สังคมโลกในยุคปัจจุบัน ต่างให้ความสำคัญ และยกย่องสุภาพสตรี เทียบเท่ากับ สุภาพบุรุษ เพราะต้องยอมรับว่า สมัยนี้ความสามารถของสตรีนั้น ไม่น้อยไปกว่าใครเลย โดยเห็นได้จากประเทศ หรือ องค์กรหลายๆ แห่งที่มีสตรีเป็นผู้ขับเคลื่อนและเป็นผู้นำ
สำหรับประเทศไทยเองได้มีการยอมรับและยกย่องในสิทธิสตรีเฉกเช่นเดียวกับประชาคมโลกเห็นได้จากการจัดตั้งให้มี สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางที่รวมความคิดเห็น และปฏิบัติงานในอันที่จะสร้างเสริม และผดุงไว้ซึ่งสวัสดิภาพ และความเป็นอยู่อันดีของมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรี โดยไม่จำกัดฐานะและศาสนาซึ่งนับเป็นการส่งเสริมศักยภาพของสตรีให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสังคม
HiSoParty ครั้งนี้ มีโอกาสได้พูดคุยสัมภาษณ์ กับสุภาพสตรี ที่เพียบพร้อมไปด้วยความสามารถรอบด้านทั้งในการบริหารธุรกิจ การทำงานด้านสังคม และการดูแลครอบครัว กับ ‘ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารี’ หรือ คุณเจี๊ยบ เธอเป็นบุตรสาวคนเล็ก ของ ดร.บรรเจิดและคุณหญิงสวลี ชลวิจารณ์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของสหธนาคาร ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ดร.ลาลีวรรณ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Wisconsin Madison ที่ประเทศอเมริกา, ปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ ที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปริญญาเอก ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในด้านชีวิตครอบครัว ดร.ลาลีวรรณสมรสกับคุณพรเสก กาญจนจารีมีบุตร-ธิดารวมกัน 3 คน
ดร.ลาลีวรรณย้อนเล่าให้ฟังว่าหลังจากจบปริญญามาจากอเมริกา เธอได้เริ่มทำงานที่สหธนาคารเป็นที่แรก จนได้ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการดูแลด้านสินเชื่อ จากนั้นได้ทำธุรกิจสินทรัพย์ประกันภัย ควบคู่กับ บริหารงานธนาคารจึงได้หันไปทุ่มเทงานให้กับบริษัทประกันภัย
“ดิฉันบริหารงานที่สินทรัพย์ประกันภัย มาเป็นเวลาหลายปี จากนั้นจึงตัดสินใจขายสินทรัพย์ประกันภัยให้ผู้อื่นมาบริหาร ในปี 2538 ดิฉันได้เริ่มทำธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ในซอยร่วมฤดี เพลินจิต ชาโต เดอ แบงคอค ซึ่งเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์แห่งแรกในประเทศไทย ถือเป็นธุรกิจหนึ่งของครอบครัวที่คุณพรเสก และดิฉันตั้งใจสร้างให้กับลูกๆเพื่อเป็นหลักในอนาคต ตอนนี้เราเริ่ม Renovate ครั้งใหญ่ เปลี่ยนเป็นบูทีคโฮเทล ที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยลูกๆ ได้มีส่วนร่วมเข้ามาดูแลตั้งแต่การออกแบบ ออกไอเดีย ตั้งแต่เริ่มปรับปรุง ลูกๆ เป็นคนรุ่นใหม่ที่โชคดี มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศตั้งแต่ยังเล็ก มีประสบการณ์ สังเกตข้อดีข้อเสียเวลาไปพักตามโรงแรมต่างๆ และนำมาปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองค่ะ” หลังจากดร.ลาลีวรรณได้เล่าถึงการบริหารธุรกิจที่เธอทำอยู่ เราจึงได้ไถ่ถามถึง การดำรงตำแหน่งมากมายในงานด้านสังคมที่เธอได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากมาย ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อส่วนรวมของเธอ และปัจจุบันนี้เธอดำรงตำแหน่งอะไรอยู่บ้าง
“แรงบันดาลใจที่ทำให้ดิฉันร่วมทำงานด้านการกุศล คือ คุณแม่ของดิฉัน คุณหญิง สวลี ชลวิจารณ์ ท่านเป็นประธานมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และมูลนิธิกฤตานุสรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อตอนที่ดิฉันยังเด็กๆ ได้ติดตามคุณแม่ไปประชุมและร่วมกิจกรรมงานสาธารณกุศลต่างๆ จึงทำให้ดิฉันซึมซับการทำงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี ในการเสียสละ และช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอดค่ะ
“ดิฉันเป็นรองประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานฝ่ายต่างประเทศ ซึ่งมีองค์กรสมาชิกสตรีกว่า 200 องค์กรทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นองค์กรสตรีที่ปฏิบัติงานช่วยยกระดับความเป็นอยู่ สถานภาพและสมรรถภาพของสตรีไทย ตลอดจนแก้ไขปัญหาอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสตรี เมื่อครั้งที่ดิฉันดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการ ของสภาสตรีแห่งชาติฯ งานที่ดิฉันภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง คือได้เป็นประธานฝ่ายหาทุนจัดงานในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครบ 50 ปี และ 60 ปี โดยได้นำรายได้ทูลเกล้าถวายเงินเพื่อมูลนิธิชัยพัฒนา ทั้งสิ้น 82 ล้านบาท ปัจจุบันเป็นประธานฝ่ายต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นตัวแทน ร่วมมือและประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนระหว่างประเทศ เช่น เป็นผู้แทนร่วมประชุมสมาพันธ์สตรีอาเซียน (ASEAN Confederation of Women’s Organization ACWO) และ International Council of Women (ICW) ในการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อสตรี นอกจากนี้ดิฉันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธาน มูลนิธิกฤตานุสรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สืบเนื่องจากคุณแม่ดิฉัน คุณหญิงสวลี ชลวิจารณ์ เป็นประธานมูลนิธิกฤตานุสรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อช่วยเหลือ บุตร ธิดา ของทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และอาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ จนได้รับบาดเจ็บ จนเสียชีวิต หรือ พิการ ทุพพลภาพ ให้ได้รับการศึกษาจนสามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเอง
“จากนั้นดิฉันได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง International Nominating Committee ซอนต้าสากล ทำหน้าที่คัดเลือกสรรหาผู้นำจากทุกภูมิภาคมาดำรงตำแหน่งสำคัญในซอนต้าสากล ถือเป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ค่ะ นอกจากนี้ดิฉันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการพูดภาษาอังกฤษ (ประเทศไทย) สมาคมเน้นการยกระดับทักษะด้านภาษาอังกฤษของเยาวชนไทยให้มีมาตรฐานเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสารในระดับที่ใช้งานได้โดยสมาคมได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันบริติช เคานซิลคัดเลือกเยาวชนที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษจากโรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมการแข่งขันการกล่าวสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษต่อหน้าสาธารณชน อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ปี โดยส่งเด็กที่ชนะเลิศไปแข่งขันที่ประเทศอังกฤษ เพื่อเป็นการส่งเสริมภาษาอังกฤษและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เท่าเทียมสากล นอกจากนั้นยังจัดให้มีการแข่งขันละครสั้นภาษาอังกฤษ และ อ่านบทร้อยกรองภาษาอังกฤษอีกด้วย
“และในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดิฉัน และครอบครัวมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริจาคเงิน ช่วยโรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งยังได้มอบอาหารกล่องให้บุคลากรทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆและมอบถุงยังชีพ อาหารปรุงสุกให้เขตปทุมวัน ส่งมอบให้แก่ชุมชนเขตปทุมวัน ที่ได้รับผลกระทบค่ะ”
เมื่อได้ฟังสิ่งต่างๆ ที่ดร.ลาลีวรรณ รับผิดชอบทั้งทางด้านธุรกิจส่วนตัว รวมถึงการทำงานด้านสังคมต่างๆที่มีจำนวนมาก จึงเกิดคำถามว่า เธอจัดสรรเวลาอย่างไรในการทำงานและการดูแลครอบครัว
“ดิฉันว่าในชีวิตคนเรามีอะไรมากมายที่จะให้เราทำทั้งด้านการงาน สังคม และการปฏิบัติหน้าที่แม่บ้านในครอบครัว ก่อนอื่นเราต้องชั่งน้ำหนักว่า อะไรคือ Priority ความสำคัญในขณะนั้นมากที่สุดค่ะ ย้อนไปสมัยก่อนที่คุณพรเสก (สามี) จะมาไม่สบาย สิ่งที่สำคัญของเรา คือ การเลี้ยงดูแลลูกๆ เพราะช่วงนั้นลูกๆ ยังเด็กทั้ง 3 คน กำลังศึกษาอยู่โรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษ เราต้องบินไปหาเขาทุกเดือน บางครั้งไปศุกร์เช้า ถึงลอนดอนตอนเย็น วันศุกร์ไปรับลูกออกมาจากโรงเรียน แล้วส่งลูกเข้าโรงเรียนเย็นวันอาทิตย์คืนนั้น 3 ทุ่ม ก็บินกลับ กรุงเทพฯ ทำแบบนี้ บ่อยมากค่ะจนตอนนี้ปัจจุบันลูกสาวคนโต กุ๊กไก่ (คุณนฤพร กาญจนจารี) อายุครบ 36 ปีเต็ม เมื่อเดือนกรกฎาคมคนที่ 2 กิ๊บ (คุณอรยาพร กาญจนจารี) อายุเต็ม 33 ปีเดือนสิงหาคม ส่วนลูกชายคนเล็ก กานต์ (คุณพรประเสริฐ กาญจนจารี) อายุครบ 29 ปี ย่าง 30 ปี เดือนมกราคมปีหน้า ทุกคนโตกันหมดแล้วและทุกคนเรียนจบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ คนโต จบ King’s College คนกลางจบ University of Warwick and London University Cass ส่วนคนสุดท้ายจบ University of St. Andrews เราก็สบายใจแล้วว่า เขาเรียนจบได้ดีทุกคน ตอนนี้เราจึงไม่ต้องเป็นห่วงอะไรเขามาก ในทางกลับกัน เขาได้กลับมาช่วยแบ่งเบาเราในการทำธุรกิจของครอบครัวไปได้มาก โดยเฉพาะช่วง 2 ปี ที่คุณพรเสกไม่สบายดิฉันจะดูแลตลอด ตอนนั้นคุณพรเสกอยู่โรงพยาบาล 4 เดือน โชคดีที่ลูกสาวทั้ง 2 หยุด Gap Year มาช่วยดูแลอยู่ 1 ปีเต็ม ดิฉันเลยสบายขึ้นเยอะ น้ำหนักดิฉันตอนนั้นลดไป 7 กิโลฯ อยู่ดูแลคุณพรเสก 4 เดือนที่โรงพยาบาล จากที่เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ หยิบอาหารไม่ได้แต่วันที่ออกจากโรงพยาบาลคุณพรเสกสามารถทำทุกอย่างเองได้เหมือนปกติ คุณพรเสกสามารถช่วยเหลือตัวเอง เขาสู้มาก เก่งมากเรามักจะพูดให้กำลังใจเสมอว่า เขาต้องหาย 100% ขอให้ขยันออกกำลังกาย ทำกายภาพซึ่งคุณพรเสกทำได้ดีมากๆ รู้สึกชื่นชมว่าคุณพรเสกเป็นคนมีวินัยในการรับประทาน และ ออกกำลังกายตลอด ในตอนที่คุณพรเสกไม่สบาย ดิฉันคำนึงเสมอว่า เมื่อตอนที่สบายดีเขาดูแลเราตลอดเวลา เวลาเราป่วยเป็นโรคไมเกรน เราทานยาแรงถึงกับหลับบนโต๊ะทานข้าว เขาก็อุ้มเราไปที่เตียง และดูจนหายป่วย เวลาคุณพรเสกไม่สบาย เราจึงทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ เพราะคุณพรเสกเป็นสามีที่ดีมากๆ เป็นคุณพ่อที่ใจดี น่ารัก ลูกๆ มักปรึกษาคุณพ่อมากกว่าคุณแม่ และที่สำคัญเวลาเราทำงานใหญ่ เรามักจะปรึกษาคุณพรเสกตลอดเวลา เขาให้กำลังใจ และให้คำปรึกษาที่ดี เป็นคนที่ใจเย็นสุขุมมาก ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆเราจึงให้ความสำคัญกับการดูแลครอบครัวเป็นสำคัญค่ะ”
ความสำคัญ และนิยามของคำว่า ‘ครอบครัว’ สำหรับคุณ
“การทำงานการกุศลนั้น ครอบครัวต้องมีส่วนช่วยด้วย ดิฉันโชคดีที่ คุณพรเสก ให้ความสนับสนุน ดิฉันมาตลอด และลูกๆ ทุกคน มีส่วนร่วมช่วยงานการกุศลตั้งแต่เล็ก อย่างเช่นเมื่อจัดงาน ราตรีกฤตานุสรณ์ ของมูลนิธิกฤตานุสรณ์ ซึ่งเป็นงานการกุศลหาทุนช่วยเหลือบุตร ธิดา ทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต จากการปกป้องประเทศ ดิฉันก็จะให้ลูกๆ ทุกคนมาร่วมกิจกรรม เช่น เดินแบบ เต้นรำ และคุณพรเสกมาร่วมร้องเพลงทุกปี ปัจจุบันลูกสาวคนโตมาเป็นกรรมการมูลนิธิฯ มาช่วยดูเรื่องการจัดงานการกุศล และลูกๆ ทุกคน ได้เข้ามาดูสมาคมการพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณพรเสกเป็นนายกสมาคมเมื่อปี พ.ศ. 2543 เราจัดการแข่งขันการพูดภาษาอังกฤษต่อหน้าสาธารณชน และส่งเด็กที่ชนะเลิศจากประเทศไทยไปแข่งขันในรอบนานาชาติที่ ลอนดอน ประเทศอังกฤษมากว่า 20 ปี และลูกสาวของดิฉันได้มาช่วยเป็นกรรมการในรอบคัดเลือกร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ลูกๆ จะเห็นมาตลอดว่า วันหนึ่งๆ ดิฉันทำอะไรบ้าง เนื่องจากดิฉันทำงานหลายองค์กร อย่างเช่นดิฉันทำซอนต้า ต้องเดินทางไปประชุม และเยี่ยมสโมสรในต่างจังหวัด และต่างประเทศอยู่เสมอ ก็จะพาครอบครัวไปด้วย เวลาลงพื้นที่ ลูกๆ จะเห็นปัญหาความยากลำบากของคนอื่น เขาจะเกิดความซึมซับอยากช่วยเหลือคนอื่นโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ทุกวันนี้ลูกสาวทั้งสองคน เข้ามาเป็นสมาชิกซอนต้าอย่างเต็มใจ และมาเป็นนายกสโมสรซอนต้าอีคลับประเทศไทยด้วยค่ะ”
สิ่งที่เป็นหลักยึดถือเสมอในการทำงานทุกด้าน
“ดิฉันยึดถือในเรื่องของ ความซื่อสัตย์ ขยัน อดทน ความกตัญญูเป็นหลักในการทำงาน ดิฉันบริหารคนให้ดี สื่อสารให้เข้าใจตรงกันให้ความไว้วางใจ และให้เกียรติคนทำงาน”
ผู้หญิงเก่งในปัจจุบันต้องมีลักษณะอย่างไร
“ผู้หญิงที่เก่ง ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถครบถ้วนในทุกๆ ด้านทั้งในด้านการจัดการด้านอาชีพ และครอบครัว โดยการเป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นภรรยาที่ดีของสามี เป็นแม่ศรีเรือนที่ดี พร้อมก้าวทันยุคสมัยตามเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนไป สามาถแก้ไขปัญหาได้”
คำว่า Empowered Women ในมุมมองของดร.ลาลีวรรณ
“คำนี้ ถ้าแปลจริงคือ คำที่จะเสริมสร้างพลังให้แก่สตรี ให้สตรี สามารถยืนหยัดด้วยลำแข้งตัวเองได้ ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าความเสมอภาคของสตรี เทียบเท่าผู้ชาย การทำงาน เงินเดือน ตำแหน่ง ส่วนด้านการศึกษา สตรีต้องได้รับโอกาสที่จะเรียนต่อระดับสูงๆ ได้ใช้ความสามารถของตนเอง ในด้านสุขภาพ ผู้หญิงจะมีอุปสรรค เรื่องสุขภาพหลังมีบุตร ความแข็งแรงก็ไม่สู้ผู้ชาย ฉะนั้น เราต้องให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเพราะผู้หญิงต้องมีหน้าที่ดูแลบุตร ตัวเองต้องแข็งแรง ด้านกฎหมาย สตรีต้องได้รับการดูแลโดยมีกฎหมายคุ้มครอง การกระทำความรุนแรง ในครอบครัว การเข้าถึง การเยียวยาเมื่อผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงซึ่งช่วงสถานการณ์โรคโควิดระบาด เราจะเห็นเปอร์เซ็นต์การกระทำรุนแรงในครอบครัวเพิ่มถึง 30% ตัวเลขที่น่ากลัว จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเรื่องไหนคำว่า Empowered women หมายถึงการส่งเสริม ยกระดับ ความเป็นอยู่ของสตรี ในทุกๆด้านค่ะ”
ในฐานะที่ทำงานด้านสตรี อยากผลักดันเรื่องไหนในประเทศไทย
“จริงๆ คำว่าผลักดันเรื่องไหนก่อน คงไม่มี มีแต่ต้องทำควบคู่กันไปค่ะ สิ่งแรกอยากเห็นสตรีหรือเด็กผู้หญิงเรียนสูงมากกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเฉพาะต่างจังหวัด อยากเห็นเขาเรียนถึงระดับ ปริญญาตรี ปริญญาเอก อยากเห็นประเทศไทย มีวิชาหลากหลายความสามารถไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง แต่มี Skill ความชำนาญเฉพาะตัวเช่น ด้านการเล่นดนตรี ด้านวาดรูป ด้าน Ice skate หรือ Gymnastics ทุกอย่างเป็นเรื่องความชำนาญ แต่ในโรงเรียนต่างจังหวัดไม่มีหลักสูตร ถ้าเด็กสอบไม่ดีก็ว่าเขาหัวขี้เลื่อย หรือไม่ฉลาด แต่เราต้องค้นหาความถนัดของเด็กให้ได้ มิฉะนั้นเขาจะ Drop Out ออกจากโรงเรียนแล้วไปทำงานอื่นซึ่งไม่เหมาะกับเขา หรือถูกหลอกไปทำงาน ดิฉันเห็นว่าสตรีที่ถูกคัดเลือกเข้าไปในรัฐสภายังน้อยมาก มีแค่ 16% อยากเห็นสตรีเป็นผู้แทนประชาชนมากขึ้น
“ส่วนเรื่องที่ควรทำควบคู่ คืออยากให้ส่งเสริมสตรี เป็นผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากสภาวะ ปัจจุบันผู้หญิงทำงานต้องเลี้ยงลูกไปด้วยจึงคิดว่าผู้หญิงควรได้รับสิทธิพิเศษให้สามีมีส่วนร่วมเลี้ยงดูแลลูกบางประเทศมีกฎหมายให้ สามีลาพักร้อนมาเลี้ยงดูบุตรได้ตามกฎหมายการให้ผู้ชายรับผิดชอบลูกเป็นสิ่งดีงาม เพราะลูกก็ใกล้ชิดกับคุณพ่อความอบอุ่นในครอบครัวก็สำคัญยิ่งค่ะ”
ข้อคิดในการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ
“ดิฉันแบ่งเวลางานธุรกิจ งานสังคมสงเคราะห์ และครอบครัวให้พอดีมีเวลาดูแลครอบครัว และอบรมลูกด้วยตัวเอง ดิฉันทำงานด้วยความตั้งใจเอาใจใส่ในทุกรายละเอียด เช่น เมื่อทำธุรกิจโรงแรม เราต้องให้ความสำคัญกับพนักงาน ลูกค้าที่เข้าพัก ลูกค้าต้องได้ประสบการณ์และบริการที่ดี และเมื่อเวลาทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ก็จะทำด้วยใจเต็มที่ ไม่หวังผลตอบแทน”