counters
hisoparty

Charna (ฌานา) : คุณชาตยา สุพรรณพงศ์

5 years ago

Charna (ฌานา) หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูกับชื่อนี้สักเท่าไหร่ หากแต่ถ้าเราบอกว่านี่คือลูกสาวคนล่าสุดแห่งบ้าน ‘FOOD PASSION’ ที่มีพี่สาวคนโตอย่าง ‘Bar B Q Plaza’ เชื่อแน่ว่าเมื่อได้ยินชื่อนี้แล้ว นอกจากความคุ้นเคย ทุกท่านจะต้องรู้สึกถึงความไว้วางใจในแบรนด์ด้วยเช่นกัน

เพราะกว่า 33 ปีกับ 152 สาขาในประเทศไทย รวมไปถึงการเติบโตสู่ 25 สาขาของ 3 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และกัมพูชา นี่ยังไม่รวมถึงแบรนด์ในการดูแลอย่าง Red sun อาหารเกาหลีที่มีถึง 12 สาขา ร้าน Space Q by Bar B Q Plaza ทองหล่อ ซอย 11 ที่นับเป็นน้องใหม่เฉกเช่นเดียวกับร้านอาหารเพื่อสุขภาพที่เรากำลังจะพูดถึงในครั้งนี้ ‘Charna’ ลูกสาวคนใหม่ที่ คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ตั้งใจปลุกปั้นขึ้นมากับมือ หวังเพื่อจะขยายวงจรความสุขให้ยั่งยืน นำไปสู่หนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย

“พวกเรามีความตั้งใจอยากให้ Charna เป็นเสมือนบ้าน บ้านที่สามารถชวนเพื่อนๆ เกษตรกร ซึ่งมีแนวคิดเหมือนๆ กัน มานำเสนอวัตถุดิบที่ดี และนำส่งมอบไปยังโต๊ะของลูกค้าเราอยากให้การกินของทุกคนเป็นการกินเพื่อเจเนอเรชั่นต่อไป หรือ ‘Eat for the next Generation’ กินเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานเรายังมีกิน” คำพูดที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและแฝงรอยยิ้มแห่งความสุขของคุณเป้-ชาตยา ในฐานะเจ้าของบ้านหลังนี้ตอบกลับมาอย่างชัดเจน

“Charna ถือว่าเป็นนิวแบรนด์ที่เป้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น เรียกได้ว่าเป็นลูกสาวคนใหม่ในเครือ Bar B Q Plaza ซึ่งส่วนตัวรู้สึกว่าเขาเป็นเหมือนลูกสาวคนใหม่ของเราจริงๆ เพราะอย่าง Bar B Q Plaza เป็นธุรกิจที่คุณพ่อคุณแม่สร้างมา เป้มารับช่วงต่อเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 เราเติบโตมากับ Bar B Q Plaza จนตอนนี้ถึงยุคที่เราต้องสร้างร้านอาหารขึ้นมาใหม่ เริ่มต้นจากศูนย์มาเป็นร้านหนึ่งร้าน ซึ่งวิธีการสร้างร้านก็แตกต่างจากวิธีการบริหาร โดย Charna เป็นรูปแบบการตั้งต้นธุรกิจใหม่เลย ถ้าพูดภาษาบ้านๆ ก็คือ เหมือนเราเป็นแม่ค้าคนนึงที่อยากเปิดร้านอาหาร แล้วก็ชวนเพื่อนๆ มาร่วมมือเปิดร้านกัน เราอยากเปิดเพราะมีแพสชั่น อยากเห็นร้านออกมาหน้าตาเป็นแบบนี้ โดยที่ไม่ได้ยึดติดกับสิ่งที่เรามีมาในอดีต แต่แน่นอนว่าบริษัท ฟู้ดแพชชั่น ก็ยังคงช่วยซัพพอร์ต Charna ในทุกๆ ด้านค่ะ”

“ซึ่ง Charna เป็นแบรนด์ใหม่ที่พวกเราตั้งใจทำเพื่อจะนำเสนอวัตถุดิบที่ดีของคนไทยให้คนไทยได้ทาน ในคอนเซ็ปต์ ‘Full Flavor Healthy Meal’ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ และรสชาติอร่อย สามารถทานได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องใช้เวลาในการพัฒนาเรื่องของเมนูพอสมควร ทุกอย่างจึงมีความละเอียด เราใช้เวลาครึ่งนึงไปกับการออกเดินทางค้นคว้าและตามหาเพื่อนเกษตรกรที่จะมาเป็นพาร์ทเนอร์กับเรา เพื่อจะนำมาพัฒนาในส่วนของเมนู นอกจากนี้เวลาอีกครึ่งนึงเราใช้ในการทำความเข้าใจลูกค้า นำของที่เราได้มาไป Verify กับลูกค้า ให้ลูกค้าเป็นคนบอกกับเราอีกทีว่าโอเคไหม”

“ตอนแรก เราก็มานั่งคิดกันว่าจะหาวัตถุดิบที่ดีมาจากไหน ทีมงานจึงไปศึกษาหาข้อมูล จนพบกับเกษตรกรไทยที่มีความตั้งใจในการปลูกพืชผัก ในการเลี้ยงสัตว์ที่ดีมากๆ แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุน เราก็เลยเดินทางไปหาบรรดา Farmer’s Hub แล้วก็เลือกมาเป็นกลุ่ม มีฮับเนื้อหมู ฮับเนื้อวัว ฮับซีฟู้ดส์ ฮับข้าวและธัญพืช ฮับผัก ฮับผลไม้ หลังจากนั้นก็เริ่มลงพื้นที่ไปคุยค่ะ”

บทเรียนจากการทำธุรกิจด้านอาหารที่นำมาปรับใช้กับ ‘Charna’
“เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเราเข้าใจลูกค้า แต่จริงๆ แล้วมันเป็นความอยากนำเสนอของที่เราคิดว่าดีกับลูกค้า โดยที่เราอาจจะยังถามลูกค้าไม่มากพอ ยังไม่พยายามสังเกตลูกค้ามากพอ แต่วันนี้เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ อย่างร้าน Charna เราทำการบ้านกันเยอะมาก กว่าที่จะออกมาเป็นแบรนด์ Charna ด้วยการทำร้านต้นแบบ เชิญลูกค้ามาใช้บริการ วิธีใหม่ของเราคือ ใช้วิธีการรับฟังด้วยตา ไม่ใช่รับฟังด้วยหู คือ เราเอาของมาวางโดยไม่ต้องอธิบายอะไรเลย แล้วสังเกตปฏิกิริยาของลูกค้าว่าเป็นอย่างไร ความรู้สึกเป็นอย่างไร เราก็ใช้หลักการเหล่านั้นมา Overcome แทนบทเรียนที่เราเคยตกหลุมในอดีตที่เราฟังลูกค้าด้วยหูอย่างเดียว นี่เป็นวิธีการที่จะทำให้เข้าใจลูกค้าแบบลึกซึ้งมากขึ้นค่ะ”

หัวใจหลักในการทำธุรกิจด้านอาหาร
“หัวใจหลักที่เป็นพื้นฐานการทำธุรกิจด้านอาหารก็คือ ความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภคค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุดิบ เรื่องความสะอาด เรื่องความปลอดภัย และอีกเรื่องที่เป้และฟู้ดแพชชั่นให้ความสำคัญมากๆ เลยก็คือ เรื่องของบุคลากร และทีมงาน เพราะกว่าจะได้ร้านมาหนึ่งร้าน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยพลังของคนๆ เดียว แต่มันเกิดขึ้นได้จากการทำงานของคนที่มีความเชื่อและมีแนวคิดเหมือนกันมาทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเหตุผลที่ทำให้ฟู้ดแพชชั่นยังเติบโตอยู่ในทุกวันนี้ เป้เชื่อใน Corrective Wisdom ของคน เชื่อในความสัมพันธ์ของคนที่มาอยู่รวมกันค่ะ”

ความท้าทายของการทำงานในธุรกิจด้านอาหาร
“ความท้าทายของสายอาหาร หลักๆ คือผู้บริโภค ปัจจุบัน เท่าที่เป้มองเห็นนะคะ ผู้บริโภคมีความชื่นชอบที่ซับ เซกเม้นท์ (Sub-Segments) ย่อยลงเยอะกว่าในอดีต คือ แต่ละคนมีความสนใจ ความชื่นชอบ ที่ลงรายละเอียด อย่างคนที่ชอบอาหารเพื่อสุขภาพ เขาก็จะลึกมากเลย สุขภาพแบบไหน รู้จักผักแปลกๆ ทำให้เราต้องคอยตามเขาให้ทัน คอยนำเสนอให้ทัน เทคโนโลยีอะไรที่ทำให้พฤติกรรมเขาเปลี่ยนไป พฤติกรรมในการหาข้อมูล พฤติกรรมในการสั่ง พฤติกรรมในการมาอยู่ที่ร้าน พฤติกรรมในการจ่ายเงิน ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เราก็พยายามที่จะนำเสนอโซลูชั่นให้กับเขา ตามเขาให้ทัน นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้ประสบการณ์ของเขาดีขึ้น คุ้มค่ากับเงินที่เขาจ่าย คุ้มค่ากับเวลาที่เขามาใช้ที่ร้าน”

สไตล์การทำงาน
“การทำงานต้องมีทั้งแนวลึกและแนวกว้างค่ะ ถ้าเราดูภาพรวมอย่างเดียว โดยไม่มาสัมผัสกระบวนการต่างๆ ด้วยตัวเอง เราก็จะไม่อิน เป้เลยพยายามจะมาอยู่หน้าร้านบ้าง เพื่อดูงานแคชเชียร์ มาลองเป็นแคชเชียร์ จะได้รู้ว่าเขาคิดเงินยังไง หรือมาลองเก็บโต๊ะบ้าง แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ใช่นักเตะ จะมาเตะทุกวันก็ไม่ได้ เราก็ต้องออกมาเป็นโค้ชบ้าง หรือบางทีก็ต้องขึ้นมาเป็นผู้จัดการทีม เพื่อที่จะดูภาพรวมไปด้วย เป้คิดว่าต้องทำทั้งสองด้านให้บาลานซ์ ซึ่งเป้ก็โชคดีมีทีมที่ดีมากๆ มีโค้ชดี มีนักเตะที่ดี ก็เลยทำงานทั้งแนวลึกและแนวกว้างไปได้พร้อมๆ กัน”

เป้าหมายของ ‘Charna’
“เป้อยากให้วงจรแห่งความสุขที่เป็นทั้งความฝัน และความหวังของเราเกิดขึ้นจริงอย่างแข็งแรง เราอยากให้ Charna ซัพพอร์ตเกษตรกรได้จริงๆ และต่อเนื่อง ให้เกษตรกรมีรายได้ และสามารถอยู่ได้แบบแข็งแรงเขาจะได้ทำต่อไป และไปเชิญชวนเกษตรกรคนอื่นว่ามีตลาด มีคนสนใจ มีคนชื่นชอบสินค้าของเขา ส่วนลูกค้าเองก็จะได้รับสิ่งดีๆ กลับไป นอกจากนั้นเราก็สามารถดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคมได้ด้วย เป้ก็อยากจะให้ Charna เป็นจิ๊กซอว์ของวงจรความสุขที่แข็งแรงมากขึ้น และสามารถเติบโตได้แบบยั่งยืนค่ะ”

SHARE