ในประเทศอเมริกา มีรายงานอุบัติเหตุจากการกีฬา ทำให้สูญเสียฟันจากการกระแทกหรือฟันหลุดออกจากเบ้ามากถึงปีละ 5 ล้านซี่ เพราะกีฬาหลายๆ ชนิดในอเมริกานั้น มีความรุนแรงจากการปะทะสูงมาก สำหรับในประเทศไทย ทันตแพทย์หลายๆ คน ได้รายงานว่า พบเห็นฟันแตก หัก บิ่น จากการละเล่นทั้งที่เป็นกีฬาและไม่ใช่กีฬา ทันตแพทย์หลายๆ คนที่ทำงานแถบทะเล จะพบคนไข้มีอุบัติเหตุต่อฟัน จากการเล่น Banana boat และทันตแพทย์หลายๆ คนในเมือง จะมีโอกาสได้พบคนไข้ที่มีอุบัติเหตุต่อฟัน จากการเล่นฟุตบอล บาสเกตบอล ขี่จักรยาน กระโดด Trampoline หรือเล่นกีฬารักบี้ ที่อาจเกิดการชนกระแทกกันในขณะที่เล่นกีฬานั้นๆ
สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่มีความตื่นตัวในการใช้ฟันยางระหว่างเล่นกีฬา เนื่องจากความรู้ดังกล่าวยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ในระบบการกีฬาของประเทศ ในปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีการพัฒนาการกีฬาที่ดีมากขึ้น กีฬาหลายๆประเภทสามารถเข้าสู่การแข่งขันระดับโลกได้ โดยเฉพาะมวยไทย และมวยสากล ซึ่งกีฬาดังกล่าว นักกีฬาจะต้องสวมใส่ฟันยางในระหว่างชกบนเวที เพราะฟันยางนอกจากจะช่วยป้องกันฟันแล้ว ยังช่วยกันกระแทกและผ่อนแรงที่เกิดขึ้น ให้มีผลต่อสมองและก้านสมองน้อยลง เพราะแรงต่อยที่กระทำต่อใบหน้า โดยเฉพาะหมัดฮุกโดยตรงต่อขากรรไกรล่าง จะสามารถทำให้ข้อต่อขากรรไกรหักได้ และอาจทำให้สมองกระทบกระเทือนอย่างหนัก ทำให้เป็นอัมพาตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จากสมองถูกทำอันตรายจากแรงชกดังกล่าว
สมาคมทันตแพทย์แห่งอเมริกา (American Dental Association) ได้ออกข้อแนะนำให้ผู้เล่นกีฬาต่อไปนี้ สวมใส่ ฟันยางที่ทำเฉพาะบุคคล (Custom mouthguards) ได้แก่ กายกรรม ยิมนาสติก บาสเกตบอล ชกมวย ฮอกกี้ ฮอกกี้น้ำแข็ง อเมริกันฟุตบอล แฮนด์บอล สเก็ตน้ำแข็ง เบสบอล แร็กเก็ตบอล สกี สเก็ตล้อ สเก็ตบอร์ด รักบี้ ศิลปะป้องกันตัวต่างๆ กระโดดสูง ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล ยกน้ำหนัก มวยปลํ้า กีฬาสควอซ โต้คลื่น โปโลน้ำ ขี่จักรยาน
อันตรายจากแรงกระแทก (ทั้งจากอวัยวะหรืออุปกรณ์) ปะทะเข้าที่บริเวณคาง ขากรรไกร หรือส่วนของใบหน้าใต้ต่อจมูก นอกจากจะทำอันตรายต่อฟันแล้ว ยังมีผลให้แรงกระแทกดังกล่าว ถ่ายทอดไปสู่ข้อต่อขากรรไกรบริเวณหน้าหู และถ่ายทอดไปสู่ฐานกะโหลกและสมองได้ ทั้งนี้ สมองนั้นจะอยู่ภายในกะโหลกในพื้นที่ที่มีน้ำสมองหล่อเลี้ยงอยู่ สมองจึงเหมือนลอยๆ อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ก้านสมองจะผ่านฐานกะโหลกออกมาไปสู่กระดูกสันหลัง แรงกระแทกที่รุนแรงมาก อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ตั้งแต่ ฟันหัก ฟันหลุด ขากรรไกรหัก ข้อต่อขากรรไกรหักและบอบช้ำ หูดับ สมองช้ำ สลบ ไม่รู้สึกตัว ชัก ก้านสมองถูกทำลายและอาจถึงตายได้ เราอาจได้ยินข่าว Christopher Reeve ที่ตกม้าและคอหักเป็นอัมพาตตั้งแต่ส่วนคอลงไป หรือนักมวยโลกที่มีอาการทางสมองเมื่ออายุมาก ได้แก่ Mohammad Ali, พเยาว์ พูนธรัตน์ เป็นต้น นี่ยังไม่รวมถึงนักอเมริกันฟุตบอลในลีก NFL ที่ประสบอุบัติเหตุในสนามแข่งจนเป็นอัมพาตไปหลายคน เพราะการกระแทกนั้นรุนแรงมากๆ
ฟันยาง สำหรับนักกีฬา
ฟันยาง สำหรับนักกีฬาคือแผ่นยางหนา (ประมาณ 4 มิลลิเมตร) ที่ขึ้นรูปให้สวมที่ฟันบนจากตำแหน่งฟันหน้าไปฟันหลัง หรือแผ่นยางหนาที่ขึ้นรูปให้สวมครอบฟันบนและฟันล่างพร้อมกัน จากตำแหน่งฟันหน้าไปฟันหลัง
ฟันยาง สำหรับนักกีฬา มีทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองในร้านขายอุปกรณ์การกีฬา (ข้อเสียของฟันยางสำหรับนักกีฬาชนิดนี้ คือฟันยางมักจะไม่แนบกับฟัน และมีขนาดให้เลือกไม่มากนัก กันกระแทกได้ไม่ค่อยดี) ฟันยาง สำหรับนักกีฬาอีกชนิด เป็นฟันยางที่ทันตแพทย์ทำเฉพาะให้กับบุคคลนั้นๆ โดยทันตแพทย์จะพิมพ์ฟันบนและล่าง พร้อมทั้งนำไปประกบคู่การสบฟันและทำแผ่นยางที่แนบสนิทกับฟันของบุคคลนั้นๆ ทั้งนี้ ใช้เวลาในการทำแผ่นยางไม่นานและชิ้นงานชนิดนี้ ให้ประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายจากการกระแทกได้อย่างดีเยี่ยม
ฟันยาง สำหรับนักกีฬาจะคลุมฟันทางด้านหน้าและด้านหลัง แผ่นยางด้านหน้าจะลดแรงกระแทกจากแรงที่มากระทำทางฟันหน้า (เช่น หัว ข้อศอก เท้า หรือมือ กระแทกเข้าโดยตรงที่ปาก) แผ่นยางด้านหลังจะลดแรงกระแทกจากแรงที่มากระทำจากขากรรไกรล่าง (เช่น หัว ข้อศอก เท้า หรือมือ กระแทกเข้าที่ปลายคาง) แผ่นยางหนา 4 มิลลิเมตรนี้จะกันการกระแทกของฟัน และจะผ่อนลดแรงที่มากระทำลงในระดับหนึ่งที่ยาง ทำให้แรงกระทำเหลือน้อยลง ไม่เหลือแรงไปกระทำต่อข้อต่อขากรรไกร ฐานสมอง หรือสมองโดยตรง สามารถลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้อย่างดีเยี่ยม
อุบัติเหตุต่อฟันอาจทำให้ฟันหักได้ และพบเสมอๆ ว่าเศษฟันอาจจะฝังเข้าสู่เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก หรือริมฝีปากได้ ทำให้เกิดความซับซ้อนในการรักษาเพิ่มขึ้น ฟันยางนั้นจะป้องกันอันตรายต่อฟัน และถึงแม้เกิดอันตรายต่อฟัน ฟันยางก็จะช่วยไม่ให้เศษฟัน หลุดฝังในเนื้อเยื่ออ่อนได้ ประโยชน์ของฟันยางจึงมีมากมาย นักกีฬาจึงไม่ควรประมาทโดยการไม่ใช้ฟันยาง เมื่อเล่นกีฬาดังกล่าวข้างต้น
ฟันยางที่ใช้ ควรใช้ฟันยางเฉพาะบุคคล และไม่ใช้ฟันยางของคนอื่น เพราะนอกจากจะไม่สะอาดแล้ว ยังอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เพราะฟันแต่ละคนนั้นต่างกัน ฟันยางจะใช้ร่วมกันไม่ได้
ฟันหลุดออกจากเบ้าฟัน จะต้องทำอย่างไร
อุบัติเหตุหลายอย่าง อาจทำให้ฟันหน้าหลุดออกจากเบ้าฟันได้ เพราะตำแหน่งฟันและรูปร่างรากฟัน หากมีแรงกระแทกอย่างหนัก ฟันก็จะหลุดออกจากเบ้าฟันได้ ทั้งนี้ ฟันที่หลุดออกมา สามารถทำความสะอาดและนำเสียบกลับเข้าในตำแหน่งฟันเดิมได้ แต่ต้องมีวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. อย่าตื่นตกใจ
2. หาฟันที่หลุดให้เจอ และจับฟันที่ส่วนตัวฟัน (สีขาวกว่า) ไม่จับส่วนรากฟัน (มักจะมีเลือดปกคลุม)
3. ถ้าฟันสกปรก ล้างด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือ ประมาณ 10 วินาที และจับฟันเสียบเข้าในตำแหน่งฟันที่หลุดออกมาก (หันทิศทางให้ถูกด้วย)
4. ถ้าไม่สามารถจับฟันเสียบกลับได้ ให้เก็บฟันในกล่องเก็บเล็กๆ ที่มีน้ำนมวัวรสจืดอยู่ หรือน้ำเกลือล้างแผล หรือเก็บไว้ในน้ำลายของตัวเอง (โดยบ้วนน้ำลายมากๆ ลงในกล่องเก็บ) ห้ามเก็บในน้ำ
5. รีบเข้าพบทันตแพทย์เพื่อรักษาต่อ
ทันตแพทย์จะล้างแผล (หากยังไม่ได้ใส่ฟันในตำแหน่ง ทันตแพทย์จะทำการใส่ฟันในตำแหน่งนั้นๆ ให้) และใส่เฝือกฟันอ่อนที่ฟันไว้ประมาณสองสัปดาห์ เย็บแผลที่จุดอื่นๆ หากมีแผลฉีกในช่องปาก ถ่ายภาพรังสี และนัดมารักษารากอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ หากไม่อยากสูญเสียฟันถาวร ต้องปฏิบัติตามที่ทันตแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
ฟันหักจะต้องปฏิบัติอย่างไร
หากฟันหัก ชิ้นส่วนฟันที่พบเจอ ให้ทำการเก็บเหมือนการเก็บฟันที่หลุดออกจากเบ้า หากไม่พบชิ้นส่วน ก็ไม่ต้องกังวลใดๆ ระดับความรุนแรงของฟันที่หักนั้น ขึ้นกับว่า ฟันนั้นๆ หักทะลุโพรงประสาทฟันไหม หากฟันหักทะลุโพรงฟัน ฟันซี่นั้นๆ ก็อาจต้องรักษารากฟันแล้วทำครอบฟัน หากการหักนั้นไม่ทะลุโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะบูรณะฟันส่วนที่หักไปด้วยวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน และตามดูอาการฟันซี่นั้นๆ ต่อเนื่องอีก 6-12 เดือน หากฟันมีการโยกมาก ทันตแพทย์ก็จะใส่เฝือกฟันให้ระยะหนึ่ง จนฟันนั้นแน่นขึ้น ก็จะถอดเฝือกฟันออก
การเล่นกีฬานั้น ทุกๆคนควรสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองด้วยการใส่ฟันยางสำหรับนักกีฬา เปรียบเหมือนการใส่หมวกกันน็อคป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แม้ไม่เกิดอุบัติเหตุใดๆ ก็ตาม แต่เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น หมวกกันน็อคก็ช่วยรักษาชีวิตของผู้ใช้ได้มากมาย ฟันยาง สำหรับนักกีฬาก็เช่นกัน สามารถป้องกันฟัน ขากรรไกร ข้อต่อขากรรไกร และสมองได้ การเล่นกีฬามีความเสี่ยง เราทุกคนจึงควรป้องกันตนเองในขณะเล่นกีฬา และการทำฟันยางก็ทำได้ไม่ยาก ควรเข้ารับปรึกษากับทันตแพทย์ประจำตัวท่านแล้วพบกันใหม่ครับ