counters
hisoparty

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล : เราต้องอยู่ในตำแหน่ง ที่ทำให้ตำแหน่งมีเกียรติ ไม่ใช่เรามีเกียรติด้วยตำแหน่ง

7 years ago

ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาเรื่อยจนถึงวันนี้ เรามีโอกาสได้ยินชื่อของหน่วยงานหนึ่ง แทบจะทุกวันในรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่หลายคนให้ความสนใจ และเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อคนหมู่มาก ทำให้เกิดความคิดที่ว่า แท้ที่จริงแล้ว หน่วยงานนี้ซึ่งก็คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย มีความแตกต่างหรือเกี่ยวข้องอย่างไร กับตำรวจผู้รักษากฎหมาย หรือ ทหารผู้พิทักษ์ประเทศ เหตุใด ทำไม เขาถึงมีความสามารถในการเข้าถึง และแก้ไขปัญหาหรือปิดคดีต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว และเห็นผล

แม้ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษจะก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จนถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าสู่ปีที่ 15 แล้ว แต่เราเชื่อว่าหลายๆ คน ก็ยังไม่มีความเข้าใจในหลักการทำงานของหน่วยงานนี้แบบกระจ่างชัด และถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ในนิตยสารของเรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับท่านรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ที่นอกจากดำรงตำแหน่งรองอธิบดีฯแล้ว ท่านยังเป็นโฆษกของกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกด้วย

“ภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษโดยหลักการคือ เป็นการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายเดิมทีเป็นหน้าที่ของตำรวจ ตำรวจจะมีหน้าที่ในการไปสืบสวน จับกุม ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจเป็นคนทำเพียงหน่วยเดียว จนเมื่อปี 2545 ก็ได้มีการตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษขึ้น เพราะเรามีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมสอบสวนคดีพิเศษก็เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่พร้อมๆ กับหน่วยงานอีกหลายๆ หน่วยที่มีการแบ่งส่วนราชการใหม่ภายในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าง่ายๆ ความพิเศษก็คือต่างจากตำรวจ นอกเหนืออำนาจของจากตำรวจที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนในคดีพิเศษแล้ว เรายังมีอำนาจพิเศษตามกฎหมายอีกหลายอย่าง เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพ ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆ คืออย่างคดีลักวิ่งชิงปล้นทั่วๆ ไปที่ตำรวจทำ เขาก็ใช้ในแง่ของการสอบสวน สืบสวน จับกุม และก็ดำเนินคดีเลย แต่คดีพิเศษที่เราทำนี่เป็นลักษณะขององค์กร กฎหมายก็ดีไซน์ออกแบบให้มันมีอำนาจพิเศษที่จะสามารถรวบรวมพยานหลักฐานโดยวิธีพิเศษได้ เช่นการแฝงตัวเข้าไปในองค์กรอาชญากรรมโดยไม่มีความผิด โดยไม่มีโทษตามกฎหมาย ถ้าเทียบกับตำรวจเดิมๆ ก็คือตำรวจอาจจะเข้าไปในองค์กรอาชญากรรมได้ แต่มันไม่มีเงื่อนไขของการยกเว้นความผิด ตำรวจอาจจะมีความผิดตามกฎหมายก็ได้ในการไปสืบสวน เพราะฉะนั้นกฎหมายในข้อนี้สำหรับดีเอสไอก็สร้างความมั่นใจให้คนที่บังคับใช้กฎหมายว่า เรามีมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองคนที่เข้าไปแสวงหาพยานหลักฐานโดยตามกฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องของการแฝงตัว ซึ่งการแฝงตัวไม่ใช่เฉพาะเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอ เราอาจจะตั้งบุคคลภายนอกเข้าไปแฝงตัวในองค์กรอาชญากรรมก็ได้ โดยเรามีกฎหมายบอกว่าถ้าให้นาย ก นาย ข เข้าไป คนที่เข้าไปนี่ไม่มีความผิด ทำให้คนที่เข้าไปอยู่ในองค์กรอาชญากรรมเอาข้อมูลหลักฐานต่างๆ มาให้เราเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มแก๊งองค์กรอาชญากรรม

“สองการเข้าถึงข้อมูลทางโทรศัพท์ ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เราเข้าถึงได้หมด แต่กฎหมายธรรมดาที่เป็นของตำรวจจะไม่มี เนื่องจากว่าองค์กรอาชญากรรม ปกติเวลากระทำความผิดก็จะใช้วิธีการ รูปแบบที่ซับซ้อน มีการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศ อาจจะมีการส่งข้อมูลส่งเมลกัน แล้วก็วิธีการติดต่ออาจจะมีวิธีการที่แยบยล กฎหมายให้เราเข้าถึงข้อมูลได้ ถ้าเป็นคดีพิเศษ"

“สามเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจเสนอนายกฯ ตั้งคนส่วนราชการในทุกสังกัดเป็นคณะพนักงานสอบสวนได้ถ้าเห็นว่ากรมป่าไม้มีผู้เชี่ยวชาญ กรมอุทยานมีผู้เชี่ยวชาญ กรมปกครองมีผู้เชี่ยวชาญ เราก็อาศัยอำนาจนายกฯ ตั้งเขามาเป็นพนักงานสอบสวนร่วมได้ เราถึงไม่มีข้าราชการมาก แต่เราจะใช้วิธีการบริหารจัดการองค์กรในลักษณะที่เป็นกฎหมายบูรณาการ ทำให้การสืบสวนสอบสวนมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

“ถ้าถามว่าประชาชนเข้าใจระหว่างการทำงานของตำรวจกับดีเอสไอไหม ก็อยากจะบอกว่า หน้างานเราเหมือนกัน เพียงเราแบ่งความเป็นคดีพิเศษว่าต้องยุ่งยาก สลับซับซ้อน แล้วก็ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศ ซึ่งเงื่อนไขตรงนี้มันค่อนข้างกว้าง เราก็เลยมีวิธีการที่จะแบ่งประเภทของคดีโดยคดีทุกประเภทจริงๆ จะเป็นคดีพิเศษได้หมดถ้าเข้าเงื่อนไขของกฎหมาย คือ มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน เป็นผู้มีอิทธิพล มีผลกระทบความร้ายแรงต่อประเทศ แล้วก็อาชญากรรมข้ามชาติ ลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม ถ้าเข้าลักษณะอย่างนี้ข้อหาใดก็ตามอาจจะเป็นคดีพิเศษได้เลย แต่ถ้าเกิดไม่ได้เป็นพิเศษมันก็อาจจะมีการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพ ก็มีในช่วงที่ผ่านมากับคดีในเรื่องการกู้ยืมเงิน หรืออาจจะเป็นคดีที่เป็นการปล่อยเงินกู้แล้วก็เอาเปรียบลูกหนี้เจ้าหนี้ หลายๆ เรื่องแล้วก็ไปข่มขู่บังคับ แม้ว่าเป็นความผิดฐานแค่กรรโชกทรัพย์ และเรื่องของการกู้ยืมเงินเหมือนกับกู้ยืมเงินธรรมดาแต่ว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนในภาพรวม และเป็นกลุ่มแก๊งอาชญากรรมเรารับไว้ดำเนินการได้หมด เพราะฉะนั้นก็คงไม่ต้องไปจำว่ามีกฎหมายอะไร แต่ถ้าเกิดว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนในลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นองค์กรอาชญากรรมเป็นผู้มีอิทธิพล สามารถที่จะส่งเรื่องมาให้เราได้ทั้งหมดครับ”

คดีที่ทำให้ดีเอสไอได้รับความสนใจ
“ผมว่ามีอยู่หลายประเภทนะ คือมันจะมีเป็นช่วงๆ ไป ถ้าผมมองดู ลำดับหนึ่งคือเรื่องของการฉ้อโกง ที่ประชาชนเดือดร้อนเยอะ แล้วก็เรื่องของแชร์ การหลอกลวงของบริษัทขายตรง เรื่องนี้สำคัญมากที่สุดเพราะมันกระทบกับประชาชนที่อยู่ในระดับพื้นๆ เลย ที่เขาถูกหลอก บางทีญาติด้วยกันหลอก แต่หลอกโดยไม่รู้ ให้เขาเอาเงินมาเท่านี้ลงทุนซื้อของเท่านี้เดี๋ยวจะได้ผลกำไรตอบแทนในลักษณะของที่เราเรียกว่า MLM ในลักษณะนั้น แต่พอมาสักระยะหนึ่งมันก็เจ๊ง บางส่วนเปิดที่ทางเหนือ เช็คไปเช็คมาเป็นบริษัทเดียวกับทางใต้ คนเปิดคนเดียวกัน ชื่อเปลี่ยนบริษัท กรรมการคนเดียวกัน แล้วก็ไปหลอกคนเหนือบ้างคนใต้บ้าง ทางภาคกลางก็มีปัญหาเยอะในเรื่องของแชร์ เรื่องแชร์กับเรื่องของการหลอกลวงขายตรงนี่เป็นปัญหา ซึ่งพอเราเข้าไปแก้มันก็ได้อิมแพ็คกลับมาค่อนข้างเยอะ ผู้ต้องหาที่จับกุมมาตั้งแต่เป็นสิบปี คดีฉ้อโกงประชาชนและเรื่องแชร์ มีเป็นร้อยคดี ผู้เสียหายหลายพันคน คิดมูลค่าความเสียหายผมว่าเป็นหลายหมื่นล้าน ถ้าเอาคดีดีเอสไอทำมาจนถึงปัจจุบันนี่หลายหมื่นล้าน เพราะฉะนั้นผมมองว่าสิ่งนี้มันเป็นผลกระทบกับสังคมกับระบบเศรษฐกิจมากที่สุด แล้วถ้าถามว่าเราเข้าไปแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทำให้ประชาชนมองว่าเรื่องนี้มีประสิทธิภาพหรือเปล่า ผมคิดว่ายังไม่ถึงกับมีประสิทธิภาพ แต่เป็นคดีที่ผมคิดว่าเป็นคดีที่เราต้องเร่งแก้ปัญหาให้ประเทศ คืออีกมิติหนึ่ง ผมจะไม่ได้มองว่าเอ๊ะคดีนี้ทำแล้วดีเอสไอได้ชื่อเสียงนะ แต่ผมมองว่าคดีนี้ทำแล้วมันยังแก้ปัญหาไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เราจะต้องพยายามแก้ปัญหาให้มันถูกจุดให้ได้ เพราะถ้าอย่างนั้นประชาชนก็ยังตกเป็นเหยื่อ เงินก็จะไปกองกับพวกอาชญากร เวลาไปตามจับ เงินไม่มีแล้ว มันโยกย้ายออกนอกระบบแล้ว แม้ว่าเราจะเอาคนมาลงโทษ แต่ว่าเงินมันไม่ได้กลับเข้าระบบ ประชาชนเดือดร้อน ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีเอสไอท้าทายที่จะต้องทำต่อ ส่วนมุมมองของผมในเรื่องคดีสำคัญก็ อย่างเช่นคดีบุกรุกที่ดินก็สำคัญที่ทำอยู่ ยังไม่ตรงใจผมเพราะว่ามุมมองของผมผมอยากทำในแง่ของการป้องปรามที่เป็นรูปธรรม คดีบุกรุกที่ดินผมทำอยู่ตั้งแต่สมัยกองปราบมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนมากมันจะเป็นคดีเรื่องเกี่ยวกับข้าราชการทุจริต ส่งไปที่ ปปช. จนคดีความขาดอายุความไปแล้วหลายเรื่อง คนก็ยังไม่ถูกลงโทษ แต่ป่าหมดลงไปทุกวัน พอตอนดีเอสไอมาทำ เราก็ไปทำคดีซึ่งเราเคยบอกว่า คดีพวกนี้เป็นคดีผู้มีอิทธิพลในการบุกรุก แต่สุดท้ายแล้วการบุกรุกนั้นมันเป็นพื้นที่ใหญ่ มันไม่สามารถเลือกทำแปลงหนึ่งแปลงใดรายหนึ่งรายใดได้ บางทีมีชื่อผู้มีอิทธิพลอยู่แปลงเดียว แต่จริงๆ การบุกรุกมันเกิดขึ้นบนภูเขาทั้งลูกเลย ผมอยากได้มิติแก้ปัญหาทั้งหมด ไม่ได้อยากไปทำคดีหนึ่งคดีใด เพราะถ้าไปทำคดีหนึ่งคดีใดคดีเดียว ถึงแม้ศาลลงโทษ เราไม่สามารถแก้ปัญหาไอ้ส่วนที่บุกรุกทั้งหมดได้เลย เพราะว่าส่วนที่บุกรุกทั้งหมดพอระยะยาวขึ้นมามันก็จะมีผลกระทบตามมา เราก็ต้องไปตามไล่เก็บในรายคดี ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่ มันน่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้ มากกว่าที่เราไปตามจับ เพราะสิ่งพวกนี้มันไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นมานานแล้ว ฉะนั้นเวลากรมเราตั้งขึ้นมา มันต้องแก้ไขในภาพรวมของประเทศทั้งหมด

 “ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ เราตั้งเป้าในเรื่องคดีพิเศษไว้ที่จะต้องแก้ปัญหาให้ประเทศ มีหลายเป้าหมายที่เราจะต้องทำเกี่ยวกับเรื่องของความมั่นคง อันนี้เป้าหมายที่เราตั้งไว้ การฝึกคน การยุทธศาสตร์เรื่องเกี่ยวกับคดีพิเศษหรือคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เราก็วางแผนไว้ที่เราจะต้องดำเนินการในอนาคต การทำงานของเราเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ และประการสุดท้ายคือเราเน้นในเรื่องของความซื่อสัตย์ สุจริต ปัจจุบันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีมีนโยบายหลายอย่างที่จะให้กรมเราเดินไปในจุดที่อยู่ในความน่าเชื่อถือของประชาชน โดยภายในเองตอนนี้ก็มีคำสั่งออก ห้ามให้ของขวัญผู้บังคับบัญชา อันนี้จะไม่มี ห้ามให้ บัดนี้เป็นต้นไป แล้วห้ามรับ ห้ามอะไรต่างๆ ก็จะมีคำสั่งห้ามเรื่องพวกนี้ด้วย แล้วก็เรื่องของวินัย ถ้ามีการกระทำความผิด เราก็มีการดำเนินคดี ดำเนินการทางวินัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อันนี้ก็ตามสเต็ปจะวางไว้รูปแบบนั้น เพราะว่าเราตั้งใจว่าถ้าเราสร้างความคาดหวังให้ประชาชนว่าเราเป็นหน่วยงานที่ซื่อสัตย์สุจริตมันก็จะทำให้เกิดความไว้วางใจ และสามารถทำคดีหรือสอบสวนคดีอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้เกิดความเชื่อถือกับประชาชนทั่วไป”

หน้าที่ของโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ
“หน้าที่ของโฆษกฯมันมีบทบาทหลายบทบาท แต่ถ้าให้ผมแบ่งนะ หน้าที่หนึ่งคือหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาในเรื่องของแผนยุทธศาสตร์ในด้านของการประชาสัมพันธ์ ซึ่งในด้านตามแผนและยุทธศาสตร์ของกระทรวงที่วางไว้ ด้านการประชาสัมพันธ์ตามนโยบายท่านนายก อันนี้ในเรื่องของการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน เรื่องนี้เราแบ่งในเรื่องของการสร้างความรับรู้ในลักษณะให้ถึงประชาชนจริงๆ หน้าที่ผมก็มีหน้าที่ที่จะสื่อให้ประชาชนรับทราบ ตอนนี้เรากำลังอยู่ในแผนการจัดทำอินโฟกราฟิกการกระทำความผิดประมาณ 20 รูปแบบ ซึ่งจะเป็น 20 รูปแบบที่สื่อให้ประชาชนเห็นพฤติการณ์การกระทำความผิดของผู้กระทำความผิดที่เป็นคนร้าย เสร็จแล้วเราก็จะใช้อินโฟกราฟิกในพฤติการณ์การทำความผิดเป็นขั้นตอนของพวกนี้เอามาใส่ให้ประชาชนเห็นถึงการกระทำความผิดที่เป็นของกลุ่มคนร้ายพวกนี้ รวมถึงลักษณะที่เป็นแชร์ลูกโซ่ด้วย การกระทำความผิดที่เป็นการปลอมเอกสารด้วย การกระทำความผิดในรูปแบบหลายวิธี คือผมจะเอาไอ้สิ่งที่เป็นพฤติกรรมของคนร้าย มาให้ประชาชนเห็น อันนี้คือการสร้างความรับรู้ให้ประชาชน ซึ่งหวังว่าถ้าสื่อออกไปแล้วประชาชนจะเข้าใจ และจะตกเป็นเหยื่อน้อยลง อันนี้คือบทบาทในส่วนของโฆษกที่ทำหน้าที่อยู่ตอนนี้ อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการแถลงฯ ว่าง่ายๆ คือบางทีมันก็มีทั้งเชิงรุกและเชิงรับ อันนี้คือเชิงรุก แต่ส่วนงานเชิงรับก็จะต้องมีหน้าที่ในการชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในคดีที่ดำเนินการอยู่ ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในสถานการณ์ในบางเรื่องบางอย่าง ซึ่งเราอาจจะต้องเป็นฝ่ายที่จะต้องไปชี้แจงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกรมสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องของบุคคล ในเรื่องของหน่วยงานอะไรต่างๆ ทั้งหมด อันนี้คือบทบาทหน้าที่ของโฆษกที่ทำหน้าที่อยู่ครับ

ในฐานะขอโฆษกของดีเอสไอ ท่านอยากจะฝากอะไรถึงประชาชน
“ผมว่าในส่วนของรัฐบาลเองก็พยายามที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรือง พัฒนา รวมถึงคนจนหมด แต่ถ้าในมุมมองของดีเอสไอ ในมุมมองของผมเอง ผมก็อยากจะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีชีวิตอย่างปลอดภัย และไม่ได้รับความเดือดร้อนจากอาชญากรรมหรืออาชญากรที่อาจเกิดขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะบอกประชาชนก็คือทุกปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในทุกมิติ เช่นการแจ้งข้อมูลข่าวสารในเรื่องเกี่ยวกับอาชญากรต่างๆ อันนี้ประชาชนควรจะต้องทำ บทบาทในเรื่องของสภาพสังคมในปัจจุบันต่างคนต่างอยู่ไม่ได้อีกแล้ว มันจะต้องมีการแสวงหาความร่วมมือในทุกด้าน ซึ่งผมเข้าใจว่าในปัจจุบันประชาชนตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องของการให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาก และภาครัฐก็พยายามที่จะเข้าถึงประชาชนทุกหน่วย ผมก็ต้องถือว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันมีพัฒนาการอย่างมากเกี่ยวกับมุมมองของรัฐบาล มุมมองของราชการมองประชาชน กับมุมมองของประชาชนมองข้าราชการ ผมว่าในปัจจุบันนี้ดีขึ้นมากครับ ในส่วนของประชาชนเอง ในภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เราพยายามที่จะปกป้องผลประโยชน์ โดยเฉพาะผลประโยชน์ของประชาชน เรามองประชาชนเป็นที่ตั้ง คือถ้าประชาชนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ขอให้แจ้งเหตุเข้ามา เราจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ หากประชาชนคนไหนมีปัญหาสามารถถแจ้งเรื่องร้องเรียนมาได้ที่ เบอร์ 1202 หรือ ทางเวบไซต์ www.dsi.go.th ก็สามารถแจ้งเข้ามาได้เลย เรามีหน้าที่ในการให้บริการประชาชน เป็นศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ซึ่งสามารถโทรศัพท์มาปรึกษาในเวลาราชการได้ตลอด ยกเว้นวันหยุดราชการครับ”

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ทั้งหมดแบบเต็มๆ ได้ในคอลัมน์ My World of Style นิตยสาร HiSoParty ฉบับเดือน มิถุนายน 2017

Photo By : PRAYUTH
Author By : Arunlak

SHARE