บนถนนไฮเวย์สายเดิม นักท่องเที่ยวหน้าเดิมที่จอร์แดนคุ้นเคยดี พาร่างแรมทางจากเมืองหลงอย่าง อัมมาน (Amman) ฝ่าแดดเดือนหนาวที่มีเสน่ห์เสมอ มุ่งหน้าไปบนไฮเวย์สายเดิม บรรยากาศทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปก็เห็นจะเป็น ค่าเข้าชมของนครเพตราที่เปลี่ยนไป เพราะเมื่อก่อนที่ยังมีแค่สายสะพายมรดกโลก ค่าเข้าชมยังแค่ 20 ดีนาร์ แต่พอมีสายสะพายนางงามระดับโลกมาแขวนอยู่ ค่าเข้าชมกระโดดพรวดพราดเป็นวันละ 50 ดีนาร์ คิดเป็นเงินบาทก็ตก 2 พันกว่าบาท แต่เมื่อพาตัวเองมาถึงแล้ว ต่อให้แพงกว่านี้ก็คงต้องยอม
ไม่ว่าใครจะมาจากไหน ก็ต้องมาตั้งหลังที่เมือง วาดิ มูซา (Wadi Musa) ที่อยู่ปากทางเข้าเพตรา เมืองที่มีทุกสิ่งทุกอย่างที่นักท่องเที่ยวต้องการ และใครที่ยังมีอุปกรณ์กันแดดไม่พร้อม วาดิ มูซา นี่แหละ จะช่วยสรรหาครีมกันแดด ร่ม และหมวก ที่พร้อมจะรับมือกับแสงแดดระดับเพชฌฆาตของเพตรา
ในรุ่งเช้าที่แดดเผ็ดระดับสิบ จึงออกเดินเท้าจากโรงแรม มุ่งหน้าสู่นครเพตราที่เคยรุ่งเรืองในอดีต และเมืองที่เคยเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนถูกเรียกว่านครลับแล ชาวนาบาเทียน เนรมิตนครเพตราขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อน พวกเขาเป็นชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงแกะ เชื้อสายอาหรับ อาศัยอยู่ตามถ้ำทั่วไป นอกจากคุมเส้นทางการค้าแถบนั้น ก็ยังรับจ้างคอยอารักขาความปลอดภัยให้พวกกองคาราวานของพวกพ่อค้าวานิชตั้งแต่สมัยโรมัน
เพตราเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของชาวบานาเทียนอยู่นาน ช่วงที่อาณาจักรนาบาเทียนเคยรุ่งเรืองสุด ได้แผ่อำนาจครอบคลุมแถบคาบสมุทรอาหรับเลยทีเดียว และถูกเลื่องลือในหมู่พ่อค้าว่าเป็นชุมทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ จะซื้อหาอะไรศูนย์กลางทางการค้าแห่งนี้มีหมด
แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เพตราจึงได้กลายเป็นเมืองร้าง เมื่อปราศจากผู้อยู่อาศัย และถูกลมหอบทรายมาปกคลุมไว้ทั้งเมือง เพตราจึงเป็นเมืองที่ไม่ปรากฏอยู่บนแผนที่
โชคดีที่โลกเรามีนักสำรวจ พวกเขาพร้อมจะบุกป่าฝ่าเขาเข้าไปค้นเมืองที่เคยหายไปจากแผนที่โลก เขาคือ โยฮัน ลุควิก เบิร์กฮาร์ดต์ ผู้ที่ทำให้นครที่หายสาบสูญแห่งนี้กลับมาสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง ราวต้นศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่เขากำลังสำรวจเส้นทางระหว่างดามัสกัสไปยังไคโร แต่ได้ยินคนท้องถิ่นพูดกันถึงเมืองลับแลแห่งหนึ่ง เรื่องราวของนครเพตราจึงแล่นเข้าหู จุดประกายให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะค้นหานครที่หายสาบสูญนี้ให้ได้
เบิร์กฮาร์ดต์ ยอมเรียนภาษาอาหรับ จนพูดได้คล่องปร๋อ จากนั้นก็ปลอมตัวเป็นชาวอาหรับ เข้าไปคลุกคลีกับชาวเบดูอิน ซึ่งเป็นผู้รู้เส้นทางไปสู่นครเพตรา จนในที่สุดชาวเบดูอินก็ใจอ่อน ยอมพาเข้าไปสำรวจซากเมืองนี้
จากหมู่บ้านเอลจี เบดูอินพาเบิร์กฮาร์ดต์เดินลัดเลาะไปตามเส้นทางที่ทอดยาวผ่าน วาดี มูสา กระทั่งได้เข้าไปอยู่ในวงล้อมของหุบเขา แล้วภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าก็ทำให้เขาถึงกับตะลึง เมื่อเห็นเมืองอันกว้างใหญ่ทอดตัวอยู่ตรงหน้า มีทั้งความใหญ่โตโอ่อ่าของวิหาร สุสานของเมืองหิน พอได้จังหวะเหมาะเขาจึงแอบสเก็ตซ์ภาพของเมืองลับแลแห่งนี้ออกมา
ฉันค่อยๆ ย่างสามขุมเข้าไปอยู่ในวงล้อมของภูผา ค่อยๆ แทรกตัวผ่านเข้าสู่อาณาจักรแห่งหินผา ที่รอบตัวคือความงดงาม ยามแดดจัดจ้าทาบลงห่มหินผา ยิ่งขับให้ประกายความงามเปล่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบวกกับจินตนาการส่วนตัวของแต่ละคนในการมองรูปร่างหน้าตาของหิน ก็ยิ่งสนุก เพราะหินบ้างก้อนเหมือนปลา แต่มองบางมุมกลับเหมือนสิงโต
จากทางเดินโปร่งโล่ง ก็ค่อยๆ หดแคบลงเรื่อยๆ เหลือเพียงหลืบที่เป็นช่องขนาด 1 เมตร ที่เรียกว่า ชิค (Siq) ขนาบข้างทั้งสองด้วยผาหินสูงชัน ซอกซอนตัดทะลุไปตามเนินเขา
ภูเขาและแห่งผาที่เว้าแหว่งแบบนี้เกิดจากฝีมือธรรมชาติล้วนๆ เพราะถูกน้ำและลมกัดกร่อนสะสมเป็นเวลาหลายปี เลยกลายเป็นช่องและซอกเล็กๆ ระหว่างหุบเขาเมื่อบวกกับสีสันของหินที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ กว่าจะทะลุถึงลานกว้างโล่งในโอบกอดของหินผาที่เรียกว่า เทรชเชอรี (Treasury) หรือท้องพระคลัง มุมที่นักท่องเที่ยวทุกคนปรารถนาอยากจะเห็นด้วยสองตาเปล่า นี่คือมุมที่เป็นเหมือนโลโก้ของนครสีชมพู เดิมทีเป็นเพียงหน้าผาธรรมดา แต่ชาวนาบาเทียนลงมือแกะสลักอย่างน่าทึ่ง
ถัดจากเทรชเชอรีลึกเข้าไป เพตรายังมีทั้งพระราชวังที่เป็นหินผาถูกแกะสลัก และขุดเจาะไว้อย่างน่าอัศจรรย์ รวมถึงโรงมหรสพกลางแจ้งที่จุคนได้มากกว่า 3,000 ที่นั่ง และหลุมฝังศพของคนโบราณจำนวนมาก
ถ้ายอมเหนื่อยด้วยการปีนป่ายไปบนภูเขาขึ้นอีกเกือบชั่วโมง ก็เจออีกหนึ่งไฮไลท์ของเพตรา นั่นคือ โมนาสเทอรี (Monastery) มุมที่เป็นวิหารแกะสลักบนผาหินสีชมพูที่งดงามไม่แพ้เทรชเชอรี