counters
hisoparty

พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

7 years ago

 

ด้วยน้ำพระราชหฤทัย วงการผ้าไทยจึงยั่งยืน

สำหรับคอลัมน์ Dream Destination ครั้งนี้ เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะพาทุกท่านไปทำความรู้จัก ‘พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ’ สถานที่ซึ่งไม่เพียงรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทย และประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่เราเชื่อว่า หากทุกท่านได้เข้ามาสำรวจทุกซอกทุกมุมแล้ว จะได้รับความอิ่มเอมใจและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙  ที่ทรงมีพระเมตตาต่อพวกเราชาวไทยตลอดมา...  

เมื่อประมาณพุทธศักราช ๒๕๔๖ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ กราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ใช้อาคารหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ซึ่งการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณารับเป็นประธานที่ปรึกษา พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการไปในพุทธศักราช ๒๕๕๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ก่อสร้างอาคาร ๒ ชั้นเป็นแถวยาวเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๑๓ และพระราชทานนาม หอรัษฎากรพิพัฒน์ เพื่อเป็นที่ทำการกรมพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่บริหารงานด้านการจัดเก็บระเบียบภาษีอากร ต่อมาอาคารนี้ได้กลายเป็นที่ทำการของหน่วยงานอย่างน้อย ๔ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานธนาคารชาติไทย กรมธนารักษ์ ราชบัณฑิตยสถาน กองพระราชพิธี จากนั้นจึงว่างเว้นจากการใช้งาน

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ มีพระราชดำริให้จัดตั้ง พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับผ้าไทย และประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทย พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงเป็นสถานที่รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทย และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจัดแสดงงานหัตถศิลป์จากผ้าอันทรงคุณค่าของราชสำนักและผ้าพื้นเมืองต่างๆ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์การทอผ้าของไทย ให้คงอยู่เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ โดยให้มีการจัดแสดงให้ตรงหลักมาตรฐานสากลในการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ฉะนั้นจึงต้องมีการควบคุมในเรื่องของการอนุรักษ์การจัดแสดงวัตถุ โดยเฉพาะประเภทผ้าจะเปราะบางง่ายกว่าวัตถุประเภทอื่น การจัดแสดงจะต้องดูแลวัตถุให้คงสภาพให้นานที่สุด อย่างการควบคุมความสว่าง กระทั่งในตู้จัดแสดงก็ต้องมีเครื่องวัดอุณหภูมิ กับกล่องวัดความชื้น

ปัจจุบันภายในประกอบด้วย ๔ ห้องจัดแสดงกับ ๒ นิทรรศการที่บอกเล่าถึง พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่สืบไป อันได้แก่ ‘เครื่องโขน’ และ ‘งามสมบรมราชินีนาถ’

ติดตามอ่านเรื่องราวน่ารู้ทั้งหมดแบบเต็มๆ ได้ในคอลัมน์ Special Feature นิตยสาร HiSoParty ฉบับเดือน สิงหาคม 2017

Photo By : Ton
Author By : Lady K.

SHARE