วิธีการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
“เริ่มด้วยการตั้งสติ ใคร่ครวญให้ถ่องแท้ว่าอะไรคือปัญหา อะไร หรือใครคือต้นเหตุให้เกิดปัญหานั้น จะรับมืออย่างไรให้เหมาะควร โดยที่ไม่สร้างปัญหาอื่นที่แทรกซ้อนเข้ามา จากนั้นก็แก้ที่ต้นเหตุ ทั้งจากการพูดคุยสอบถาม กับต้นตอเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน หาวิธีแก้ไขที่พอใจและรับได้ด้วยกัน เมื่อได้ข้อยุติแล้วก็รุกคืบถึงผลกระทบที่เกิดเพราะปัญหานั้น แล้วแก้ไขร่วมกันเป็นพหุภาคี หลักการคือ ถ้านโยบายไม่เหมาะสม ให้แก้ที่นโยบาย แต่ถ้าเป้าหมายคลาดเคลื่อน ก็แก้ที่องค์ประกอบของการตั้งเป้าหมาย คนไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นคนไม่เหมาะกับงาน งานไม่เหมาะกับคน หรือคน และงาน ต่างไม่เหมาะแก่กัน ก็แก้ที่การสั่ง และมอบหมายงานที่เสริมจุดเด่นของคน แต่ถ้ายังไม่ได้ผลก็ต้องถือหลักแบบไทยๆ คือต้องให้อภัยและให้โอกาสก่อน หากยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ก็ต้องตัดใจกำจัดจุดอ่อน คือ ‘นิ้วไหนร้ายก็ตัดนิ้วนั้น’ ต้องยอมสูญเสียส่วนเล็กเพื่อรักษาส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่เคย ได้ใช้วิธีการนี้ เพราะส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีการพูดคุย และให้โอกาสคนก่อนเสมอ”
ให้กำลังใจหลายๆ คนที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต
“เราต้องเข้าใจก่อนว่า ‘ไม่มีใครสมหวังหรือผิดหวังตลอดชีวิต ทุกปัญหาย่อมต้องมีทางออก และในทุกวิกฤต ล้วนมีโอกาส’ ดังเช่นที่ท่านสุนทรภู่กล่าวว่า “อันกำเนิดเกิดมาในหล้าโลก สุขกับโศกมิได้สิ้นอย่าสงสัย” แล้วการเผชิญปัญหาจะช่วยยุติปัญหาได้แน่นอนกว่าการหนีปัญหา อย่างเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ปัญหาจากภัยธรรมชาติก็เกิดจากคนไม่รักษ์โลก โลกจึงไม่รักคน จึงทำให้เกิดเป็นภาวะโลกร้อน หรือเกิดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ไฟป่า หรือ โรคติดต่อที่แพร่ระบาด ทำลายสุขภาพ และชีวิตคนทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ แต่ถ้าเพียงแค่คนเรามีจิตสาธารณะ มีวินัยและรับผิดชอบตนเอง ไม่เอาเปรียบสิ่งแวดล้อมและคนรอบตัวจนเกินไปนัก เอาใจเขามาใส่ใจเรา ยอมสละความสุขสบายส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และเกิดความตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของตนต่อสังคมพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และที่สำคัญที่สุดคือ การไม่ซ้ำเติมซึ่งกันและกัน มีจิตเมตตาต่อกัน เราก็จะก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างแน่นอน”