counters
hisoparty

16พฤติกรรม....ทำร้ายฟัน

5 years ago

ผมมักจะได้รับคำถามจากผู้ป่วยว่า ฟันคนเราสามารถมีอายุใช้งานในช่องปากได้นานเท่าไร คำตอบที่ผมให้กับผู้ป่วยอ้างอิงจากงานวิจัยและประสบการณ์ในวิชาชีพของผม คือฟันของเราสามารถรักษาให้อยู่ในช่องปากของเราได้ตลอดอายุขัยของมนุษย์ (100 ปี) ทีเดียว อย่างไรก็ตาม เรามักจะพบว่า คนเราจะสูญเสียฟันไปก่อนเวลาอันควร สาเหตุใหญ่ๆ นั้น เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมการใช้ฟันที่ผิดวิธี Health & Beauty ครั้งนี้ หมอก็จะได้มากล่าวถึงพฤติกรรมการใช้ฟันที่ส่งผลเสียทำร้ายฟัน

พฤติกรรม….ทำร้ายฟัน
พฤติกรรมต่างๆ ที่จะกล่าวถึงนี้ หากกระทำบ่อย ๆ ก็จะมีผลทำลายฟัน ทำให้ฟันสูญเสียไปจากช่องปากก่อนวัยอันควร ฟันที่เสียไป หากต้องการทดแทนด้วยฟันชุดที่สาม ก็จะต้องสูญเสียเงินไปอีกจำนวนมากทีเดียว การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นวิธีที่ควรกระทำอย่างยิ่ง

1. ไม่แปรงฟันทุกวัน สม่ำเสมอ ข้อนี้ทุกคนคงทราบกันอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีคนอีกหลายคนที่ละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากตนเอง และไม่แปรงฟันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้น แนะนำให้แปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง คือเช้าและก่อนนอน โดยแปรงฟันด้วยวิธีที่ถูกต้อง แปรงทุกด้านของฟันด้วยยาสีฟันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 นาที ในช่องปากของเราจัดว่ามีเชื้อโรคมากมายที่สุดเมื่อเทียบกับช่องอื่นๆ ของร่างกาย การแปรงฟันทุกวัน จึงมีความสำคัญมากในการสร้างสุขอนามัยให้กับคนๆ นั้น การไม่แปรงฟันนั้น น่ารังเกียจเสียยิ่งกว่าการไม่อาบน้ำเสียอีก

2. ไม่ใช้ไหมขัดฟัน การใช้ไหมขัดฟันเป็นการทำความสะอาดฟันที่ด้านประชิดของฟัน ที่การแปรงฟันทำความสะอาดไม่ทั่วถึง เป็นพฤติกรรมที่ต้องทำ เพื่อป้องกันฟันผุจากเศษอาหารอัดติดระหว่างซอกฟันการใช้ไหมขัดฟันนั้น จะต้องฝึกฝนหน้ากระจกให้ชำนาญสักระยะ ก็จะทำให้ใช้ไหมขัดฟันได้คล่อง แล้วก็จะสามารถใช้ไหมขัดฟันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

3. การใช้ฟันกัดเล็บ ผมพบว่าบางคนชอบใช้ฟันกัดเล็บ แม้ว่าฟันจะแข็งกว่าเล็บก็ตาม แต่เล็บจะงอกใหม่ได้ตลอดอายุขัย หากใช้ฟันกัดเล็บไปบ่อยๆ ก็จะส่งผลให้ฟันบิ่น แหว่งได้

4. การใช้ฟันเคี้ยวน้ำแข็ง บางคนชอบเคี้ยวน้ำแข็ง แน่นอนว่าฟันหลังที่แข็งแรง ในที่สุดก็จะแตกบิ่น จนเกิดอาการเสียวฟันได้ จนความสูญเสียเกิดขึ้นรุนแรง ในที่สุดก็จะต้องไปทำครอบฟัน และฟันจะค่อยๆ ถูกทำลายในที่สุด

5. การใช้ฟันผิดหน้าที่ เราจะพบเห็นคนใช้ฟันงัดของแข็ง แกะห่วงเหล็กสร้อยคอ ฉีกถุงพลาสติก กัดปลายด้ามปากกา แทะก้ามปู แทะกระดูกไก่ กระดูกอ่อน การใช้ฟันผิดหน้าที่นี้ มีผลทำให้ฟันแตกบิ่นและถูกทำลายเหมือนกับการใช้ฟันกัดเล็บ และเคี้ยวน้ำแข็งนั่นเอง เราจึงควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้

6. การกัดเค้นฟันเมื่อเกิดความเครียด เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากจิตใต้สำนึก พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้น ที่ชอบกัดเค้นฟันเมื่อเกิดอาการเครียด จิตแพทย์อาจมีส่วนสำคัญในการหาสาเหตุและแก้ไขพฤติกรรมการกัดเค้นฟันนี้ ทั้งนี้ การรักษาจะต้องใช้ความร่วมมือระหว่างแพทย์และทันตแพทย์จึงจะทำให้พฤติกรรมนี้หายขาดได้

7. การกัดเคี้ยวฟันในขณะนอน พฤติกรรมนี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากโครงสร้างฟันบนและล่างไม่สัมพันธ์กัน เกิดจากฟันซี่ใดหรือส่วนใดส่วนหนึ่งในช่องปากขวางต่อการบดเคี้ยว ทำให้ร่างกายพยายามกำจัดสิ่งกีดขวางนั้น ๆ ด้วยการกัดเคี้ยวฟันในขณะนอนหลับ นอกจากนี้ยังพบว่า เกี่ยวเนื่องมาจากความเครียดซึ่งทำให้จิตใต้สำนึกสั่งให้กัดเคี้ยวฟันในขณะนอนหลับ หากทันตแพทย์พบว่าสาเหตุมาจากฟัน ทันตแพทย์ก็สามารถช่วยแก้ไขได้ด้วยการแก้ไขการสบฟัน หรืออาจใช้การจัดฟันในกรณีที่เหมาะสม อาการนอนกัดฟันนี้ อาจตรวจพบยาก เพราะต้องสอบถามคู่นอนถึงพฤติกรรมดังกล่าว ซึ่งส่วนมากแล้ว คนที่นอนกัดฟันมักจะไม่ทราบว่าตนมีสภาวะนี้อยู่ แต่ทันตแพทย์ตรวจพบว่าฟันสึก จึงสันนิษฐานว่าเป็นมาจากการนอนกัดฟัน

8. การเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บต่อฟัน กีฬาหลายชนิดมีความรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดการกระทบกระเทือนฟันรุนแรง จนสูญเสียฟันได้ กีฬาเช่น มวย อเมริกันฟุตบอล ฟุตบอล ขับจักรยาน และกีฬาผาดโผนอื่นๆ นั้น จะต้องระมัดระวัง ควรมีการใส่เครื่องมือกันกระแทกฟัน หรือ ยางกัดฟันสำหรับนักกีฬาเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

9. การดื่มน้ำน้อย นอกจากจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมแล้ว การดื่มน้ำน้อยยังส่งผลต่อปริมาณน้ำลายในช่องปากที่ลดลง ทำให้สภาพช่องปากมีความเป็นกรดมาก เกิดฟันผุได้ง่าย สภาพน้ำในร่างกายน้อย ยังอาจเกิดได้จากการเสียเหงื่อมาก หากออกกำลังกายมาก ก็ควรดื่มน้ำให้มากขึ้นด้วย เพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายผลิตน้ำลายมากขึ้น

10. ชอบดื่มเครื่องดื่มเปรี้ยวหรือน้ำอัดลม ในเครื่องดื่มเหล่านี้ จะมีความเป็นกรดซึ่งทำให้สภาพช่องปากมีสภาพเป็นกรด เกิดการผุของฟันได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้ กรดยังละลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันกร่อน ละลายตัวออกจนมีอาการเสียวฟัน หรือรุนแรงมากจนฟันสูญเสียรูปร่างได้ เราจึงควรทานน้ำผลไม้เปรี้ยว (เช่น มะนาว) น้ำอัดลมต่างๆ และเครื่องดื่มให้พลังงานต่างๆ ให้น้อยลง

11. กินผลไม้ดอง ผักดองเปรี้ยว (ผักกาดดอง กิมจิ) ผลไม้ตากแห้งที่มีรสเปรี้ยว อาหารเหล่านี้ จะเพิ่มความเป็นกรดในช่องปากให้สูงขึ้น การบดเคี้ยวผักดองผลไม้ดอง ก็จะยิ่งทำให้ฟันกร่อนได้ง่าย การทานอาหารเหล่านี้เป็นประจำ จะทำให้ฟันกร่อนอย่างรวดเร็วและเสียวฟันอย่างมาก

12. สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่มีผลทำร้ายฟันและเหงือกอย่างรุนแรง สารนิโคตินในบุหรี่ จะทำให้ฟันดำ และเหนียวติดฟัน กำจัดออกยาก ทำให้คราบจุลินทรีย์ติดฟันง่าย และส่งผลให้เกิดโรคเหงือกได้เร็วกว่าปกติ ความร้อนจากการสูบบุหรี่ ก็มีผลทำร้ายคอลลาเจนในเหงือก ทำให้เหงือกถูกทำลาย และร่นได้อย่างรวดเร็ว บุหรี่ยังทำให้น้ำลายในช่องปากไหลน้อยลง เกิดสภาพที่ส่งเสริมให้ฟันผุง่าย การสูบบุหรี่จึงทำให้สูญเสียฟันไปก่อนวัยอันควร

13. นิยมทานหวาน น้ำตาลเป็นอาหารของเชื้อโรคที่ก่อเกิดโรคฟันผุ โดยเชื้อโรคจะใช้น้ำตาลเป็นอาหาร และขับของเสียออกมาเป็นกรด กรดนี้จะส่งผลในการทำลายเคลือบฟันและทำให้ฟันผุได้ งานวิจัยมากมายชี้ให้เห็นว่าการทานอาหารหวานในระหว่างมื้ออาหาร ส่งผลให้เกิดโรคฟันผุในอัตราที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ของหวานจึงควรทานในปริมาณน้อย และทานในระหว่างมื้ออาหาร ไม่ทานจุบจิบ กรณีที่เป็นโรคเบาหวาน จะส่งผลให้แผลหายช้า งานวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหงือก ทำให้ฟันเสียก่อนวัยที่ควร การลดการทานหวานจึงดีต่อทั้งสุขภาพร่างกายและสภาพฟัน

14. ทานยาที่มีผลลดน้ำมูก ยาแก้หวัด ยาลดความอ้วน ยานอนหลับ ยาลดความเครียด ยาขับปัสสาวะ ยาต่างๆ เหล่านี้ มีผลให้ปริมาณน้ำลายในช่องปากลดลง ทำให้เกิดโรคเหงือกและฟันผุง่าย หากจำเป็นต้องทานยาดังกล่าว ให้ทานน้ำเยอะๆ และแปรงฟันด้วยยาสีฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง การบ้วนน้ำบ่อย ๆ ก็เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำในช่องปากได้

15. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ นอกจากจะไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังมีผลเสียต่อสุขภาพเหงือกและฟันด้วย ผลกระทบโดยตรงคือ ทำให้เนื้อเยื่อในช่องปากระคายเคือง ทำให้น้ำลายน้อยลง ทำให้เหงือกระคายเคือง ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือ การเมาหลับไปโดยไม่แปรงฟัน ซึ่งทำให้ฟันผุได้มาก

16. การดื่มกาแฟ ทำให้น้ำลายน้อยลงชั่วคราว หากนิยมดื่มกาแฟ ก็ควรทานน้ำตามให้มากขึ้น กาแฟมีผลให้น้ำลายน้อยลง ซึ่งเสริมสภาพความเป็นกรดในช่องปาก

Story By รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ประธานหลักสูตรทันตกรรมบูรณะเพื่อความสวยงามและทันตกรรมรากเทียม
คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SHARE