หลังจากที่ทำงานในสาย Commercial มาสักพักจนอิ่มตัว วันหนึ่ง คุณอรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ได้เกิดคำถามขึ้นกับตัวเองว่า “ทำไมถึงไม่ใช้ความรู้ความสามารถที่ตัวเองมีไปทำงานที่มีประโยชน์เพื่อคนอื่น” นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานในสายของ NGO จนมาถึงปัจจุบันกับการเป็น ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)
“เมื่อก่อนเคยทำงานอยู่เอเจนซี่โฆษณาค่ะ เป็น AE ดูแลลูกค้า ซึ่งตอนที่เป็น AE ข้อดีคือเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เป็นเหมือนโรงเรียนที่สอนเราเรื่องแบรนดิ้ง สอนเรื่องโฆษณา เพียงแต่ว่าพอทำมาได้ประมาณสัก 5 ปี ก็มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เราได้คิดทบทวน คือวันนั้นเราต้องมานั่งระดมความคิดตอนเที่ยงคืน เพื่อช่วยกันคิดว่าเราจะขายผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งให้กับคนทั่วไปอย่างไร จุดนั้นทำให้เราได้คิดว่า เอ๊ะ! เราเองมีความสามารถในด้านนี้ แล้วทำไมเราถึงเอาเวลาของเราตอนเที่ยงคืนมานั่งคิดที่จะขายของ แล้วการขายสิ่งนี้ไปมันเป็นประโยชน์กับคนอื่นหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเรานำความรู้ความสามารถของเราไปทำอย่างอื่นที่มากกว่าการขายของดีไหม นั่นคือจุดเปลี่ยนค่ะ
“จากนั้นเราจึงเริ่มมองหาองค์กรที่น่าเหมาะกับเรา หาองค์กรที่ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร ค่อยๆ เปลี่ยนมาเรื่อยๆ จน UNHCR เปิดรับสมัคร จึงอยากเข้ามาทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ลี้ภัยบ้าง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเราทำองค์กรเกี่ยวกับเด็ก ซึ่งจุดแรกเลยในตอนนั้น เราเหมือนกับคนอื่นทั่วไป คือไม่รู้จัก UNHCR แต่คนที่เรารู้จักคือ แองเจลิน่า โจลี่ (หัวเราะ) จึงพยายามไปหาหนังสือที่โจลี่เขาเขียนตอนที่ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรนี้มากขึ้น แล้วก็โชคดีที่ได้มาทำงาน และได้เป็นคนแรกที่เริ่มเซ็ตอัพแผนกนี้ ซึ่งเป็นแผนกเกี่ยวกับการระดมทุน การประชาสัมพันธ์ รวมถึงการหาความร่วมมือ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือในภาคเอกชนต่างๆ จากวันนั้นเป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ 9 ปีแล้วค่ะ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้เห็นพัฒนาการของงาน และได้ทำให้คนไทยได้รู้จักผู้ลี้ภัยมากขึ้น จำความรู้สึกครั้งแรกที่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยได้เลยค่ะ คือคิดเลยว่าตัวเองคงทำเรื่องอื่นไม่ได้แล้ว” (หัวเราะ)
สิ่งที่ทำให้ยังคงยืนอยู่ตรงนี้
“การได้ทำงานตรงนี้ รู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก เพราะเป็นงานที่เราทำเพื่อคนอื่น สิ่งนี้มันทำให้ทุกวันที่เราตื่นขึ้นมาเราอยากมาทำงานเพราะเรารู้ว่ามันมีอะไรรออยู่ ตอนนี้วิกฤติผู้ลี้ภัยทั่วโลกมันหนักมาก เพราะฉะนั้นเรา เป็นคนที่จะต้องหาเงินให้องค์กร แล้วองค์กรต้องการเงินเพิ่มขึ้นสองเท่า และถึงแม้เราจะเป็นประเทศเล็กๆ เราก็สามารถที่จะสนับสนุน”
โครงการของ UNHCR
“ตอนนี้เรามีโปรเจ็คท์เยอะมาก ซึ่งแคมเปญหลักๆ จะมีเรื่องการระดมทุนแบบ Face to Face ที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้านั่นคือเป็นประจำอยู่แล้ว ในแง่ของออนไลน์คือเข้าไปในเวบไซต์ www.unhcr.or.th ทุกคนสามารถบริจาคได้เลย และเรามีแคมเปญหลักๆ 2 แคมเปญ คือแคมเปญที่เราสร้างขึ้นมาเองของประเทศไทย ชื่อ ‘Namjai for Refugees’ แคมเปญนี้จะมีเซเลบริตี้ของไทยเข้ามาร่วม ซึ่งในปีที่แล้วมีพี่ก้อง สหรัฐ สังคปรีชา เข้ามาช่วย อีกหนึ่งแคมเปญชื่อ ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก’ (Nobody Left Outside) ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นเพื่อหาที่พักพิงให้ผู้ลี้ภัยใน 12 ประเทศที่อยู่นอกเหนือจากประเทศไทย ซึ่งแคมเปญนี้ได้รับความเมตตาจาก ท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งท่านเป็นประธานในการช่วยระดมทุนในปีที่แล้วค่ะ”
วิกฤตโรฮิงญา
“วิกฤตโรฮิงญาตอนนี้เป็นวิกฤตที่โตเร็วที่สุดในโลกตั้งแต่ที่เราเจอมา ความน่าเป็นห่วงหลายด้านมากที่ต่างกับวิกฤตอื่นๆ เราพบว่าเขาใช้เวลาเดินทางมาอย่างยากลำบาก บางคนใช้เวลาเป็นเดือนในการเดินเท้าผ่านเข้าป่า ข้ามเรือ เพราะฉะนั้นสภาพร่างกายของเขาค่อนข้างที่จะอิดโรย เราจึงต้องเร่งฟื้นฟูสุขภาพของเขา เด็กบางคนขาดสารอาหาร ที่สำคัญหลายคนสภาพจิตใจของเขาแย่มาก เด็กหลายคนกลายเป็นคนไม่พูดเลย เราต้องมาฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ในเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อื่นเราไม่พบมากขนาดนี้ ที่สำคัญส่วนใหญ่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจะเป็นเด็ก และผู้หญิง โดยมีทั้งเด็กแรกเกิด มีทั้งผู้หญิงที่ตั้งท้อง และคนสูงอายุ UNHCR ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือในทุกๆ ด้านเลย ตั้งแต่การให้สารอาหาร ให้น้ำดื่มที่สะอาด หรือว่าการฟื้นฟูจิตใจ ส่วนตัวดีใจที่ตั้งแต่เราทำเรื่องเกี่ยวกับโรฮิงญาออกไป คนไทยให้การตอบรับที่ดี มีคนให้การสนับสนุนและบริจาคให้กับชาวโรฮิงญาเยอะเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการความช่วยเหลือของพวกเขานะคะ เพราะฉะนั้นอยากฝากบอกไปถึงบริษัท หรือบุคคลที่ต้องการให้การช่วยเหลือเขาสามารถติดต่อเราได้เลยค่ะ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่สำคัญเขาเป็นเพื่อนบ้านของเรา”
สำหรับคนไทยที่อยากช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
“ทางที่ดีที่สุดที่ทาง UNHCR ต้องการ และบริหารจัดการง่าย คือการบริจาคเป็นเงินค่ะ เพราะว่าเวลาทำงาน ค่ายจะอยู่ไกลมาก ส่วนใหญ่จะอยู่ชายแดน ถ้าสมมติว่าเราบริจาคของ เราก็ไม่รู้ว่าของนั้นผู้ลี้ภัยเขาต้องการหรือไม่ ด้วยวัฒนธรรมของเขาไม่เหมือนกับเรา ประการที่สองการเดินทางเข้าไปค่อนข้างยากลำบาก ถ้าเกิดเราต้องมีค่าขนส่งในการที่นำของเข้าไป แล้วอาจไม่ใช่ของที่เขาต้องการ ก็จะทำให้เราเปลืองทรัพยากรในการให้ความช่วยเหลือ ด้วยทุกวันนี้ทรัพยากรเราต้องใช้อย่างประหยัด ถ้าเราได้เป็นงบประมาณเข้ามาแล้ว UNHCR นำไปจัดสรรเลยว่าผู้ลี้ภัยเขาต้องการอะไรมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เราต้องถามเขาด้วย คือไม่ใช่อยู่ๆ เราไปคิดเองว่าเขาต้องการแบบนี้ แต่เราต้องถามความต้องการของเขาก่อน แล้วเขาจะเป็นคนบอกเราเอง เราจะได้ให้ของที่เขาได้นำไปใช้ประโยชน์จริงๆค่ะ”
Meaning of Love
“ความรักที่สูงที่สุด คือความรักแบบไม่มีเงื่อนไข อาจด้วยความเป็นแม่ทำให้เราเข้าใจตรงนี้มาก (ยิ้ม) เราต้องรักคนอื่นได้เท่ากับที่เรารักลูกเรา นี่คือคำสอนของท่าน ว.วชิรเมธี เราจึงตั้งใจว่าเราต้องไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้ และจากการทำงานตรงนี้มันช่วยเราด้วยนะคะ คือมันทำให้เราเปิดตัวเราเอง มองอะไรกว้างขึ้น และทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นด้วยค่ะ”
พวกเราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ ด้วยการร่วมบริจาค โดยสามารถบริจาคได้ที่ www.unhcr.or.th หรือจะบริจาคผ่านธนาคารก็ได้ดังนี้
ชื่อบัญชี : UNHCR Special Account
• ธ.กรุงเทพ สาขาก.พ. เลขที่บัญชี 201-055599-9
• ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาอาคารสหประชาชาติ เลขที่บัญชี 004-225859-6
• ธ.กสิกรไทย สาขาเทเวศร์ เลขที่บัญชี 030-2-88804-3
Author By : Arunlak