เชียงใหม่ในวันปกติก็มีความงดงามตราตรึงในสายตาของนักเดินทางอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ที่เทศกาลงานประเพณียี่เป็งเวียนมาถึง เชียงใหม่จะยิ่งคึกคักขึ้นอีกเป็นกอง
ที่จริงแล้ว เขาไม่ได้จัดกันแค่วันเดียว แต่ประเพณียี่เป็งทางภาคเหนือจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ผู้คนจะเริ่มตระเตรียมข้าวของเพื่อไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด พอถึงวันขึ้น 14 ค่ำ ชาวบ้านก็จะพากันไปถือศีลฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด บางหมู่บ้านทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาข้าวของเครื่องใช้ใดๆ ก็ได้มาร่วมสมทบเพื่อเป็นทานแก่คนยากจน และเมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ ก็จะนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็กๆ ที่มาพร้อมของส่วนตัวไปลอยน้ำกัน
ใครๆ ก็อยากไปเห็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่แห่งดินแดนล้านนา ที่เรียกได้ว่าสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล พวกเขาจะเรียกกันสั้นๆ ว่าวันเพ็ญเดือนยี่ ซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญเดือน 12 ของภาคกลาง หรือวันงานลอยกระทงนั่นเอง
ถ้าเป็นงานลอยกระทงในภาคอื่นๆ ผู้คนก็จะออกมาลอยกระทง ชาวล้านนาเองก็เช่นกัน ธรรมเนียมปฏิบัติของพวกเขา นอกจากจะมีการลอยกระทงในแม่น้ำกันแล้ว ประเพณีอันสำคัญอย่างหนึ่งของดินแดนล้านนาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การจุดประทีปโคมลอยขึ้นไปสว่างไสวบนท้องฟ้า
ด้วยความเชื่อที่ว่า นี่คือการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ และบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลอยทุกข์โศกโรคภัยให้พ้นไปจากชีวิต จะเรียกว่าเป็นการลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตก็ได้
ที่จริงมีเรื่องราวตามพงศาวดารบันทึกไว้ว่าครั้งหนึ่งได้เกิด อหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดี นานถึง 6 ปี ครั้นเมื่อเดินทางกลับมายังบ้านเกิดได้ จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอยลอยตามน้ำเพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับเรียกว่า การลอยโขมด หรือลอยไฟ
และในช่วงประเพณียี่เป็งนั้นบรรยากาศในตัวเมืองเชียงใหม่ จะมีความคึกคัก ผู้คนจะพากันตกแต่งทำความสะอาดบ้านเรือน วัดวาอารามและถนนหนทางจะมีการตกแต่งด้วยต้นกล้วย อ้อยทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุงช่อประทีปและนำโคมยี่เป็งแบบต่างๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา
ในช่วงกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทอง พร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีปเพื่อบูชาพระรัตนตรัย ใครที่ไปวัดในเชียงใหม่ช่วงนี้ก็จะเห็นการจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และจุดโคมปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ การลอยโคมนี้ชาวบ้านเขาเชื่อกันว่า เพื่อเป็นการพัดพาเคราะห์ร้ายภัยพิบัติต่างๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ทุกวันเพ็ญเดือนยี่ของชาวล้านนา เราจึงเห็นภาพโคมนับร้อยนับพันดวงค่อยๆ ลอยละลิ่วส่องแสงสว่างเจิดจ้าอยู่บนท้องฟ้าเหนือจังหวัดเชียงใหม่
ไม่เพียงเท่านั้น ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่จะมีขบวนแห่โคมยี่เป็ง การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนาขบวนแห่กระทงเล็ก ขบวนแห่กระทงใหญ่ การตกแต่งประดับประดาบ้านเรือนด้วยผางประทีบ โคมไฟ การจุดพลุดอกไม้ไฟ การปล่อยโคมลอยเพื่อสะเดาะเคราะห์ การปล่อยโคมไฟ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรม การประกวดแห่โคมล้านนา และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นมากมาย และยังมีการประกวดขบวนกระทงใหญ่ด้วย รวมถึงพิธีบวงสรวงศาลพระภูมิ-เจดีย์ขาวและขอขมาแม่น้ำปิง ผู้คนชาวเชียงใหม่เองและนักท่องเที่ยวจะออกมาเดินเที่ยวเล่นชมเมืองและงานกันอย่างครึกครื้น เมืองทั้งเมืองถูกประดับประดาด้วยไฟ สว่างไสวทั่วเมืองเชียงใหม่
แต่เดี๋ยวนี้ในตัวเมืองเชียงใหม่จะไม่มีการปล่อยโคมกันแล้ว หากใครอยากเห็นบรรยากาศแบบนี้ต้องไปงาน Chiangmai CAD Festival ที่จัดงานนอกเขตตัวเมืองเชียงใหม่ไปราวๆ 30 นาที โดยจะมีขึ้นทุกปี เป็นงานที่มีการเตรียมสถานที่ และจำลองบรรยากาศแบบหมู่บ้านชาวล้านนาเอาไว้อย่างน่าสนใจ
นอกจากการปล่อยโคมนับพันลูกขึ้นสู่ท้องฟ้าแล้ว ภายในงานยังมีคอนเซ็ปต์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาและสนับสนุนผลงานศิลปะของศิลปินล้านนาหลากหลายสาขา โดยในงานจะไปเชิญพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยที่ชำนาญการเรื่องงานฝีมือมานั่งทำงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านศาสตราวุธล้านนาโบราณ ตลาดล้านนาโบราณ เวทีการแสดงแสง สี เสียง มหกรรมกลองปูจาล้านนานคร ซึ่งมีนักแสดงร่วมทำการแสดงกว่า 100 คน เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้อย่างมาก ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของเชียงใหม่ ที่เป็นเมืองแห่งมรดกทางวัฒนธรรม
หากปีนี้ใครมีโอกาส เตรียมวางแผนขึ้นไปสัมผัสอากาศเย็นๆ ช่วงเดือนพฤศจิกายน และดื่มด่ำกับศิลปวัฒนธรรมในงานประเพณียี่เป็งอันเป็นเอกลักษณ์เชื่อเถอะว่า จะทำให้คุณหลงรักเมืองไทยมากขึ้น
Story & Photo By กาญจนา หงษ์ทอง