การแข่งขันเรือยาวช้างไทยชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเทศกาลริมน้ำ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาการกุศลหารายได้ช่วยเหลือช้างไทย จัดโดยกลุ่มโรงแรมอนันตรา ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับโรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 29 – 31 มีนาคม ได้ปิดฉากลงด้วยความตื่นเต้นสนุกสนาน
โดยงานแข่งขันเรือยาวช้างไทยชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการแข่งเรือยาวประเภท 20 ฝีพาย ในแต่ละรอบจะเป็นการพบกันระหว่าง 4 ทีม ในระยะ 200 เมตร และพบกันต่อเนื่องตลอด 3 วัน โดยในรอบชิงขนะเลิศเป็นการประชันฝีพายระหว่าง ทีมเทศบาลนครนนทบุรี (สนับสนุนโดย กลุ่มโรงแรมอวานี) สถาบันการพลศึกษา (สนับสนุนโดย เมอร์เซเดส เบนซ์) ทีมยุทธการนาวา หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (สนับสนุนโดย น้ำแร่ธรรมชาติตราช้าง) ทีมเจ้าแม่ประดู่ทอง กองทัพเรือ (สนับสนุนโดย จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บลู เลเบิ้ล) โดยทีมที่สามารถคว้าถ้วยรางวัลพระราชทานไปครอง ได้แก่ ทีมยุทธการนาวา พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท ตามด้วย รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมเจ้าแม่ประดู่ทอง กองทัพเรือ รับถ้วยรางวัลพร้อมเงิน 100,000 บาท รองอันดับ 2 คือ ทีมสถาบันการพลศึกษา รับถ้วยรางวัลพร้อมเงิน 50,000 บาท และรองอันดับ 3 คือ ทีมเทศบาลนครนนทบุรี รับเงินรางวัล 20,000 บาท
สำหรับการแข่งขันกรรเชียงบกชิงแชมป์เอเชีย มีประเทศต่างๆ ส่งนักกีฬาเข้าร่วมชิงชัยถึง 9 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน ไต้หวัน อินเดีย อิรัก ญี่ปุ่น มาเลเซีย ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และไทย โดยรอบชิงชนะเลิศประเภทเดี่ยว เป็นการแข่งขันในระยะ 2 กิโลเมตร ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ฝ่ายชาย ได้แก่ พาร์มินเดอร์ ซิงห์ จากอินเดีย ส่วนผู้ชนะเลิศฝ่ายหญิง ได้แก่ ยี่ ติง ฮวง จากไต้หวัน
นอกจากการแข่งขันทั้งบนบกและในน้ำที่ตื่นเต้นเร้าใจแล้ว ภายในงานยังประกอบด้วยอาหารจากร้านดังที่ได้รับการคัดสรรมาอย่างดี การประกวดแต่งกายชุดไทยสวยงาม ชิงรางวัลที่พักมัลดีฟส์ และความบันเทิงมากมายสำหรับทุกคนในครอบครัว รวมถึงคอนเสิร์ตจากศิลปินดังที่มาร่วมสร้างสีสันตั้งแต่ช่วงเย็นเป็นต้นไป
ซึ่งรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมงาน ยังได้นำไปสนับสนุนและสานต่อโครงการการกุศลเพื่อช่วยช้างอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งให้การสนับสนุนโครงการด้านสัตวแพทย์ และการศึกษาวิจัย เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของช้างและควาญช้างในจังหวัดสุรินทร์ โครงการช้างบำบัด ร่วมกับภาควิชากิจกรรมบำบัด ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 โดยนำช้างมาช่วยบำบัดเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมและรวมถึงอาการอื่นๆ นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกของเอเชีย เกี่ยวกับการฝึกช้างแบบเสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement Training) เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ดูแลช้างรวมถึงเจ้าของแคมป์ช้างต่างๆ รวมถึงการจัดอบรมเพิ่มเติมในประเทศเมียนมาร์ ซึ่งจะทำให้ช้างกว่า 200 เชือก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Author By : Daruwan.C