counters
hisoparty

รอยยิ้มสวยมีเสน่ห์ ...ตัดสินอย่างไร?

7 years ago

หลายคน คงมีคำถามในใจว่า รอยยิ้มที่จัดว่าสวย รอยยิ้มที่มีเสน่ห์ ทันตแพทย์ดูจากหลักเกณฑ์อะไร HiSoParty ฉบับนี้ ผมได้นำภาพรอยยิ้มมาประกอบการอธิบายว่า รอยยิ้มสวย มีเสน่ห์ ทันตแพทย์และคนทั่วไป ตัดสินอย่างไร

ก่อนที่เราจะลงในรายละเอียด เรามาดูองค์ประกอบของรอยยิ้มกัน

รอยยิ้มที่ดูอ่อนเยาว์ ตัดสินจากเส้นปลายฟันหน้า เทียบกับโค้งริมฝีปากล่าง

แบบ A ให้ความรู้สึกอ่อนเยาว์ มีเสน่ห์ และสวย
แบบ B รอยยิ้มจะดูแข็ง ไม่อ่อนโยนเท่าแบบ A และให้ความรู้สึกว่า เจ้าของรอยยิ้มมีอายุสูงกว่าแบบ A
แบบ C เป็นรอยยิ้มที่ไม่สวย ดูขัดตา และให้ความรู้สึกว่า เจ้าของรอยยิ้มเป็นคนแก่

เสันระดับรอยยิ้ม
สำหรับเสันระดับรอยยิ้มนั้นแบ่งได้เป็นสามชนิด

แบบ A รอยยิ้มมาตรฐาน เห็นเหงือกเมื่อยิ้มเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นรอยยิ้มมาตรฐานที่สวยงามและมีเสน่ห์
แบบ B รอยยิ้มที่ไม่เห็นเหงือกเลย อาจให้ความรู้สึกว่าเจ้าของมีอายุที่สูงกว่าแบบ A และเป็นรอยยิ้มที่พบได้ในผู้สูงอายุหรือคนที่มีริมฝีปากบนยาว
แบบ C เป็นรอยยิ้มที่เห็นเหงือกเยอะ ให้ความรู้สึกอ่อนเยาว์ แต่หากเหงือกโผล่มากกว่า 5 มิลลิเมตรแล้วรอยยิ้มนั้นจะดูไม่ดี เป็นรอยยิ้มที่เห็นเหงือกเยอะ (Gummy smile) และอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของขากรรไกรบน ให้ความรู้สึกเหมือนฟันเหยิน หรือหากเป็นมากก็จะดูเหมือนม้าได้ ระดับเหงือกที่มากจึงเป็นผลลบต่อรอยยิ้ม

สีฟัน ขนาดฟันและสัดส่วนฟันหน้า
สีฟันต้องมีความขาวเสมอกัน ไม่มีฟันซี่ใดซี่หนึ่งเหลืองหรือดำ ทำให้สีฟันไม่กลมกลืนขนาดความกว้างต่อความยาวของฟันที่สวย ควรมีค่าประมาณ 80% จะให้ความรู้สึกว่าฟันรูปร่างตรง ยาว และเด่น เป็นสัดส่วนที่งานวิจัยต่างๆระบุว่าเป็นสัดส่วนที่คนส่วนใหญ่ชื่นชอบ
สัดส่วนความกว้างของฟันเขี้ยวต่อฟันซี่ข้าง และ สัดส่วนความกว้างของฟันซี่ข้างต่อฟันซี่หน้า (เมื่อมองจากด้านหน้า) จะมีสัดส่วนเท่ากันคือประมาณ 0.7 ที่สัดส่วนนี้ ทำให้ฟันหน้ามีขนาดที่ใหญ่เหมาะสมกับฟันซี่ข้าง ไม่ใหญ่เป็นฟันกระต่าย และเขี้ยวไม่โด่งจนไม่สวยงามนั่นเอง

โดยสรุปแล้วรอยยิ้มที่สวยงามและมีเสน่ห์คือรอยยิ้มที่มี..."เส้นปลายฟันหน้าบน เป็นเส้นโค้งขนานขอบริมฝีปากล่างยิ้มแล้วเห็นเหงือกเล็กน้อย ไม่มากเกิน 5 มิลลิเมตร และมีระดับเป็นเส้นตรงเดียวกันไม่ต่างระดับกันมากนัก ฟันขาว เรียงสวยเสมอกัน ขนาดฟันเหมาะสมสัดส่วนฟันเทียบเคียงกับฟันข้างเคียง มีสัดส่วนที่ดี" เพียงเท่านี้ เราทุกคนก็สามารถตัดสินได้ว่า รอยยิ้มไหน สวย หรือไม่สวยครับแล้วพบกันใหม่ครับ

Story by รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงาม และทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE