จากวัย 10 ขวบที่มีโอกาสเป็นตัวแทนครอบครัวไปอยู่เป็นเพื่อนคุณตาในช่วงปิดเทอม ทำให้ตุ๊ก ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ ประธานบริษัท เคเอฟยู จำกัด ผู้นำเข้าอาหาร, เบเกอรี และช็อกโกแลต แบรนด์ดังจากทั่วโลก อาทิ คริสปี้ ครีม, ซินนาบอน, บูลโกกิ บราเธอร์ส, พาย เฟสซ์ และซีส์ แคนดีส์ มีกิจวัตรที่ทำเป็นประจำคือ การไปทำบุญทำทานตามวัดและมูลนิธิต่างๆ โดยคุณตาก็สอนทุกครั้งว่า อย่ารอจนอายุ 70 เท่าท่าน แล้วจึงค่อยคิดจะทำบุญ เพราะเราไม่รู้ว่า จะเหลือเวลาอีกเท่าไร ดังนั้นให้รู้จักการทำบุญ ให้รู้จักการให้ ให้รู้จักการแบ่งปันในทุกวันที่ตัวเองยังมีโอกาส
“ตุ๊กจึงทำบุญทันทีที่มีโอกาส ทำโดยที่ไม่ต้องให้ใครมาร้องขอ และทำโดยไม่หวังผลตอบแทน คิดเพียงว่า อยากทำแบบสม่ำเสมอ”
เมื่อมาเปิดบริษัท เพื่อกันตัวเองยุ่งจนลืม และเพื่อให้พนักงานกว่า 600 ชีวิต ได้มีส่วนร่วมด้วย ทุกเดือนจึงมีการจัดกิจกรรมเลี้ยงอาหารและขนมคุณตาคุณยายที่อยู่บ้านพักคนชรา และส่งโดนัทไปให้เจ้าหน้าที่และผู้มีใจกุศลที่มาบริจาคโลหิต ณ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย นอกจากนี้ทุกปี เมื่อถึงเดือนเกิด ตุ๊ก-อุษณีย์ ก็ไม่ลืมที่จะทำบุญใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต โดยไม่คาดคิดเลยว่า จะเกิดเป็นบุญต่อเนื่องนับปียาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้
“ตอนนั้นคือเดือนพฤศจิกายน 2566 รู้สึกอยากทำบุญยกยอดฉัตร จึงได้ให้ทีมงานลองหาข้อมูล ซึ่งก็เป็นการหาจากในอินเตอร์เน็ต และลองติดต่อไปตามวัดต่างๆ แต่วัดส่วนใหญ่ก็บอกว่า ได้ทำการยกยอดฉัตรไปแล้ว จนคิดว่า อาจต้องรอปีต่อไป แต่จู่ๆ ก็ได้ทราบว่า ยังมีอีกวัดหนึ่งที่เปิดรับอยู่ เป็นฉัตร 9 ชั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการการบูรณะพระธาตุดอยเวา และมีครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
“จากการหาข้อมูล พระธาตุดอยเวา เป็นพระธาตุเก่าแก่ อายุ 2269 ปี ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุดอยเวา ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุที่มีความเก่าแก่รองลงมาจากพระธาตุดอยตุง นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นคือ รูปปั้นแมงเวา ที่ในภาษาเหนือแปลว่า “แมงป่อง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของ พระองค์เวา กษัตริย์องค์ที่ 10 ราชวงศ์สิงหนวัติ แห่งนครนาคพันธุ์สิงหนวัติ (เชียงแสนโบราณ) ผู้สร้างวัดแห่งนี้ ซึ่งแมงป่องเป็นสัญลักษณ์ของราศีพิจิก เดือนเกิดของตุ๊กพอดี
“แต่ตอนแรกคิดว่า คงไม่มีโอกาสไปทำบุญแล้ว เพราะพยายามติดต่อไปอยู่นาน กว่าจะได้คุยกับท่านพระครูประยุตเจติยานุการ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวา ก็ใช้เวลาเกือบ 2 สัปดาห์ ซึ่งท่านบอกว่า ฉัตร 9 ชั้นเกือบเต็มแล้ว แต่ที่ขาดอยู่คือ ยอดมงกุฏชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ซึ่งท่านได้เล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ไม่รับโทรศัพท์และไม่ติดต่อกลับเพราะ ก่อนหน้านี้ ยอดมงกุฎทั้ง 2 ชั้นมีคนรับเป็นเจ้าภาพแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกพอถึงเวลา ติดต่อเจ้าภาพไม่ได้ ครั้งที่ 2 เจ้าภาพมาหล่อยอดมงกุฎเรียบร้อย โดยใส่ทั้งทองโบราณที่มีอยู่เดิม และทองใหม่ที่เจ้าภาพเตรียมมา ปรากฎพอเจ้าภาพกลับไป จะให้ช่างนำต้นแบบที่หล่อไปจัดทำ ช่างบอกว่า ในต้นแบบไม่มีทองอยู่เลย ดังนั้นพอทางตุ๊กติดต่อไปว่า มาจากรุงเทพฯ ท่านเลยกลัวว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม
“ตอนแรก ตุ๊กรับเป็นเจ้าภาพยอดมงกุฏเฉพาะชั้นที่ 1 เพราะคิดว่า จะได้ให้คนอื่นๆ ที่มีจิตศรัทธาได้ร่วมบุญกันด้วย แต่จนวันที่ 16 มกรา ก็ยังหาเจ้าภาพยอดมงกุฎชั้นที่ 2 ไม่ได้ จึงตัดสินใจรับไว้เอง และไปเล่าให้คุณปุ่น สุธัญญา บุญสูง ฟัง ซึ่งคุณปุ่นก็ขอร่วมเป็นเจ้าภาพด้วยทันที
“พอถึงวันงานพิธีหล่อยอดมงกุฎชั้นที่ 1 และ 2 คือวันที่ 21 มกราคม 2567 ยอมรับว่า ไปแบบไม่รู้จักวัดจริงๆ แถมต้องใช้เวลาในการเดินทางจากสนามบินไปวัดประมาณ 1 ชั่วโมง ทางเข้าวัดเป็นถนนแคบๆ เล็กๆ เป็นตลาดค้าขายอยู่ติดด่านชายแดนที่จะข้ามฝั่งไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเข้าไปถึง ปรากฎเป็นวัดที่ใหญ่โต สวยงามมาก มีวิหารสิ่งศักดิ์สิทธิ์เต็มไปหมด มีสกายวอล์คที่ทอดยาว เป็นจุดชมวิวที่เห็นความสวยงาม และวิถีชีวิตริมแม่น้ำแม่สายของคนทั้งสองฝั่งประเทศ จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางกันมาไม่ขาดสาย แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกแปลกใจคือ พระครูประยุตฯ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาที่ล้วนแต่เป็นเจ้าของกิจการใหญ่ๆ มากมาย ดังนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะหาเจ้าภาพยอดมงกุฏไม่ได้
1 เมษายน 2567 คือวันประกอบพิธียกยอดมงกุฎชั้นที่ 1 และ 2 รวมทั้งฉัตร 9 ชั้น พร้อมพิธีสมโภชน์องค์พระธาตุดอยเวาที่ได้รับการบูรณะ โดยมีครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และท่านพระครูประยุตฯ เมตตาให้ตุ๊กเป็นประธานฝ่ายฆราวาส นอกจากนี้ยังมีพิธีวางศิลาฤกษ์พญานาคราชวิสุทธิเทวามหานทีศรีสวรรค์บันดาลโชค 9 เศียรที่จะประดิษฐาน ณ ยอดตึกที่จะจัดสร้าง ณ บริเวณจุดสูงสุดแห่งดินแดนสยาม ตุ๊กจึงรับเป็นเจ้าภาพเศียรที่ 1 ความสูง 9.99 เมตร และเศียรที่ 2 และ 3 ความสูง 8.99 เมตร โดยมีพิธีบวงสรวงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 เพื่อเริ่มต้นจัดสร้างอาคารวิหารมหามงคลสมปรารถนา และองค์พญานาคราชฯ 9 เศียร
“พอถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 ก็มีพิธีทอดกฐินลอยฟ้าบนสกายวอล์คที่อยู่ ณ จุดสูงสุดแห่งดินแดนสยาม เป็นริ้วขบวนที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก เพื่อคืนความสุขให้กับชาวไทยและชาวเมียนมาที่ต้องทนทุกข์กับอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบ 10 ปีที่เพิ่งผ่านไป รวมทั้งได้มีพิธีเปิดวิหารแก้วฯ อย่างเป็นทางการ และตุ๊กได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพและประธานในพิธีปั้นสมเด็จองค์ปฐมบรมจักรพรรดิปราบมารบันดาลโชค (หลวงพ่อทันใจ) ซึ่งใช้เวลาในการปั้นเพียง 24 ชั่วโมง เป็นเจ้าภาพในการสร้างลิฟต์สำหรับคนชราและคนพิการเพื่อให้ได้ขึ้นไปสักการะองค์พ่อพญานาคราชฯ
“ในเดือนมกราคม 2568 ตุ๊กได้เดินทางไปร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ถึง 2 ครั้ง นั่นคือ พิธีหล่อระฆังเศรษฐีบุญชุ่มเย็น ซึ่งจะตั้งอยู่ด้านหน้าขององค์พ่อพญานาคราช ไว้สำหรับยามผู้ที่มีเรื่องเดือดร้อน จะไปตีระฆังเพื่อส่งสัญญาณไปถึงองค์พ่อพญานาคราชฯ โดยมีครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมวางศิลาฤกษ์กุฎิบุญชุ่มเย็น และอีกครั้งคือ พิธีสักการะเพื่อจัดสร้างวิหารหลวงพ่อพระเจ้าทองทิพย์สมปรารถนา พระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ศิลปะเชียงแสนสิงห์ 3 อายุ 700 กว่าปี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัดพระธาตุดอยเวา ซึ่งสร้างในสมัยพ่อพญาแสนภู ผู้ปกครองเมืองโยนกนาคนครไชยบุรีศรีช้างแสน และพิธีบวงสรวงเพื่อเริ่มบูรณะบันไดพญานาคาวิจิตราเทวี บันไดพญานาคโบราณ อายุ 243 ปี ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่
“ล่าสุดในเดือนมิถุนายน กับพิธีบรรจุดวงแก้วสารพัดนึก และดวงเนตรองค์พ่อพญานาคราชฯ เศียรที่ 9 ซึ่งคุณเพ็ชรากรณ์ วัชรพล เป็นประธานในพิธี และมีพิธีบรรจุพระหทัยพระนอนปางเสวยสุขนาคปรกทันใจสมปรารถนา ซึ่งตุ๊กเป็นเจ้าภาพ และใช้เวลาในการปั้น 24 ชั่วโมง รวมทั้งได้ไปทำพิธีสักการะอนุเสาวรีย์พญาเม็งรายมหาราช หรือ กู่พระยาเม็งราย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดงำเมือง บนดอยงำเมือง กู่นี้เป็นอนุสาวรีย์สำคัญแห่งหนึ่งเพราะเป็นที่บรรจุอัฐิของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ตามประวัติกล่าวว่าพระเจ้าไชยสงคราม ราชโอรสพระเจ้าเม็งราย เมื่อได้มอบราชสมบัติให้พระเจ้าแสนภูราชโอรสให้ขึ้นครองนครเชียงใหม่แล้ว พระองค์ได้นำอัฐิพระราชบิดามาประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย และได้โปรดเกล้าฯ สร้างกู่บรรจุอัฐิของพระราชบิดาไว้ ณ ดอยงำเมืองแห่งนี้ รวมทั้งการไปสักการะเสาสะดือเมือง 108 ต้น ตั้งอยู่บนดอยจอมทอง ในเขตเทศบาลนครเชียงราย เสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างในรูปแบบศิลปะขอมแบบพนมบาแกง โดยยึดตามรูปแบบสมมติของจักรวาล หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกสุดเป็นคูน้ำเหมือนในจักรวาล ลานดินถัดจากคูน้ำหมายถึงแผ่นดิน ลานด้านในยกเป็นชั้นๆ จำนวน 6 ชั้น เปรียบเสมือนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นในกามภู
การเดินทางครั้งนี้ ทำให้ตุ๊กยิ่งเห็นว่า เชียงรายคือเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์แห่งอารยธรรม มีวัดใหญ่ๆ ที่สร้างได้วิจิตรงดงาม เป็นสถานที่ที่ให้ทั้งความสวยงามในการท่องเที่ยว และเคารพสักการะเพื่อความสิริมงคลไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะพระธาตุดอยเวา ซึ่งมีอายุ 2 พันกว่าปี ตั้งอยู่ห่างไกล มีทางเข้าที่ต้องผ่านถนนเล็กๆ ที่หากคนไม่เคยมา จะไม่ทราบเลยว่า มีความสวยงามมากมายขนาดนี้ และเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนให้พระธาตุที่มีอายุเก่าแก่ 2 พันกว่าปีที่ยังต้องการการดูแลต่อไปเรื่อยๆ จึงบอกบุญพนักงาน เพราะการทำบุญไม่ได้ขึ้นอยู่ที่จำนวนเงิน แต่ขึ้นอยู่กับความตั้งใจที่อยากจะแบ่งปัน และมีการตั้งกล่องรับบริจาคที่ร้านคริสปี้ ครีมทุกสาขาอีกด้วย
“จากเดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงมิถุนายน 2568 นับเป็นสิ่งอัศจรรย์ให้ตุ๊กได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพและประธานในพิธีต่างๆ ณ วัดพระธาตุดอยเวานับครั้งไม่ถ้วน มาเชียงรายแทบจะเดือนเว้นเดือน ซึ่งโชคดี เพราะไม่ว่าจะเดินทางกี่ครั้งก็มีหญิง-ปรียามล ธนวิสุทธิ์ และเฟิร์น-อนันติยา กิตติพรหมวงศ์ ร่วมทางด้วยเสมอ และมีกัลยาณมิตรที่พร้อมใจกันฝากเงินร่วมบุญด้วยเสมอ
“หากใครถามว่า ทำไมตุ๊กจึงเดินทางไกลมาสร้างบุญต่อเนื่อง ณ ที่แห่งนี้ ตุ๊กคงบอกไม่ได้ว่า เพราะอะไร แต่ที่ผ่านมา ตุ๊กยึดคำสอนของคุณตามาโดยตลอด ดังนั้นเส้นทางบุญมายังดินแดนเหนือสุดแห่งสยามนี้ อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะเป็นการหาข้อมูลวัดจากอินเตอร์เน็ตจริงๆ มาแบบไม่รู้จักจริงๆ จึงอาจเป็นไปตามที่เคยมีคนกล่าวไว้ “ธรรมะจัดสรร” ค่ะ