ความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับฟันตอนที่ 3 นี้ ผมจะยกข้อโต้เถียงทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องการถ่ายรังสีต่างๆ ทางการแพทย์และทันตกรรม ว่ามีผลกระตุ้นให้เกิดเซลมะเร็ง จากข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้โยงเรื่องการถ่ายภาพรังสี กับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ทำให้หลายๆ คนไม่ยอมรับการถ่ายภาพรังสี ทำให้การตรวจโรคของแพทย์และทันตแพทย์ทำได้ยากยิ่งขึ้น แม้แต่การเดินผ่านเครื่องสแกนที่สนามบิน บางคนก็ยังกลัวว่าจะกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง ในความเป็นจริง การใช้ชีวิตในปัจจุบัน มีการคำนวณไว้ว่า คนหนึ่งคนจะโดนรังสีเอ็กซ์จากสิ่งแวดล้อมโดยเฉลี่ย 3.1 mSv ต่อปีเท่านั้น ยิ่งเราอายุมากขึ้นๆ ร่างกายก็มีโอกาสสะสมรังสีในร่างกายอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
รังสีเอ็กซ์ หรือ X-ray เป็น รังสี ionozed ได้ถูกค้นพบโดย Wilhelm Rontgen ในปี คศ. 1895 และถูกนำมาใช้ในการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ ตั้งแต่ปี คศ. 1896 นอกจากนี้รังสีเอ็กซ์ ยังถูกนำมาใช้ในการกำจัดเซลมะเร็ง แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า เซลในร่างกายมนุษย์นั้น หากได้รับ รังสีเอ็กซ์ ต่อเนื่องในปริมาณสูง จะมีผลให้เซลนั้นๆ กลายพันธ์ุ และเชื่อว่าอาจกลายเป็นเซลมะเร็งได้ รังสีเอ็กซ์จึงถูกจัดว่าเป็นรังสีอันตราย และมีข้อระมัดระวังในการทำงานร่วมกับเครื่องถ่ายรังสี ได้แก่ ห้องถ่ายรังสี ต้องมีการบุผนังด้วยตะกั่วหนาอย่างน้อย 2 มม. รอบห้อง เพื่อกันรังสีที่อาจผ่านทะลุผนังไปสู่ผู้อื่นนอกห้อง และผู้ถ่ายรังสี ก็ต้องใส่ชุดป้องกันรังสี ซึ่งเป็นชุดตะกั่วหนักเพื่อป้องกันไม่ให้เซลในร่างกายมีการรับรังสีโดยไม่จำเป็น ร่างกายสามารถรับรังสีเอ็กซ์ และสะสมไว้ตลอดอายุขัย ดังนั้นเราจึงไม่ควรรับการถ่ายรังสีบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น
หน้าห้องถ่ายรังสี จะมีข้อความสากลเตือนว่า หากตั้งครรถ์ให้แจ้งต่อพนักงาน หรือ ห้ามไม่ให้สตรีมีครรภ์ถ่ายภาพรังสี ทั้งนี้เพราะ รังสีเอ็กซ์ จะมีผลเสียต่อเซลที่กำลังพัฒนาของทารกในครรภ์ เซลที่กำลังแบ่งตัวของทารกนั้น จะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและหากมีภาวะที่ผิดปกติ เซลก็พร้อมที่จะกลายพันธ์ุได้ จึงมีข้อห้ามในการถ่ายภาพรังสี เพราะภาพถ่ายรังสีบางประเภทจะมีความเข้มข้นของรัวสีที่ใช้สูงมาก หากมีการถ่ายภาพรังสีบ่อยๆ ทารกก็สามารถรับรังสีนั้นๆได้ จึงมีความกังวลว่า รังสีเอ็กซ์ จะมีผลต่อการสร้างอวัยวะของทารกในครรภ์ รังสีเอ็กซ์ยังจำกัดในการใช้กับเด็กอายุน้อยๆ เนื่องจากเซลของเด็กเล็ก จะมีการเติบโต เปลี่ยนรูปร่างและซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ จึงมีความกังวลเรื่องการกลายพันธุ์ของเซล หรือกังวลเรื่องของการสะสม รังสีเอ็กซ์ ตั้งแต่เด็ก จนถึงจุดที่สูงจนส่งผลต่อเซลได้ เด็กอายุตำ่กว่า 4 ปี ได้มีคำเตือนจากงานวิจัยต่างๆ ว่า ควรหลีกเลี่ยงการรับรังสีเอ็กซ์ เว้นเสียแต่ว่าจำเป็นจริงๆ
ผลข้างเคียงของการได้รับรังสีเอ็กซ์ในปริมาณมาก จะมีผลต่อร่างกายได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน เจ็บคอ ปาก และกระเพาะอาหาร ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดบวม และเป็นหมันได้ ในระยะยาว ก็อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวไหม้ ผิวแห้ง และเป็นมะเร็ง จึงทำให้มีการโยงเรื่องการถ่ายภาพรังสีบ่อยๆ กับโรคมะเร็ง
ในความเป็นจริงนั้น เราต้องทราบก่อนว่า รังสีเอ็กซ์ที่นำมาใช้ในการวินิจฉัยทางการแพทย์ มีความเข้มข้นตำ่มาก ต่างจาก รังสีเอ็กซ์ที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ และภาพที่ได้จากรังสีเอ็กซ์นั้น มีประโยชน์มากต่อการวินิจฉัยโรคต่างๆ โรคหลายๆโรคไม่สามารถทำการวินิจฉัยได้เลย หากไม่มีภาพถ่ายเอ็กซเรย์ ประโยชน์ของรังสีเอ็กซ์จึงสูงมาก ในการตรวจวิเคราะห์โรคต่างๆ ทางทันตกรรม
ทันตแพทย์จะใช้ รังสีเอ็กซ์ในการถ่ายภาพรังสีดูฟันทั้งปาก เรียกภาพถ่ายรังสีแบบ Panoramic หรือภาพรังสีแบบฟิลม์ใหญ่ Pano (1 ภาพรังสี Pano มีปริมาณรังสี 0.010 mSv)
ภาพถ่ายรัสีกระโหลกศรีษะใช้ถ่ายดูความผิดปกติและความสัมพันธ์ของกระดูกขากรรไกรและกระโหลกศรีษะ ดูความผิดปกติของกระดูกรองรับฟัน ใช้ดูโพรงอากาศว่าติดเชื้อหรือไม่ และใช้วินิจฉัยก่อนการจัดฟัน (1 ภาพรังสี มีปริมาณรังสี 0.010 mSv)
ภาพถ่ายรังสีขนาดเล็ก จะใช้ในการดูรอยผุ ใช้ตรวจรอยโรคบริเวณรากฟัน และกระดูกรองรับ ใช้ตรวจสอบสภาพครอบฟัน วัสดุบูรณะ และใช้ประกอบในการรักษาโรคเหงือกและรักษารากฟัน (4 ภาพรังสีฟิลม์เล็ก มีปริมาณรังสี 0.005 mSv)
ภาพถ่ายรังสีแบบ Dental CT ซึ่งให้ข้อมูลของกระโหลกและฟันแบบสามมิติ ใช้ในการวิเคราะห์สภาพกระดูกและฟันก่อนการผ่าตัด หรือใส่รากเทียม หรือถอนฟันยากๆ และวางแผนการรักษาต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ CT ก็จะเป็นข้อมูลสำคัญในการใช้ข้อมูลประกอบกับเครื่องถ่ายภาพฟัน ซึ่งสามารถประกอบภาพทั้งหมดออกมา และสร้างชิ้นงาน สามารถผลิตชิ้นงานให้มีรูปร่างตามต้องการจากเครื่องกลึง CAD-CAM ให้การรักษามีคุณภาพที่ดี ใช้เวลาในการรักษาน้อยที่สุด (1 ภาพรังสี Dental CT มีปริมาณรังสีประมาณ 0.2 mSv)
เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณรังสีทางการแพทย์
การทำ Mammogram 1 ครั้ง 0.04 mSv
การถ่ายรังสีเอ็กซ์ช่องอก 1 ครั้ง 0.10 mSv
การถ่าย CT ช่องอก 1 ครั้ง 7 mSv
การถ่าย CT ช่องท้อง 1 ครั้ง 8 mSv
ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็จัดว่า ต่ำมากๆ และการถ่ายรังสีทางทันตกรรม จะมีปริมาณรังสีที่ตำ่มาก ถือว่ามีความปลอดภัยสูง
มีรายงานการประเมินด้วย EPA cancer risk ว่า ในคนหมื่นคน ที่ได้รับรังสี ionoized 1 rem (10 mSv) ตลอดในช่วงที่มีชีวิตอยู่ อาจพบคนที่มีโอกาสตายจากโรคมะเร็ง เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6 คน (ในขณะที่ มีโอกาสตายจากโรคมะเร็งด้วยสาเหตุอื่นๆ ถึง 2,000 คน)
ถึงแม้ว่าการถ่ายรังสีทางทันตกรรมจะมี ปริมาณรังสีตำ่มากๆ แต่ท่านก็ควรระวังเมื่อต้องถ่ายภาพรังสี หรือเมื่อเข้าตรวจฟันได้แก่ หากมีครรถ์ ไม่ควรถ่ายภาพรังสี เด็กอายุตำ่กว่า 4 ปี ไม่ควรถ่ายภาพรังสีบ่อยๆ หรือในคนทั่วไป ไม่ควรถ่ายรังสีหลายๆครั้งโดยไม่จำเป็นนอกจากนี้ ท่านควรแจ้งทันตแพทย์ให้ใส่เสื้อและเครื่องป้องกัน โดยปกติแล้วทันตแพทย์จะถ่ายฟิลม์ใหญ่เพื่อตรวจฟันทุกๆ 3 ปี หรือฟิล์มเล็ก เพื่อตรวจฟันผุ ทุกๆ 2 ปี
อย่ากังวลเรื่องรังสีจนเกินไป จากการวิจัยต่างๆ พบว่า ภาพถ่ายรังสีทางการแพทย์ และ CT scan สามารถช่วยตรวจพบมะเร็งช่วงต้นได้ และช่วยในการตรวจพบโรคต่างๆ ในช่วงที่ยังรักษาได้ ก่อนที่จะสายเกินไป ทางด้านทันตกรรมก็เช่นกัน การตรวจพบรอยผุก่อนทะลุโพรงฟัน ทำให้การรักษาง่ายขึ้น เกิดการสูญเสียฟันน้อยลงมาก
ในการตรวจพิเคราะห์โรคทางการแพทย์บางโรคอาจใช้ Ultrasound และ MRI ช่วยในการตรวจสอบแทนรังสีเอ็กซ์ และ CT ได้ ให้สอบถามแพทย์ที่รักษา Ultrasound และ MRI นั้นไม่มีอันตราย และไม่ใช่ รังสี ionozed ส่วนเครื่อง Scan โลหะก่อนเข้าห้าง ก็ไม่มีอันตรายใดๆ เพราะไม่ใช่ รังสี ionozed เช่นกัน สำหรับเครื่อง scan โลหะและวัตถุระเบิด ที่สนามบินต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะถูกเรียกว่าเครื่องเอ็กซเรย์ แต่เครื่องบางเครื่องก็ไม่ใช่รังสี ionozed ไม่มีอันตรายใดๆต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม มีเครื่อง scan ที่เป็น ชนิดรังสี ionozed เช่นกันเรียกว่า Backscatter scanner เครื่องชนิดนี้ เป็นรังสี ionozed ปริมาณตำ่มากๆ แต่ก็อาจสร้างความกังวลใจให้กับคนที่เดินทางบ่อยๆ ท่านสามารถสอบถามกับเจ้าหน้าที่สนามบิน และท่านสามารถร้องขอให้เปลี่ยนเครื่องตรวจได้
เรื่องการถ่ายรังสีต่างๆ ทางการแพทย์และทันตกรรม มีผลกระตุ้นให้เกิดเซลมะเร็ง จึงอาจไม่ถูกต้องนัก ทั้งนี้เพราะรังสีทางการแพทย์แม้จะเป็นรังสี ionozed แต่ปริมาณที่ใช้ก็มีปริมาณต่ำมากๆ เว้นแต่ว่าจะได้รับการฉายรังสีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมักไม่พบในคนทั่วไปที่เข้ารับการรักษาอยู่แล้ว แต่อาจพบได้ในเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการฉายรังสี ที่ไม่ได้ใส่เครื่องป้องกัน หรือประมาทเลินเล่อในการทำงาน ดังนั้น ท่านก็ไม่ควรกังวลใจในการถ่ายรังสีทางทันตกรรม ทันตแพทย์สามารถได้ข้อมูลมากมาย ช่วยในการตัดสินใจรักษาได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
แล้วพบกันใหม่ครับ