ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือ sleep apnea เป็นภาวะที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรง ได้แก่โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และน้ำหนักตัวมากขึ้น หากเป็นต่อเนื่องจะส่งผลให้เลือดมีของเสียมากขึ้น และหากเกิดต่อเนื่องรุนแรง ก็สามารถทำให้ไหลตายได้ ภาวะดังกล่าวสามารถรักษาได้ หรือสามารถบรรเทาอาการให้น้อยลง ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ หากเราทราบสาเหตุและแก้ไขให้ทันท่วงที
การนอนกรนเสียงดังในขณะนอนหลับ ร่วมกับภาวะเหนื่อยล้าในตอนกลางวัน อาจเป็นสัญญานหนึ่งของภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ เพราะการนอนกรนอาจทำให้เกิดการขัดขวางการหายใจในขณะนอนหลับ ทำให้นอนหลับไม่สนิท ร่างกายจึงอ่อนล้า การนอนกรนส่วนมาก เกิดจากกล้ามเนื้อเพดานอ่อนด้านหลังขากรรไกรบน เกิดการอ่อนล้า และหย่อนปิดทางเดินการหายใจ ทำให้การหายใจติดขัด โดยปกติ หากร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มอิ่มในเวลากลางคืน เมื่อตื่นนอนตอนเช้า ก็จะมีแต่ความสดชื่น และสามารถคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างเฉียบคม ดังนั้น หากท่านนอนหลับเกินแปดชั่วโมงต่อวันแล้วยังพบว่าร่างกายอ่อนเพลีย ก็ควรลองปรึกษาแพทย์ดูว่า ท่านมีปัญหาภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับหรือไม่
ในการนอนหลับนั้น จะแบ่งการนอนหลับเป็น การหลับปกติ (light sleep) และการหลับลึก (deep sleep) หากการนอนหลับแต่ละรอบ มีการนอนหลับแบบหลับลึกอยู่มาก การฟื้นฟูสภาพร่างกายก็จะเกิดขึ้นได้สูง เมื่อตื่นนอนก็จะสดชื่น แต่หากการนอนหลับรอบนั้นๆ มีการหายใจที่ติดขัดเป็นระยะๆ หรือหายใจในขณะนอนได้ตื้นๆ สั้นๆ โดยมีระยะเวลาเพียง 10-20 วินาที และสามารถเกิดได้ถึง 100 ครั้งขึ้นไปต่อคืน มันจะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถนอนหลับในช่วงหลับลึกได้เลย การนอนในรอบนั้นๆ ก็จะเป็นการนอนที่ไม่มีคุณภาพ เราเรียกภาวะการหยุดหายใจดังกล่าวว่า ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ ในภาวะนี้ เมื่อลมหายใจหยุดหรือถูกขัดขวาง ระดับออกซิเจนในเลือดจะลดลง สมองเมื่อได้รับเลือดที่มีออกซิเจนตำ่ ก็จะสั่งให้ร่างกายออกจากการนอนหลับ เพื่อให้เกิดการหายใจ ในภาวะนี้ เราจะได้ยินเสียงสำลักอากาศ (choking sound) และเกิดการสะดุ้งในระหว่างนอนหลับ และหายใจเข้าอย่างแรง การตื่นในระยะสั้นๆ นี้ ผู้ที่มีภาวะนี้ มักจะจำไม่ได้ แต่อาจจะได้รับการบอกเล่าจากผู้ที่นอนอยู่ข้างๆ ทั้งนี้การตื่นระยะสั้น จะมีผลทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมบีบตัวแล้วช่วยให้มีอากาศเข้าสู่ร่างกายได้ เครื่องมือทางการแพทย์นั้นจะสามารถบันทึกภาวะหยุดหายใจในขณะหลับได้ และในห้องตรวจก็อาจมีการบันทึกการนอนด้วยกล้องวีดีโอได้ การวิเคราะห์ผลจะสามารถระบุได้ว่า ท่านมีภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับหรือไม่ ยังมีภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับที่ไม่พบร่วมกับการกรนเสียงดัง ซึ่งภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับดังกล่าว เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลางที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่ช่วยหายใจ ในคนที่มีอาการนี้ จะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้น มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถสังเกตรับรู้จากอาการนอนกรนเสียงดังได้
สัญญาณที่สำคัญและอาการของการหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่
- นอนกรนเสียงดังต่อเนื่อง เกือบทุกคืน
- สำลักอากาศ หรือสะดุ้งในระหว่างการนอนหลับ
- การหายใจหยุดหรือขาดช่วง
- ตื่นในตอนกลางคืน และรู้ว่าตัวเองหายใจสั้น
- ง่วงนอนและเหนื่อยล้า ตอนกลางวัน แม้จะนอนมากก็ตาม
สัญญาณเตือนอื่น ๆ และอาการของการหยุดหายใจขณะหลับ
- ตื่นขึ้นมาด้วยอาการปากแห้งหรือเจ็บคอ
- นอนไม่หลับหรือตื่นกลางคืน
- ไปห้องน้ำบ่อยในช่วงเวลากลางคืน
- หลงลืมและไม่มีสมาธิในการทำงาน
- หงุดหงิดหรือซึมเศร้า
- มีอาการปวดหัวตอนเช้า
- นอนกระสับกระส่าย
- อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อ ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ ได้แก่ คนอ้วน คนสูงอายุ (โดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 50 ปี) เพศชาย คนสูบบุหรี่ คนที่มีความดันโลหิตสูง คนที่มีญาติซึ่งเป็นภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ คนที่มีคอหนา บ่าใหญ่รอบคอมากกว่า 15.75 นิ้ว หรือ 40 เซ็นติเมตร
งานวิจัยทางทันตกรรมมากมาย ชี้ให้เห็นว่า ภาวะความผิดปกติของขากรรไกรและฟันสามารถส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ ดังนั้นทันตแพทย์จึงมีบทบาทสำคัญ ในการช่วยรักษาคนไข้ให้หายจากภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับได้
สาเหตุของขากรรไกรและฟันที่ทำให้ ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับรุนแรงขึ้น ได้แก่
- ขากรรไกรบนเล็ก และแคบเกินไป
- ขากรรไกรบนอยู่ด้านหลังจากฐานกระโหลกมากเกินไป
- ฟันบนงุ้มร่วมกับขากรรไกรบนแคบ
- ขากรรไกรล่างถอยหลังมากเกินไป
- ขากรรไกรล่างเล็กเกินไป
ทั้งนี้ ภาวะดังกล่าว ทันตแพทย์สามารถช่วยได้ด้วยการปรับขนาดขากรรไกร และปรับตำแหน่งขากรรไกร ได้ ทั้งด้วยวิธีการจัดฟัน หรือการผ่าตัดร่วมกับการจัดฟัน และหากท่านไม่ต้องการจัดฟันใดๆ ทันตแพทย์ยังสามารถผลิตเครื่องมือปรับการสบฟันในขณะ โดยใส่เฝือกฟัน (anti-snoring splint) ให้ตำแหน่งขากรรไกรล่างออกมาทางด้านหน้า และไม่ขัดขวางต่อการหายใจ
ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับอาจเกิดในเด็กได้ ทั้งนี้ อาจพบว่าเด็กอาจมีการนอนกรนมาก หรือไม่มีการนอนกรนก็ได้ ทั้งนี้ หากพบว่าเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก มีการนอนแต่หัวคำ่ในเวลากลางคืน แต่กลับมีการง่วงในเวลากลางวัน ก็อาจเป็นไปได้ว่า เด็กคนนั้นมีภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ เด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ อาจมีการนอนกระสับกระส่าย นอนดิ้น เหงื่อออกมากในขณะนอนแม้จะนอนห้องแอร์ ฉี่รดที่นอนแม้จะเริ่มอายุมากกว่า 7 ขวบแล้ว ฝันร้ายบ่อย เป็นต้น ทั้งนี้ ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ ในเด็ก อาจเกิดจากต่อมอดินอยด์ (Adenoid grand) โต ต่อมทอนซิลโต หรือ มี โรคเนื้องอกในจมูก ทั้งนี้ ให้นำเด็กเข้าพบแพทย์สาขาหู คอ จมูก โดยด่วน นอกจากนี้ ยังอาจเกิดได้จากโรคทางขากรรไกร โดยสาเหตุอาจเหมือนกับโรคทางขากรรไกรและฟัน ในผู้ใหญ่ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ ผู้ปกครองไม่ควรละเลย ปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในระยะยาว ทั้งนี้เพราะร่างกายมยุษย์ต้องอาศัยอากาศในการฟอกของเสียออกจากร่างกาย หากการหายใจติดขัด ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาวได้
แล้วพบกันใหม่ครับ