การทำงาน
“วาวเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรสโกลด์ (ไทยแลนด์) จำกัดค่ะ ซึ่งโรสโกลด์หลายคนคงรู้จักอยู่แล้ว ว่าเราจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Skincare & Supplement โดยผลิตภัณฑ์ของโรสโกลด์ทุกตัว ผลิต และคิดค้นจากต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศชั้นนำ ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลี ญี่ปุ่น และล่าสุด บริษัทได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศฝรั่งเศสเพื่อพัฒนาสินค้า และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ตอนนี้โรสโกลด์กำลังเข้าปีที่ 4 แล้วค่ะ ถือเป็นความภาคภูมิใจของวาวมากๆ กับการทำธุรกิจตรงนี้ที่เริ่มต้นด้วยตัวเองตั้งแต่อายุ 19 ค่ะ”
รู้จักกับ UNHCR ได้อย่างไร
“จริงๆ แล้วถ้าให้พูดถึง UNHCR ทุกคนก็คงรู้สึกว่าสิ่งที่องค์กรนี้ทำเป็นเรื่องที่ไกลตัว หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ ซึ่งตัววาวเองได้มาสัมผัสกับ UNHCR จากการที่วาวเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี (ท่านเจ้าคุณพระเมธีวชิโรดม) ซึ่งครั้งหนึ่งพระอาจารย์ได้ชวนให้มาร่วมงานของ UNHCR แล้ววาวก็เริ่มได้เข้าถึงคำว่าผู้ลี้ภัย จากเมื่อก่อนเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของคนอื่น เรื่องนอกประเทศ ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่พอได้เข้ามารู้จัก เริ่มรู้สึก Get in เริ่มรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเลยนะ ยิ่งเมื่อเราได้ดูเรื่องราวของเขา จริงๆ แล้วมันใกล้ตัวมากเพราะเราก็เห็นข่าวอยู่เรื่อยๆ อย่างข่าวสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งผู้ลี้ภัยจริงแล้วเขาก็เป็นคนธรรมดาแบบเรานี่แหละ แต่ว่าจู่ๆเขาก็ไม่มีบ้าน อยู่ดีๆ เขาถูกบังคับให้หนี วาวรู้สึกว่ามันเศร้ามากเลยชีวิตเขาเลือกไม่ได้ ทำให้วาวอินมาก แล้วก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าเราได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเขาได้บ้างคงจะดี นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ค่ะ”
ประธานกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย
“การที่วาวได้เข้ามาทำงานตรงนี้ ทำให้วาวมีโอกาสได้ร่วมวางแผนกับทาง UNHCR ว่าจะมีงานอะไรเกิดขึ้นบ้างในปีนี้ เราจะมีวิธีอย่างไรในการเผยแพร่เรื่องผู้ลี้ภัยให้กับผู้คนอีกมากมายได้รับรู้ เราจะมีกิจกรรมอะไรให้กับคนที่เข้ามาเป็นสมาชิก ที่สำคัญวาวอยากให้กองทุนฯ นี้ สามารถรวบรวมนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เข้ามาได้มากที่สุด และมีกิจกรรมร่วมกัน นอกจากได้ให้แล้ว ก็ได้พัฒนาตัวเองร่วมกัน ได้พูดคุยได้ Connection ซึ่งตรงนี้มันเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ ที่เราได้ร่วมทำกับ UNHCR ซึ่งด้วยการเป็นประธานของกองทุนฯ วาวมีหน้าที่คอยซัพพอร์ตในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม แล้วก็เป็นผู้นำในการพูดถึงเรื่องนี้ โปรโมตเรื่องนี้ให้คนได้เห็นได้ฟังกันมากขึ้นค่ะ”
ความประทับใจที่ได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย
“ตอนแรกๆ เรามีความตื่นเต้น และรู้สึกตื้นตันที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่น และยิ่งพอได้เข้ามา Get in ยิ่งทำให้เราเห็นถึงปัญหาที่แท้จริง เห็นเรื่องราวต่างๆ ของผู้ลี้ภัยมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้เราอินและเข้าใจเขา และล่าสุดวาวได้มีโอกาสติดต่อกับผู้ลี้ภัยผ่านแอปพลิเคชัน คอนเนคติง เวิลด์ส(Connecting Worlds) เป็นแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย UNHCR เพื่อเชื่อมโยงผู้บริจาคและผู้ลี้ภัยในอีกซีกโลกเข้าด้วยกัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริจาคของกองทุนฯ ในประเทศไทย และผู้ลี้ภัยหญิงชาวซีเรียในประเทศจอร์แดนได้เชื่อมโยงถึงกัน วาวรู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาดีมาก เพราะเราได้ Connecting กับผู้ลี้ภัยจริงๆ ซึ่งปกติแล้วการเข้าถึงพวกเขาเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่แอปฯ นี้ทำให้ผู้ให้ผู้รับได้เข้าถึงกัน และวาวได้มีโอกาสใช้แอปฯ นี้แล้ว โดยได้แมตช์กับผู้หญิงที่เขาอายุเท่าเราเลย วาวทักเข้าไปและเขาก็เขียนกลับมาเล่าให้ฟังว่าชีวิตเขาเจออะไรมาบ้าง พ่อกับแม่เสียไปแล้วจากสงคราม ตัวเขาต้องหนีมากับเพื่อนๆ และเขาต้องดูแลน้องที่กำลังป่วยอยู่ด้วย อะไรมันก็แย่ไปหมดเลย และเขาก็ปิดท้ายกับเราว่า แต่ชีวิตฉันก็ไม่ได้แย่ที่สุดนะ ยังมีคนที่แย่กว่าฉันอีก ซึ่งเขาจะสู้ต่อไป มันกลายเป็นว่านอกจากได้คุยกัน เราได้ให้กำลังใจเขา และเขาก็ได้ให้กำลังใจเรากลับมา คือถึงแม้ชีวิตเขาจะพบกับเรื่องราวที่เลวร้ายแค่ไหน แต่เขาก็ยังมองหาสิ่งดีๆ เขายังมองโลกในแง่ที่ดี ไม่โฟกัสในสิ่งที่แย่ นี่ก็เป็นสิ่งที่ให้มุมมองแก่เราด้วย และที่สำคัญเขาทำให้เราได้เห็นว่าเราโชคดีแค่ไหนแล้วที่ยังมีโอกาสได้ทำงาน ได้ทำโน่นได้ทำนี่ เหมือนเป็นพลังให้กับเราใช้โอกาสที่มีให้คุ้มค่า และเมื่อเราถึงจุดที่สามารถส่งต่อให้กับผู้อื่นได้ เราก็จะส่งพลังดีๆ เหล่านี้กลับไป ช่วยเหลือเขาทำเท่าเราสามารถทำได้”
อยากเชิญชวนทุกคนให้มามีส่วนร่วมตรงนี้
“วาวอยากให้มองว่าเรื่องผู้ลี้ภัยที่เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ยิ่งถ้าใครได้เข้ามา Get in ตรงนี้จะยิ่งเข้าใจแล้วได้รู้ความหมายที่เราบอกว่าใกล้ตัวนี่แปลว่าอะไรมีอีกหลายเรื่องมากๆ ที่เราไม่ได้เห็นในสื่อ แต่เราได้เห็นจากตรงนี้ การที่ได้มาอยู่จุดนี้วาวว่าไม่ใช่แค่มาให้เงิน ไม่ใช่แค่ให้แล้วจบไป แต่มันคือการที่เราได้ทำให้ครอบครัวหนึ่ง ในอีกฟากโลกหนึ่ง มีชีวิตดีขึ้น ตรงนี้มันได้อะไรมากกว่าที่เราคิด ที่สำคัญเราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตผู้หญิงลี้ภัยได้ยั่งยืน และมั่นคงขึ้น มันเหมือนเป็นการส่งต่อพลังของผู้หญิงสู่ผู้หญิงด้วยกัน และในการบริจาค 72,000 บาทต่อปี ตกเดือนละประมาณ 6,000 บาท นี่คือจำนวนเงินที่สามารถช่วยเหลือครอบครัวครอบครัวหนึ่งเลย เพราะฉะนั้นวาวจึงอยากให้ทุกคนที่กำลังจะเข้ามา คนที่มีความพร้อมในการส่งต่อ ได้รู้สึกว่า 72,000 บาทนี้มีค่ามหาศาล คือมีค่ากับเราเท่าไร เชื่อเถอะว่ามีค่ากับอีกฟากโลกหนึ่งมากกว่าเป็นสิบเท่าจริงๆ ค่ะ”
การทำงาน
บริษัท RBL Training Academy เราให้คำปรึกษาเรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถของบุคลากร เพื่อให้เขามีความรู้ มีความสามารถ ปลูกฝังภาวะผู้นำ ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้ทุกสถานการณ์ ด้วย Purpose ที่เราตั้งใจใว้ คือ “อยากผลักดันให้ทุกคนในประเทศไทยนั้นมีทักษะ มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ มีคุณค่าในตนเองก้าวไปสู่ระดับระดับโลกได้”
รู้จักกับ UNHCR ได้อย่างไร
“เล็กรู้จัก UNHCR ตั้งแต่อยู่ที่ต่างประเทศเมื่อเกือบประมาณ 20 ปีที่แล้ว รู้ว่า UNHCR เป็นองค์กรที่ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อคนอื่น ทั้งเพื่อช่วยเหลือ และเพื่อสร้างคุณค่าของคน และเล็กได้เห็นว่ามีแอมบาสเดอร์ที่เป็นเซเลบริตี้ชาวต่างชาติ อย่าง แอนเจลีนา โจลี (Angelina Jolie) ที่เขาเข้ามาเป็นกระบอกเสียง ทำให้ตัวเองได้ตระหนักว่า เมื่อเราเป็นคนที่มีความพร้อม ไม่ว่าจะพร้อมในเรื่องของเวลา เรื่องศักยภาพต่างๆ เราต้องทำอะไรให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่กับตัวเอง แต่กับผู้อื่นและกับสังคม ที่เขายังต้องการความช่วยเหลือ และเดือดร้อนอีกมากมายนับไม่ถ้วน”
ส่วนตัวมีความคิดเห็นอย่างไรกับปัญหาผู้ลี้ภัย
“บ้านคือรากฐานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคน ครอบครัวเปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของมนุษย์ และเมื่อใดที่คุณขาดบ้าน ขาดครอบครัวขาดความอบอุ่น ขาดความห่วงใย สิ่งเหล่านี้มันเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบเชิงจิตวิทยาต่อการเป็นอยู่ของมนุษย์ นี่จึงเป็นคำถามที่ย้อนกลับไปให้เราได้คิดว่า หากเป็นเราล่ะ ถ้าเราไม่มีบ้าน ไม่มีครอบครัว ไม่มีความอบอุ่น ไม่ได้รับความสัมพันธ์ที่ดีจากเพื่อนรอบข้าง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเป็นปัจจัยสำคัญที่มนุษย์ทุกคนควรมี เมื่อคุณขาดปัจจัยอย่างหนึ่งไป มันคงเหมือนกับเราอยู่โดยไม่มีจิตวิญญาณ นี่จึงทำให้เล็กรู้สึกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เร่งด่วน และเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าเราไม่ช่วยเขาแล้วใครจะช่วย แล้วบุคคลเหล่านี้เขาก็ต้องมีครอบครัวมีลูกหลาน แล้วลูกหลานของเขาจะเติบโตขึ้นมาอย่างไร ถ้าไม่มีบ้าน ไม่มีครอบครัว ไม่มีสายสัมพันธ์ต่างๆ ที่จะหล่อหลอมให้เขาเป็นคนที่มีคุณภาพในชีวิตปัจจุบัน นี่จึงทำให้เล็กอยากมีส่วนร่วมในการได้ช่วยเหลือพวกเขาค่ะ”
สมาชิกกิตติมศักดิ์ กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย
“ก่อนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนฯ เล็กได้คอยสนับสนุนกิจกรรมของทาง UNHCR อยู่แล้วตั้งแต่เรื่องผู้พลัดถิ่นในซีเรีย ยูเครน เล็กรู้สึกเห็นใจผู้ลี้ภัยทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เพราะภาระที่เขาต้องเจอทั้งเรื่องของร่างกาย จิตใจ การเป็นอยู่ต่างๆ นั้นลำบากมากที่ผ่านมาบริษัท RBL ของเล็กได้มีโอกาสเข้าไปอบรมให้กับทาง UNHCR เนื่องจากบริษัทเราทำในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร บุคลากรในที่นี้คือพัฒนาในเรื่องของคน ซึ่งคนของเราเราไม่ได้เน้นแค่เรื่องของภายนอก แต่เราเน้นเรื่องของการ พัฒนาจิตใจ ให้เขามีความคิดขึ้นได้ เพราะความคิดของมนุษย์นั้นคือสิ่งที่ฉลาดมากที่สุดนี่คือสิ่งที่ทางเราเคยเข้าไปช่วยทาง UNHCR เพื่อช่วยพัฒนาคนขององค์กรให้พวกเขาสามารถกระจายข่าว สื่อสารประชาสัมพันธ์ และสามารถชักชวนบุคคลที่สนใจมาเข้าร่วมบริจาค ซึ่งตอนนั้นที่เราได้ทำเมื่อประมาณปี 2018 และตั้งแต่นั้นมาก็มีสัมพันธภาพที่ดี มีการร่วมงานกันที่ดี เราเองก็ยังซัพพอร์ตกิจกรรมดีๆ ของ UNHCR มาตลอดค่ะ จนมาถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย สำหรับโครงการนี้ นอกจากเป็นกระบอกเสียงแล้วเล็กอยากจะทำเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้กับผู้หญิงหรือกลุ่มคนที่สนใจว่า เวลาคนที่เขาประสบกับความทุกข์เขารู้สึกอย่างไร เขาต้องการอะไร และการที่เราจะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเขา เราสามารถแสดงออกและสื่อสารออกไปในรูปแบบไหนได้บ้าง อันนี้เป็นปณิธานที่เล็กตั้งใจอยากที่จะช่วยเหลือ UNHCR คือ นอกจากเป็นสมาชิกแล้วก็ยินดี และพร้อมที่จะเป็นกระบอกเสียงด้วย เพราะนี่เป็นความถนัดและความเชี่ยวชาญของเราค่ะ”
อยากเชิญชวนทุกคนให้มามีส่วนร่วมตรงนี้
“เล็กอยากให้ทุกคนลองคิดแค่ง่ายๆ ให้ลองกลับมาคิดถึงตัวเราเองว่าถ้าเราไม่มีบ้าน เราไม่มีครอบครัว เราไม่มีเพื่อนหรือสังคมคนรอบข้าง เราจะตกอยู่ในภาวะและความรู้สึกอย่างไร เพราะคนที่ทาง UNHCR ช่วยเหลืออยู่ทั่วโลก ขณะนี้เขากำลังตกอยู่ในภาวะและความรู้สึกนี้ และเขาไม่มีทางออก แต่ถ้าทุกคนที่ได้รับทราบ ถ้าคุณมีทางออกอยู่แล้ว คุณสามารถเป็นแรงหนึ่งในการช่วยเหลือคนที่เขาไม่มีทางออกได้ เล็กคิดว่าการส่งต่อความช่วยเหลือ นอกจากเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่แล้ว ยังเป็นการสร้างความสุข ซึ่งสุขในที่นี้คือสุขให้กับตัวเรา สุขที่เราได้เติมเต็ม เพราะเราได้ส่งต่อสิ่งที่ดีๆ ให้กับผู้อื่นนั่นเอง สำหรับเล็กความสุขไม่ใช่แค่เราปรนเปรอให้กับตัวเราเองเท่านั้น เราสามารถสร้างสุขนี้ จากการส่งต่อสิ่งต่างๆ ที่มีคุณค่าให้กับผู้อื่นได้ และนั่นคือสุขที่อยู่บนสุด Self-Actualization คือการที่เราได้สามารถเติมเต็มความสุขให้กับตัวเราเองและผู้อื่นค่ะ”
การทำงาน
“ตอนนี้แคททำมีธุรกิจส่วนตัว และได้เข้าไปช่วยธุรกิจของครอบครัวค่ะ คุณพ่อคุณแม่แคทท่านทำเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจให้เช่า ส่วนงานในวงการบันเทิงแคทก็มีรับงานเรื่อยๆ แต่จะเป็นงานที่แคทเห็นว่าเหมาะสมค่ะ”
สมาชิกกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย
“แคทมีโอกาสได้ติดตามเรื่องราวการทำงานของ UNHCR ผ่านสื่อต่างๆ มาค่อนข้างนานแล้วนะคะ แต่ว่ายังไม่มีโอกาสได้เข้ามารู้จักจริงๆ จนได้มีโอกาสพูดคุยกับทางทีม UNHCR ที่ได้ติดต่อเข้ามา และได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาของผู้ลี้ภัยที่ทาง UNHCR ดูแลอยู่ ซึ่งเมื่อได้ฟังจบแล้ววินาทีแรกจากนั้นแคทก็ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกองทุนฯ โดยไม่ลังเลเลยค่ะ เพราะเราไม่เคยทราบจริงๆ ว่าปัญหาของพวกเขามันเยอะมากมายขนาดนี้ ทำให้เมื่อได้ฟังจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการได้เข้าไปช่วยเหลือพวกเขาค่ะ ส่วนตัวแคทชอบทำอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาเวลาใครมีปัญหาหรือเรื่องเดือดร้อน ถ้าแคทสามารถยื่นมือไปช่วยเหลือได้ แคทก็จะทำถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แคทก็เต็มใจและเต็มที่ แคทรู้สึกว่าเวลาเราได้ให้ แล้วเรามีความสุข ที่เป็นความสุขจริงๆ ค่ะ”
ความประทับใจที่ได้รับจากการเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย
“ก่อนอื่นเลยแคทรู้สึกขอบคุณทาง UNHCR ที่ให้เกียรติแคทได้เป็นหนึ่งในการเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของกองทุนฯ นี้ แคทเป็นคนหนึ่งที่เห็นคุณค่าของคำว่าให้ เพราะรู้สึกว่าการให้มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก และยิ่งกองทุนฯนี้ เป็นการส่งต่อการให้แก่ผู้หญิงด้วยกัน แคทยิ่งรู้สึกว่ามันพิเศษและยิ่งใหญ่ในฐานะที่เราเองก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง แคทจึงอยากทำให้ทุกคนได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้ลี้ภัยหญิงหลายๆ คน เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ต้องสู้ชีวิตทั้งเพื่อตัวเอง และครอบครัว
“และล่าสุดแคทได้มีโอกาสไปร่วมงานในฐานะของสมาชิก ในวันเปิดตัว ‘กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย’ ในประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่ายผู้หญิงถึงผู้หญิง สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่แม่เลี้ยงเดี่ยวที่กำลังลี้ภัยทั่วโลก โดยได้รับโอกาสให้ขึ้นไปร่วมพูดคุยบนเวทีด้วย ยิ่งทำให้แคทรู้สึกเป็นเกียรติที่ทางคุณวาว (คุณแวววรรณ กันต์นันท์ธร ประธานกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย) และทาง UNHCR ติดต่อแคทเข้ามา เพราะกองทุนฯ นี้เลือกผู้หญิงรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จหลากหลายแขนงในอาชีพและคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเข้าร่วม ทำให้แคทรู้สึกดีใจที่เรา Represent Young Generation ได้ และวันนี้เราก็ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนเพื่อเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่จะทำให้ทุกคนเห็นถึงปัญหาตรงนี้ และเพื่อเขาจะได้มีโอกาสยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้นค่ะ”
อยากเชิญชวนทุกคนให้มามีส่วนร่วมตรงนี้
“สำหรับแคทคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ คือเขาต้องถูกบังคับให้ละทิ้งบ้านของตัวเอง ซึ่งถ้าเรามองตัวเรา แน่นอนทุกวันนี้เราทุกคนได้มีโอกาสกลับบ้าน แต่ว่าพวกเขาไม่มีบ้านให้กลับ เพราะเขาต้องลี้ภัยออกมา แสดงว่าสถานการณ์ในชีวิตของเขามันต้องหนักมาก ไม่อย่างนั้นคงไม่มีใครทิ้งบ้านของตัวเอง หรือหลายๆ คนก็ถูกบังคับให้ต้องหนี แล้วเขาต้องมาอยู่รวมกันในที่ที่เรียกว่าที่พักชั่วคราว แต่เป็นที่รู้กันว่า บางคนคำว่าชั่วคราวมันคือชั่วชีวิตของเขา ผู้ลี้ภัยทุกคนต้องเจอกับปัญหามากมาย คือ ชีวิตทุกคนลำบากมากจริงๆ แคทจึงอยากชวนทุกๆ คนที่มีกำลังพอ ที่จะส่งต่อการให้ ส่งต่อกำลังใจ ให้กับผู้ลี้ภัย มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการเป็นสมาชิกกองทุนฯนี้ หรือร่วมบริจาคให้กับทาง UNHCR เพื่อส่งต่อให้กับผู้ลี้ภัยที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไปค่ะ”
การทำงาน
“ตอนนี้ บทบาทของเฟื่องหลักๆ คือเป็น CEO ของบริษัทฟลอริช ดิจิทัล จำกัด และทำสื่อภายใต้ชื่อ LDA-Ladies of Digital Age จะเป็นสื่อเน้นแนววิดีโอให้ความรู้ที่เกี่ยวกับดิจิทัลและเทคโนโลยี และอีกด้านหนึ่งที่เฟื่องกำลังทำอยู่คือการปั้น KOL กลุ่มสาวๆ รุ่นใหม่ๆ ที่จะกลายมาเป็น Key Opinion Leader ของสังคมค่ะ”
รู้จักกับ UNHCR ได้อย่างไร
“เฟื่องรู้จัก UNHCR มานานแล้วนะคะ เห็นผ่านในตามบริบทของโลก แต่ที่ทำให้รู้สึกว่าใกล้ตัวกับเราที่สุด และดูเกี่ยวข้องกับคนไทยได้น่าจะเป็นตอนที่ คุณปู - ไปรยา ลุนเบิร์ก มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพราะเราเคยเห็นแต่ภาพของ แอนเจลีนา โจลี (Angelina Jolie) ซึ่งเขาเป็นไอดอลของเฟื่องอยู่แล้วด้วย แต่พอมีคุณปูมาอีก เหมือนทำให้คนไทยเข้ามาใกล้ชิดกับเรื่องของผู้ลี้ภัยมากขึ้น และเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นด้วยค่ะ”
สมาชิกกิตติมศักดิ์ กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย
“จากเดิมที่เราเป็นเพียงคนรับข้อมูลข่าวสาร แล้ววันหนึ่งมีโอกาสที่จะได้เข้ามาในแคมเปญนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเรื่องของผู้หญิงด้วย เฟื่องยิ่งรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมาก เพราะโดยส่วนตัวเฟื่องสนับสนุนทุกเรื่องของผู้หญิงอยู่แล้วนะคะ เพราะด้วยธุรกิจที่เราทำ หรือแม้กระทั่งตัวเฟื่องเอง ซึ่งเมื่อได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย ยิ่งทำให้ได้รู้รายละเอียดลึกลงไปอีก ได้รับรู้ว่ากองทุนฯ นี้จะนำเงินไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะแม่ยิ่งทำให้เรารู้สึกอิน เพราะเป็นเรื่องราวที่สัมผัสใจเรามาก แน่นอนว่าสำหรับผู้ลี้ภัยทุกคนเขามีความน่าสงสารอยู่แล้ว แต่อาจด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงและเป็นแม่ด้วย ทำให้เรารู้ว่าบทบาทของแม่นั้น แค่เป็นคนที่อยู่อย่างปกติเหมือนเราๆ ก็เหนื่อยแล้ว ยากมากๆ แล้ว แต่พวกเขายังเป็นแม่ที่ประสบกับเหตุการณ์ที่เขาเลือกไม่ได้ และเขายังต้องเลี้ยงดูลูกๆ ที่จะต้องเติบโตต่อไปในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกๆ ของเขา เฟื่องคิดว่ามันเป็นการไปตัดโอกาสตั้งแต่เขายังไม่ประสีประสาอะไรเลย มันเป็นสิ่งที่ไม่เท่าเทียมกันที่สุด จึงรู้สึกว่าภายใต้ความลำบากนี้ เด็กๆ ที่โตมาอย่างน้อยๆ ควรจะได้รับโอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ”
อยากเชิญชวนทุกคนให้มามีส่วนร่วมตรงนี้
“เฟื่องคิดว่าชีวิตของทุกคนมีความลำบากแตกต่างกันไปในหลากหลายแง่มุม แต่ถ้าเรามองไปในบริบทที่ไกลกว่านั้น ลองหันไปมองคนอีกกลุ่มหนึ่ง ยังคงมีคนที่เขาประสบภัย และเดือดร้อนอยู่อีกมาก อย่างน้อยๆ การที่ได้ยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือพวกเขา จะทำให้เราอิ่มใจสุขใจขึ้นมา ทั้งผู้ให้และผู้รับแน่นอนค่ะ เฟื่องคิดว่าความตั้งใจดีๆ ที่เราคิดว่าเป็นสิ่งเล็กๆ มันอาจจะส่งผลมหาศาลกว่าที่เราคิด เงินบริจาคของเราสามารถนำไปช่วยเหลือได้ทั้งครอบครัว ทั้งยังสามารถช่วยเหลืออนาคตของเด็กคนหนึ่งให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เฟื่องอยากเชิญชวนทุกคนมาช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อสังคมโลกของเราจะได้น่าอยู่ขึ้นค่ะ”
กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย หรือ Leading Women Fund
โดย UNHCR ประเทศไทย เครือข่ายของผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ
เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้หญิงที่กำลังลี้ภัย
หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญสงครามและความขัดแย้ง ทำให้จำนวนผู้ลี้ภัย และพลัดถิ่นเพิ่มสูงถึง 100 ล้านคน โดยถือเป็นร้อยละ 1 ของประชากรทั่วโลก เทียบเท่ากับประเทศที่มีประชากรสูงเป็นอันดับที่ 14 ของโลก สาเหตุหลักคือความรุนแรง และการสู้รบในประเทศต่างๆ อาทิ เมียนมาร์ อัฟกานิสถาน ยูเครน รวมถึงสถานการณ์ที่ยืดเยื้อยาวนาน เช่น ความขัดแย้งในประเทศซีเรีย ซึ่งเป็นเวลากว่าทศวรรษที่วิกฤตในประเทศซีเรียบังคับให้ผู้คนต้องพลัดถิ่น สูงถึง 12 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ลี้ภัยเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ จอร์แดน ตุรกี และเลบานอน มากกว่าครึ่งของผู้ลี้ภัย คือผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง กลายเป็นหัวหน้าครอบครัว กำลังตั้งครรภ์ พิการ หรือเป็นผู้สูงอายุที่มีความเปราะบาง 1 ใน 3 ของหัวหน้าครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศจอร์แดน คือ ผู้หญิงที่ขาดโอกาสในการทำงาน การศึกษา และทักษะการประกอบอาชีพ ทำให้พวกเธอตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นสุด ไร้บ้าน และขาดแคลนอาหารเพราะต้องเลี้ยงดูครอบครัวโดยลำพัง
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงจัดตั้ง ‘กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย’ ร่วมกับ คุณวาว-แวววรรณ กันต์นันท์ธร ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรสโกลด์ (ไทยแลนด์) จำกัด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเครือข่ายแห่งการแบ่งปันจากผู้หญิงถึงผู้หญิง ส่งเสริมบทบาทและพัฒนาศักยภาพผู้หญิงยุคใหม่ในประเทศไทยผ่านการให้และการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการทำงานด้านมนุษยธรรมระดับโลก โดยเงินค่าสมาชิกรายปีของกองทุนฯ จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นเงินช่วยเหลือที่ UNHCR นำไปมอบให้แม่เลี้ยงเดี่ยวชาวซีเรียที่กำลังลี้ภัยและดูแลครอบครัวเพียงลำพังในประเทศจอร์แดน
ซึ่ง ‘กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย’ ได้รับการจัดตั้งเป็นครั้งแรกในประเทศออสเตรเลีย โดยผู้ก่อตั้งคือผู้ที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ และมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน สำหรับประเทศไทยกองทุนฯ ยังได้รับความสนับสนุนจากนักธุรกิจหญิง และผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จจากหลากหลายอุตสาหกรรมในวงการธุรกิจของประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของกองทุนฯ เพื่อพัฒนาเครือข่ายให้เข้มแข็งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตและครอบครัวผู้ลี้ภัย
โดยสมาชิกของ ‘กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย’ จะมีโอกาสติดต่อกับผู้ลี้ภัยหญิงเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ ผ่านแอปพลิเคชัน คอนเนคติง เวิลด์ส (Connecting Worlds) ที่ UNHCR พัฒนาขึ้นเพื่อเชื่อมโยงโลกของผู้บริจาคและผู้รับในคนละซีกโลกเข้าด้วยกัน ถือเป็นแอปพลิเคชันแรกของโลกที่เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนฯ และผู้ลี้ภัยหญิงชาวซีเรียในประเทศจอร์แดนสามารถแลกเปลี่ยนข้อความและรูปภาพถึงกันโดยตรง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ และความคิดสร้างสรรค์ไปด้วยกัน
สิทธิประโยชน์ของสมาชิกกองทุนฯ
• เป็นผู้ให้: ร่วมสนับสนุนกองทุนฯ เพียง 72,000 บาทต่อปี เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภคและค่าอาหารของครอบครัวผู้ลี้ภัยหญิงแม่เลี้ยงเดี่ยว
• เรียนรู้: เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ การประชุมรายไตรมาส การประชุมประจำปี ของ UNHCR สัมผัสเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจจากผู้ลี้ภัยหญิง ผู้นำสตรี และเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษภาคสนาม
• เชื่อมต่อ: คุณจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมการสร้างเครือข่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งมีโอกาสติดต่อโดยตรงกับผู้ลี้ภัยหญิงที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ โดยใช้แอปพลิเคชัน Connecting Worlds ของ UNHCR เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์
• สรรค์สร้าง: ร่วมแชร์ทักษะ ความรู้และความสามารถของคุณ เพื่อกำหนดอนาคตให้กับกองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย
• ก้าวนำ: ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่จะทำให้คุณได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อส่งต่อโอกาสในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิงที่เปราะบางที่สุดในโลก
• เป็นที่จดจำ: สมาชิกจะได้รับจดหมายขอบคุณ ประกาศนียบัตรจาก UNHCR
ร่วมเป็นสมาชิก ‘กองทุนนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่เพื่อผู้ลี้ภัย’ เพื่อสร้างเครือข่ายแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการสมัครสมาชิกรายปี 72,000 บาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่แม่เลี้ยงเดี่ยวชาวซีเรียที่ลี้ภัยในประเทศจอร์แดน และครอบครัวให้พวกเธอได้ใช้จ่ายตามความขาดแคลนของตนเอง อาทิ การศึกษาของลูก ค่าเช่าบ้าน และการรักษาพยาบาล เป็นต้น ในฐานะสมาชิกกองทุนฯ คุณจะได้เข้าร่วมสัมมนาเพื่อพัฒนาตนเองและธุรกิจ และเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานด้านมนุษยธรรมในระดับโลกร่วมกับนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จในระดับประเทศอีกมากมาย
สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนฯ สามารถบริจาคค่าสมาชิกผ่านบัญชีธนาคารกสิกรไทย เลขที่บัญชี 030-2-88804-3 ชื่อบัญชี UNHCR Special Account และส่งหลักฐานการบริจาคพร้อมแจ้งชื่อของท่านไปที่ support.th@unhcr.org
เงินบริจาคไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ UNHCR ขอขอบพระคุณในการแบ่งปันน้ำใจที่ยิ่งใหญ่และร่วมยืนหยัดเคียงข้างการทำงานเพื่อมนุษยธรรมอย่างไร้พรมแดน