counters
hisoparty

เรื่องเล่าของนักวาดภาพ ม.ล.จิราธร จิรประวัติ

7 years ago

ไม่ว่าใครต่างก็คงจดจำกันได้กับลายเส้นน่ารักๆ ที่แสนอบอุ่น ของศิลปินวาดภาพผู้นี้ ‘ครูโต’ หรือ ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ศิลปินอีกผู้หนึ่งที่วาดภาพในหลวงได้ตรึงใจที่สุด พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ครูโตได้วาดนั้น รังสรรค์จากความศรัทธา ความรัก และถ่ายทอดออกมาอย่างจริงใจ จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่ว่าใครพอได้เห็นก็สามารถรู้ได้ทันทีว่านี่คือ ‘ในหลวงของครูโต’

“ก่อนอื่นคงต้องขอเล่าให้ฟัง ครูเป็น Illustrator คือนักวาดภาพประกอบ ความจริงแล้วครูก็ไม่เคยคิดหรอกว่าตัวเองจะวาดรูปพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 วันหนึ่งก็มีคนมาว่าจ้างครูทำหนังสือเล่มพิเศษ เป็นของธนาคารแห่งหนึ่ง เขาประกวดบทความเด็กเรื่องพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แล้วเขาก็จ้างครูเขียนภาพประกอบ จากนั้นพอครูได้ทำไป หนังสือเล่มนั้นสำเร็จออกมาก็เป็นที่ชื่นชอบของหลายๆ คน คงเพราะครูมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร เมื่อใครๆ ได้เห็นก็จะบอกว่าภาพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ของครูน่ะน่าเอ็นดู นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น”

“จากนั้นครูก็ได้มีโอกาสวาดภาพของพระองค์ท่านมาเรื่อยๆ พอมีรูปในมือเยอะๆ คนอยากได้ ครูก็เลยจัด Exhibition โซโล่เดี่ยวที่ Habitat ของแบรนด์ชนินทร์ในสมัยนั้น เชื่อไหมว่า 10 นาทีขายหมด ยกโชว์นะขายหมดเกลี้ยง แป๊บเดียวเลย ได้เงินมาหนึ่งก้อนก็ทูลเกล้าถวายฯ ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ และครูก็ทำโน่นทำนี่ของครูมาเรื่อยๆ”

“และก็มาถึงโปรเจ็คท์ที่ตื่นเต้นที่สุดคือ โปรเจ็คท์กับรัฐบาลฟินแลนด์ ด้วยความที่โรงกษาปณ์ของทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาอย่างยาวนาน ทางผู้บริหารของประเทศฟินแลนด์จึงจะจัดทำเหรียญถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ และเขาก็ติดต่อคนที่เมืองไทยให้หาศิลปินบ้านเราไปออกแบบเหรียญ เดิมทีครูก็ไม่รู้ว่าเขาได้ส่งศิลปินไปทั้งหมด 10 คน ไม่รู้ว่ามี candidate แล้วเราได้รับการคัดเลือก ครูก็รู้สึกภูมิใจ ตอนนั้นในงานเปิดตัวพิธีกรถามว่ารู้สึกอย่างไร ครูก็คิดรู้สึกตัวเองมีบุญสิ (หัวเราะ) เราไม่รู้เลยว่านี่คล้ายกับการประกวดแข่งขันที่เราได้เข้ารอบแล้วก็ชนะ รู้สึกดีใจเพราะว่าเป็นงานระหว่างประเทศต่อประเทศ ยิ่งใหญ่มากสำหรับครู เวลาใครถามว่าโปรเจ็คท์ไหนเป็นโปรเจ็คท์ที่ครูรู้สึกประทับใจและมีความสุขที่สุด ก็คือโปรเจ็คท์นี้แหละ”

เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจมากที่คนต่างประเทศก็เห็นคุณค่าในงานของเรา

“เชื่อไหมครูก็รู้นะสิ่งที่ครูเขียนมีคนชอบ แล้วก็อาจจะมีคนไม่ชอบเป็นของธรรมดา แต่สิ่งหนึ่งที่ครูรู้คือ ครูเขียนด้วยความจงรักภักดี และบริสุทธิ์ใจ คนชอบเยอะ แต่ก็ทำใจไว้ว่าคงมีคนไม่ชอบนะ (ยิ้ม) จากวันที่ครูเริ่มเขียนจนมาถึงทุกวันนี้ ครูเขียนรูปพระองค์ท่านเยอะมาก จนเชื่อไหมว่าปกติตามหลักที่ครูสอนวาดรูปสมมติว่าเราจะเขียนใครสักคน ง่ายๆ คือเอารูปคนนั้นมาแล้วก็วางไว้ตรงด้านซ้ายแล้วด้านขวาเราก็เขียนไป หรือนำต้นแบบคนนั้นมานั่งเลยแล้วก็เขียนตามตาเห็นมือทำได้ แต่ครูเขียนพระองค์ท่านจนครูไม่ต้องมีข้างซ้ายแล้ว ครูก็รู้สึกว่าฉันสนุกจังเลยที่ฉันเขียนโดยที่ฉันไม่ต้องมีข้างซ้าย เขียนจากความรู้สึกข้างในจริงๆ เขียนไปเลยทางขวาจากมโน เอามโนและศิระกราน (กราบถวายบังคมด้วยหัวใจและด้วยเศียรเกล้า) รูปเขียนของพระองค์ท่านคือรูปที่ครูมีความสุข ถ้าคนจะบอกว่าครูเขียนไม่เหมือน ไม่เป็นไรหรอก ครูฝันถึงพระองค์ท่าน” (ยิ้ม)

สิ่งสำคัญอาจไม่เห็นได้ด้วยตาแต่สัมผัสได้ด้วยใจ

“คนจะบอกดูรูปพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของครูแล้วรู้สึกอบอุ่นน่ารัก ครูเขียนให้พระองค์ท่านทรงแจ็คเกตหรือสูท เพราะอะไรรู้ไหม คือครูเขียนเครื่องยศต่างๆ ไม่เป็น กลัวผิดไง เพราะฉะนั้นครูก็ไม่ใส่เครื่องยศอะไร เพราะว่าเดี๋ยวใส่ผิดแล้วจะมีคนครหานินทาว่าได้ ฉะนั้นรูปภาพของครูจะเป็นเสื้อเชิ้ตง่ายๆ แต่พระองค์ท่านก็ทรงแบบนี้จริงๆ นะ ก็เลยกลายเป็นรูปที่ดูรีแลกซ์”

ความยากง่ายในการเขียนรูปพระองค์ท่าน

“ครูสอนวาดรูปที่จุฬาฯ แล้วครูก็พูดเป็นตัวอย่างเสมอสำหรับคนที่เรียนภาพประกอบ ครูบอกว่าการเขียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะว่าใครๆ ก็เขียนได้ถ้าเรียนวาดรูป แต่การเขียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้ทราบว่าใครเป็นคนเขียนเป็นเรื่องยาก นี่เป็นวิธีสอนให้นักเรียนรู้ว่า สิ่งสำคัญในการเขียนรูปคือการเป็นตัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นสไตล์เป็นสิ่งสำคัญ ครูว่าครูเป็นคนเขียนพระองค์ท่านจากฝัน ถ้าคนจะมามองอย่างใจแคบแล้ว บอกว่าครูเขียนไม่ถูกนี่นะ ลองดูเด็กเล็กที่เขียนพระองค์ท่านสิน่ารักจะตาย ไม่มีความผิดหรอก นี่คือความรัก เพราะฉะนั้นครูก็จะบอกคนว่าใจกว้างสักนิดเถอะ (หัวเราะ) ถูกไหม จริงๆ อาจเหมือนเป็นการแก้เก้อให้ตัวเองนะ แต่ครูก็เห็นแบบนั้น ครูว่ามันเป็นศิลปะ เพราะที่สุดแล้วเราเขียนรูปพระองค์ท่านด้วยความรัก ความภักดี”

เทคนิคสร้างสรรค์ผลงานของครูโต

“เชื่อไหมเวลาครูนั่งทำงาน ไม่ว่ารูปอะไร เอากระดาษวางตรงหน้า สะกดจิตให้ตัวเองนั่งสบาย เทคนิคของครูนะ ถ้าคนวาดรูปพอเป็นหรือไม่ค่อยเก่งก็จะบอกว่ามันยากมาก เพราะว่าครูมีปัจจัยในการทำงานน้อยมาก ครูใช้ปากกาหมึกซึม แล้วนั่งให้ตรง กระดาษมา จรดปากกาลงไปที่กระดาษแล้ววาดเลย อายุครูมากแล้ว ไม่มีเวลาให้ผิดแล้ว เพราะฉะนั้นต้องมีสติสัมปชัญญะมากที่จะ drawing ไปด้วยปากกาหมึกซึมแล้วติ๊งต่างว่าโลกนี้ไม่มียางลบ (หัวเราะ) สนุกไหม เวลาครูวาดครูนิ่งมากกับเส้นตัวเอง ฉะนั้นจะเห็นว่าเส้นของครูนี่สงบแล้วมีความสุข เพราะครูชอบงานตัวเองแล้วสนุกกับทุกสิ่งที่ทำ ทุกวันตอนนี้นะตั้งแต่ท่านสวรรคตมานี่ เขียนรูปพระองค์ท่านเกือบทุกวัน แล้วครูก็สนุกกับวิธีฝันของครูโดยไม่มองทางซ้ายแล้วก็เขียนทางขวา ครูมีความสุขกับการวาดภาพของพระองค์ท่าน ซึ่งครูก็คงจะทำไปเรื่อยๆ”

รูปหนึ่งรูปของครูโตใช้เวลาเท่าไร

“แป๊บเดียวไม่นาน ขึ้นกับขนาด ขึ้นกับเทคนิคด้วย สมมติว่าถ้าครูเขียน A5 ครูก็ใช้เวลาแป๊บเดียว แต่ถ้าเขียนแผ่นใหญ่แล้วต้องลงสีด้วยเวลาก็จะมากขึ้นแต่ศิลปินจะมีช่วงเวลาของสไตล์ ตอนนี้เราชอบทำ mood แบบนี้เราก็ทำแบบนี้ บางทีครูสามารถทำมือแล้วให้ครูผู้ช่วยไป finish ด้วยคอมพิวเตอร์ก็ได้ ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่ง”

พระองค์ท่านเป็นแรงบันดาลใจในการวาดรูปของครูโตอย่างไร

“ครูบอกได้เลยว่าครูวาดพระองค์ท่านแล้วสนุก คือคนบางคนอาจจะมีความรู้สึกว่ายากจัง อะไรอย่างนี้ แต่ครูวาดพระองค์ท่านแล้วสนุก แล้วรู้สึกว่าตัวเองฮึกเหิม ยิ่งวาดไป ยิ่งสนุก มีความสุข แล้วถ้ามีคนชอบ เรายิ่งมีกำลังใจใหญ่เลย”

เวลาวาดรูปแล้วครูโตมีความสุข

“เพรานี่คือสิ่งที่เราถนัดที่สุดไง ครูรู้สึกมีบุญเพราะว่ารู้ตัวตั้งแต่เด็ก วิชาไหนที่ฉันชอบ อย่างนี้มันก็เลยไม่เสียเวลา เจาะลึกไปเลย ว่านี่คือสิ่งที่เราชอบ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราชอบ เรามีความสุขไง แล้วเรามีรายได้ด้วย คนบางคนอาจจะทำสิ่งที่ตัวเองเก่ง อย่างเป็นหมอ แต่บอกว่าฉันไม่สนุก ฉันต้องหาสิ่งอื่นทำแต่ครูน่ะงานกับการผ่อนคลายเป็นเรื่องเดียวกัน ครูสามารถเขียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อยู่ในร้านกาแฟ หรือที่ไหนก็ได้ ตอนไหนก็ได้ไม่ว่าจะตอนบ่าย ตอนค่ำ ครูก็นั่งเขียนได้ ครูไม่จำเป็นว่าจะต้องเขียนในสตูดิโอของตัวเอง ครูอยู่ที่ไหน เพียงแค่มีกระดาษ ปากกา ครูก็มีความสุขได้ทุกที่เลย อย่างวันก่อนครูนั่งอยู่ร้านกาแฟที่หนึ่ง ครูนั่งอยู่ติดกระจก ครูกำลังเขียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  ครูก็หันไปดู มีคนคนหนึ่งยืนอยู่ข้างครู เขาคือพนักงานทำความสะอาดที่กำลังถูพื้น เขายืนมองภาพที่ครูวาด อมยิ้ม แล้วชูนิ้วโป้งให้ครู คือมองเขา แล้วเข้าใจ นี่คือกำลังใจ” (หัวเราะ)

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระองค์ท่านแล้วนำมาใช้ในชีวิต

“พระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่างที่ดีในทุกๆ ด้าน และครูก็ภาคภูมิใจมากที่ได้เกิดในแผ่นดินของพระองค์”

Photo By : Prayuth
Author By : Arunlak Tanomsin

SHARE