สำหรับนักเดินทางผู้รักการผจญภัยทุกคน แน่นอนว่า ต้องมีเส้นทางสายไหม (Silk Road) บรรจุเป็นเส้นทางสายฝันของทุกคน
ตลอดระยะทางกว่า 7,000 กิโลเมตรของเส้นทางสายอารยธรรม จากเมืองซีอานไปจนถึง กรุงคอนสแตนติโนเปิล สายไหมพาดผ่านหลายประเทศ แต่สายไหมในจีนเป็นเส้นทางคลาสสิกที่นักเดินทางปรารถนาจะไปเยือน
ตั้งหลักที่อูรุมฉี
เฉพาะสายไหมในเขตจีน ก็ยังมีหลายสาย แต่ไม่ว่าใครจะตั้งใจไปท่องสายไหมกลาง ไหมเหนือ หรือไหมใต้ ก็ต้องมาตั้งหลักกันที่เมืองอูรุมฉี (Urumqi) แห่งมณฑลซินเจียงด้วยกันทั้งนั้น เพราะที่นี่เป็นเมืองต้นทางของการท่องไปตามเส้นทางสายไหม
วันนี้อูรุมฉีอาจจะเป็นจุดออกตัวในการท่องไปตามมุมต่างๆ ของมณฑลซินเจียง หากแต่ในอดีตเมืองนี้เคยเป็นแค่ทุ่งหญ้าโล่งกว้างที่มีเอาไว้เลี้ยงสัตว์ แต่ต่อมาเมื่อถูกจัดตั้งขึ้นเป็นเมือง และในช่วงราชวงศ์ฮั่น ที่นี่เป็นศูนย์กลางของกองคาราวานที่พากันมาแวะพักเวลาค้าขายบนเส้นทางสายไหม
อูรุมฉีในต้นศตวรรษที่ 21 คือเมืองที่หากองคาราวานไม่เจอแล้ว มีแต่กองทัพนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่พิพิธภัณฑ์ประจำมณฑลซินเจียง สามารถเจอนักท่องเที่ยวได้มากกว่าที่อื่น เพราะที่นี่มีไว้ให้ตามรอยประวัติศาสตร์ และอารยธรรมบนเส้นทางสายไหม
ยังมีละแวกเออร์เต้าเฉียว ที่มีชาวเหวยหวูเอ่อร์หรือที่เราคุ้นชินกับการเรียกว่าชาวอุยกูร์ เดินเหินกันเต็มไปหมด ย่านนี้มีทั้งมัสยิดเออร์เต้าเฉียว และย่านกินดื่มที่มีอาหารคาวหวานวางขายเต็มไปหมด โดยเฉพาะใครที่ชอบพวกผลไม้ มาที่นี่คุณจะหลงรัก เพราะมองไปทางไหนมีแต่ผลไม้เอาไว้ให้ชิม
แต่ทีเด็ดอยู่ที่ตลาดต้าปาจา หรือแกรนด์บาซาร์ประจำเมืองอูรุมฉี ที่จัดว่าเป็นตลาดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง จึงเป็นย่านการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งสินค้าจากจีน และเอเชียกลางก็มักจะถูกส่งมาขายที่นี่ เขาถึงเรียกตลาดนี้ว่า ซินเจียง อินเตอร์เนชั่นแนล บาซาร์
คัชการ์เมืองรวยชีวิตชีวา
เมืองสวยบนเส้นทางสายไหม มีนับไม่ถ้วน แต่สวยด้วยรวยชีวิตชีวาด้วย ก็คงต้องยกให้เมืองคัชการ์ (Kashgar) หรือคาสือ เมืองที่อยู่ห่างจากต้นทางของสายไหมอย่างอูรุมฉีเกือบ 1,500 กิโลเมตร
คัชการ์มีทั้งโซนเมืองเก่าเมืองใหม่เอาไว้รับแขกเหรื่อ แต่ถ้าเรื่องสีสันฉูดฉาด และฉ่ำชีวิตชีวา คงต้องยกให้เมืองเก่า เพราะซอกซอยของเมืองเก่าแห่งคัชการ์เหมือนเขาวงกต ซอกเล็กซอยน้อยแตกแขนงจากตรอกใหญ่เต็มไปหมด แต่ละซอยซ่อนบ้านเรือนก่อด้วยอิฐแล้วฉาบโคลนเอาไว้อย่างแน่นขนัด
แต่มุมที่จะทำให้ชีพจรของนักเดินทางทุกคนเต้นเร็วขึ้นคือมัสยิดอิดคาห์ มัสยิดแห่งนี้ถือว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเมือง ไม่เพียงเป็นมัสยิดใหญ่ที่สุดในเขตซินเจียง แต่ว่ากันว่า นี่คือมัสยิดใหญ่ที่สุดบนแผ่นดินจีนเลยทีเดียว
และที่นี่ก็มีแกรนด์ บาซาร์หรือซันเดย์ มาร์เก็ต ตลาดนี้เปิดทุกวันไม่มีวันหยุด แต่ถ้าใครมาตรงกับวันอาทิตย์ตลาดนี้จะคึกคักกว่าวันอื่นๆ เพราะจะมีชาวบ้านหอบพวกสัตว์นานาชนิดมาขายด้วย ส่วนด้านในของตลาดพันปีแห่งนี้เขาจะแบ่งเป็นโซนๆ กว่า 20 โซนบนเนื้อที่ 100 กว่าไร่
เมื่อมาถึงเมืองคัชการ์แล้ว ลองเช่ารถออกไปเที่ยวทะเลสาบคาราคูล ที่อยู่ริมคาราโครัม ไฮเวย์ ก็จะเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำเหลือเกิน
คานาสือสวนสวรรค์แห่งสายไหม
คานาสืออยู่ในสายไหมโซนเหนือ สำหรับคนมีเวลาจำกัดจำเขี่ย และไม่อยากทรมานสังขารจนเกินไป จากอูรุมฉีก็มีเที่ยวบินไปลงที่สนามบินเมืองอัลไตหรืออาเล่อไท่ทุกวัน จากนั้นก็ต้องนั่งรถต่อไปอีกราวๆ 4 ชั่วโมงกว่าก็จะถึงอุทยานคานาสือ
ในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีถือว่าเป็นไฮไลท์ของคานาสือ ใครๆ ก็มาในช่วงนี้เพราะไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป ข้อสำคัญได้เห็นภูเขาเป็นสีเหลืองสะพรั่ง
เมื่อเข้าสู่อุทยาน ทุกคนจะต้องทำตามกฎของที่นี่อย่างเคร่งครัด โดยต้องขึ้นรถของทางอุทยานซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเหมือนกับที่อุทยานจิ่วไจ้โกว ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเขาไม่อยากให้กระทบกับสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวม หรือถ้าอนุญาตให้รถส่วนบุคคลเข้าไปได้ นอกจากรถราจะแน่นจนเกิดปัญหาจราจรแล้ว อาจจะเกิดมลพิษกับน้ำ ต้นไม้ และสัตว์ภายในอุทยานได้
จะว่าไปที่นี่ถือว่าเป็นอุทยานแห่งชาติไซส์เอ็กซ์แอลก็ได้ เพราะจุพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร กินพื้นที่คลุม 4 ประเทศ นอกจากกินอาณาบริเวณในจีนแล้วยังคลุมไปถึงรัสเซีย มองโกเลีย และคาซัคสถานด้วย
ด้านในของอุทยาน มีทั้งโค้งมังกรหลับ และโค้งจันทรา ที่เป็นพระเอกของคานาสือ มีลำธารทอดตัวเป็นรูปตัวเอส มองแล้วเหมือนเสี้ยวจันทร์อยู่กลางผืนน้ำ นั่นเลยเป็นที่มาของชื่อ
ยังมีอีกโค้งหนึ่งที่ไม่มีใครยอมพลาด ที่นั่นคือโค้งเทพเจ้าหรือเสินเซียนวาน ที่อยู่ห่างออกไปซักราวๆ 2 กิโลจากโค้งจันทรา มุมนี้เปลือยโล่งให้เห็นความงดงามอย่างเต็มอิ่ม
ไม่ว่าใครจะเรียกคานาสือว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์แดนมังกร หรือสวนสวรรค์แห่งสายไหมก็ตาม แต่นี่คือมุมหนึ่งของสายไหมที่อยากให้ทุกคนได้เห็นด้วยสองตาเปล่า
นี่คือ 3 มุมสวยของสายไหมในจีนที่ไม่อยากให้นักเดินทางทุกคนพลาด...
Story & Photo by กาญจนา หงษ์ทอง