counters
hisoparty

‘กราบ สักการะ’ จากหัวใจ ศาสตราจารย์ ถาวร โกอุดมวิทย์

6 years ago

นับว่าเป็นเกียรติอย่างที่สุด ที่นิตยสาร HiSoParty ได้รับอนุญาตจาก ศาสตราจารย์ ถาวร โกอุดมวิทย์ ศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาพพิมพ์ ให้ได้นำหนึ่งในผลงานภาพพิมพ์จิตรกรรมภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลย พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของปวงชนชาวไทย มาตีพิมพ์เป็นปกนิตยสารในฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องภาพปกของนิตยสารแล้ว อาจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ ยังได้ให้เกียรติพูดคุย พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวของศิลปะในปัจจุบัน ในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ณ หอศิลป์ร่วมสมัยอาร์เดล และปิดท้ายด้วยการบอกเล่าถึงความรัก ความทรงจำ ที่มีต่อองค์พ่อหลวงของคนไทยทุกคน

“ผมรู้สึกโชคดี เพราะว่ารูปพอร์ตเทตรูปแรกที่วาดในชีวิตคือรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ย้อนไปเมื่อสักประมาณ 40 - 50 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเรียนอยู่มัธยม ผมก็หัดวาดรูป โดยเรียนรู้จากเพื่อนที่เขาวาดเก่งๆ ซึ่งเขาก็สอนเราตีสเกล แล้วเราก็หัดวาดภาพในหลวง จากนั้นก็วาดภาพมาเรื่อย และด้วยสมัยเราในห้องเรียนจะมีกระดานอยู่สองฝั่ง ฝั่งหนึ่งอาจารย์เอาไว้สอน ฝั่งหนึ่งอาจารย์เอาไว้ติดบอร์ด ผมก็ชอบที่จะไปวาดรูปเล่น พออาจารย์เขาเข้ามาก็ถามว่า ใครวาด เราก็กลัวว่าจะโดนว่า แต่อาจารย์เขาก็ชม และก็สนับสนุนให้เราได้วาดรูป เวลามีงานอะไรเขาก็จะให้เราได้แสดงฝีมือ และอีกคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากจริงๆ คือพี่สาวของผม เพราะเขาวาดรูปเก่งมาก เขามีทักษะสูงในการวาด แต่คุณแม่ของพวกเรา ด้วยความที่เป็นคนจีนสมัยก่อน เขาก็ไม่อยากให้เรียนทางสายนี้ คนสมัยก่อนเขาไม่ได้เห็นอนาคตของศิลปินวาดรูปหรอก เขาก็คิดแต่ว่าจะไปเขียนโปสเตอร์ตามโรงหนัง และพอมาถึงรุ่นผมด้วยที่บ้านคุณแม่ลูกเยอะ ผมก็บอกเขาว่าปล่อยผมสักคนเหอะ (หัวเราะ) เพราะคนอื่นๆ ก็เรียนบัญชี เรียนสายที่ทางบ้านอยากให้เรียนแล้ว ไม่มีใครมาทางสายศิลป์ ผมจึงได้เรียนที่เพาะช่างครับ “ส่วนที่เลือกเรียนภาพพิมพ์ เพราะชอบ ผมว่ามันตื่นเต้นดี ภาพพิมพ์ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เราวาดแล้วเราเห็นเลย คือมันจะมีปรากฏการณ์ธรรมชาติ มีการสร้างเทคนิคอะไรใหม่ๆ และก็จะมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องถูกจัดการในทุกๆ ระบบ”

ความยากง่ายของภาพพิมพ์

“ยากครับ เพราะว่าภาพพิมพ์จะต้องสร้างภาพลงไปในแม่พิมพ์ก่อน มันไม่ใช่วาดแล้วแก้ หรือยิ่งบางทีเทคนิคบางอย่างต้องใช้ทักษะสูงมากไม่ใช่ใช้เวลาแค่ปีสองปี บางอย่างต้องใช้เวลาถึงห้าหกปี แล้วก็มีความเป็นวิทยาศาสตร์ด้วย ต้องมีระบบการจัดการ เราจะเห็นว่าคนที่เรียนภาพพิมพ์ส่วนใหญ่จะประสบผลสำเร็จในชีวิตนะ ถึงแม้เขาไม่ได้เป็นศิลปิน แต่ว่าเขาก็จะมีระบบการจัดการที่ดี หรือศิลปินดังๆ หลายคน เขาก็จบภาพพิมพ์ ด้วยกระบวนการทำภาพพิมพ์ทุกอย่างต้องเป็นขั้นเป็นตอน คือถ้าแม่พิมพ์คุณไม่ดีงานก็พัง ถ้าแม่พิมพ์ดีคุณเตรียมกระดาษไม่ดีก็พัง หรือคุณเตรียมกระดาษดีแม่พิมพ์ดี แต่ว่าคุณหมุนแท่นไม่เสมอก็พัง ถ้าคุณพิมพ์ออกมาแล้วงานเรียบร้อยแล้ว คุณไม่ขึงรูป หรือขึงรูปไม่ดีกระดาษแห้งก็ย่นก็เสีย มันทำให้เราจะต้องมองไปข้างหน้าทุกๆ สเต็ป ก็เลยทำให้คนมักจะมาถามว่า ทำไมอาจารย์มาเป็นผู้บริหารได้ ทำไมอาจารย์จัดการโน่นนี่นั่นได้ ก็คงเป็นเพราะวิชานี้สอนเราให้เรารอบคอบ ระมัดระวังและมองไปถึงข้างหน้าได้ด้วย”

เอกลักษณ์ในผลงาน

“หนึ่ง สิ่งสำคัญคือคอนเซ็ปต์ว่าเราทำเรื่องอะไร สอง คืออัตลักษณ์ของเทคนิค เพราะศิลปะภาพพิมพ์มันหลากหลาย อย่างคนเขาเห็นเทคนิคของผมก็จะรู้ว่าคือของผม เหมือนอย่างศิลปินวาดรูปก็จะดูจากเทคนิกของฝีแปรง การลงสีเป็นต้น”

นิทรรศการ ‘กราบ สักการะ’

“หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เราก็ได้เห็นศิลปินทุกคนเขียนรูป วาดรูป ของพระองค์ท่าน ซึ่งทุกคนทำได้ดี คือการวาดภาพพอร์ตเทต ซึ่งเป็นการจำลองพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่าน แต่ในรูปนั้นอาจจะขาดจินตนาการ ซึ่งเรายังไม่เห็นสิ่งที่เข้าถึง Conceptual ของงาน แต่อย่างงานของผม ผมจะให้พระองค์ท่านเข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของงาน เหมือนพระองค์ท่านเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และการที่พระองค์ท่านต้องจากไป ก็คือกฎของธรรมชาติ พระองค์ท่านเพียงกลับสู่ธรรมชาติ เพราะฉะนั้นในทุกรูป ก็จะเห็นว่ามีเรื่องราว หลายคนเห็นแล้วก็รู้สึกเศร้า เหมือนเรามองไปในที่ที่สงบเงียบมะลังมะเลืองเราก็นึกถึงพระองค์ท่าน ซึ่งก็เป็นจินตนาการที่มาจากภายในของเรา และเราก็จะสัมผัสได้ว่าภาพภาพนี้คือภาพที่เราจะต้องกราบ สักการะจริงๆ

 “ระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานชุดนี้ก็นานพอสมควร แต่วิธีคิดในการที่จะผสมผสานเทคนิคต่างๆ ให้เกิดขึ้นนั้น ใช้เวลานานกว่า เพราะในงานจะไม่ใช้การเพ้นติ้งทั้งหมด แต่เป็นการผสมกันระหว่าง เพ้นติ้งกับภาพพิมพ์ ในตัวงานภาพพิมพ์คือพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เราจะใช้ปริ๊นต์ออกมาด้วยระบบที่ดีที่สุดในโลกปัจจุบัน ก็คือการปริ๊นต์ด้วยอิ้งค์เจ็ทบนแคนวาส ซึ่งเราจะใช้แคนวาส ที่ค่อนข้างดีที่สุดเพื่อเก็บรักษาไว้ได้นาน ในการทำระบบนี้เขาการันตีว่าสามารถคงอยู่ได้ร้อยปีขึ้นไป คือมันก็จะอยู่เป็นเนื้อเดียวกันกับเนื้อเพ้นติ้งเลย ซึ่งวิธีการที่ผมใช้ก็จะเป็นวิธีการสมัยใหม่ บางคนที่เขา Conservative เขาก็จะไม่ชอบ แต่ผมมองว่ามันเป็นวิวัฒนาการ ผมเปิดใจเปิดโลก เราไม่ได้ไปมุ่งหวังถึงการประลองทักษะเรามุ่งหวังถึงผลงานที่ออกมาที่มันสมบูรณ์ที่สุด และความรู้สึกที่เรารู้สึกต่อพระองค์ท่านมากกว่าครับ”

ในหลวงในความทรงจำ

“อีกเรื่องที่โชคดี คือ บ้านผมอยู่สี่แยกบ้านแขก สมัยก่อนเมื่อพระองค์ท่านจะเสด็จฯ มาโรงพยาบาลศิริราช ต้องผ่านหน้าบ้านผม เพื่อไปโรงพยาบาลศิริราช และทุกครั้ง เราก็จะรอรับเสด็จฯ พระองค์ท่านอยู่ตรงริมฟุตบาทหน้าบ้าน พอหลังจากรถขบวนเสด็จฯเคลื่อนผ่านไป เราก็จะมาคุยกันว่าวันนี้พระองค์ท่านโบกพระหัตถ์ให้เราด้วย เรายังจำความรู้สึกเหล่านั้นได้ดี พอเราเติบโตมาเราก็ได้รับรู้ถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านมากขึ้น อย่างภาพที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปดอยอ่างขาง เราจะเห็นภาพของพระเสโทของพระองค์ที่ไหลออกมา ประหนึ่งพระเสโทนั้นได้พรมลงไปบนพื้นดิน จากภูเขาที่แห้งแล้ว ก็กลับกลายมาเป็นภูเขาที่สมบูรณ์ได้  หรือแม้แต่หลายๆ เรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะถ้าไม่มีพระองค์ท่าน วงการศิลปะคงจะมาไม่ถึงอย่างทุกวันนี้ เพราะว่าพระองค์ท่านเองก็เป็นองค์อัครศิลปิน และมีอีกเรื่องหนึ่งพี่ถวัลย์ (อ.ถวัลย์ ดัชนี) เคยเล่าให้ผมฟังว่า สมัยก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานปริญญา เพราะพระองค์ท่านเข้าใจว่าคนไทยถือว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องสำคัญถึงในทุกวันนี้ เพราะว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับราชวงศ์ ผมว่าคงไม่มีประเทศไหนที่กษัตริย์มาพระราชทานปริญญาให้กับประชาชนอีกแล้ว แต่พระองค์ท่านรู้ดีว่านี่เป็นจุดสำคัญของรากการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งตรงนี้ผมว่าท่านเสียสละสูงสุดนะ เพราะว่าแค่เรานั่งเฉยๆ เรายังเมื่อยขยับไปโน่นนี่ สมัยก่อนพี่ถวัลย์แกนั่งแถวหน้า แกก็เล่าสิ่งที่เห็นให้ฟังว่า พระองค์ท่านเหมือนพระ เพราะว่าสองชั่วโมงไม่เคยลุกไปเข้าห้องน้ำ ไม่เคยหยิบน้ำขึ้นมาจิบ พระราชจริยวัตรสงบนิ่งเหมือนมีพลังบางอย่างที่จะมอบให้กับผู้รับ อันนี้ก็ถือเป็นกายานุปัสสนา สติปัฏฐาน ชั้นสูงซึ่งมาจาก จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือต้องมีจิตสงบนิ่ง เราจะเห็นว่าพระองค์ท่านไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะสงบนิ่งมาก แล้วก็มีครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจที่สุดก็คือ การที่พระองค์ท่านเรียกพลตรีจำลอง ศรีเมือง กับ พลเอก สุจินดา คราประยูร มาคุยกันจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ตอนนั้นผมอยู่ญี่ปุ่น และมีความรู้สึกว่าบ้านเมืองเราจะล่มสลายแน่ เพราะว่าไม่มีใครยอมใคร ซึ่งพระองค์ท่านเองก็คงตระหนักถึงเรื่องนี้ ในครั้งนั้นดูเหมือนว่าพระองค์ท่านจะใช้บารมีอันสูงสุดครั้งแรก และน่าจะเป็นครั้งเดียวที่พระองค์ท่านใช้ ซึ่งเมื่อพระองค์ท่านเข้ามาทุกอย่างก็ดูคลี่คลาย และคืนสู่สภาวะที่โอเคที่สุด”

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระองค์ท่านแล้วนำมาใช้ในชีวิต

“ความขยันครับ ผมเป็นคนที่ทำงานตลอดเวลา ผมอยู่เฉยไม่ค่อยเป็น เพราะรู้สึกว่าเราทำงานแล้วเรามีความสุข บางทีเรานอนเฉยๆ เรารู้สึกว่าเราไม่ค่อยมีความสุข ซึ่งสำหรับพระองค์ท่านเองไม่ต้องทำอะไรก็ได้นะ เราจะไม่เคยเห็นกษัตริย์ประเทศไหนทำงานหนักขนาดนี้ เพราะอย่างนั้นเราจึงรู้สึกว่า สิ่งนี้เราได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ถ้าทุกคนขยัน ประเทศก็จะดีขึ้น หลายคนจะบอกว่าคนไทยขี้เกียจ พระองค์ท่านก็ทรงเป็นแบบอย่างให้แล้ว พระองค์ท่านต้องทรงงานทั้งที่ไม่จำเป็นแล้วก็มีความคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา ไอเดียเยอะแยะที่จะทำอะไรใหม่ๆ ผมเองผมก็รู้สึกว่าเรา เกิดมาทั้งทีเราก็ควรต้องทำอะไรบ้าง บางทีก็คิดโน่นคิดนี่ทำเยอะหลายเรื่อง เพราะคิดว่าอย่างน้อยสิ่งที่ทำก็จะเป็นการหว่านปุ๋ยให้เกิดความงอกงามใหม่ๆ ในอนาคต”

SHARE