริหาร ไม่ใช่ยุคที่มานั่งทำเองทุกอย่างแล้ว ส่วนในยุคอีกยุคหนึ่งถ้าเป็นไปได้ก็คือเป็นยุคของสิ่งที่พ่อรวยสอนลูก คือให้เงินทำเงินด้วยตัวของมันเอง คืออาจจะเป็นการลงทุน ลงทุนในธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจของตัวเอง ซึ่งผมยังไม่ไปถึงตรงนั้น ตอนนี้ผมต้องทำให้ธุรกิจผมมั่นคง แล้วก็ส่งมอบธุรกิจนี้ให้ลูกรุ่น 3 ต่อไป ซึ่งมีคำหนึ่งที่คนชอบพูดกันว่าธุรกิจ ปกติมันไม่เกิน 3 ชั่วคนหรอกนะ รุ่นที่ 3 จะทำพัง คือส่วนใหญ่รุ่นแรกสร้าง รุ่นที่ 2 อาจจะขยาย รุ่น 3 ชีวิตสะดวกสบาย ธุรกิจก็เลยอาจจะจบที่รุ่น 3 ซึ่งอันนี้เดี๋ยวลูกผมเขาก็ต้องรับมอบภารกิจอันนี้ไป ไม่ให้ใครมาปรามาสเขาได้” (ยิ้ม)

ในฐานะของรุ่นที่ 2 อะไรทำให้มั่นใจที่จะส่งไม้ต่อให้รุ่นที่ 3
             “ข้อที่ 1 ผมเตรียมทีมงานไว้แล้ว ไม่ใช่ว่าส่งไม้ให้เขาทันที ระหว่างที่ผมถอยออกมา และระหว่างที่เขาเข้าไป ในช่วงระหว่างพ่อกับลูก เขาเรียกว่า Generation Gap ตรงกลางมีทีมงานที่เป็นลูกน้องผมอยู่ เป็นพี่เลี้ยงให้กับเขา เขาก็เข้าไปฝึก 4-5 ปี มีพี่เลี้ยงแต่ละฝ่าย เขาก็ไปเรียนรู้จากพี่เลี้ยงเหล่านี้ ส่วนผมในฐานะพ่อก็สอนเรื่องใหญ่ๆ เรื่อง Operation และก็ยังคงช่วยเขาแก้ไขหรือให้คำแนะนำในเรื่องใหญ่ๆ แต่ถ้าเรื่องประจำวันหรือปัญหาทั่วไป เขาก็ต้องสามารถแก้ได้ด้วยตัวเองแล้ว”

สิ่งสำคัญที่ให้ลูกยึดถือในการทำงาน และการใช้ชีวิต
             “ผมให้ความสำคัญเรื่องความซื่อตรง ซื่อสัตย์ คนเราต้องซื่อตรงทั้งตัวเอง ซื่อตรงกับเจ้าหนี้ ซื่อตรงกับลูกค้า ซื่อตรงกับลูกน้อง และที่เน้นย้ำอีกเรื่องที่สำคัญคือ ให้ดูแลลูกน้องเหมือนพี่น้อง ให้รักเขาเหมือนพี่น้อง แต่ต้องเป็นพี่น้องที่ดีนะไม่ใช่ไม่ดี (หัวเราะ) ที่ผ่านมามีตัวอย่างเยอะแยะเช่น ลูกน้องเก่าที่อายุ 60 เกษียณ คนไหนดี ๆ ผมก็ยังเชิญมาเป็นที่ปรึกษาเหมือนเดิม ให้เงินเดือนเท่าเดิมอันนี้หมายถึงคนที่เขาเคยช่วยบริษัท เคยทำงานให้กับบริษัทด้วยความตั้งใจเต็มที่ เราก็ต้องดูแลเขา นี่คือสิ่งที่ผมสอนลูกทุกคน”

วิธีการเลี้ยงลูก และลูกน้อง ในแบบฉบับคุณเอี๋ยม – วีรชัย
             “ผมเลี้ยงลูกทุกคนให้เป็นตัวของตัวเอง แม้กระทั่งลูกน้องทุกคนผมก็บอกอย่างนี้ บางทีลูกน้องเสนอโปรเจกต์มา ใช้เงินเท่านี้ๆ เราดูมีความเสี่ยงไหม ถ้ามีความเสี่ยง ถ้าเสียหายแล้วไม่เป็นไร ผมให้เขาลองทำเลย ให้เขาลองคิด ลองผิดบ้าง ถ้าผิดกลับมา ผมบอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวเริ่มใหม่ แต่ในใจน่ะเราเตรียมไว้แล้ว ผมไม่เคยคิดว่าใครเสนอโปรเจกต์แล้วต้องสำเร็จ 100% แต่ถ้าใหญ่เกินไปอาจจะไม่อนุมัติ แต่ถ้าเล็กๆ ให้ลองเลย ซึ่งหากผิดแล้วจำไว้นะ คุณคิดแล้วมันผิด ให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด ผิดแล้วไม่เป็นไร ดูเจตนา เขาไม่ได้มีเจตนาที่จะไปทำร้ายบริษัท แต่เขาอยากจะลอง ก็ลอง ถ้าลองแล้วสำเร็จ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็มีโปรเจกต์ที่ทำแล้วสำเร็จ มันช่วยบริษัทได้เยอะเลย อันนี้จะเป็นวิธีของผม”

ในแง่มุมหนึ่งของการทำธุรกิจ อะไรที่มีค่าที่สุดที่มีเงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้
            “สิ่งที่มีค่าที่สุด คือ เวลา ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร เวลามีค่าเสมอ เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไป คำว่าเวลาในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องใช้เวลาทั้ง 100% ในการทำงาน แต่หมายถึงให้คุณแบ่งปันเวลาให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเวลาส่วนตัว เวลาความสุข เวลาทำงาน จัดการมันให้ดี มันเป็นสิ่งที่มีค่า เมื่อจัดการเวลาได้ดี อย่างอื่นมันก็จะตามมา”

ความสุข ณ วันนี้ของคุณ
            “ณ วันนี้ผมคิดว่าบริษัทมีความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว และส่งมอบงานให้ลูกมารับช่วงได้แล้ว ครอบครัวก็มีความสุขแล้ว เพราะฉะนั้นชีวิตหลัง 66 นี้ ผมอยากทำให้คนอื่นมีความสุขบ้าง ซึ่งไม่ใช่ครอบครัว เพราะครอบครัวมีเพียงพอแล้ว ก็จะส่งมอบความสุขแบบที่ผมมีน่ะให้กับคนอื่น ให้โอกาสคนอื่น ที่เขายังมีปัญหาอยู่ เพราะถ้าทำได้ผมก็จะมีความสุขมากขึ้น”

หลังจากได้ฟังมุมมองแง่คิดดีๆ จากคุณเอี๋ยม – วีรชัย มั่นสินธรแล้ว เรามีโอกาสได้พูดคุย กับ คุณอู๋ - คุณฑิฆัมพร มั่นสินธรถึงเรื่องราว ความคิด ที่เขาได้รับการถ่ายทอดดีเอ็นเอเหล่านี้ จากผู้เป็นพ่อ
            “ตอนนี้ผมได้เข้ามาดูแลธุรกิจที่บ้านเต็มตัวซึ่งก็คือ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษลูกฟูกบริษัท อุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) โดยดูทั้งหมดตั้งแต่จัดซื้อบัญชี การตลาด วางแผนการผลิต โดยมีทีมงานที่คุณพ่อสร้างไว้ ซึ่งเป็นทีมงานที่คุณพ่อไว้ใจ และทำงานกับคุณพ่อมานาน คอยช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ในการที่จะเรียนรู้งานแต่ละส่วน เพราะทั้งหมดอู๋คงทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีพี่ๆทุกคนที่มีประสบการณ์คอยช่วยครับ
           “และจากการที่เรา เรียนจบบริหารมาจากประเทศญี่ปุ่น ผมได้นำคอนเซปต์ที่ได้เรียนรู้มาใช้ในการทำงาน ยกตัวอย่างในญี่ปุ่นเขาจะมีขั้นตอนที่ชัดเจนในการทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋วรถไฟ เขามีขั้นตอน 1 2 3 4 5 ถึงแม้เขาจะไม่ได้อธิบายละเอียด เป็นเพียงคำอธิบายสั้นๆ แต่ว่าทุกคนเข้าใจได้ ซึ่งผมอยากพยายามทำอย่างนั้นในบริษัทด้วย เพื่อเราจะได้สร้างมาตรฐานการทำงานที่เป็นขั้นตอนและเข้าใจได้ง่าย ซึ่งถ้าทุกคนเข้าใจและปฏิบัติตามได้จะทำให้การบริหารงานง่ายขึ้นด้วยครับ”

หลังจากได้เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ ฟังดูเขาเป็นชายหนุ่มที่รู้จักหน้าที่ของตัวเองดีทีเดียว ว่าเขาคือผู้สืบทอดธุรกิจของครอบครัว หากแต่มีช่วงเวลาหนึ่งที่เคยหลงทางไปบ้าง ซึ่งเขาก็บอกเล่าให้ฟังอย่างไม่ปิดบัง
           “ย้อนไปตอนที่เรียนญี่ปุ่น ตอนนั้นขอเงินที่บ้านน้อยมากครับ ที่เหลือผมรับผิดชอบตัวเอง ซึ่งเราขยันมาก ไม่เกเรเลย ทำงานเยอะ พอเรียนจบกลับมาคุณพ่อให้มาช่วยทำงาน เราก็โอเค เข้ามาปีแรก มาเรียนรู้งานที่บริษัท มาอย่างไม่รู้อะไรเลย เพราะคุณพ่อเองไม่ค่อยได้เล่าอะไรให้เราฟังเรื่องงานบริษัท ตอนนั้นอายุ 23-24 เข้ามาเสร็จปุ๊บก็งง แต่ไปเข้าออฟฟิศทุกวันนะซึ่งพอเลิกงานก็ไปเตร็ดเตร่เที่ยวตามประสาวัยรุ่น เที่ยวแบบเต็มที่ เพราะรู้สึกว่าตอนเราไปเรียนญี่ปุ่นเราทำตัวดีมากแล้ว ตอนนี้ขอแอบเกเรบ้าง (หัวเราะ) เพราะเราไม่เคยได้ใช้ชีวิตมหาลัยเหมือนเพื่อนๆ ที่เรียนที่นี่ ตอนนั้นก็เที่ยวหนักมาก

            “จนวันหนึ่งอู๋มองเห็นคุณพ่อเริ่มอายุเยอะ คุณพ่อเริ่มมีป่วย มีเข้าโรงพยาบาลบ่อยขึ้น ไม่ฟิตเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ได้คิดว่า เราจะมาทำตัวเหลวไหลแบบนี้อีกไม่ได้แล้ว และเราก็รู้ตัวว่าเรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ จึงหันมาเปลี่ยน Mindset ตัวเอง กลับมาช่วยที่บ้านอย่างตั้งใจ ค่อยๆ กลับมาเรียนรู้งานแต่ละส่วน ค่อยๆ จริงจังมากขึ้น อย่างเมื่อก่อน ไม่ค่อยรับผิดชอบอะไรมาก ก็พยายามรับผิดชอบแต่ละส่วนมากขึ้น เข้าไป Involve กับงานมากขึ้นครับ ส่วนหนึ่งเรารู้แล้วว่าเราเป็นลูกชายคนเดียว เรามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เราก็จัดสรรเวลาให้ดีขึ้น ให้ความสำคัญกับงานที่เราต้องรับผิดชอบมากขึ้น”

รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองขยาย รุ่นสาม?
           “รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองขยาย รุ่นสามจะทำพังเป็นคำพูดของคนจีน ความหมายประมาณว่า ส่วนใหญ่ธุรกิจมักจะมาจบในรุ่นที่สาม ซึ่งผมไม่อยากเชื่อในคำพูดนั้นสักเท่าไหร่ เพราะผมคิดว่า เราต้องทำให้ได้ดี หรืออย่างน้อยมันต้องไม่จบที่รุ่นของเรา มันต้องไปต่อ รุ่นนี้ไม่จบแน่นอน ผมจะเป็นคนที่ทำให้มันอยู่ต่อไปได้เรื่อยๆ จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ก็หาคนอื่นมาช่วย มันคงไม่หยุดที่แค่ว่าเราทำได้แค่นี้ เราต้องหาวิธีที่ให้มันเดินไปข้างหน้าได้อีกเรื่อยๆ แน่นอนครับ”

สิ่งที่ยึดถือในการทำงาน
           “สิ่งที่คุณพ่อเน้นย้ำเสมอ คือเรื่องของความซื่อสัตย์ เราต้องซื่อสัตย์ในการทำงาน ซื่อสัตย์ต่อทุกคนที่เราต้องร่วมงานด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือ ดูแลพนักงานเหมือนครอบครัวตอนแรกผมไม่เข้าใจ แต่พอได้มาทำงาน ได้มารับรู้ว่า คนที่ทำงาน เขาทำงานเพื่อเรานะ เขาทำงานหนักให้เรา บางคนทำงานหามรุ่งหามค่ำ ทั้งๆ ที่เรามาทำงานแปดโมงกลับห้าโมง เขาทำเยอะกว่าเราอีก เราก็ต้องดูแลเขา เราต้องดูแลเขาเหมือนครอบครัวของเรา เพราะที่สุดแล้วสิ่งที่เขาทำ ก็ส่งผลดีต่อธุรกิจของเราครับ และมีคำที่คุณพ่อจะสอนเสมอคือ Give before take ให้ก่อน ก่อนที่เราจะรับ และเราอย่าไปหวังว่าเราให้ไปแล้ว เราต้องได้กลับมาเสมอ ถ้าไปหวังอย่างนั้น อยู่ไปก็ไม่มีความสุขหรอก แต่ถ้าเราคิดว่า ให้ไปก่อนจะได้กลับมาหรือเปล่าค่อยว่ากัน อย่างน้อยเราก็รู้ว่าเราได้ให้คนอื่นแล้ว สิ่งนี้ใช้ได้ในทุกๆ เรื่อง ผมคิดว่าใช้ได้กับทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในเรื่องเพื่อน เรื่องงาน หรือความสัมพันธ์คู่ค้าคู่ขาย เวลาที่เราให้แล้วไม่ได้คาดหวัง พอได้กลับมาแล้วเหมือนเป็นโบนัส เป็นข้อหนึ่งที่ผมเอาไปใช้แล้วผมเห็นผลได้จริงครับ”

ในฐานะลูก รู้สึกอย่างไรที่คุณพ่อได้ลุกขึ้นมาทำเพื่อคนอื่นในวันนี้
           “ผมซัพพอร์ตมากๆ เลย เพราะมันมาจากเมื่อก่อนที่คุณพ่อไม่มีโอกาส ไม่มีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษา เขาเหนื่อยมาก และตอนแรกคุณพ่อเขาก็ไม่อยากให้ผมต้องมาทำอะไรให้เหนื่อยแบบเขา ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งผมก็เริ่มรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ผมเริ่มบอกป๊าไม่ต้องห่วงผม ผมโอเคล่ะ และคุณพ่อท่านก็อยากแบ่งปันให้กับคนอื่นด้วย ไม่อยากให้คนอื่นต้องมาเจอแบบเขา เพราะเขาเจออะไรมาเยอะมากจริงๆ เขาอยากเป็นตัวช่วยให้คนอื่นได้เข้าถึงโอกาสดีๆ ครับ”

ตั้งเป้าหมายในอนาคต
          “เป้าหมาย คงดูแลบริษัทให้ดีไปเรื่อยๆ โตขึ้นในทางที่มั่นคง และมีประสิทธิภาพโดยที่เราดูแลทุกคนได้อยู่ เราจะโตแบบยั่งยืน แบบ Sustainability แล้วก็โตไปในทางที่ดี คำว่ายั่งยืนของแต่ละบริษัทความหมายอาจต่างกัน แต่ยั่งยืนของผมยั่งยืนในแบบการดูแลพนักงานทุกคน คุณพ่อจะเน้นย้ำเรื่องนี้มากๆ ซึ่งผมก็จะทำให้ได้ และก็ยั่งยืนในเรื่องของคุณภาพสินค้าบริการกับคู่ค้าด้วยครับ”

ความสุข ณ วันนี้ของคุณ
          “ความสุข คือ ได้เห็นคนอื่นมีความสุข คำว่าคนอื่นของผมคือ คนใกล้ตัวก่อน คือครอบครัว อย่างผมในฐานะลูกชายคนเดียว เราได้ดูแลธุรกิจ เราใช้บริษัทนี้ดูแลพี่น้อง เราต้องทำให้ทุกคนมีความสุขเท่าเดิม หรือมากกว่าเดิม ผมตั้งใจว่าจะต้องไม่ทำให้ทุกคนมีความสุขน้อยลงครับ”

Photo By : Pumkiat
Author By : Arunlak

SHARE