จากที่มีพื้นฐานในแวดวงการศึกษาในฐานะผู้บริหารโรงเรียนทิวไผ่งามรุ่นที่ 2 และประสบการณ์จากการลงพื้นที่ในการทำงานการเมือง ทำให้ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม เล็งเห็นถึงปัญหา รวมถึงความสำคัญของเด็กไทย กับการเรียนภาษาอังกฤษ จึงได้ก่อเกิดเป็นโปรแกรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษทางไกล โดยครูเจ้าของภาษาในชื่อว่า Braincloud Learning
Braincloud เป็นองค์กรการศึกษาซึ่งได้พัฒนาระบบพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอันนำสมัย และพื้นที่การเรียนรู้ที่ได้รับการออกแบบเพื่อเร่ง และส่งเสริมการเพิ่มพูนทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งจุดเริ่มต้นมากจากที่ ดร.ณหทัย และสามี คุณแทน - ธันธเนศ สมบูรณ์ทรัพย์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษที่มีต่อเด็กไทย ประกอบกับ ดร.อ้อเองนั้นมีความเชี่ยวชาญในระบบการเรียนการสอน ส่วนคุณแทนก็มีความเชี่ยวชาญในด้านของเทคโนโลยี จึงได้นำสองสิ่งมารวมกันเพื่อเป็นประโยชน์กับอนาคตของชาติ
“ความคิดนี้ได้เริ่มตั้งแต่สมัยที่แต่งงานกับสามีใหม่ๆ ซึ่งสิ่งที่เราสองคนคุยกันคือ เรื่องของ One Tablet Per Child ตอนนั้นประมาณ 10 ปีที่แล้วค่ะ ซึ่งเรื่องเทคโนโลยีในบ้านเรายังไม่ทันสมัยเท่ากับสมัยนี้ เราสองคนคิดว่าถ้าเราสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาบวกกับการเรียนการสอนผ่านแท็บเลต เราจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด อีกอย่างเราได้เห็นแล้วว่าคอนเทนต์ที่จำเป็นต่อเด็กไทยก็คือภาษาอังกฤษ เพราะถ้าเราไม่ได้เรื่องภาษาหนทางที่จะเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของอนาคตของชาติก็จะน้อยลง และก้าวไปไม่ทันเขา เราจึงนำสองสิ่งนี้มารวมกัน และเกิดเป็น Braincloud ขึ้นมาในที่สุดค่ะ
“โดยในการเรียนการสอน เราพยายามทำให้ผู้เรียนได้รู้สึกใกล้ชิดกับครูผู้สอนมากที่สุด เพียงแค่มีสกรีนหนึ่งมากั้นแค่นั้นเอง จุดนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่โรงเรียนต้องไปลำบากจัดการเอง ในเรื่องของการทำวีซ่าให้ครูผู้สอน รวมถึงการควบคุมเรื่องคุณภาพครู การต้องเทรนครูให้เป็นโปรเฟชชั่นนอล โรงเรียนสามารถตัดเรื่องเหล่านี้ไปได้เลย โดยให้เราเป็น Outsource วิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งหลักสูตรการเรียนภาษาเราเริ่มจากการฟัง พอฟัง พูด และก็ค่อยอ่าน พออ่านได้เยอะๆ เราก็จะรู้แนวทาง แล้วเราก็จะเขียนได้ คือมันจะเกิดแพทเทิร์นขึ้นในสมอง อันนี้คือวิธีธรรมชาติเลยนะคะ ซึ่งเราได้นำทฤษฎีนี้มาใช้ คือไม่ว่าเรียนภาษาที่สองที่ไหนก็ใช้หลักการเดียวกัน วิธีการนี้เราได้นำมาจาก Quebec ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งของแคนาดา ที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ในขณะที่ภาษาราชการของทั้งประเทศคือฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นเอกสารราชการทั้งหมดจะมีสองภาษาคู่กัน ซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญเขาด้วย และมีที่นี่ที่เดียวในแคนาดาที่เป็น Bilingual สิ่งที่น่าสนใจคือเขาทำอย่างไรเด็กๆ ถึงได้พูดทั้งสองภาษาเหมือนเป็นภาษาแม่ทั้งสองภาษา โดยไม่ต้องแยกว่าอันนี้เป็นภาษาแม่ หรือเป็นภาษาทางการ แต่ทั้งสองภาษาคือภาษาของเขาทั้งคู่ เราจึงได้ไปนำสิ่งนี้ของเขามากเพื่อพัฒนาใช้ในการเรียนการสอนของเราค่ะ”
Braincloud Learning
“หลักสูตรของเรามีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งในการสอนเด็กประถมฯ เขาจะมีความสนใจในช่วงสั้น ถ้าระหว่างการสอนแล้วเทคโนโลยีกระตุก เด็กก็จะสะดุด ขาดความสนใจ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องใช้ไฟเบอร์ออฟติก และถ้าครูนั่งเฉยๆ ไม่มีเทคนิคที่จะดึงดูดเด็ก เด็กก็จะขาดความสนใจ ครูต้องเป็นอนิเมชั่น เห็นได้ชัดว่าการสอนแบบออนไลน์มันต่างจากการสอนในห้องเรียนมาก เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดนี่คือสิ่งที่เราพัฒนามาตลอดค่ะ ถึง ณ วันนี้ก็ได้เข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ซึ่งสองปีแรกเราทดลอง ทดสอบปรับวิธีการสอน ทั้งเทคโนโลยีแล้วก็คอนเทนต์ ปรับอะไรหลายๆ อย่าง จนถึงวันนี้โรงเรียนกลุ่มที่เข้าโครงการกับเรา มีทั้งนักเรียนกลุ่มที่อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และก็มีทั้งองค์กรท้องถิ่น เช่น อบต, อบจ. และยังมีโรงเรียนเอกชน ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศค่ะ”
Braincloud กับนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้
“ย้อนไปตอนเริ่มโครงการ เราได้ทำโครงการ Braincloud ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งโครงการของเราสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งการสอนภาษาอังกฤษ และการขาดแคลนครูสอนภาษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนด้วย ที่เราเริ่มต้นโครงการที่สามจังหวัดนี้ เพราะเราอยากให้เด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีความรู้เทียบเท่ากับเด็กจังหวัดอื่นในประเทศไทย และเราก็คิดว่าถ้าทำที่นี่แล้วเวิร์ก หลังจากนี้จะไปที่ไหนในประเทศไทยก็น่าจะเวิร์กเช่นกัน ตอนนี้โรงเรียนที่เราไปทำโครงการด้วย ต้องเปิดห้องเรียนเพิ่ม เพราะเด็กๆ อยากเรียนมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าโครงการนี้ได้ผลจริงๆ 4 ปีแล้ว เราได้เห็นพัฒนาการของเด็กๆ อย่างชัดเจน ซึ่งเป้าหมายของเราก็คืออยากให้เด็กในระบบของไทย พูดภาษาอังกฤษได้ คือถ้าเขาพูดได้ ชีวิตเขาต่อไปเราไม่ต้องห่วงแล้วค่ะ”
Meaning of Love
“คำสั้นๆ คำเดียว คือคำว่า ให้ ให้แล้วไม่ต้องหวังถึงการตอบแทน อย่างโครงนี้เราให้ โดยไม่ได้หวังถึงอะไรตอบแทนเลย เพียงแต่ว่าเราต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องให้กับคุณครู ตั้งแต่ทำมาเราก็ยังขาดทุนอยู่เลยค่ะ แต่เราก็ไม่ได้หยุดยั้งที่จะก้าวหน้าต่อไป เพราะเราเห็นถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมค่ะ”
Author By : Arunlak