ปัจจุบันนี้ หมอพบว่ามีผู้เข้ารับการรักษาฟันหลายคนมีปัญหาเป็นโรคฟันร้าว ผู้ป่วยจะเข้ามาพบหมอและแจ้งว่า มีฟันบางซี่เสียวฟันมาก กัดลงแรง หรือเคี้ยวอาหารไม่ค่อยจะได้ มีอาการปวดๆตึงๆ และมักจะพบว่ามีอาการเพียงซี่เดียวในช่องปาก เมื่อหมอตรวจสอบดู บางครั้งพบว่าฟันซี่ดังกล่าว มีรอยอุดฟันอยู่แล้ว ภาพเอ็กซเรย์ไม่มีรอยความผิดปกติจากรอยผุใดๆ ปลายรากฟันก็ปกติ ทุกอย่างดูปกติดีหมดทุกอย่าง แต่ผู้ป่วยกลับบอกและชี้ได้ชัดว่า ฟันซี่หนึ่งในช่องปาก (ซึ่งมักจะเป็นฟันกรามใหญ่ รองลงมาคือฟันกรามน้อย) มีอาการผิดปกติ เคี้ยวลงแรงไม่ได้ ก่อความรำคาญกับผู้ป่วย และทันตแพทย์เองบางครั้งก็สรุปการรักษาได้ยาก เรามาดูกันว่า โรคฟันร้าวคืออะไร ทำไมจึงรักษายาก และมีความรุนแรงขนาดไหน เผื่อว่าเราเกิดปัญหาโรคฟันร้าวกับตัวเอง เราจะได้เข้าใจและดูแลต่อเนื่องได้อย่างถูกต้อง
โรคฟันร้าวคืออะไร
โรคฟันร้าว คือโรคที่มีกลุ่มอาการต่างๆ ซึ่งเกิดจากฟันซี่ใดซี่หนึ่ง มีรอยร้าวเกิดขึ้นกับฟัน รอยร้าวนั้นอาจมีความลึกมากหรือน้อย ขึ้นกับความรุนแรง และเมื่อมีความรุนแรงมาก อาการของโรคก็จะเกิดรุนแรงจนก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างมากต่อผู้ป่วย
กลุ่มอาการโรคฟันร้าว ได้แก่ อาการเสียวฟันเมื่อทานน้ำเย็น หรือของหวานต่างๆ ร่วมกับการกัดหรือเคี้ยวอาหารแล้วมีอาการเจ็บหรือไม่ปกติที่ฟันซี่นั้นๆ อาการเหล่านี้จะเกิดต่อเนื่อง และไม่หายเป็นปกติ หากมีการใช้งานต่อเนื่อง อาการก็จะรุนแรงขึ้น จนเกิดอาการปวดฟัน โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นได้เอง แม้ไม่มีการกระตุ้นใดๆ จากอาหารหรือน้ำเย็น อาจเริ่มมีอาการปวดฟันเมื่อทานน้ำอุ่น และอาจมีอาการปวดฟันมากเมื่อเคี้ยวอาหาร อาการต่างๆ อาจรุนแรงขึ้นจนถึงขั้น ปวดฟันรุนแรง จนไม่สามารถนอนหลับได้ เกิดความทุกข์และปวดร้าวตลอดคืนได้
โรคฟันร้าวที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ มักมีสาเหตุร่วมกับการขบเคี้ยวอาหารแล้วเจอก้อนกรวดหรือของแข็งในอาหาร หรือเกิดในขณะทานอาหารแล้วเกิดอาการปวดแปลบที่ฟันซี่นั้นๆ ในขณะบดเคี้ยว หรือในผู้ป่วยบางคน อาจมีการนอนกัดเคี้ยวฟันรุนแรง (Bruxism) ทำให้เมื่อตื่นนอน มีอาการปวดฟันเฉพาะซี่ขึ้น อาการต่างๆ อาจมีตั้งแต่ เสียวฟันน้อยๆ เสียวฟันเมื่อทานนำ้เย็น ทานของหวาน หรือปวดฟันน้อยๆ จนถึงปวดฟันอย่างมาก อาการที่ทันตแพทย์ตรวจพบและบ่งบอกได้ชัดว่าเป็นโรคฟันร้าวคือ เมื่อทดสอบให้กัดก้อนสำลีหนาๆ การกัดฟันเต็มที่จะไม่มีอาการปวด แต่เมื่อหยุดกัด และเริ่มอ้าปากขึ้น ฟันจะเริ่มปวดต่อเนื่องไปอีก 10-20 วินาที อาการดังกล่าวเป็นอาการเฉพาะของคนที่เป็นโรคฟันร้าว อาการอื่นๆ อาจพบได้ในฟันผุและฟันสึกได้
ในทางจุลภาค ฟันร้าวจะพบฟันมีรอยร้าวเข้าไปในระดับเนื้อฟัน รอยร้าวนี้อาจมีความลึกที่แตกต่างกัน หากรอยร้าวอยู่ในชั้นเนื้อฟัน ไม่ถึงโพรงประสาทฟัน อาการเสียวฟันเมื่อดื่มน้ำเย็นก็อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่หากรอยร้าวนั้นลึกขึ้นๆ อาการของโรคก็จะรุนแรงมากขึ้น เมื่อรอยร้าวเกิดทะลุโพรงฟัน เชื้อโรคก็สามารถเข้าสู่โพรงในฟันได้ และในที่สุดก็ทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ จนประสาทฟันตาย และติดเชื้อรุนแรง
ทันตแพทย์เมื่อพบรอยร้าวในฟัน ก็ยังให้แผนการรักษาที่แน่นอนไม่ได้ เพราะการเห็นรอยร้าว ไม่สามารถคาดเดาได้ว่ารอยร้าวนั้นมีความลึกเท่าไร และการถ่ายภาพรังสี ก็ไม่สามารถแจ้งผลว่ารอยร้าวนั้นๆ ลึกเพียงใด ความรุนแรงของโรคจึงถูกคาดเดาเอาจาก อาการของโรคตามระบุข้างต้นเท่านั้น ปัจจุบันแม้แต่เครื่องฉายรังสีสามมิติ ก็ยังไม่สามารถมองเห็นรอยร้าวในระดับลึกได้
โรคฟันร้าว อาจรุนแรงจนรักษาไม่ได้
เมื่อมีอาการปวดฟันลักษณะดังระบุข้างต้น ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์ เพราะหากรอยร้าวที่เกิด ไม่ลึกมาก ทันตแพทย์สามารถบูรณะฟัน ยับยั้งการเกิดรอยร้าวระดับลึก จนถึงขั้นต้องถอนฟันได้ การปล่อยปละเลยมีแต่จะเพิ่มโอกาสการสูญเสียฟันมากขึ้น
ลำดับการรักษาโรคของทันตแพทย์มีดังนี้
• ตรวจพบรอยร้าว และอาการของโรคไม่รุนแรง ทันตแพทย์จะทำการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน
เพื่ออุดปิดรอยร้าวและกันการเติบโตของรอยร้าวต่อไป หากอาการหายไป การรักษาก็จบสิ้น
• หากอาการของโรคยังมีต่อเนื่อง ทันตแพทย์จะนัดกลับมากรอทำครอบฟัน และใส่ครอบฟันชั่วคราวรอดูอาการประมาณหนึ่งเดือน หากอาการหายไปก็จะนัดกลับมาทำการพิมพ์ครอบฟัน และใส่ครอบฟัน
เป็นอันจบการรักษา
• หากอาการยังมีต่อเนื่อง แม้จะทำครอบฟันแล้ว ก็จะต้องรักษารากฟัน และใส่ครอบชั่วคราวเดิม รอดูอาการ หากอาการหายสนิท เคี้ยวไม่เจ็บแล้ว ก็จะทำการครอบฟันถาวร
การรักษาข้างต้น หากผู้ป่วยยังมีอาการต่อเนื่อง เคี้ยวไม่ได้ ลงแรงไม่ได้ ทันตแพทย์ก็จำเป็นต้องถอนฟัน หรือแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่า ฟันซี่ดังกล่าวแม้จะดีขึ้น แต่ก็จะไม่สามารถใช้งานได้อย่างเดิม ผู้ป่วยอาจตัดสินใจต่อเองว่าจะเลือกถอนฟันและใส่ฟันทดแทน เพื่อให้สามารถใช้บดเคี้ยวอาหารได้สมบูรณ์ไหม หากเลือกเก็บรักษาฟันไว้ ฟันซี่นั้นๆ ก็อาจจะสามารถใช้งานในช่องปากได้ เพียงแต่ไม่สามารถลงแรงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
การรักษาโรคฟันร้าวจึงดูเหมือนยืดยาว เมื่อทันตแพทย์ตรวจพบ ผู้ป่วยบางท่านอาจจะงุนงงว่า เหตุใดทันตแพทย์จึงไม่สามารถฟันธงการรักษาได้ และทำไมบอกไม่ได้ว่ากรณีของผู้ป่วยเอง ควรต้องรักษาแบบไหน ฟันร้าวที่มีรอยร้าวลงไปถึงรากฟัน เป็นรอยโรคที่ทันตแพทย์ไม่สามารถเก็บฟันซี่นั้นๆได้ในช่องปากอีกต่อไป ปัญหาคือการตรวจพบว่าฟันซี่นั้นๆ มีรอยร้าวไปถึงรากฟัน จะทำได้ก็ต่อเมื่อรอยโรคมีการพัฒนาจนมีร่องปริทัศน์ลึกแคบเฉพาะซี่เท่านั้น บางครั้งผู้ป่วยก็ไม่เข้าใจว่า รักษาข้างต้นมาจนครบแล้วแต่สุดท้ายก็ต้องถอนฟัน อย่างไรก็ตามโรคฟันร้าวที่เกิดกับประชากรส่วนใหญ่ยังสามารถเก็บรักษาไว้ในช่องปากได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่สำคัญก็คือ ผู้ป่วยจะต้องรีบเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์ เพราะโรคฟันร้าวนั้น ไม่สามารถหายได้เอง มีแต่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น รีบรักษาดีกว่าละเลย โอกาสเก็บฟันไว้ได้ยังมีโอกาสสูงกว่า
แล้วพบกันใหม่นะครับ