counters
hisoparty

เซรามิกวีเนียร์ สวยทน สวยนาน

10 months ago

          เดือนแห่งความรักนี้ หมอขอเขียนอะไรง่ายๆ เกี่ยวกับความทนทานของงานบูรณะฟันชนิดหนึ่งที่ตนเองถนัด และรักที่จะทำ เพราะเป็นงานทันตกรรมที่ให้ความสวยงามกับคนไข้ อีกทั้งยังเป็นงานที่มีความทนทาน อายุใช้งานสูงงานทันตกรรมนั้นเรียกว่า วีเนียร์ (Veneer) หรือเฟสซิ่ง (Facing) หรือเคลือบฟันเทียมนั่นเอง เพราะความทนทานหรืออายุใช้งาน เป็นตัวชี้วัดของความสำเร็จของการรักษา หากเป็นชีวิต ก็คือคนที่มีอายุยืน หากเป็นความรัก ก็คงเปรียบเหมือนรักที่ยั่งยืนนั่นเอง

          วีเนียร์หรือเฟสซิ่ง เป็นการบูรณะฟันประเภทหนึ่งที่ทันตแพทย์เลือกใช้เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพฟันหน้าที่ไม่ดี ได้แก่ ผิวเคลือบฟันไม่ดี ฟันสีไม่สวย ฟันเรียงตัวไม่ดี ฟันห่าง ฟันมีขนาดผิดปกติ ซึ่งมีผลให้รอยยิ้มไม่สวยงาม ทันตแพทย์จะเลือกบูรณะฟันด้วยหัตถการเรียกว่า วีเนียร์หรือเฟสซิ่ง เพื่อปรับสภาพฟันให้มีการเรียงตัวของฟันที่ดี มีสีขาวสวยงาม ผลโดยรวมคือทำให้ผู้ป่วยมีรอยยิ้มที่สวย สมบูรณ์มากขึ้น มีความมั่นใจในการยิ้ม ทำให้สามารถออกสังคมได้อย่างมั่นใจ

          วิธีการทำวีเนียร์นั้น ทันตแพทย์จะกรอผิวหน้าฟัน (เคลือบฟัน) ออก ประมาณ 0.5 - 1 มิลลิเมตร ทั้งนี้ ฟันที่สูญเสียเคลือบฟันปริมาณน้อยๆ จะยังคงมีความแข็งแรงสูง และไม่มีอาการปวดฟัน ต่อมาทันตแพทย์จะบูรณะโดยการนำแผ่นวีเนียร์บางๆ เหมือนเปลือกไข่ มายึดติดลงบนตัวฟันที่กรอเตรียมไว้ วัสดุที่นิยมนำมาใช้เคลือบฟันได้แก่ เรซินคอมโพสิต ซึ่งมีลักษณะคล้ายพลาสติก และเซรามิก ซึ่งมีลักษณะคล้ายแก้ว วัสดุทั้งสองชนิดจะให้ความสวยงามแตกต่างกัน เซรามิกจะให้ความสวยงามสูง ทนทาน ไม่เปลี่ยนสี แต่ราคาค่ารักษาสูงกว่าชนิดเรซินคอมโพสิตมาก ดังนั้น คนไข้ส่วนใหญ่จึงอาจจะเคยทำเรซินคอมโพสิต เนื่องด้วยเพราะราคาถูกกว่า และเมื่อสามารถเก็บเงินจนเปลี่ยนวีเนียร์ใหม่เป็นชนิดเซรามิกได้ก็อาจจะเข้ารับการเปลี่ยนวีเนียร์ที่เคยทำไป

          เซรามิกวีเนียร์เป็นวัสดุบูรณะที่มีความทนทาน สามารถรองรับการใช้งานในช่องปากได้ยาวนานมากกว่าสิบปีในสภาพที่ยังสวยงาม และสมบูรณ์ถ้าจะพูดถึงอายุใช้งานของเครื่องใช้ต่างๆ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่นั้น หากสามารถใช้งานเกินห้าปีขึ้นไป ก็สามารถเรียกได้ว่าทนทานแล้ว งานบูรณะฟันส่วนใหญ่ทางทันตกรรม หากมีอายุใช้งานเกินสิบปีขึ้นไป ก็จัดได้ว่ามีความทนทานสูงเช่นกัน สำหรับเซรามิกวีเนียร์นั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า วีเนียร์มีความทนทานสามารถใช้ในช่องปากมากเกิน 15 ปีขึ้นไปโดยงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า หลังสิบปีนั้น วีเนียร์ที่ทำไว้กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ยังสามารถใช้งานต่อได้ในช่องปาก และบางงานวิจัย ยังระบุไว้ว่า วีเนียร์ที่ทำไว้ 80 เปอร์เซ็นต์ สามารถคงอยู่ในช่องปากและใช้งานได้ดีหลังทำไปแล้ว 20 ปี ก็ต้องบอกว่าวัสดุบูรณะทางทันตกรรมนั้นที่จะมีอายุใช้งานยาวนานขนาดนี้ ในร้อยละการอยู่รอดที่สูงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ก็เห็นจะมีแค่เซรามิกวีเนียร์และการบูรณะฟันด้วยครอบทองโลหะเท่านั้น

เซรามิกวีเนียร์ที่ทำโดยทันตแพทย์อย่างถูกหลักการจึงเป็นงานที่คงทนถาวร ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ หรืออัพเกรดเวอร์ชันเหมือนเครื่องโทรศัพท์มือถือ
          จากงานวิจัยเราสามารถสรุปได้ว่า งานวีเนียร์ที่ล้มเหลว สิบเปอร์เซ็นต์นั้นเกิดจากการกัดขบของแข็งเกินกำลังของเซรามิกที่จะรับได้ เกิดจากฟันผุ เนื่องจากผู้ป่วยไม่ยอมแปรงฟันให้ดี หรือมีสุขอนามัยไม่ดี และอีกส่วนหนึ่งประมาณ 4 ใน 10 เปอร์เซ็นต์นั้น เกิดจากคนไข้ไม่พอใจในความสวยงามของวีเนียร์เดิม และต้องการเปลี่ยนเป็นชุดใหม่ ทั้งๆ ที่วีเนียร์เดิมก็สามารถใช้งานในช่องปากได้ดีคนไข้ส่วนใหญ่ จะมีเหงือกร่นโดยจะเกิดที่บริเวณฟันธรรมชาติโดยเฉลี่ยทุกห้าปี จะมีเหงือกร่นประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ทั้งนี้ หากแปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือสูบบุหรี่ ก็มีผลทำให้เหงือกร่นได้มากขึ้นและเร็วขึ้น มีผลทำให้มองเห็นขอบรอยต่อระหว่างวีเนียร์และฟันธรรมชาติ คนไข้บางคนนั้น ไม่ชอบใจ ก็จะร้องขอให้เปลี่ยนวีเนียร์ชุดใหม่นั่นเอง

ดูแลแรักษาเซรามิกวีเนียร์อย่างไร ให้เซรามิกวีเนียร์มีความสวยงามทนทาน อายุใช้งานยาวนาน
          การดูแลรักษาฟันที่บูรณะด้วยเซรามิกวีเนียร์ไปอย่างดี ก็จะช่วยให้อายุใช้งานของวัสดุยาวนานมากขึ้นด้วย ทั้งนี้วีเนียร์สามารถใช้งานในช่องปากยาวนานมากกว่า 20 ปี ในสภาพที่ดี และอาจจะมีอายุใช้งานยาวนานอย่างต่อเนื่องได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยควรดูแลวีเนียร์ที่ทำไปดังนี้
          • ไม่กัดของแข็ง อาหารแข็งมากๆ เช่น ก้ามปู กระดูกไก่ กระดูกอ่อน
          • ไม่ใช้ฟันที่ทำวีเนียร์มาผิดหน้าที่ เช่น กัดเล็บ กัดงัดของ กัดน้ำแข็งหรือกัดปลายปากกา
          • แปรงฟันให้ดี และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อป้องกันฟันไม่ให้ผุ
          • ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้เหงือกร่นนั่นเอง
          • ระมัดระวัง หากมีนิสัยนอนกัดฟัน ควรแจ้งทันตแพทย์เพื่อทำเครื่องมือกันฟันในขณะนอนหลับ วีเนียร์ก็จะไม่โดนกัดในระหว่างหลับ ทั้งนี้พบว่าแรงบดเคี้ยวฟันในคนที่มีโรคนอนกัดฟันนั้น จะมีแรงบดเคี้ยวได้ถึง 80 กิโลกรัม ทั้งๆที่แรงบดเคี้ยวปกติ มีแรงบดเคี้ยวเพียง 8 - 10 กิโลกรัม
          • เลี่ยงอาหารมีสี เพราะอาจทำให้ขอบวีเนียร์หรือฟันธรรมชาติติดสีได้ เช่น ไวน์แดง ชา กาแฟเข้มข้น เป็นต้น
          • หมั่นตรวจเช็คกับทันตแพทย์ทุกๆ หกเดือน ทั้งนี้พบว่าการสบฟันของคนทั่วไป จะเปลี่ยนแปลงได้ทุกๆ ปี หากไม่มีการรตรวจสบฟันดีๆ อาจมีแรงกัดที่ไม่ถูกต้องกับฟันบางซี่ที่ทำวีเนียร์ได้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำวีเนียร์
          หมอได้เห็นกระทู้หลายกระทู้ใน internet เกี่ยวกับวีเนียร์ ได้แก่ทำวีเนียร์มาไม่นานก็หลุด ทำมาแล้วปากจะเหม็น ทำมาแล้วจะเป็นโรคเหงือก ความเป็นจริงนั้น ในการทำวีเนียร์ ทันตแพทย์จะต้องทำตามหลักการ และวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาฟันวีเนียร์จะต้องแยกเป็นซี่ๆ สามารถใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดระหว่างซี่ฟันได้ หมอที่ทำจะต้องวางขอบวีเนียร์ให้ดี ไม่มีส่วนเกินไปทับที่ขอบเหงือก และไม่มีเศษกาวยึดวีเนียร์ เกินลงไปในร่องเหงือก มิฉะนั้น เหงือกจะอักเสบและระยะยาวก็จะเกิดเหงือร่นได้ ในกรณีที่ไปทำวีเนียร์มาแล้วหมอทำผิดหลักการ คือวีเนียร์ไม่สามารถใช้ไหมขัดฟันได้ ก็จะเกิดการเก็บกักเศษอาหารระหว่างซอกฟัน เป็นต้นเหตุของโรคฟันผุ และเป็นต้นเหตุของการเกิดกลิ่นปากได้ในบางกรณี แพทย์อาจจะยึดชิ้นงานไม่ดี ยึดชิ้นงานโดยมีการเตรียมผิวฟันไม่ดี หรือมีการตรวจการกัดสบไม่ดี ก็อาจมีผลให้ชิ้นวีเนียร์หลุดออกจากฟันหลังใช้งานไปไม่นาน ทั้งนี้ ความผิดพลาดต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากทันตแพทย์ผู้ทำมีความรู้และความชำนาญเพียงพอ

เกณฑ์ที่เราสามารถใช้ตรวจสอบวีเนียร์ตนเองว่าดีหรือไม่ได้แก่
         • วีเนียร์ที่ดี คนไข้จะต้องสามารถใช้ไหมขัดฟันระหว่างซี่ฟันได้
         • วีเนียร์ที่ดี ควรมีรูปร่างและรูปทรงที่ดี ไม่อูมและไม่ใหญ่เกินไปจนไปเกินในร่องเหงือก
         • ขอบเหงือกของฟันที่ทำวีเนียร์ จะต้องไม่บวมแดง อักเสบ
         • วีเนียร์ที่ดีจะต้องไม่มีขอบวีเนียร์สีดำ
         • วีเนียร์ที่ดีขอบจะต้องเนียน ไม่มีจุดสะดุด
         • วีเนียร์ที่ดีจะต้องมีความยาวพอเหมาะ ไม่ทำให้การกินอาหารติดขัดหรือสบกระแทกใดๆ คนไข้ต้องสามารถทานอาหารได้เป็นปกติ

         เซรามิกวีเนียร์ เป็นวัสดุบูรณะฟันที่แข็งแรง ทนทาน มีอายุใช้งานยืนนานแล้วพบกันใหม่ครับ

Author By : รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์ ทันตแพทย์ด้านทันตกรรมหัตถการ และทันตกรรมความสวยงาม

SHARE