counters
hisoparty

The MerMan - คุณทราย สก๊อต

2 years ago

เพราะการดูแลโลกใบนี้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ผู้ชายคนนี้จึงไม่เคยหยุดที่จะดูแลท้องทะเลที่เขารัก และอยากรักษา ซึ่งเขาไม่ได้ทำแค่ปากว่า หากแต่ลงมือทำด้วยสองมือของตัวเอง จากการเดินเก็บขยะริมชายหาด สู่การริเริ่มโครงการ SEA YOU STRONG เพื่อส่งต่อหัวใจของนักอนุรักษ์ให้กับเด็กๆ ในท้องถิ่นได้ใส่ใจดูแลบ้านเกิดของตัวเองก่อนจะมีจิตสำนึกในการดูแลโลกใบใหญ่ต่อไป ถึง ณ วันนี้ เขายังคงเดินหน้าในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเฉกเช่นเคย และยิ่งลงแรงและลงมือทำมากขึ้น เพราะตระหนักได้ถึงปัญหาของขยะใต้ท้องทะเลที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่กำลังเป็นภัยคุกคามระบบนิเวศทางทะเลของโลก และที่สำคัญประเทศของไทยของเราติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดในโลกอีกด้วย และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลหลัก ที่ทำให้เขาลงทุนปลุกปั้นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่น่าสนใจนั่นคือ การผลิตหนังสั้นตีแผ่ปัญหาใต้ท้องทะเล เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสื่อสารที่จะช่วยให้ผู้คนตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาขยะในทะเลได้ง่ายขึ้น โดยเขาได้สวมบทบาทเป็นเงือกที่ต้องผจญกับการรุกรานของขยะฝีมือมนุษย์ใน ‘MERMAN’ หนังสั้นเชิงอนุรักษ์ที่เป็นมากกว่าสารคดีเรื่องหนึ่ง กับ ‘คุณทราย สก๊อต’

          “ในการทำงานอนุรักษ์ผมใช้ตัวเองเป็นเครื่องสื่อสาร เริ่มตั้งแต่ 2 ปีที่แล้วที่ผมเห็นถึงปัญหาการจัดการขยะ และได้ลงมือเก็บขยะด้วยตัวเอง จนได้เริ่มทำโครงการกับสิงห์อาสาในโครงการ SEA YOU STRONG ได้มีการสอนให้เด็กๆ รัก และหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่น ให้เขาตระหนักถึงปัญหาขยะว่ามันจะส่งผลต่อการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของพวกเขาในอนาคต อย่างที่เคยคุยกันผมเป็นคนรักทะเลมาก ทะเลคือที่ที่ผมอยากใช้ชีวิตอยู่ในทุกๆ วัน ซึ่งย้อนไปวันหนึ่งผมได้ไปเจอกับขยะที่ลอยอยู่ในทะเล ผมรู้สึกรับไม่ได้ ผมมองว่ามันคือปัญหาที่ยิ่งใหญ่มาก ผมจะต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งที่ผมรัก ผมอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับปัญหาขยะในทะเล จึงได้คิดที่จะนำเสนอเรื่องราวผ่านหนังสั้น เรื่อง ‘MERMAN’ ผมอยากสร้างผลงานที่สามารถเข้าถึงใจคน และดึงความสนใจของพวกเขาได้ เพื่อใช้โอกาสนี้ให้หนังเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องสิทธิของสัตว์ทะเลจากภัยคุกคามที่พวกเขาต้องเผชิญในตอนนี้

          “การที่ผมผลิตหนังสั้นเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะผมอยากให้คนเข้าใจถึงปัญหาเรื่องของขยะใต้ท้องทะเลว่ามันส่งผลกระทบต่อใครบ้าง ถึงแม้มันจะกระทบสัตว์ทะเลโดยตรง แต่สุดท้ายก็มากระทบกับตัวเราทุกคนอยู่ดี และผมคิดว่าอาจจะยังมีอีกหลายๆ คนที่ยังมองไม่เห็นภาพว่าสิ่งที่เราจะต้องเผชิญมันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ฉะนั้นในช่วงหนึ่งของหนังผมจึงได้ใส่ข้อมูลเข้าไปว่า ในปีนี้น่าจะมีขยะประมาณ 8 พันล้านกิโลกรัมซึ่งเป็นพลาสติกลงไปในทะเล ตัวเลขนี้เป็นของปีนี้ปีเดียวนะครับ ซึ่งมันเยอะมาก โดย 20 เปอร์เซ็นต์ของขยะทะเลคืออุปกรณ์ประมงที่ชาวประมงบางคน หรือคนที่เขาทำประมงแบบผิดกฎหมายมักง่ายทิ้งลงไปในทะเล ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้นได้ทำลายทรัพยากรที่สามารถเลี้ยงและดูแลทั้งธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัด และการประมงที่ถูกวิธีของกลุ่มชาวบ้านคนอื่นๆ ไปด้วย และต่อมาที่อีก 80 เปอร์เซ็นต์ คือข้าวของเครื่องใช้ที่เราใช้ทุกวัน ที่แน่ๆ คือขวดพลาสติก ถุงพลาสติก หน้ากากอนามัยต่างๆ ครับ และที่น่าตกใจมากๆ อีกเรื่องกับผลวิจัยล่าสุดที่ได้เจอไมโครพลาสติกปะปนในเลือดมนุษย์แล้ว ซึ่งถ้าทุกคนอยากรู้ว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราย้อนถามตัวเองได้เลยว่า เราใช้อะไรในชีวิตประจำวันที่เป็นพลาสติกบ้าง และยังมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่ทำให้ผมต้องลุกขึ้นมาทำเรื่องการจัดการขยะอย่างจริงจัง ซึ่งในหนังสั้นเรื่องนี้เป็นเพียงเสียงๆ หนึ่งที่อยากให้ทุกคนได้ยิน และลุกขึ้นมามองพร้อมกับช่วยกันจัดการปัญหาขยะที่เกิดขึ้นครับ

“การที่เลือกใช้เงือกมาเป็นตัวแทนในการเล่าเรื่อง เพราะผมรู้ว่าคนไทยชอบอะไรที่สวยงาม นอกจากนี้รูปลักษณ์ของเงือก คือครึ่งหนึ่งเป็นคน ครึ่งหนึ่งเป็นปลา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ควบคู่ของทะเลกับมนุษย์ ผมอยากเอาตัวละครที่สง่างามแบบนั้นมาทรมาน คนจะได้เข้าใจว่าทุกวันนี้เรากำลังทำร้ายสิ่งสวยงามเหล่านั้นอยู่ด้วยความมักง่ายของเรา ด้วยความเห็นแก่ตัวของเรา คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ และไม่ให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีในสัตว์อื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของโลกเราเลย ผมจึงอยากให้ ‘MERMAN’ เป็นอีกหนึ่งสื่อที่จะถ่ายทอดสารเหล่านี้ออกไป”

          “หนัง MERMAN เรื่องนี้เราถ่ายทำกันที่เกาะพีพี, เกาะลันตา และภูเก็ต ใช้เวลาร่วม 2 เดือนในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคมปีที่แล้วในการทำงานเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะเราต้องอยู่ใต้น้ำเป็นชั่วโมง เราจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ในทะเลทั้งหมด เราจึงต้องใช้ทีมที่เป็นคนทะเลจริงๆ และที่สำคัญทุกคนเป็นนักอนุรักษ์ และมีจิตสำนึกเรื่องการรักษาท้องทะเลเหมือนกัน จุดนี้มันทำให้ Message ของงานผมแข็งแรงกว่าเดิม เพราะเขาจะใส่ Idea เข้าไปด้วย โดยหนังเรื่องนี้ได้ผู้กำกับฝีมือเยี่ยม คือ คุณต้าร์-ณภัทร เวชศาสตร์ มากำกับให้ ตอนถ่ายมีผู้ช่วยกำกับ 1 คน ทีมเซฟตี้ 4 คน คอสตูม 2 คน และ Production Manager 1 คนครับ”

          “ในส่วนการแสดง การที่ต้องแสดงเป็นเงือกคือ ผมต้องว่ายน้ำทั้งวันโดยไม่ได้ใส่แว่นกันน้ำ ผมต้องมีความสบายตัว และความคุ้นเคยในทะเล แม้กระทั่งผมมองไม่เห็นว่าผมกำลังว่ายน้ำไปทางไหน แค่ต้องรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน และหางเงือกที่ผมต้องใส่มันหนักมากทำให้ต้องใช้แรงเยอะตอนว่ายน้ำ ซึ่งมีฉากหนึ่งที่ผมต้องไปถ่ายกับปลาข้างเหลืองซึ่งมันอยู่ที่ความลึกประมาณ 17-20 เมตร แล้วผมไม่มีอากาศพอที่จะลงไปขนาดนั้น แต่เราต้องแสดงให้ได้ทำให้รู้สึกเครียด เพราะระหว่างถ่ายนอกจากผมต้องว่ายน้ำแล้ว เราต้องแสดงให้มันสื่อสารได้ว่าปลาเขารู้สึกยังไง ผู้กำกับจึงบอกให้ใส่อุปกรณ์หายใจและแว่นตาลงไปก่อนแล้วค่อยถอดทุกอย่างออก จากนั้นให้ว่ายจากเซฟตี้คนนึงไปยังอีกคน เพื่อไปหายใจในอุปกรณ์ของเขา สำหรับคนที่ไม่ชินกับทะเลเรื่องแบบนี้มันอันตรายและน่ากลัวมาก ขนาดผมยังกลัวเลย แต่พอได้ทำแล้วผมรู้สึกสุดยอดมาก ผมรู้สึกเป็นเงือกจริงๆ มันเป็นความรู้สึกที่วิเศษ

          “จุดประสงค์ของหนังเรื่องนี้ ผมอยากให้ทุกคนได้รับรู้ถึงความสุข และความเจ็บปวดของสัตว์ทะเล อยากให้เห็นว่าเขาเป็นมากกว่าสิ่งที่สวยงาม อยากให้ทุกคนให้ความสำคัญต่อชีวิตสัตว์ทะเล และทรัพยากรใต้ทะเลของเรา ชีวิตของเขาสามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดแบบเรา ทะเลคือบ้านของเขาไม่ใช่ตู้เย็นของเรา ในยุคที่มนุษย์มีวิวัฒนาการและพัฒนาหลายๆ ด้าน เราไม่คำนึงถึงสิทธิของสัตว์ทะเลเราคิดว่าสัตว์มีสิทธิน้อยกว่าเรา ทำให้เราลืมใช้จิตสำนึกในการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน เราเคยถามตัวเองกันไหมว่าขวดพลาสติกหรือกล่องโฟมที่เราใช้มันจะกระทบกับสัตว์อย่างไร สิ่งเหล่านี้คือน้ำมือของมนุษย์ที่ทำให้เกิดความเสื่อมขึ้นในระบบนิเวศการที่ผมมาทำตรงนี้ส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นงานที่ท้าทาย ผมอยากพูดให้ชัดเจนว่าการที่เราละเมิดสิทธิสัตว์มันคือการละเมิดสิทธิของลูกหลานเรา เพราะสุดท้ายเขาจะต้องอยู่ในโลกที่เสื่อมสภาพ แล้วมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ผมอยากแก้ไขปัญหานี้ เพราะทะเลคือบ้านของผม นี่คืออนาคตของผมและเพื่อนๆ ผมจำเป็นที่ต้องปกป้องสิ่งนี้”

          “ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้ทุกคนที่มีลูกได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะว่าคนที่มีลูกเขาควรต้องเข้าใจว่าชีวิตที่เขาใช้อยู่ตอนนี้มีผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคตของพวกเขาอย่างไร ผมอยากให้เขาเห็นภาพของเงือก และนึกถึงอนาคตของเด็กๆ ผมอยากให้อย่างน้อยหนังเรื่องนี้ ทำให้ทุกคนได้มาพูดคุยกันถึงปัญหาของท้องทะเลให้มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคน ผมอยากให้เกิดการสื่อสารกันในสังคม อยากให้ทุกคนได้มีการพูดคุยกันเรื่องปัญหาขยะในทะเล เหมือนที่คุยกันในเรื่องต่างๆ อยากให้เรื่องนี้เป็นหัวข้อหนึ่งในการสนทนา ผมอยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหานี้ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป เพราะทรัพยากรธรรมชาติมันมีจำกัด เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ตั้งแต่วันนี้”

 

และสามารถติดตามเรื่องราวต่างๆ พร้อมเบื้องหลัง ของ The MerMan หนังสั้นที่จะมาตีแผ่ปัญหาใต้ท้องทะเลไทย ผ่านการเล่าเรื่องของเงือกหนุ่มคนนี้ได้ทาง Facebook Fanpage: Psi Scott - เมอร์แมน

IMAGE CREDIT: TOM POTISI, TNAPAT WESSHASARTAR, HANNARES HARIPAI

Author By : Arunlak

SHARE