counters
hisoparty

เช็คชีพจรศิลปะไทยกับศิลปินและนักสะสมในช่วงการเปลี่ยนแปลง ก่อนถึงเทศกาล Mango Art Festival 2022

3 years ago

          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและกิจกรรมของมนุษย์มาเนิ่นนาน บ้างอาจจะตั้งคำถามว่าศิลปะยังจำเป็นอยู่ไหมสำหรับโลกสมัยใหม่? แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศิลปะยังคงมีความสำคัญในทุกจังหวะแรงเหวี่ยงของโลก และหน้าที่ของศิลปะอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่มีศิลปิน แกลเลอรี่ นักสะสม เป็นปัจจัย รวมถึงความนิยมสะสมงานศิลปะมีความเคลื่อนไหวตลอด ด้วยดีมานด์ และซัพพลายที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

          โดย คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์ นักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการศิลปะว่า “เรื่องของวัฒนธรรมทุกๆ อย่างจะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา เพลงศิลปะการแสดงศิลปะ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เติบโตได้ ขึ้นลงได้ แล้วกาลเวลาก็จะพรากอะไรบางอย่างไป เป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องของคุณค่าศิลปะ แต่ผมพูดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นมูฟเมนต์ของศิลปะ ไม่ได้แปลว่างานรุ่นปัจจุบันดีกว่างานรุ่นเก่าหรืองานรุ่นเก่าดีกว่าปัจจุบัน โดยภาพรวมของตลาดศิลปะทั่วโลก ระดับราคาของศิลปะไทยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอาเซียนจะเห็นว่าราคาศิลปะของไทยมีราคาถูกที่สุด”

          ขณะที่นักสะสมงานศิลปะที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการมายาวนานอย่าง คุณณรงค์ อิงค์ธเนศ ก็พบว่า “ก่อนหน้านี้ซีเรียสคอลเลคเตอร์เป็นแค่คนกลุ่มเล็กๆ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว ตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปี ที่ได้เงินจากการลงทุน คริปโต หุ้น หรือออนไลน์หันมาสนใจศิลปะในแง่ของการลงทุนในวงการค่อนข้างน่าตื่นเต้น มีการประมูล มีเทศกาล งานแฟร์ขึ้นมาซึ่งเป็นตัวเคลื่อนไหวที่ดีมาก ทำให้ความสนใจศิลปะในบ้านเรามากขึ้น คนรุ่นใหม่ๆ ที่มาสะสมงานศิลปะในช่วง 3 ปีนี้บางส่วนก็จะมองโอลด์มาสเตอร์คือ ศิลปินที่อาจจะมีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป และครึ่งค่อนก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะมองศิลปินที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปีลงมา”

          ด้าน คุณอารีย์ ตุลยกิจจา นักสะสมศิลปะ วัย 23 ปี เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของการสะสมว่า “ผมเริ่มสะสมงานศิลปะตั้งแต่อายุ 19 ปี ตอนแรกเริ่มเก็บความรู้ก่อน การที่เราจะซื้องานศิลปะที่ราคาจะขึ้นได้ต้องมีความรู้เป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ว่าเราจะทุ่มไปเท่าไหร่ก็ได้ ผมจะคุยกับนักสะสม ไปขอความรู้กับผู้ใหญ่ที่มีความรู้นำเราไปร้อยเท่าพันเท่า สามารถทำให้ผมมีความคิดที่จะนำผมไปคุยต่อกับศิลปินได้ในชุดความคิดที่ผมได้มาจากนักสะสมไปคุยกับศิลปิน นักสะสมรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะเข้ามาพร้อมกับพ่อแม่ที่มีสตางค์ และเขาจะกระโดดเข้ามาเก็บงาน โดยไม่สนว่างานนี้ศิลปินเป็นยังไงประวัติเป็นมายังไง จะไม่เหมือนนักสะสมรุ่นเก่าที่งานเขาจะไปในแนวทางเดียวกัน ผมรู้สึกว่างานที่เขาเก็บเป็นงานที่มีคุณค่ามากและเป็นสไตล์ของนักสะสมจริงๆ”

          คุณวัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ นักสะสมและเจ้าของแกลเลอรี่ กล่าวว่า “เหตุผลหลักในการเลือกคือเลือกที่เราชอบเวลาเห็นเรารู้สึกสบายใจว่าของนี้อยู่กับเรา ไม่ได้ซื้อมาเพื่อเก็งกำไรและขาย ผมก็เลยเลือกจากความชอบ สามารถหาที่ติดได้แล้วเหมาะกับมุมใดมุมหนึ่งของบ้านบางชิ้นเลือกจากเรื่องราวที่โดนใจ ในสิ่งที่ศิลปินเขาสื่อ บางชิ้นไม่สามารถเอาไปติดตั้งได้ ซื้อมาแล้วอาจจะเก็บไว้ในหีบห่อ แต่เรารู้ว่าเราได้ช่วยสนับสนุนศิลปินที่เราชอบให้กำลังใจให้เขาทำงานต่อไป มันจำเป็นถ้ามีคนช่วยสนับสนุนงานของเขาก็สามารถที่จะอยู่ได้ เขาทำงานต่อไปเพราะว่าถ้าเขาไม่ขายไม่ได้เลย ก็จะต้องไปทำอาชีพอื่น ถ้าเราอยากให้เขาทำงาน ผมก็เลยเลือกที่จะสนับสนุน”

          อีกหนึ่งศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตาคือ มิสเตอร์ครีม (Mr.Kreme) หรือ คุณแอนดี้ ศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์งานอาร์ตทอยจนโด่งดังไปจนต่างประเทศ เผยว่า “การสร้างตัวเองของศิลปินยุคใหม่มีช่องทางเยอะ แล้วประเภทศิลปะก็มีหลายแบบ งานผมน่าจะอยู่ในประเภทป็อปเซอร์เรียล (Pop Surreal) อิงจากความจริง แต่ว่าก็มีแฟนตาซีผสม เป็นงาน โลว์บราว (Lowbrow) เวลาคนเห็นงานแล้วทำคิ้วขมวดต่ำๆ สรุปไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกยังไง ผมชอบที่จะทำให้งานมีหลายๆ ความรู้สึก ไม่ได้น่ารักหรือน่ากลัวไปเลย การที่มีหลายๆ ความรู้สึกมันมีเสน่ห์ เด็กมองว่าน่ารัก ผู้ใหญ่มองจะเห็นรายละเอียดบางอย่าง ทำให้เขารู้สึกได้หลายอารมณ์มากขึ้น”

          ส่วน คุณบัญชา วงษ์โชติวัฒน์ คิวเรเตอร์มืออาชีพได้เปิดประสบการณ์ครั้งแรกในการจัดนิทรรศการศิลปะดิจิทัล NFT ในเมืองไทย กล่าวว่า “ผมรู้สึกสนุกตื่นเต้น NFT ตอบโจทย์ศิลปินที่ทำงานดิจิทัลอยู่จะได้มีวิธีในการแสดงออกและได้รับการยอมรับ สามารถขายงาน เลี้ยงตัวเองนำมาเป็นเงินทุนในการทำงานต่อไป ผมเป็นคนเจนเอ็กซ์ที่เติบโตมากับอุตสาหกรรมเกม ผมสะสมของที่เกี่ยวกับเกมมาหลายอย่าง เมื่อเวลาผ่านไป เกมพวกนั้นปิดตัวลง สินทรัพย์ที่เก็บในรูปดิจิทัลพวกนี้ก็หายไปเลย ผมมารู้จัก NFT เมื่อปีที่แล้ว คนที่เคยสะสมสินทรัพย์ดิจิทัลมาแล้วอย่างผมก็เลยมาเก็บงาน NFT ได้เลย เพราะเรารู้ว่าต่อให้ระบบมันล้มหายไป แต่ของพวกนี้มันยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ผมให้มูลค่ากับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้วก็เลยหันมาเก็บตรงนี้ ตอนนี้น่าจะมีประมาณ 30 ชิ้นได้ แต่ผมเก็บเฉพาะงานของคนไทย อยากสนับสนุนให้เขาได้ทำงาน อย่างน้อยให้เขารู้ว่ายังมีคนตามงานเขาอยู่นะ ให้เขาทำงานต่อไปได้”

          “Mango Art Festival 2022 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 - 8 พฤษภาคม 2565 ที่ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก โดยมาในธีม ‘A Vision for A Better Tomorrow’ ซึ่งเทศกาลศิลปะนี้ คือการสร้างพื้นที่ซึ่งนำองค์ประกอบที่รวมกันเป็นสังคมศิลปะเมืองไทย มาบรรจบกัน Mango Art Festival สะท้อนชีพจรหรือเสียงหัวใจเต้นของศิลปะวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ในแวดวงศิลปะไทย แต่เป็นแวดวงอาเซียน อาร์ตเฟสติวัลมีความหลากหลาย ทำให้ได้พบกับผู้คนแปลกๆ ศิลปิน ได้สนทนา ได้พบเพื่อนใหม่ๆ ผมคิดว่ามันเป็นงานที่สนุก เราอยากจะให้มันเป็นงานระดับภูมิภาคในอนาคต” คุณเสริมคุณกล่าวปิดท้าย

          สำหรับงาน Mango Art Festival 2022 แบ่งกิจกรรมออกเป็น 6 โซนหลัก ได้แก่ Gallery, Design, Independent Artist, Performance • Talk • Private Collection, Sound Art • Interactive Art และ Craft Accessories Food & Beverage พร้อมจัดแสดงผลงานศิลปะกว่า 1,000 ชิ้น ระหว่างวันที่ 3 - 8 พฤษภาคม 2565 ณ River City Bangkok หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/MangoArtFestival/

Author By : Piyamas

SHARE    

SHARE