counters
hisoparty

พลังแห่ง Soft Power: มุมมองจากคณะกรรมการ CISPI ในการขับเคลื่อน อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย

4 days ago

บทสัมภาษณ์พิเศษนี้ เราได้รวบรวมความคิดเห็นจากคณะกรรมการ CISPI ซึ่งดูแลและเชื่อมโยง Soft Power เข้ากับหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น อาหาร แฟชั่น อัญมณี เกม Wellness และซอฟต์พาวเวอร์ในระดับภูมิภาค โดยแต่ละท่านจะสะท้อนมุมมองของตนเองต่อแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power รวมถึงโอกาสและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญ...

          “ในมุมหนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วย Soft Power แต่สิ่งที่เรายังต้องพัฒนาคือการ Capture Value จาก Soft Power ของเราให้เต็มที่ น่าเสียดายที่หลายๆ Soft Power เช่น กางเกงช้างที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นของไทย และมีผู้ผลิตไทยอยู่จำนวนหนึ่ง แต่กลับเป็นชาติอื่นที่สามารถ Capture Value ไปได้ โดยผลิตสินค้าราคาถูกมาขายให้กับนักท่องเที่ยว หรือแม้แต่ผ้าไหมไทย ที่แม้ว่าคนไทยบางส่วนจะยังคงทอไหมไทยแท้และได้รับประโยชน์จากมัน แต่กลับถูกแทนที่ด้วย ‘ไหมเทียม’ จากชาติอื่นๆ ซึ่งแพร่หลายมากกว่า ดังนั้น หากเราสามารถเปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมที่ช่วย Scale Up อัตลักษณ์เหล่านี้ให้เกิดความแพร่หลายมากขึ้น Soft Power ของไทยก็จะได้รับการยกระดับไปอีกขั้น แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องมีวิธีรับรองให้ได้ว่าสินค้าที่ผลิตโดย ‘คนไทย’ จะสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยมากที่สุดในห่วงโซ่อุปทาน Soft Power ของไทย ‘ของแทร่’ จะกลายเป็นระบบนิเวศของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน”

คุณปณิธาน ปวโรฬารวิทยา
• รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• รองประธาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          “การพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ไทยด้วย Creative และ Soft Power เป็นแนวทางที่ช่วยยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้โดดเด่นในเวทีโลก โดยใช้จุดแข็งทางวัฒนธรรม เช่น ลวดลายไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัสดุธรรมชาติ มาสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่า การออกแบบที่สอดคล้องกับเทรนด์โลก เช่น ความยั่งยืน และ Storytelling ผ่านสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ จะช่วยส่งเสริมแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการพัฒนานวัตกรรม การฝึกอบรม และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนสร้างการรับรู้แบรนด์ไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืน”

คุณพงศ์ธีระ พัฒนพีระเดช
• นายกสมาคมการพิมพ์ไทย
• ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• รองประธาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          “…แต่ละภูมิภาคของไทยล้วนมี ของดี เด่น ดัง ที่คนในพื้นที่รู้จัก บางอย่างได้รับการยอมรับในวงกว้าง ขณะที่อีกหลายแห่งยังคงเป็นที่รู้จักเพียงในท้องถิ่น Soft Power ภูมิภาค จึงเป็นแนวทางในการนำจุดแข็งเหล่านี้มาต่อยอด พัฒนาให้ได้มาตรฐาน และสร้างการรับรู้ในวงกว้าง
          “Soft Power ของภูมิภาคอาจเห็นได้ชัดในแง่ สถานที่ท่องเที่ยว อาหาร แต่ยังรวมถึง เทศกาลดนตรี งานอีเวนต์ การแข่งขันกีฬา และงานวัฒนธรรม จังหวัดต่างๆ จึงต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร และบริการต่างๆ ให้มีคุณภาพสูงขึ้น ควบคู่ไปกับการใช้ เทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อขยายการรับรู้และกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปยังเมืองรอง ซึ่งจะช่วยสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ หัวใจสำคัญของการพัฒนา Soft Power คือการค้นหา Raw Power แล้วต่อยอดให้เกิดเอกลักษณ์ ถ่ายทอดเรื่องราว และเพิ่มมูลค่าผ่านการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จของ Soft Power ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและพัฒนาสังคมไปพร้อมกัน…”

คุณหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฎ
• รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• รองประธาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          “ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมก้าวสู่ Gems and Jewelry Hub ของโลก โดยมุ่งเน้นงานฝีมืออันประณีตและอัตลักษณ์ไทยที่โดดเด่น นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีอย่างจริงจัง เพื่อผลักดันให้เป็น Soft Power ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
          “Beauty Gems เองก็มุ่งยกระดับงานออกแบบสู่เวทีสากล ผ่านการนำอัตลักษณ์ไทยมาผสมผสานในผลงาน ล่าสุดกับคอลเลกชัน ‘ผึ้งเบญจรงค์’ หนึ่งในไฮไลต์จาก ABEILLE COLLECTIONS ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะเครื่องเบญจรงค์ 5 สี ถ่ายทอดความงดงามแบบไทยสู่เครื่องประดับระดับโลก”

คุณสุริยน ศรีอรทัยกุล
• กรรมการผู้จัดการบริษัท บิวตี้เจมส์แฟคตอรี่ จำกัด
• กรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• ที่ปรึกษา คณะอัญมณี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          “จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีชื่อเสียง ทั้งอัญมณี ผลไม้ สมุนไพร ประมง และสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเชิงธรรมชาติ นิเวศ ประวัติศาสตร์ น้ำตก ทะเล และภูเขา อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการค้าและผลิตอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย รวมถึงเป็นแหล่งผลิตและส่งออกผลไม้สำคัญของภาคตะวันออก เช่น ทุเรียน มังคุด และลำไย อย่างไรก็ตาม จันทบุรียังคงถูกจัดให้เป็นเมืองรอง 
          “การที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม Soft Power ถือเป็นแนวทางที่ดีในการสนับสนุนอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาคให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ เช่น แฟชั่น อัญมณี เครื่องประดับ อาหารทั้งสดและแปรรูป ผลไม้ การท่องเที่ยว Wellness เกม และภาพยนตร์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว สถาบันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ Soft Power สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคเกษตร ที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งเผยแพร่วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด
          “การสร้างแบรนด์ สร้างกระแส และเพิ่มโอกาสให้ SMEs รวมถึงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตและสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน”

คุณธิติ เอกบุญยืน
• รองประธาน สายงานส่งเสริมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• รองประธาน คณะทำงานสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ภูมิภาค
• คณะกรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          “การผลักดัน Soft Power ในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในส่วนที่ดิฉันรับผิดชอบร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างกระแสความนิยมและแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่าน Creative Economy โดยส่งเสริม อัตลักษณ์ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม กีฬา อาหาร แฟชั่น และการท่องเที่ยว ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งเชื่อมโยงกับ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหาร ที่นำเสนออาหารพื้นเมือง ผัก สมุนไพร และผลไม้ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบไทย แฟชั่น ที่ผสานวัฒนธรรมเข้ากับกระแส Soft Power ผ่านการแต่งกาย เครื่องประดับ ของที่ระลึก และเครื่องสำอาง โดยพัฒนา Product Champion ของแต่ละจังหวัดให้เป็นแบรนด์สินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เกม ที่เป็นสื่อกลางในการสร้างกระแส Soft Power ผ่านการสอดแทรกวัฒนธรรมไทย อาหาร สมุนไพร แฟชั่น ศิลปะ ความเชื่อ และสถานที่ท่องเที่ยว นอกจากนี้ ทุกจังหวัดควรส่งเสริม Soft Power ผ่านแนวคิด ‘One Province, One Series’ พร้อมสร้างผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ศักยภาพที่มีอยู่ได้รับการต่อยอด สร้างมูลค่า และสร้างแรงดึงดูดใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ”

คุณนพรัตน์ สุขชัย
• รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• รองประธาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          “การผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็น Soft Power ถือเป็นก้าวสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็น ศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก อย่างแท้จริง ประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะ ‘Gems and Jewelry Hub’ มายาวนานจากทักษะของช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญและกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน แต่ยังขาดการสื่อสารให้ชาวต่างชาติรับรู้มากพอ หากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดีขึ้น อุตสาหกรรมนี้จะสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้เติบโตแตะ 1 ล้านล้านบาท ภายใน 5-10 ปี
          “งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม การยกระดับให้เป็นเวทีระดับโลกจะช่วยดึงดูดผู้ค้า นักลงทุน และนักออกแบบชั้นนำ อีกทั้งยังต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีและขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้การค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยดำเนินไปอย่างราบรื่น ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำเทรนด์ระดับโลก ทั้งด้านการออกแบบ (Design) และการกำหนด Color of the Year สำหรับอัญมณี ซึ่งช่วยสร้างอิทธิพลในตลาดโลก และสะท้อนเอกลักษณ์ของช่างฝีมือไทยที่สืบทอดทักษะจากรุ่นสู่รุ่น
          “ปัจจัยสำคัญของการขับเคลื่อน Soft Power ด้านอัญมณีและเครื่องประดับไทย คือ การสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักออกแบบ และช่างฝีมือ เพื่อสร้างแบรนด์อัญมณีไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป”

คุณวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา
• ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• รองประธาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          “Soft power ที่สำคัญที่สุดของไทยคือ ‘คนไทย’ ซึ่งมีความประณีต อ่อนโยน และเอาใจใส่ เมื่อนำมาผสานกับศาสตร์การแพทย์แผนไทย ทั้งสมุนไพรและการนวด จึงไม่น่าแปลกใจที่ไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านบริการสุขภาพของโลก ไม่ว่าจะเป็นสปาระดับห้าดาวหรือท้องถิ่น โรงพยาบาล การดูแลผู้สูงอายุ และการนวดบำบัด ล้วนมีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับ แพทย์แผนไทย มีรากฐานจากองค์ความรู้พื้นถิ่นตั้งแต่สมัยสุโขทัย ผสมผสานกับแพทย์แผนจีนและอายุรเวทจากอินเดีย จนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยารักษาโรค และศาสตร์การนวด ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ตำรับโอสถพระนารายณ์ ที่ถูกนำมาต่อยอดจนเป็นต้นแบบของยาแผนปัจจุบัน
          “ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ครอบคลุมอุตสาหกรรมยา เครื่องมือแพทย์ อาหารสุขภาพ สมุนไพร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมมูลค่ากว่า หนึ่งล้านล้านบาท เรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องผ่านงานวิจัย ร่วมกับเทคโนโลยีชีวภาพและนาโนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพและลดต้นทุน ส่งเสริมให้สินค้าและบริการของไทยเติบโตในตลาดโลก พร้อมสะท้อนอัตลักษณ์ภูมิปัญญาไทยอย่างแท้จริง”


คุณนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์
• รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• รองประธาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“Soft Power จากเกมไม่ใช่แค่เรื่องของความสนุก แต่มันคือการสร้างเกมที่มีภาพจำดีๆ ให้คนทั้งโลกหลงใหลและนึกถึงเรา”

          “Soft Power จากเกมไม่ใช่แค่การโชว์วัฒนธรรมแบบตรงไปตรงมา แต่มันคือการสร้าง ประสบการณ์ที่ตราตรึงในใจผู้เล่น เกมที่ดีไม่ได้เป็นเพียงความบันเทิงชั่วขณะ แต่สามารถทำให้คนอยากกลับมานึกถึง เชื่อมโยง และแนะนำต่อให้คนอื่นได้ ‘ภาพจำ’ ในเกมไทยไม่จำเป็นต้องมาจากวัดไทย ผ้าไหม หรืออาหารพื้นเมือง แต่สามารถซึมซับผ่านการเล่าเรื่อง ตัวละคร หรือแม้แต่จังหวะของเกมที่สะท้อนวิธีคิดของสังคม การสนับสนุนนักพัฒนาให้สร้างเกมที่มีเอกลักษณ์คือกุญแจสำคัญ ระบบสนับสนุนต้องครอบคลุมทั้ง ทุน พื้นที่ทดลอง เวทีประกวด และนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโต ตัวอย่างเช่น Thailand Game Talent Showcase ที่ดำเนินต่อเนื่องมาถึงปีที่ 4 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพระดับโลก
          “หากเราสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้วงการเกมไทยเติบโต Soft Power จะไม่ใช่แค่คำในแผนเศรษฐกิจ แต่จะกลายเป็น พลังที่เปลี่ยนวิธีที่โลกมองเรา เมื่อวันหนึ่งผู้เล่นจากอีกฟากโลกจบเกมแล้วนึกถึงประสบการณ์ดีๆ จากเกมไทย และอยากเข้าใจวัฒนธรรมเบื้องหลังเรื่องราวเหล่านั้น นั่นคือสัญญาณว่า Soft Power ที่แท้จริงได้เกิดขึ้นแล้ว”

คุณศรัณย์พัจน์ เสรีวิวัฒนา
• ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการบริษัท คลาวด์คัลเลอร์เกมส์ จำกัด
• อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย
• รองประธาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

          “การผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้ก้าวขึ้นสู่ Top 10 ด้าน Apparel ต้องเริ่มจากการสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงงานผู้ผลิต และนักออกแบบ (Designer) เพื่อผลิตสินค้าที่มี เอกลักษณ์ (Unique) และมูลค่า (Value) ควบคู่ไปกับ การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยให้แฟชั่นไทยได้รับการยอมรับและสามารถขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในประเทศและระดับสากล”

คุณถาวร กนกวลีวงศ์
• กรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
• รองประธาน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

Author By : Arunlak

SHARE    

SHARE