counters
hisoparty

อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน ผู้สืบสานหัตถศิลป์ไทย มรดกของวัฒนธรรม

7 years ago

จากไหมเส้นเล็กๆ ถูกถักทอร้อยเรียงเกิดเป็นผืนผ้าอันสวยงาม สลับซับซ้อนด้วยลวดลายที่วิจิตรบรรจง ก่อเกิดเป็นงานหัตถศิลป์ที่มากด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างล้วนได้ถูกรังสรรค์มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ที่ได้รับการอนุรักษ์ และรักษาไว้โดย อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้ายกทอง ‘จันทร์โสมา’ หมู่บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์

สำหรับอาจารย์วีรธรรม นอกจากเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้ายกทองที่มีชื่อเสียงแล้ว ท่านยังเป็นผู้จัดทำเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ โขนพระราชทาน ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย

คอลัมน์ Living my Style ครั้งนี้ จึงไม่พลาดที่จะคัดสรรบทสัมภาษณ์จากนิตยสาร HiSoParty ฉบับเดือนสิงหาคม ซึ่งทางทีมงานได้รับเกียรติจากอาจารย์วีรธรรม ให้เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม พร้อมทั้งสัมภาษณ์อาจารย์ถึงเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ความรักความผูกพันที่มีต่อการทอผ้า และแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์อยากจะสืบสานการทอผ้า ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนต่อไป ณ โรงทอผ้ายกทอง ที่จังหวัดสุรินทร์

“ผมเกิด และเติบโตมาท่ามกลางกี่ทอผ้าในหมู่บ้าน ยามเมื่ออยู่บ้านตัวเองก็สาละวนเล่นอยู่ใต้กี่แม่ เพราะในสมัยก่อนไม่มีอะไรจะเล่นนะ เราอยู่บ้านนอก และในจังหวัดสุรินทร์สมัยก่อนแทบทุกที่ต้องทอผ้าใช้เอง เพราะสังคมยุคเก่าเราไม่นิยมซื้อเครื่องนุ่งห่มต้องทำใช้เอง ปัจจัย 4 นี่แถบจะผลิตเองหมด ไม่ว่าจะเป็นข้าวปลาอาหาร การปลูกบ้านปลูกเรือน ยารักษาโรคขั้นพื้นฐานจำพวกสมุนไพร จนถึงเครื่องนุ่งห่มเราทำกันได้เอง ทุกคนอยู่กันแบบพอเพียงมาก เหมือนทฤษฎีของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 คือทุกบ้านแทบไม่ต้องใช้เงิน นั่นคือวัยเด็กของผม”

อาจารย์วีรธรรม เริ่มต้นเล่าถึงภาพจำในวันเด็กให้เราฟัง เพื่อจะได้เข้าใจถึงวิถีชีวิตของท่านที่ผูกผันกับผ้าทอ จนมาถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้อาจารย์กลับมาก่อตั้งกลุ่มทอผ้ายกทอง ‘จันทร์โสมา’ ที่บ้านเกิดหลังจากที่ไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่กรุงเทพมหานคร

 “ก่อนอื่นผมขอย้อนเล่าให้ฟังว่าทำไมผมถึงได้กลับมาทำผ้าที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องจากหัวข้อบทสัมภาษณ์ที่เราจะคุยกันครั้งนี้ คือ ‘พระผู้เป็นแรงบันดาลใจ’ คำคำนี้ตรงกับเหตุผลในการกลับมาทำงานตรงนี้มาก และมีบุคคลอีกสองท่านที่ผมต้องขอเอ่ยถึง คือ อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ กับ คุณหญิง ม.ล.ปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งสมัยนั้นอาจารย์สมิทธิได้เรียกผมไปช่วยท่าน เพื่อทำงานถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 คือผมได้มีโอกาสเริ่มทำงานถวายพระองค์ท่าน ตั้งแต่ตอนที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยปี 2539 อาจารย์ให้ผมไปทำเสื้อผ้า และเครื่องประดับสำหรับการแสดงละคร แสง สี เสียง ที่วัดไชยวัฒนาราม แล้วหลังจากนั้นก็ช่วยอาจารย์กับคุณหญิงต้นในเรื่องเกี่ยวกับงานผ้า งานปักมาตลอด”

“จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็อยากกลับมาอยู่บ้าน เพราะแม่อยู่ที่นี่และก็ชราแล้ว ที่น้องที่เป็นข้าราชการเขาก็ทำเรื่องขอย้ายขอลากลับมาอยู่ดูแลแม่กันหมดเลย แล้วทำไมเราไม่กลับ ก็เลยเรียนอาจารย์สมิทธิให้ทราบ ซึ่งอาจารย์ท่านเองก็บอกว่า “เธอก็เรียนทางด้านศิลปะ (อาจารย์วีรธรรมสำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปะประจำชาติ วิชาเอกจิตรกรรมไทยที่มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง) ก็ทำงานอะไรที่มันเข้ากับทุนดั้งเดิมของชุมชนสิ” ผมก็กลับมาคิดว่าทุนดั้งเดิมอะไรที่อาจารย์ให้โจทย์มา ซึ่งก็มีแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทอผ้านี่แหละ ที่มันสามารถนำความรู้ที่ตัวเองไปร่ำเรียนมาผสมผสานได้ และพอดีมีช่วงหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านจะเสด็จเยือนต่างประเทศ อาจารย์สมิทธิท่านก็มาบอกผมว่า ให้ทอผ้ายกทูลเกล้าถวายพระองค์ท่านสำหรับในการทรงเสด็จคราวนั้น ผมก็มารวบรวมคนเฒ่าคนแก่ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เคยทำแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการย้อมสีธรรมชาติ รวมไปถึงการเตรียมไหมแบบดั้งเดิม มาร่วมกันทำจนสำเร็จและได้ผ้าให้อาจารย์ทูลเกล้าถวายฯ ซึ่งพระองค์ท่านก็โปรด ในคราวนั้นได้รับพระราชทานทุนก้อนแรก ที่นำมารวบรวมชาวบ้านทำงานนี้คือเป็นจำนวนเงินประมาณ 3 – 4 แสนบาท ซึ่งผมต้องไปเบิกจากกองราชเลขาฯ โดยท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขา ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ นำมามอบให้ และเมื่อได้รับเงินพระราชทานมาก็นำไปซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติม”

“หลังจากนั้นพวกเราก็ทำงานเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงกลุ่มตัวเอง ได้อย่างเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบันนี้ด้วยเงินหลวง ซึ่งสำหรับผม ผมคิดว่าเงินก้อนนี้เป็นเงินศักดิ์สิทธิ์ ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดครับ แล้วนอกเหนือจากเงินระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็มีรับสั่งให้เชิญคุณป้า 2 คน จากในกลุ่มหมู่บ้าน ไปสอนเด็กนักเรียนศิลปาชีพที่ สวนจิตรลดา เพราะว่าแต่เดิมพวกเขาจะไม่ค่อย ชำนาญไหมเส้นเล็กหรือไหมน้อย แต่ชุมชนที่นี่ (ชุมชนบ้านท่าสว่าง) เขาทำไหมน้อยมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งลักษณะเส้นไหมต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับชุมชน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม บางชุมชนบางพื้นที่เขาอยู่ในเขตหนาว เขาก็จะทำไหมเส้นใหญ่เพื่อทำผ้าให้หนา ส่วนทางอีสาน ใต้ กลุ่มเขมร กลุ่มส่วย จะร้อนชื้น เพราะฉะนั้นจะนิยมเนื้อผ้าบาง ละเอียด แน่น ก็เกิดเป็นผ้าที่มีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น แต่ละกลุ่มแต่ละชุมชน จะไม่เหมือนกัน ภูมิศาสตร์จะเป็นตัวทำให้ผลงานออกมาแตกต่างกันเพื่อให้เหมาะสมครับ เช่น ผ้ายกของเมืองนคร เนื่องจากเมืองนครในตั้งแต่ยุคโบราณมา เขาอยู่ติดทะเล อากาศทะเล เค็ม ชื้น ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องพึ่งพาเส้นไหมจากภายนอก อย่างเช่นไหมอีสาน ไหมเขมร ไหมจีน แต่ลวดลายเขาใช้แบบราชสำนัก เพราะว่าเป็นแหล่งทอผ้ายกที่นำมาใช้ในราชสำนักตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นแหล่งสำคัญมากที่ทำผ้ายกในราชอาณาจักร จนกระทั่งสูญหายไปเกือบร้อยปี แล้วสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านทรงมีพระปรีชาสามารถเล็งเห็นว่า แหล่งทอผ้ายกที่นครศรีธรรมราช เป็นแหล่งที่สำคัญต่อประวัติศาสตร์ พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริรับสั่งให้จัดหาครูไปฟื้นฟู สอนสมาชิกศิลปาชีพ ที่บ้านเนินธัมมังกับบ้านตรอกแค ฟื้นฟูผ้ายกจนประสบความสำเร็จแล้วก็งดงามทัดเทียมของโบราณ ปัจจุบันนี้พระองค์ท่านก็พระราชทานผ้าเหล่านั้นบางส่วนให้กับการแสดงโขนพระราชทาน สำหรับแต่งตัวตัวแสดงด้วยส่วนหนึ่งครับ”

ผ้ายกลายราชสำนักโบราณ บ้านท่าสว่าง

“สำหรับผ้ายกของบ้านท่าสว่าง จ.สุรินทร์ของเรา เป็นผ้ายกที่ทอลายราชสำนักเช่นกันครับ ซึ่งเราก็ได้แรงบันดาลใจมาจากสมเด็จพระราชินีฯ ซึ่งก่อนที่เราจะทำเราต้องศึกษาว่าผ้ายกในราชสำนักโบราณเขามีกี่ชนิด มีกี่ประเภท แบ่งออกเป็นแบบต่างๆ กี่แบบ แล้วก็มีลำดับชั้นในการใช้อย่างไร แต่ละชนิดแต่ละแบบ แบ่งองค์ประกอบบนผืนผ้าอย่างไร บรรจุลายอย่างไร เราต้องศึกษาหมดตรงนั้น เพื่อนำความรู้ความเข้าใจมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ออกแบบ ผูกลายผ้ายกขึ้นมาใหม่โดยไม่ได้ไปลอกเลียนแบบ หรือลอกลายจากผ้าโบราณทั้งหมด แต่มีผ้าโบราณเป็นครู แต่ถ้าจะพูดให้ฟังง่ายขึ้นก็ต้องเปรียบเทียบกับงานวรรณกรรม ที่เรามีภาษา มีคำศัพท์ มีฉันทลักษณ์ อยู่แล้วมาแต่โบราณ แต่กวีปัจจุบันได้นำสิ่งเหล่านั้นสร้างผลงานขึ้นมาใหม่ โดยการร้อยกรองสร้างเนื้อหาขึ้นมาใหม่เป็นผลงานใหม่เฉพาะตัว การออกแบบลวดลายไทยก็เช่น เรามีโครงสร้างลาย หรือกระบวนลาย เทียบได้กับฉันทลักษณ์ มีตัวลาย เช่นลายกระหนกหรือลายใบเทศต่างๆ เทียบได้กับศัพท์หรือภาษา แต่สิ่งที่ต้องสร้างสรรค์ขึ้นใหม่คือการผูกลาย เทียบได้กับการประพันธุ์บทกวี ของกวี เกิดเป็นลายที่เป็นผลงานเฉพาะตัวของช่างหรือศิลปินขึ้น ที่ไม่ใช่เป็นการลอกแบบของโบราณทั้งหมด”

ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มต่อได้ในคอลัมน์ My World of Style นิตยสาร HiSoParty ฉบับเดือนสิงหาคมค่ะ

Photo By : PRAYUTH
Author By : ARUNLAK

SHARE