จากการตีความหมายของคำว่า สืบสาน (Inherit) รักษา (Preserve) และต่อยอด (Continue) สู่ผลงานการสร้างสรรค์บนพื้นผ้าในชื่อ Woven Symphony (โวเว่น ซิมโฟนี) และ Adam’s Bridge (อดัมส์ บริดจ์) ของ คุณมุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ศิลปินผู้ออกแบบลายผ้าที่มีชื่อเสียงของไทย สะท้อนคุณค่าความงดงามแบบไทยร่วมสมัยผ่านลวดลายบนผืนผ้าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดเรื่องศิลปะ โขน ดังนั้นรามเกียรติ์จึงเป็นสิ่งถูกตีความและสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานในรูปแบบของผ้าทอขนาดสูงกว่า 6 เมตรครึ่ง ยาว 25 เมตร ซึ่งเป็นผลงานที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่
โดย คุณเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ศิลปินผู้ก่อตั้งแบรนด์ MookV (มุกวี) และ เจ้าของบริษัท บียอนด์ ลิฟวิ่ง จำกัด เล่าถึงที่มาของงานศิลป์ขนาดยักษ์นี้ว่า “ในการสร้างสรรค์ผลงานครั้งนี้ มุกได้รับโจทย์มา 3 คำ คือ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อออกแบบให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่แห่งนี้ ซึ่งศูนย์ฯ สิริกิติ์นั้นเป็นชื่อพระราชทานโดยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ท่าน ‘สืบสาน’ ศิลปะโขนมาตลอด จึงกลายเป็นไอเดียสำคัญสำหรับการออกแบบผลงานในชื่อว่า Woven Symphony (โวเว่น ซิมโฟนี) และ Adam’s Bridge (อดัมส์ บริดจ์) โดยงานทั้งสองชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่เคยทำ โดยเมื่อรวมกันมีขนาดเท่ากับสระน้ำมาตรฐานโอลิมปิก แต่ละชิ้นงานสูง 6 เมตรครึ่ง ยาว 25 เมตร ซึ่งงานนี้เป็นงานที่ควรใช้เวลาทำจริงถึงปีครึ่ง แต่ด้วยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ จึงสำเร็จอย่างที่เห็น ซึ่งมุกรู้สึกว่าตัวเองนอกจากเป็นศิลปินแล้ว ยังเป็นเหมือนผู้กำกับไปด้วย เพราะต้องร้อยเรียงทุกส่วนเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัวที่สุด และที่สำคัญคือต้องขอบคุณทุกคนทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกสถาบันการศึกษาที่ร่วมกันทำให้งานศิลป์ชิ้นนี้ออกมาสมบูรณ์แบบ ขอบคุณความร่วมมือของอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ease.studio ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันงดงามในครั้งนี้”
สำหรับผลงานชิ้นแรก ในชื่อ Woven Symphony (โวเว่น ซิมโฟนี) นั้นหยิบยกแรงบันดาลใจจากชุดการแสดงโขนมาทำให้เป็นศิลปะร่วมสมัยที่ผสานกับฉากวรรณคดีรามเกียรติ์ ตอนที่นางสีดาถูกทศกัณฐ์จับตัวไปบนเกาะลงกา มาแสดงไว้บนฉากหลังสีเขียวเสมือนอยู่บนเกาะ พร้อมเนรมิตให้เป็นฉากรบพุ่งที่หนุมานพาพระรามมาช่วยนางสีดาหนีเพื่อการมีชีวิตใหม่ เปรียบเหมือนศูนย์ฯ สิริกิติ์ในรูปโฉมใหม่ นอกจากนั้นแล้วเพื่อให้สอดรับกับชิ้นงานแกะสลักที่ทางศูนย์ฯ สิริกิติ์ ได้เก็บ ‘รักษา’ ไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม คืองานแกะสลักไม้ของ คุณจรูญ มาถนอม ศิลปินคนเดียวกับที่สร้างปราสาทสัจธรรมที่พัทยา โดยไม้ทั้งหมด 56 แผ่นประกอบกันออกมาแล้วมีความยาวเกือบ 23 เมตร เล่าเรื่องการสถาปนาพระอินทร์ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองทวยเทพ ซึ่งงานไม้แกะสลักนี้ใช้เวลาแกะสลักเพียง 4 เดือน และอบไม้ต่ออีก 2 เดือน แม้โดยทั่วไปจะต้องกินเวลาเป็นปีสำหรับอบไม้
อีกหนึ่งผลงานที่จัดแสดง คือ Adam’s Bridge (อดัมส์ บริดจ์) ที่มีฉากหลังสีน้ำเงิน จัดเป็นฉากที่หนุมานขนหินมาถมทะเลเพื่อทำเป็นสะพานพานางสีดาไปสู่ชีวิตใหม่ บนฉากสีน้ำเงินผ่านการถักทอจากสิ่งของเหลือใช้รวมถึงเศษขยะที่คุณมุกและครอบครัว รวมถึงพนักงานช่างทอผ้าของบริษัทเก็บมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งกระป๋อง และขวดน้ำพลาสติด ถูกนำมาตัดเป็นเส้นแล้วถักทอ ผ้าทุกผืนมาจากผ้าเหลือใช้ที่รวบรวมมาจากโปรเจ็กต์ต่างๆ ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เข้ากับแนวคิด ‘พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก’ (Sufficiency for Sustainability) สร้างสมดุลที่ดีเพื่อโลกที่ดีกว่า
ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมความอลังการของผลงาน Woven Symphony และ Adam’s Bridge ฝีมือการสร้างสรรค์ของศิลปินไทยมากความสามารถอย่าง คุณเพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ที่ชวนคุณมาสืบสาน รักษา และต่อยอด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออก 3 โดยมีทางเชื่อมเข้าศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชั้น LG)
Author By : Arunlak