counters
hisoparty

‘นุ่งซิ่นก็สวยได้’

7 years ago

คงต้องยอมรับว่าบางอย่างที่เป็นรากเหง้าของเราแต่เก่าก่อน กำลังเลือนหายไปกับกาลเวลา ผสานกับการรับวัฒนธรรมจากอีกซีกโลกเข้ามาผสมปนเปจนแทบจำเรื่องราวดั้งเดิมไม่ได้ ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เป็นแรงผลักดันให้เกิดกลุ่ม “นุ่งซิ่นก็สวยได้” ขึ้นมา 

 

“นุ่งซิ่นก็สวยได้” เป็นกลุ่มปิดที่มีจำนวนสมาชิกมากกว่า 36,000 กว่าคน ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี นอกจากจะเป็นการช่วยดำรงค์ไว้ซึ่ง ‘ผ้าไทย’ อันเปรียบเสมือนตัวตนของคนไทยแล้ว กลุ่มนุ่งซิ่นก็สวยได้ ยังช่วยสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้นอย่างมหัศจรรย์กับสมาชิกทั้ง 5 ท่าน คุณนกน้อย - อังคณารักษ์ ทรงสวัสดิ์กุล, คุณมิ้ล - อาภาพรรณ โจโควิดจาจา, คุณญ่า - ดนยา วีระศิลป์, คุณหลิง - ธัญลักษณ์ ธัญวงษ์ และคุณน้อง - อภิญญา เรียล ซึ่งสำหรับคอลัมน์ Living My Style ครั้งนี้ เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับทุกท่านเกี่ยวกับ เพจนุ่งซิ่นก็สวยได้ รวมถึงเรื่องราวความชื่นชอบและสไตล์การแต่งตัว ที่มีการนำผ้าไทยมามิกซ์แอนด์แมทช์ สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีสไตล์

“เพจนุ่งซิ่นก็สวยได้ เปิดเพจมาประมาณ 2 ปีกว่าแล้วค่ะ เกิดขึ้นได้เพราะความรักผ้าซิ่นของคนไทย และกลัวว่าผ้าซิ่นของไทยจะสูญหายไป วันหนึ่งเลยคิดที่อยากจะเปิดเพจรวมคนที่รักผ้าซิ่นมาอยู่ด้วยกัน มาทำสิ่งดีๆ ด้วยกัน อย่างหนึ่งคือเราอยากให้เกิดการนุ่งซิ่นอยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้ โดยที่เสื้อยังเป็นยุคปัจจุบันอยู่ เสื้อยืด เสื้อเชิ้ต เสื้อโปโล เสื้อสายเดี่ยว เสื้ออะไรก็ได้ แต่ต้องมาแมทช์กับผ้าซิ่น และผ้าซิ่นเราก็พยายามที่จะไม่ให้เอาไปตัด อยากให้เป็นผืน เพราะว่ากว่าคนทอจะทอออกมาได้แต่ละผืนค่อนข้างยากค่ะ กิจกรรมที่เราทำบ่อยคือออกไปกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญกับการนุ่งซิ่นและจัดเวิร์คชอป เพื่อสอนว่านุ่งซิ่นยังไงให้ได้หลายแบบและให้นุ่งได้จริงในชีวิตประจำวัน สมาชิกภายในเพจก็ช่วยกันทำคลิปออกมาเป็นร้อยคลิป เพื่อให้ลูกเพจดูแล้วก็นุ่งตาม เราไม่อยากให้เบื่อในการนุ่งแบบเดิมๆ ทุกๆ วัน ตอนนี้สมาชิกจะอยู่ที่ประมาณ 36,000 คน เป็นคนที่รักผ้าซิ่นมาอยู่รวมๆ กันค่ะ สมาชิกส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เพื่อนกันมาก่อน แต่ว่าเป็นคนที่อยู่ในเพจ แล้วก็มาเจอกัน มาทำกิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน จนกลายมาเป็นเพื่อนกันมาทำความดีร่วมกันค่ะ” คุณนกน้อย ในฐานะผู้ก่อตั้งและแอดมินเพจนุ่งซิ่นก็สวยได้ เกริ่นถึงความเป็นมาของการเปิดเพจเมื่อราวๆ 2 ปีก่อน

แต่ละท่านเข้ามารู้จักกับเพจนุ่งซิ่นก็สวยได้ ได้อย่างไร

คุณญ่า: คุณหญิงจำนงศรีเห็นว่าญ่านุ่งซิ่นได้เท่มั้งคะ เพราะเราก็จะมีสไตล์ของเรา จริงๆ เป็นสไตล์ที่ง่ายมากๆ เลย ก็คือใส่อะไรก็ได้ แล้วก็เลือกแอคเซสซอรีที่เรามี เพียงแต่ว่าบางทีถ้าจะเยอะก็เยอะไปเลย บางทีน้อยๆ ก็พอ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไร แต่จริงๆ โดยส่วนตัวชอบมาตั้งนานแล้ว เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ตั้งแต่เรียนจบมาใหม่ๆ จนทำงานเป็นสถาปนิกก็นุ่งผ้าซิ่นไปทำงาน ด้วยเทกเจอร์ แมททีเรียลเขาสวย แล้วก็มีคุณค่า สมัยก่อนเราชอบเก็บผ้าซิ่น ผ้าโบราณ เพราะเราเป็นห่วงกลัวผ้าซิ่นจะหายไป แต่หลังจากนั้นก็พยายามจะเอามาใส่ พอตัวเองเข้ามาในกลุ่ม ก็ทำให้รู้เลยว่าตัวเองไม่ค่อยมีความรู้ทางด้านนี้เท่าไหร่ คนอื่นๆ เขาก็จะรู้ว่าเป็นผ้าซิ่นอะไร เข้ามาดูแล้วก็เทียบกับของเรา พอเข้ามาอยู่เราก็ได้ความรู้เยอะมากจากตรงนี้

คุณน้อง: เริ่มจากเราอยากใส่ผ้าซิ่น ซื้อผ้าซิ่นตามเฟสบุ๊ค แล้วทำยังไงไม่ทราบก็ไปเจอรูปคุณนกน้อย จากนั้นก็ตามดูว่าคนนี้ใส่ผ้าซิ่นได้หลายแบบ สวย แล้วก็ชอบ เลยอินบ็อกซ์ไปคุยกัน จนคุณนกน้อยมาเปิดเพจนุ่งซิ่นก็สวยได้ ทำให้เราได้มาเจอกลุ่มคนที่ชอบเหมือนกับเรา เมื่อก่อนก็อาจจะชอบแต่ไม่ได้ใส่จริง เพราะไม่มีแรงบันดาลใจ ซื้อไว้แล้วก็ตัดเป็นผ้าถุงสำเร็จ ตัดเป็นชุด จนตอนนี้เรามั่นใจสามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ

คุณหลิง: อยู่ๆ ก็ไปเจอเพจนี้ขึ้นมาในเฟสบุ๊ค จะเข้าไปดู ปรากฏว่าเป็นกลุ่มปิด ดูไม่ได้ ก็เลยส่งคำร้องไป เขาก็แอพพรูฟกลับมา เมื่อก่อนพี่ไม่เคยถ่ายรูป ไม่เคยยืนโพส โพสไม่เป็น ก็ไม่ได้ถ่ายรูปลง ซักพักใหญ่ๆ แอดมินเขาก็ประกาศมาว่าใครที่ไม่เคยโพสต์รูป ให้ออกมาโพสต์หน่อย พี่ก็ตกใจ เพราะก็กลัวเขาจะเอาพี่ออกจากกลุ่ม (ยิ้ม) พี่ก็อินบ็อกซ์ไปบอกแอดมินว่าอย่าเอาพี่ออกนะ พี่ยังอายอยู่ เดี๋ยวพี่ค่อยโพสต์นะ พี่ไม่เคยถ่ายรูปจริงๆ พี่พูดจริงๆ ไม่ได้ล้อเล่นเลย แต่หลังจากนั้นแอดมินอาจจะเบื่อแล้ว เพราะโพสต์ทุกวัน ตอนหลังพอเราเริ่มลงเริ่มโพสต์ก็กล้าขึ้น โพสต์ทุกวัน ทำให้เราสนิทกับคนในเพจมากขึ้น คุ้นเคยมากขึ้น ความอายมันก็ไม่ค่อยมี (ยิ้ม)

คุณมิ้ล: ส่วนตัวมิ้ลเพิ่งมานุ่งจริงๆ ได้เกือบ 1 ปี ก่อนหน้านี้เราจะใส่ผ้าไทยบ้างเป็นครั้งคราวและก็ใส่แบบตัดเย็บเท่านั้น เมื่อก่อนเราจะมองว่าผ้าไทยเป็นเรื่องไกลตัว เป็นผ้าคุณแม่ใส่คุณยายนุ่ง เพราะกลัวนุ่งแล้วแก่ กลัวไม่เข้ากับคาแร็คเตอร์ มิ้ลว่าเป็นมีความกังวลคล้ายๆ กัน มิ้ลเองก็ลองผิดลองถูกมาเยอะ แต่ก่อนเวลาที่เราแต่งตัว เราก็ใส่แล้วออกจากบ้านได้เลย ตั้งแต่นุ่งซิ่นเราคิดเยอะขึ้น ที่บอกว่าคิดเยอะขึ้นในที่นี้ เพราะใส่แล้วอยากให้ซิ่นออกมาดูดีที่สุด จริงๆ ไม่มีซิ่นผืนไหนสวยที่สุด แต่อยู่ที่ว่าชิ้นไหนที่เหมาะกับคนๆ นั้น ณ เวลาๆ นั้นที่สุดต่างหาก จึงมีประโยคที่ได้ยินจนชิน ซิ่นเลือกคนคนเลือกซิ่น ซิ่นหลายผืนอาจไม่เหมาะกับเรา ไม่ใช่เพราะซิ่นเขาไม่สวย แต่เป็นที่สัดส่วนและวิธีการนุ่งมากกว่า สำหรับมิ้ลค์ มิ้ลค์ชอบซิ่นโบราณที่สุด เหมาะกับคนไม่สูง ไซส์มินิ ในอดีตเขาจะทอตามไซส์คน และคนโบราณจะตัวเล็ก ผ้าก็เลยจะออกมาหน้าแคบ แล้วก็ไม่ยาวนัก ก็เลยเหมาะกับไซส์เรา คนส่วนใหญ่คิดว่านุ่งซิ่นแล้วทำกิจกรรมผาดโผนไม่ได้ แต่ขอบอกว่าไม่จริง การนุ่งซิ่นได้ถูกดีไซน์จากตั้งแต่อดีตให้ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ และการนุ่งรอบหนึ่งของเราเราก็อยู่ได้ทั้งวัน ไม่มีหลุดแน่นอนค่ะ

แต่ละท่านชอบผ้าแบบไหนเป็นพิเศษ

คุณน้อง: จริงๆ เราก็ชอบหลายอย่าง แต่เอาเป็นว่าพอซื้อไปซื้อมาที่เยอะก็คือ ลาวครั่ง ก็จะมีตีนแดง ตีนจก

คุณนกน้อย: ลาวครั่งก็จะมีลาวครั่งอุทัยธานี ลาวครั่งสุพรรณบุรี ชัยนาท

คุณน้อง: ผ้าทอลาวครั่งเป็นวัฒนธรรมของชาวลาวครั่ง ซึ่งเป็นกลุ่มพันธุ์ไต ข กะได มาจากประเทศลาว ลงมาอยู่ที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย

คุณนกน้อย: ถ้าถามว่าชอบผ้าซิ่นของที่ไหนมากที่สุด ต้องบอกว่าชอบของทุกที่ ทุกๆ ภาค แต่ถ้าจะหยิบมาใช้บ่อยๆ ส่วนใหญ่นกชอบเป็นผ้าจกจากหลายๆ จังหวัด ผ้าตีนจกก็เป็นผ้าที่มีชายด้านล่าง ก็คือใช้วิธีการจกผ้าเป็นหลัก ไม่ใช่แค่ทอ แต่เป็นการจกด้วยมือ ใช้มือจกทีละชั้น ทีละเส้นจนได้ทั้งผืน มันใช้เวลานาน กว่าจะได้ 1 ผืนมันยากมากนะคะ จริงๆ แล้วคนไทยอะเมซิ่งมากในการทำผ้า หลายๆ ประเทศ เวลาเขาเห็นผ้าของเราเขาชอบมาก เพราะเขาได้เห็นวิธี เห็นขั้นตอนแต่ละอย่างไม่ได้มาง่ายๆ แค่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ย้อมสี มันมีวิธีมากมายเหลือเกิน

คุณหลิง: ถ้าโดยทั่วไปหลิงนุ่งได้หมดราคาถูกแพงไม่สำคัญขอให้ถูกใจ แต่ถ้าที่ชอบจริงๆ หลิงจะชอบผ้าแบบผ้ายก ผ้าโบราณ ที่เค้านุ่งหน้านางค่ะ แต่ถ้าถามว่าชอบนุ่งอะไร หลิงนุ่งได้หมดทุกอย่าง หลิงว่าหลิงรู้สึกสนุกกับผ้ามีความสุขที่ได้เล่นได้จับผ้า วันๆ คิดว่าพรุ่งนี้จะนุ่งผ้าอะไรแบบไหน เอาเข้าจริงบ่อยครั้งก็ไม่ใช่แบบที่คิดเพราะเรานุ่งสด ไม่ได้ตัด

คุณมิ้ล: ส่วนตัวแล้วมิ้ลค์ชอบผ้าโบราณ และผ้าโบราณที่ชอบที่สุด ผ้าไหมมัดหมี่จากทุกท้องถิ่น ด้วยความที่ว่าผ้านุ่ม สีสันลวดลาย สวยชัดเจน แล้วงานมัดหมี่เป็นงานที่ค่อนข้างจะยากกรรมวิธีเยอะ อีกทั้งเราชอบเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ก็เลยยิ่งชอบซิ่นโบราณ ซิ่นเล่าเรื่องของเขา ให้เราได้เล่าต่อเรื่องของซิ่น ส่วนงานที่ทอชั้นสูงเราก็ชอบเก็บสะสม พวกเขามีคุณค่าทางจิตใจ แต่อาจใส่ไม่ได้ทุกวัน

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์และเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับผ้าซิ่นของคนไทย ได้ในคอลัมน์ Friends Talk นิตยสาร HiSoParty ฉบับเดือนสิงหาคมค่ะ

Photo By : Veerapol

SHARE