Soft Power ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่มาแล้วไป แต่คือพลังที่สามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวไกลสู่เวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นอาหาร แฟชั่น ศิลปะ ดนตรี ไปจนถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม คำถามสำคัญคือ เราจะทำให้ Soft Power ไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและสร้างรายได้อย่างแท้จริงได้อย่างไร?
หนึ่งในผู้ที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ คุณพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล หรือ คุณหมู รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ หรือ Creative Industry & Soft Power Institute (CISPI) สถาบันที่มุ่งมั่น เปลี่ยน Soft Power ไทยให้กลายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ด้วยประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรมมายาวนาน คุณหมูเป็นหนึ่งในผู้หญิงแถวหน้าที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วยมุมมองที่เฉียบคม และสิ่งที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จได้ถึงจุดนี้ ไม่ใช่แค่ความรู้ ความสามารถ แต่คือ ‘พลังบวก’ และ ‘การคิดบวก’ ที่เธอเชื่อมั่นเสมอว่าทุกปัญหามีทางออก และทุกอุตสาหกรรมมีศักยภาพที่จะเติบโตได้หากได้รับการพัฒนาอย่างถูกทิศทาง นี่คือแนวคิดที่เธอนำมาใช้ในการผลักดัน Soft Power ไทยให้กลายเป็นพลังที่จับต้องได้ สร้างรายได้จริง และสร้างโอกาสให้กับอุตสาหกรรมไทยในระดับโลก
จุดเปลี่ยนที่นำไปสู่การก่อตั้ง CISPI
“ด้วยสภาวะปัจจุบันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหลายอย่างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมถึงอุตสาหกรรมไทยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) หรือกฎเกณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Climate Change ซึ่งกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดำเนินธุรกิจและการดำรงอยู่ในตลาดโลก ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย สิ่งที่เราคิดว่าสามารถช่วยเสริมให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ คือการนำ Culture, Heritage และ Wisdom ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของประเทศไทย มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและอุตสาหกรรมของเรา ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมมาอย่างยาวนาน เราผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากลอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการต่อยอดพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ CISPI จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก”
CISPI คืออะไร? และจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยอย่างไร?
“CISPI (ซิสปี้) หรือ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ (Creative Industry and Soft Power Institute) เป็นสถาบันภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่มีเป้าหมายหลักในการผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย รวมถึงพัฒนาการเพิ่มมูลค่าผ่านซอฟต์พาวเวอร์ไทย โดยสิ่งที่เรามุ่งเน้นเป็นอันดับแรกคือการสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ นักผลิต หรือผู้สร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ โดยเบื้องต้น เราจะโฟกัสที่ 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหาร แฟชั่น อัญมณี เกม และเวลเนส (Wellness) ซึ่งทั้งห้าด้านนี้ล้วนมีรากฐานของอัตลักษณ์ไทยที่แข็งแกร่ง ทำให้สามารถผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่รวดเร็วหรือที่เรียกว่า Quick Wins เมื่อเกิดความสำเร็จในระยะสั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างพลังใจและเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Ecosystem โดยรวมของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย
“นอกจากนี้ CISPI ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในระดับภูมิภาค เราจึงร่วมมือกับรายการ Naris Seasons (นริส ซีซันส์) พื้นที่ปลุกความคิด เพื่อสร้างพลังชีวิต ซึ่งเป็นรายการที่นำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศในรูปแบบซีรีส์ One Province, One Series โดยเนื้อหาจะครอบคลุมตั้งแต่วัฒนธรรม อาหาร ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์อัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดการรับรู้และต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ รายการนี้ออกอากาศทางช่องเนชั่นทุกวันอาทิตย์ เวลา 09:30 - 10:00 น. และเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้กว้างขึ้น”
CISPI มีเป้าหมายหรือโปรเจกต์เด่นอะไรที่คุณหมูอยากให้คนไทยติดตามในปีนี้?
“โปรเจกต์ของ CISPI ในปีนี้มีหลายด้านที่เรากำลังผลักดัน โดยเฉพาะในแง่ของอาหาร เรามีเป้าหมายที่จะผลักดันยอดส่งออกอาหารไทยให้ติดอันดับท็อปเท็นของโลก โดยใช้ Thai SELECT ของกระทรวงพาณิชย์เป็น Umbrella Brand ในการนำอาหารไทยไปสู่เวทีสากล สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ รสชาติ และความปลอดภัย ส่วนทางด้านแฟชั่นและอัญมณี CISPI ยังคงผลักดันให้แฟชั่นไทยเติบโตในตลาดโลก และในอุตสาหกรรมอัญมณี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เรากำลังมุ่งให้ไทยเป็น Gems & Jewelry Hub ของภูมิภาคและระดับโลก ด้านเกม เราตระหนักดีว่าปัจจุบันเกมที่เล่นในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นเกมนำเข้า แต่ในความเป็นจริง Soft Power ของไทย โดยเฉพาะความสามารถของเด็กไทยและคนรุ่นใหม่ สามารถสร้างเกมที่แข่งขันในตลาดโลกได้ เราจึงต้องกลับมาสร้างและผลักดันเกมไทยให้มีส่วนแบ่งตลาดอย่างน้อย 10% ของมูลค่าตลาดที่สูงถึง 40,000 ล้าน หรือคิดเป็น 4,000 ล้านในตลาดเกม นี่คือหนึ่งในภารกิจหลักของเราในปีนี้และปีหน้า นอกจากนี้ Wellness ของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เรากำลังทำงานร่วมกับคณะซอฟต์พาวเวอร์ของภาครัฐเพื่อพัฒนาภาคส่วนนี้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์สำคัญ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เราจะร่วมมือสนับสนุนงานมหาสงกรานต์ของภาครัฐ และในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็น Pride Month ปีนี้ถือเป็นปีที่สมรสเท่าเทียมได้รับการรับรอง เราจึงร่วมกับ Creative Economy Agency (CEA) ออกแบบอัตลักษณ์ CI และผลักดันให้ Pride Month เป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พร้อมสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียม ซึ่งถือเป็น Soft Power สำคัญของไทยที่เราต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง”
Soft Power ของไทยที่คุณหมูเห็นว่า ‘มาแรง’ และสามารถผลักดันไปสู่เวทีโลกได้มีอะไรบ้าง?
“หากพูดถึง Soft Power ของไทยที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในระดับโลกและเป็น Quick Wins ที่เราควรเร่งผลักดันในช่วงนี้ มีอยู่สามด้านหลักที่เห็นได้ชัด ได้แก่ อาหารไทย อัญมณี และมวยไทย
“อาหารไทย ถือเป็นจุดแข็งของเราที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จากผลวิจัยของ Brand Finance ระบุว่า อาหารไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยที่อันดับ 5 คืออาหารญี่ปุ่น ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนทั่วโลกให้ความสนใจและชื่นชอบอาหารไทยอยู่แล้ว นี่จึงเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันให้อาหารไทยก้าวสู่เวทีโลกมากยิ่งขึ้น และยังสามารถนำ Soft Power ด้านอื่นๆ ไปต่อยอดควบคู่กันได้
“อัญมณีไทย เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยมีความโดดเด่นและเป็นศูนย์กลางระดับโลก การจัดงานอัญมณีในไทยได้รับความสนใจจากผู้ค้าระดับนานาชาติ และปัจจุบันไทยเริ่มกลายเป็น จุดหมายสำคัญของเหล่า Traders ที่เดินทางเข้ามาเพื่อซื้อขายและแลกเปลี่ยนในวงการนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องเร่งผลักดันต่อไป
“มวยไทย ถือเป็นวัฒนธรรมที่เราภาคภูมิใจและมีศักยภาพในการขยายตัวไปทั่วโลก เห็นได้จากการที่เมื่อใดก็ตามที่มวยไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ก็จะมีการเปิดค่ายมวยและโรงเรียนสอนมวยไทยในต่างประเทศมากขึ้นตามไปด้วย นี่ถือเป็นการ ส่งออกภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทย ออกสู่เวทีโลกในรูปแบบที่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง ทั้งสามด้านนี้คือ Soft Power ของไทยที่มาแรงและมีโอกาสสูงในการขยายสู่ระดับสากล ซึ่งเราควรเร่งผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนในช่วงเวลานี้”
ในฐานะที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมมายาวนาน อะไรคือหัวใจสำคัญของการสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เติบโตและแข่งขันได้?
“หัวใจสำคัญของการผลักดัน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ให้เติบโตและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนอยู่ที่ การสร้าง Ecosystem ที่แข็งแกร่งและเอื้อต่อการพัฒนา ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ผู้ประกอบการ การลงทุน ตลาด และกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่ออุตสาหกรรม อันดับแรกคือการพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงโอกาสในการ Reskill และ Upskill เพื่อให้สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ประการที่สองคือการสนับสนุนด้านการลงทุน การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุนจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ขยายตัวและเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประการที่สามคือตลาด ซึ่งต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่าย การสร้างแบรนด์ และการขยายโอกาสให้ธุรกิจสร้างสรรค์ไทยสามารถเข้าถึงตลาดระดับโลกได้ สุดท้ายคือกฎเกณฑ์ กฎหมาย และ การดูแลทรัพย์สินทางปัญญาที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและมีความคล่องตัวในการเติบโต CISPI พร้อมทำงานร่วมกับภาครัฐและทุกภาคส่วนในการผลักดันให้ Ecosystem นี้แข็งแกร่งและเป็นพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้”
สุดท้าย ถ้าคนทั่วไปหรือคนรุ่นใหม่อยากมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน Soft Powerของไทย CISPI มีช่องทางให้พวกเขามีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง?
“CISPI เปิดกว้าง และพร้อมต้อนรับทุกคน ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะกลุ่ม Talent รุ่นใหม่ ที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ ผู้ผลิต หรือบุคคลที่เชื่อมั่นว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่าน พลังของอัตลักษณ์ไทย สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือการมี ความเชื่อและความมั่นใจ ในศักยภาพของ Soft Power ไทย หากมีสิ่งนี้ เราก็พร้อมที่จะร่วมมือและผลักดันไปด้วยกัน
“CISPI ดูแลทุกองค์ประกอบในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตั้งแต่การเชื่อมโยงสู่องค์ความรู้ ซึ่งภาครัฐจัดไว้พร้อมแล้วคือ ‘OFOS’ การสร้างเครือข่าย ไปจนถึงการผลักดันผลงานให้ออกสู่ตลาดโลก จากนี้ไปเราจะพยายามส่งต่อข้อมูล ข่าวสาร และความก้าวหน้าของ CISPI ผ่านทุกช่องทางสื่อที่เข้าถึงได้ โดยเฉพาะทาง เว็บไซต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญสำหรับผู้ที่ต้องการติดตามและเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่เวทีโลก”
Soft Power ของไทยไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสหรือคำพูดสวยหรู แต่คือ พลังที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ให้แข่งขันได้ในเวทีโลก และการเปลี่ยนแนวคิดให้กลายเป็น ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน’ ต้องอาศัยความเข้าใจ มุมมองที่เฉียบคม และกลไกที่แข็งแกร่งในการผลักดัน ในฐานะผู้นำที่คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมมายาวนาน คุณพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ไม่เพียงแค่เห็นโอกาสในการนำ Soft Power ไทยไปต่อยอด แต่เธอยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้แนวคิดนี้เกิดขึ้นจริงผ่าน CISPI สถาบันที่พร้อมสร้าง Ecosystem ให้แข็งแกร่ง สนับสนุนผู้ประกอบการ และส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยสู่ตลาดโลก
วันนี้ Soft Power ไทยมีศักยภาพและอยู่ในจุดที่สามารถสร้างโอกาสได้อย่างมหาศาล แต่การผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนรุ่นใหม่ ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในอนาคต หากเราร่วมมือกันอย่างจริงจัง เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง และใช้พลังบวกในการเปลี่ยนแปลง เราจะสามารถทำให้ Soft Power ของไทยก้าวไปไกลกว่าที่เคย และกลายเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยในเวทีโลก...