counters
hisoparty

ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย จังหวัดสุพรรณบุรี โดย คุณนิทัศน์ และครอบครัวเจริญธรรมรักษา

7 years ago

ภาพท้องทุ่งอันเขียวขจี ยุ้งฉางข้าวขนาดใหญ่ และวิถีชีวิตในวันวานไหลเอ่อมาท้นหัวใจ เมื่อเราได้มีโอกาสมาเยือนสถานที่แห่งนี้...

เรือนไทยหลังงามหลายหลังถูกปลูกให้อยู่ลดหลั่นกันไปตามเรื่องราวที่เจ้าของพื้นที่ได้ตั้งใจร้อยเรียง เริ่มตั้งแต่เรือนศูนย์รวมดวงใจไทยทั้งชาติ, เรือนวิถีชีวิตชาวนาไทยในอดีต, เรือนพระแม่โพสพ, เรือนหนังสือพระราชกรณียกิจและเรือนหนังสือข้าว, ยุ้งฉางโบราณ ตลอดจนร้านโชห่วย หรือร้านขายของในอดีต ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่ภายใน ศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิต และจิตวิญญาณชาวนาไทย ซึ่งสถานที่แห่งนี้ได้ถูกก่อตั้งโดย คุณนิทัศน์ เจริญธรรมรักษา ที่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นที่เรียนรู้และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนรุ่นหลัง...

ที่มาของศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิต และจิตวิญญาณชาวนาไทย

“ที่นี่คือความสำเร็จที่ได้จากคุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช่ความสำเร็จของลูก เพราะว่าพวกเราทุกคนคือผลงานของคุณพ่อและคุณแม่ ฉะนั้น คนที่สร้างศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ที่สร้างทุกสิ่งทุกอย่างคือคุณพ่อคุณแม่ เราทำธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวมา 17 ปีก็เริ่มมีความมั่นคง แล้วก็คิดว่าธุรกิจจะต้องมีจุดที่อิ่มตัว พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บอกว่าทำอะไรต้องพอเหมาะพอดีกับตนเอง เราก็คิดว่าตรงนี้มันคือความพอเหมาะพอดีกับตัวเองแล้ว สมาชิกในการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่เป็นชาวนาก็มีประมาณ 300 กว่าครอบครัว พื้นที่ก็มีประมาณ 7 – 8 พันไร่ ผมคิดว่าตรงนี้แหละเป็นจุดที่ทีมงานของเราสามารถบริหารจัดการให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ข้าวทุกล็อตต้องมีความบริสุทธิ์ ต้องดีต้องได้มาตรฐาน เราคิดว่าเราพอแล้วกับธุรกิจ เพียงแต่ว่าเราจะทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้คุณภาพดีขึ้น แต่ขนาดและปริมาณแค่นี้พอแล้ว”

“ต่อจากนี้เราต้องไปต่ออีกหน้าที่หนึ่งที่จะต้องทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่สอนบอกว่าบุญคุณต้องทดแทน ใครที่มีพระคุณต้องทดแทนพระคุณทุกคน เราก็คิดว่าตั้งแต่อากง อาม่า มาจากเมืองจีนก็มาหาบของแลกข้าว พ่อโตขึ้นมาพ่อพัฒนาขึ้นก็มีรถรับซื้อข้าว พอมาผมอีกรุ่นหนึ่งผมก็โชคดี รุ่นที่ 3 ครอบครัวธุรกิจก็เริ่มแข็งแรงขึ้น เปลี่ยนมาทำเมล็ดพันธุ์ข้าวก็ประสบความสำเร็จอีก เราได้พระคุณจากข้าวและชาวนามหาศาลเลยนะครับ ได้พระคุณจากแผ่นดินไทย เพราะว่าอากง อาม่าผมก็มาอาศัยบนแผ่นดินไทย แผ่นดินไทยเป็นแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์จนอากง อาม่าที่คิดว่ามาชั่วคราวเพื่อมาหาเงินแล้วกลับ ไม่อยากกลับประเทศจีนเลยเพราะว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ ขอแค่คุณมีแรงขยันเท่านั้นเอง คุณอยู่บนแผ่นดินไทยได้อย่างสบาย มีกินมีใช้แน่นอน มีแรงก็ปลูกผักไป ปลูกต้นไม้ไปเดี๋ยวก็ได้กินแล้ว มีแรงออกไปหาปลาในท้องไร่ท้องนาก็ได้ปลากินแล้ว”

“ที่สำคัญในการตอบแทนพระคุณ คือการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน พระองค์ไม่เคยรังเกียจคนไทยเชื้อสายจีนหรือเชื้อสายใดๆ เลย ทุกเชื้อสายที่เกิดและไม่ได้เกิดบนแผ่นดินไทย แต่อาศัยบนแผ่นไทยนี้ พระองค์ให้ความสำคัญเท่ากันหมด พระองค์ท่านรักเหมือนลูกทุกคน ดูแลทุกคน ไม่เคยทำอะไรให้รู้สึกว่าพระองค์ไม่ได้รักพวกเรา เราเหมือนลูกคนหนึ่งที่พระองค์ท่านดูแลเป็นอย่างดี ฉะนั้นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านจึงเป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติ แล้วผมก็คิดว่าเราพร้อมแล้วที่จะสร้างศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ เพราะว่าศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้จะตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ผมสามารถตอบแทนพระคุณชาวนาและข้าวได้ด้วยการนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดจากประสบการณ์ของชาวนา ประสบการณ์จากทีมเราที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ ประสบการณ์ทางด้านวิชาการ เอามาบอกต่อในสถานที่แห่งนี้ จึงเกิดเป็นแปลงนาสาธิต เกิดจากความคิดที่จะตอบแทนพระคุณของข้าวและชาวนา นักเรียนที่เข้ามาศึกษาดูงานตอนนี้เราไม่ได้เก็บค่าศึกษาดูงาน เด็กๆ เข้าชมฟรีเลย แล้วก็ได้ศึกษาดูงานแบบเต็มรูปแบบ ทั้งศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้งแปลงนาสาธิต แล้วก็ไปดูเทคโนโลยีในการผลิตกล้าแผ่น ซึ่งในอนาคตจะมีความจำเป็นต่อการผลิตเมล็ดพันธุ์และการผลิตข้าวเพื่อบริโภค ใครที่สนใจก็สามารถมาศึกษาในเชิงลึกได้ เราจะไม่มีการปิดกันว่าทำอย่างไรกล้าถึงได้สวยแบบนี้ ก็จะบอกตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าคุณจะต้องเตรียมพร้อมอะไร ที่เหลือคุณก็ไปปรับใช้กันกับตัวของคุณเองตามความเหมาะสม ทั้งนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ได้ประโยชน์

ความรักความผูกพันของครอบครัว เป็นส่วนสำคัญของที่มาในการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้

“แม่ผมไม่อนุญาตให้ลูกคนไหนกินข้าวก่อนพ่อ เพราะว่าพ่อไปทำงานทั้งวัน ทำงานตากแดดตวงข้าวอยู่กลางทุ่งนา จะมีความสุขก็ต่อเมื่อตอนเย็นกินข้าวพร้อมลูกๆ พร้อมครอบครัว เพราะฉะนั้นตั้งแต่จำความได้แม่ก็จะให้พวกเราทุกคนรอจนกว่าคุณพ่อจะมา ใครมีหน้าที่อะไรก็ไปทำ แต่ว่าจะต้องรอจนกว่าจะมานั่งพร้อมกัน พ่อมาถึงแล้วพอพ่อนั่งปุ๊บทุกคนก็จะนั่งกินข้าว ลูกๆ มีอะไรก็จะถามพ่อ มีปัญหาอะไรก็จะคุย พ่อเจออะไรมาก็มาเล่าให้ลูกฟังทุกวัน ในมื้ออาหารเย็นที่บ้านจะเป็นแบบนี้ วันหนึ่งประมาณปี 2553 ผมเอากระดานชนวนที่ซื้อจากร้านขายของเก่ามาอวดเตี่ย เตี่ยบอกว่าไปเอากระดานชนวนมาจากไหน ไม่ได้เห็นมาตั้งสามสิบสี่สิบปี แล้วได้ซื้อดินสอหินมาหรือเปล่า ผมบอกผมไม่ได้ซื้อ เพราะผมไม่รู้ว่าดินสอหินมันเอาไว้ใช้ด้วย เขาบอกว่าต้องมีดินสอหิน ถ้าไม่มีดินสอหินก็ไม่มีอะไรเขียน พ่อก็อธิบายต่อว่ากระดานชนวนเมื่อก่อนเด็กที่เรียนก็จะต้องมีทุกคน วันนั้นก็เลยรู้ว่าโอ้โหกระดานชนวนแผ่นเดียวมันมีเรื่องราว วันนั้นมื้อเย็นเต็มไปด้วยความสุขและความรู้เลย ความสุขทั้งคุณพ่อที่เล่าให้ฟังเราฟัง ความรู้ที่เรารู้ว่าไอ้นี่มันคืออะไรแล้วมันมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อคุณแม่อย่างไร

“คืนนั้นพอนอนนึกไปนึกมา ถ้าเกิดว่าผมสามารถที่จะเก็บรวบรวมของในร้านทั้งหมดเลยที่ไม่ใช่มีแค่กระดานชนวน แต่มีรูปถ่าย มีตู้ร้านโชว์ห่วย มีของร้านโชว์ห่วย มีเครื่องมือทำนา เครื่องมือหาปลา อุปกรณ์ใช้ในบ้าน รวบรวมไว้แล้วให้คนมาศึกษาโดยที่พาปู่ย่าตายายมาดู แล้วเล่าให้ลูกหลานฟังเหมือนที่พ่อแม่ผมเล่าให้ฟัง มันจะมีความสุขขนาดไหน ผมจึงตัดสินใจคืนนั้นเลยว่าผมจะต้องเก็บอุปกรณ์ทุกชิ้นที่คนไทยใช้ทั้งรูปแบบของชุมชน และชนบท เพื่อจะสืบทอดต่อไป คราวนี้โจทย์ผมกว้างเลย ผมลุยซื้อเลยแต่ผมไม่รู้หรอกว่าเป้าหมายผมจะต้องเจออะไรบ้าง มันจะยากลำบากแค่ไหนหรือจะสำเร็จหรือไม่ผมไม่รู้ เหมือนที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บอกว่าถึงแม้ไม่เห็นฝั่งก็ต้องว่าย แต่เราต้องไปถูกทิศทาง ถ้าเราไปถูกทิศเราขึ้นฝั่งแน่นอน ผมตัดสินใจเลยโดยที่ผมไม่รู้หรอกว่าอนาคตผมต้องใช้งบประมาณขนาดไหนหรือจะสำเร็จหรือไม่ ผมก็ทำให้พอเหมาะพอดีกับตัวเอง ช่วงไหนที่เมล็ดพันธุ์มีกำไรผมก็ซื้อของเก่ามากหน่อย ปีไหนขาดทุนผมก็ชะลอซื้อ ผมก็ใช้เงินให้น้อยแต่ใช้กำลังให้เยอะ ก็คือใช้ช่างมาซ่อมเตรียมรอไว้ พยายามให้พอเหมาะพอดีกับตนเอง พอปี พ.ศ. 2554 ก็เริ่มคิดว่าจะต้องลงมือปลูกสร้าง ก็ไปหาเรือนไทย ไปหายุ้งข้าว ไปหารูปแบบของร้านโชว์ห่วย ใช้เวลาถึงปี พ.ศ. 2558 ถึงจะสำเร็จ ซึ่งใช้งบประมาณไปเกินกว่าที่คิดไว้มากมาย ใช้ความคิด และความร่วมมือกันมากกว่าที่คิด จนบางครั้งตื่นมากลางคืน ช่วงที่เจอปัญหาเราก็ยังคิดว่า เอ๊ะแล้วเราจะสำเร็จหรือเปล่า ถ้าไม่สำเร็จแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ก็คิดนะว่าถ้าเราคิดดีทำดีซะอย่างวันหนึ่งผมต้องประสบความสำเร็จ ถ้าวันไหนผมเพลี่ยงพล้ำ ผมเกิดอันตราย คนรอบข้างจะช่วยผม จะต้องฉุดผมขึ้นมาแน่นอน คงไม่ยอมให้ผมและทีมงานตายไปต่อหน้าต่อตา แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ครับ ผมเคยเป็นหนี้จนกู้ธนาคารไม่ได้ แต่พ่อแม่พี่น้อง พ่อตาแม่ยายก็เอาเงินมาให้เรา ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานค้ำประกันเลย จนผมรอดพ้นมาได้ จากจุดนั้นก็ทำให้ผมคิดได้ว่าตอนนี้เราจะต้องเดินให้ระมัดระวังมากขึ้น อาจจะต้องเพิ่มภูมิคุ้มกันมากขึ้น แต่ว่าศูนย์เรียนรู้แห่งนี้สำเร็จแน่นอน และแม้จะสำเร็จแล้ว แต่ว่าจะพัฒนาไปตลอด ปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อยๆ เพราะอยากจะให้เป็นสถานที่คนไทยทุกคนรวมทั้งชาวต่างชาติอยากจะมาสัมผัสสักครั้งหนึ่งเพื่อจะเรียนรู้ คนไทยเมื่อมาสัมผัสก็จะรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้สึกภูมิใจในบรรพบุรุษ คนต่างชาติมาก็ต้องยอมซูฮกให้กับบรรพบุรุษของคนไทยเหมือนกันว่าสติปัญญา ภูมิปัญญาไม่แพ้ชาติใด สามารถเอาวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แม้จะไม่มีเครื่องจักร ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่เกิดจากภูมิปัญญา ทุกสิ่งทุกอย่างมีคุณค่าควรคู่ที่จะบอกต่อให้เด็กรุ่นต่อๆ ไปได้รับทราบ

“นอกเหนือจากนี้ผมอยากให้ทุกคนมาเรียนรู้เรื่องราวของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่าพระองค์มีพระราชดำรัสอะไรบ้าง สอนพวกเราอย่างไรบ้าง ทำอะไรให้พวกเราดูบ้าง แค่คุณเข้าใจเรื่องเดียวในหลายร้อยหลายพันเรื่องของพระเจ้าอยู่หัวของเรา อย่างเช่นเรื่องความพอเพียง ก็สามารถนำพาชีวิตคุณให้มีความสุขความยั่งยืนได้ มีความสุขจากที่ตัวเองมี ไม่จำเป็นต้องมีความทุกข์กับสิ่งที่ตัวเองไม่มี แล้วใช้ทุกอย่างที่ตัวเองมีให้คุ้มค่าที่สุด ให้พอเหมาะพอดีกับตัวเอง แล้วเราจะไม่มีความสุขได้อย่างไร อยู่ที่ว่าคุณจะศึกษาได้เข้าใจอย่างถ่องแท้หรือไม่ ยิ่งคุณศึกษาคุณจะเข้าใจขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“ปราชญ์ของพระราชาไม่ใช่ปราชญ์ที่เกิดจากคนสามัญนะครับ เกิดจากพระองค์ที่ผมเชื่อว่าพระองค์คือเทวดาที่มาสถิตในร่างของมนุษย์เพื่อจะมาช่วยเหลือคนไทย มีเหตุผลยืนยันชัดเจน เวลาที่ฝนไม่ตกเราโทษใคร โทษเทวดาไหม แล้วในโลกนี้มีใครบ้างที่สามารถบันดาลให้ฝนตกให้คนไทยได้ ฉะนั้นพระองค์คือเทวดาแน่นอน อีกข้อหนึ่งเวลาเรามีความสามารถ ผมเองมีความสามารถเรื่องปลูกต้นไม้อย่างเดียว ผมสัมผัสได้เลยนี่คือพรที่ได้จากสวรรค์เพราะคนอื่นทำแล้วเดี๋ยวเขาก็เบื่อ ผมได้รับพรมา 1 ข้อยังค้นหาทั้งชีวิตเลยกว่าจะฝึกทักษะเพิ่มเติมให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงได้ แต่พระองค์ท่านทำไมมีความสามารถทุกๆ ด้านพระปรีชาสามารถของพระองค์ทำไมทำได้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางด้านงานช่าง ทางด้านศิลปะ ทางด้านภาษา ทางด้านกีฬาทุกอย่างจะอยู่ในคนๆ เดียวได้อย่างไร ถ้าเกิดไม่ได้มาจากสวรรค์ เพราะพระองค์ท่านมาจากสวรรค์ พระองค์ท่านจึงทำได้ดีทุกๆ ด้าน เข้าใจถ่องแท้แล้วก็ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง แล้วถ้าเกิดคนไทยไม่น้อมนำเอาไปใช้ผมว่าเสียโอกาส จะต้องช่วยกันน้อมนำเอาพระราชดำรัสไปใช้ให้มากที่สุดครับ”

คำสอนของพ่อหลวงที่ยึดถือเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต

“หลักเลยนะครับก็คือแนวทางทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงครับ ผมว่าอย่างที่พระองค์มีรับสั่งบอกว่าแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงคือรากฐานในการดำเนินชีวิต คำว่ารากฐานมาจากอะไร ต้นไม้ใหญ่สูง 10 - 20 เมตร อยู่ได้ด้วยอะไร อยู่ได้ด้วยราก ฉะนั้นรากเป็นสิ่งสำคัญ ไม้ล้มลุกต้นใหญ่มีรากนิดเดียวเดี๋ยวก็ตาย เดี๋ยวก็ล้ม แต่ไม้ยืนต้นรากต้องลงก่อน ต้นขึ้นมานิดเดียวแต่รากต้องหยั่งลึกก่อน ฉะนั้นรากมีความสำคัญที่ทำให้ต้นไม้ไม่ล้มและมีความเจริญเติบโต ฐานของสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายถ้าเกิดฐานไม่แข็งแรง สิ่งปลูกสร้างนั้นไม่มีความมั่นคง ถึงแม้คุณจะลงทุนและสวยงามแค่ไหนก็ตาม พระองค์จะบอกว่ารากฐานถึงแม้จะมองไม่เห็นแต่ก็จะต้องให้ความสำคัญและสร้างให้แข็งแรง เราถึงจะต่อยอดขึ้นไปได้ ฉะนั้นนี่แหละคือหน้าที่ของแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง คือรากฐานให้กับชีวิตของมนุษย์ ชีวิตของคนๆ หนึ่ง ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม ร่ำรวยหรือยากจน เรียนสูงหรือเรียนน้อย คุณสามารถน้อมนำเอาแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้และเกิดประโยชน์ทุกคน”

Photo By : Prayuth
Author By : Arunlak Tanomsin

SHARE