ลมหนาวโบกสะบัดมาแล้ว ใครๆ ก็พากันมุ่งหน้าขึ้นไปเที่ยวทางภาคเหนือกันทั้งนั้นแหละ เชียงรายเป็นจังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย ที่มีทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมของผู้คนไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำกัน แม้ว่าเราใช้ชีวิตอยู่ในตัวเมืองก็สามารถสัมผัสกับวิวทิวเขาที่โอบลอบเชียงรายได้ แต่ฉบับนี้ขอพาไปเที่ยววัดสวยๆ หลายวัดทั้งในอำเภอเมืองและอำเภอพาน ที่เห็นภาพแล้วเก็บกระเป๋าตากลมหนาวที่เชียงรายกันได้เลย
วัดร่องขุ่น
ถ้าจะต้องปักหมุดสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ในหมวดจำเป็นต้องไปของเชียงราย ก็น่าจะเป็นวัดร่องขุ่น ที่นี่ออกแบบและก่อสร้างโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เดิมทีเป็นแค่วัดเก่าในชุมชน มีขนาดเล็กๆ และสภาพค่อนข้างเก่าแก่ทรุดโทรม จนกระทั่งใน ปี พ.ศ. 2540 อาจารย์เฉลิมชัย เริ่มมีแนวคิดจะบูรณะ และออกแบบใหม่
โดยมีแรงบันดาลใจและความหวังอยากสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน มีความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ รวมถึงอาจารย์ได้เคยมีโอกาสถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้อาจารย์เห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ จึงเป็นความตั้งใจอยากสร้างวัดให้เป็นศิลปะประจำชาติ โดยมุ่งหวังให้วัดร่องขุ่นเป็นศิลปะประจำรัชกาลที่ 9 สำคัญที่สุดคืออาจารย์รู้สึกว่าธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์ จากคนใจร้อนกลายเป็นคนใจเย็นจึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลในการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น
ทุกวันนี้ วัดร่องขุ่นเป็นศาสนสถานที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมและงานศิลปะ ทุกมุมเต็มไปด้วยลวดลายอ่อนช้อยจุดเด่นที่สุดของวัด คือ พระอุโบสถสีขาวซึ่งได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น จนได้รับการขนานนามว่า วัดขาว หรือ White Temple ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาวิจิตรอลังการมีลวดลายอ่อนช้อยเป็นเชิงชั้นลดหลั่นลงมา หน้าบันประดับด้วยพญานาค และติดกระจกระยิบระยับ ทุกมุมจะสื่อสัญลักษณ์และมีความหมายทางพุทธศาสนา โดยสีขาวหมายถึง พระบริสุทธิคุณ ส่วนกระจกหมายถึงพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่ส่องแสงโชติช่วงชัชวาล
ตัวพระอุโบสถสร้างบนเนินกลางผืนน้ำ ทางเดินเข้าอุโบสถที่เป็นสะพานทอดยาวนั้นหมายถึงการเดินข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ครึ่งวงกลมเล็ก หมายถึง โลกมนุษย์ วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามารหรือพระราหู หมายถึง กิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์ ผู้ที่จะเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าใน พุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตัณหาของตนเองลงไปในปากพญามาร เพื่อเป็นการชำระจิตให้ ผ่องใสก่อนที่จะเดินผ่านเข้าไป ส่วนสระน้ำด้านล่าง หมายถึง สีทันดรมหาสมุทร
ภายในอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง รวมทั้งอาคารแสดงภาพวาดที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดเพื่อแสดงผลงานของอาจารย์เฉลิมชัยให้นักท่องเที่ยวได้ชมกัน ที่นี่จึงเป็นหนึ่งในคุณค่าแห่งศิลปะไทยสมัยใหม่ ที่จะเรียกว่าเป็นมรดกของแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่เกินจริง
วัดร่องเสือเต้น
นอกจากวัดร่องขุ่นจะเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของเชียงรายแล้ว ยังมีอีกวัดหนึ่งของเชียงรายที่จะทำให้ทุกคนตื่นตะลึงไปกับความสวยของเชียงราย เรากำลังพูดถึงวัดร่องเสือเต้น
ในอดีตเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาที่นี่เคยเป็นวัดร้างมาก่อน จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ในสมัยนั้นยังไม่มีบ้านเรือนและผู้คนอาศัยอยู่มากนักแถวนั้นจึงเต็มไปด้วยเสือ ชาวบ้านที่ผ่านแถวนั้นมักชอบเห็นเสือกระโดดข้ามร่องน้ำไปมา เลยเรียกกันว่าบ้านร่องเสือเต้น
เริ่มจากวัดถูกสร้างขึ้นจากชาวบ้านร่องเสือเต้นไม่มีที่ทำบุญในหมู่บ้าน เวลาทำบุญในวันสำคัญต้องไปทำบุญที่วัดอื่น ทำให้คนในหมู่บ้านเลยบูรณะวัดร้างแห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านร่องเสือเต้น และเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาใน
วัดร่องเสือเต้นออกแบบโดยศิลปินพื้นบ้านชาวเชียงรายที่ชื่อ พุทธา กาบแก้ว คนที่เชียงรายรู้จักกันในชื่อของ สล่านก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ด้วย โทนสีที่ใช้เป็นโทนสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับวิหาร โดยสีน้ำเงินฟ้าของตัววิหารนั้นเปรียบเสมือนท้องฟ้าที่สดใส เป็นศิลปะแนวพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยธรรมของพุทธองค์
ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถสีขาวมุก มีพระรอดลำพูน 88,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ใต้พระพุทธรูปองค์นี้ รวมทั้งบริเวณพระเศียรก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ นอกจากนี้ยังมีผลงานจิตรกรรมภาพวาดฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติด้วย ด้านหลังวิหารมีพระพุทธรูปสีขาวปางห้ามญาติองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่
วัดพระธาตุจอมแว่ & วัดร้องหลอด
นอกจากอำเภอเมืองแล้ว ที่อำเภอพาน ยังมีวัดสวยๆ ให้ชมกันด้วย เช่นที่วัดพระธาตุจอมแว่ ถูกสร้างขึ้นโดยพญางำเมือง โดยที่พระองค์ได้เสด็จขึ้นดอยซางคำ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของดอยจอมแว่ ที่นี่มีทั้งพระยืนและพระนอนที่องค์ใหญ่มาก ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาที่หากเดินขึ้นบันไดขึ้นมาแล้ว จะสามารถเห็นวิวทิวทัศน์ของเมืองพานได้อย่างเต็มตา
นอกจากนี้ ยังมีวัดร้องหลอด ที่เป็นทั้งวัดและแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และโบราณสถานด้วย วัดร้องหลอดได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ วิถีชีวิตและภูมิปัญญาล้านนา บ้านร้องหลอด เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนแบบเดิมๆ ให้คงไว้ โดยมีทั้งบ้านเรือนไทยโบราณภาคเหนือ มียุ้งข้าว และเครื่องใช้ไม้สอยในครัวเรือน ที่เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ บ้านโบราณ ที่เก็บสะสมเครื่องมือ เครื่องใช้ ไว้ภายในบ้าน เพื่ออนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้
และนี่คือวัดสวยๆ ในเชียงรายที่หนาวนี้ ขึ้นไปรับลมหนาวแล้วไปไหว้พระขอพร ชมวัดสวยๆ ที่เชียงรายกัน