เพียงก้าวแรกที่ได้เข้าไปในอาณาเขตของ Villa Musée ที่ซ่อนตัวอยู่ในภูวนาลี รีสอร์ท เขาใหญ่ เราก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นอายของอดีตกาลที่เชื้อเชิญให้เราได้เข้าไปสัมผัส...
เรือนไม้สักทองสีเขียวไข่กาหลังใหญ่ตั้งตระหง่านท่ามกลางธรรมชาติ ประหนึ่งเป็นเรือนต้อนรับหลังจากประตูเหล็กหล่อโบราณขนาดใหญ่จากอินเดียได้เปิดกว้างขึ้น
ภายในบริเวณวิลล่า มูเซ่ (Villa Musée) ประกอบไปด้วยเรือนไม้โบราณ 5 เรือน ที่กระจายตัวอยู่โดยรอบของพื้นที่ ซึ่งแต่ละเรือนก็มีเรื่องราวและการได้มาแตกต่างกันไป โดยผู้ที่เป็นเจ้าของอาณาจักรวันวานทั้งหมดนี้ คือ คุณโอ๊ค อรรถดา คอมันตร์ นักธุรกิจหนุ่มหนึ่งในผู้บริหารของบริษัทในเครือไทยสตาร์ ที่มีความหลงใหลในของโบราณมาตั้งแต่วัยเด็ก
“ผมมีความสนใจในการสะสมของเก่าตั้งแต่สมัยเรียนอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ โดยเริ่มจากของชิ้นเล็กๆ น้อยๆ อย่างเหรียญ และแสตมป์ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 5 ซึ่งโชคดีที่ผมเป็นคนเริ่มเร็ว และชอบจริงจัง ไม่ใช่ชอบแบบแฟชั่น ตอนเริ่มก็จะเก็บของทุกอย่าง ตั้งแต่ชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนเข้ามหาวิทยาลัยก็เริ่มเก็บพวกงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่เป็นงานโบราณ โดยยึดหลักเท่าที่เรามีทุนทรัพย์ พอไปเรียนที่อเมริกาก็เริ่มเก็บพวกภาพถ่ายสมัยโบราณกับโปสเตอร์โบราณ พวกงานหนังสือโบราณ งานภาพพิมพ์ จากนั้นพอกลับมาเมืองไทยก็เริ่มเล่นรถคลาสสิก โดยตอนเล่นรถคลาสสิกเราก็เก็บงานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ของตกแต่งบ้านไปด้วยครับ
“ตอนนี้ของที่ผมสะสมหลักๆ และเชิดหน้าชูตาได้ไม่ค่อยอายใคร (หัวเราะ) ก็คือ ภาพถ่ายโบราณ, ศาสตราวุธ และเฟอร์นิเจอร์โบราณ ครับ ก็มีสามอย่างนี้ที่ผมเน้นว่าถ้ารู้ก็ต้องรู้จริงไปเลย ซึ่งการเก็บเฟอร์นิเจอร์ค่อนข้างลำบากเพราะว่าเป็นชิ้นใหญ่ เมื่อก่อนผมมีประมาณ 3-4 โกดัง คือเราได้เห็นแค่ตอนซื้อแล้วก็เข้าโกดัง ส่วนใหญ่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้ใช้ แต่โชคดีว่าเราชอบแต่งบ้านที่กรุงเทพฯ ผมก็นำไปใช้บ้าง โดยบ้านที่สุขุมวิท ผมจะพยายามไม่ใช้เฟอร์นิเจอร์ Built in เลย ยกเว้นห้องนอนกับห้องครัวที่มันจำเป็นต้องมี ส่วนอื่นผมจะเอาของที่มีอยู่มาหมุนเวียน พอเริ่มเบื่อๆ ก็เปลี่ยนเอาอันโน่นเข้าอันนี้ออกเป็นการจัดบ้านใหม่ก็สนุกดีครับ
“ในส่วนภาพถ่ายโบราณที่ผมสะสม โชคดีว่าพอหลังจากที่ทำหนังสือ (หนังสือสมุดภาพความทรงจำ เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (SIAM : Days of Glory) เราเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการนักสะสมของเก่าต่างประเทศก็ได้มีการสร้าง Relationship ขึ้นมา แล้วนักสะสมของพวกนี้ไม่ใช่รุ่นเดียวกับผมนะ ส่วนใหญ่เขาอายุประมาณ 70-80 ปี ซึ่งเขาก็เอ็นดูเรา บางคนมีลูกหลานแต่ว่าลูกหลานไม่สนใจเขาก็บอกว่า ถ้าเขาเกิดเป็นอะไรไปจะให้ลูกหลานติดต่อเราจะได้ขายของให้เราถูกเพื่อที่จะหาคนเก็บสะสมต่อไป บางคนก็มีพูดให้เราดีใจบอกว่าจะยกให้ ซึ่งลูกหลานเขาคงไม่ยกให้ผมหรอก (หัวเราะ) คือเขาเห็นความตั้งใจจริงของเราในการอนุรักษ์ของโบราณ เขาก็ชอบและชื่นชม บางทีมีประมูลรูปแทนเรามูลค่าสูงๆ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินไปก่อนเลย เขาบอกว่าเดี๋ยวเขามาเมืองไทยจะเอามาให้เอง คือเขาเชื่อใจเรามาก เพราะเวลาเราคุยกับเขาในเรื่องเหล่านี้เราใช้ความจริงใจไม่คิดว่าจะไปหลอกไปโกงเขา เขาก็คงสัมผัสได้ตรงจุดนั้น เรื่องเหล่านี้คือหลังจากที่ทำหนังสือเล่มหนึ่ง พอเล่มสอง เล่มสาม (Le Siam a Fontainebleau, กรุงเก่าเมื่อกาลก่อน ภาพถ่าย 100 ปี พระนครศรีอยุธยา (AYUDHYA A PICTORIAL ODYSSCY 1907-1920) ก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงการนักสะสมคอเดียวกันจากต่างประเทศ ด้วยเพราะหนังสือผมทำเป็นสองภาษา ก็มีการติดต่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แม้แต่โปรเฟสเซอร์บางคนที่มาจากยุโรป เพื่อนผมที่เป็นนักสะสมก็บอกคนเหล่านั้นเลยว่า ถ้าเขามาเมืองไทยต้องมาหาผม เพราะผมศึกษาเกี่ยวกับรูปถ่ายเอเชีย ซึ่งตรงจุดนี้ก็จะมีการแนะนำต่อๆ กันไป ทำให้เราได้สร้างความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นครับ”
สิ่งที่นักสะสมควรมี
“ต้องมีหลายๆ อย่างรวมกันครับ ทั้งอ่านทั้งศึกษาจากผู้รู้ อย่างเฟอร์นิเจอร์จีนผมซื้อหนังสือจีนมา ผมแปลไม่ออก ก็อาศัยดูรูปแล้วเราก็ไปถามคนที่เขามีความรู้ว่าตรงนี้มันแปลว่าอะไร คือเราต้องอ่านด้วย คุยกับคนที่มีความรู้ด้วย อย่างเมื่อก่อนเรามีบริษัทอยู่ที่ฮ่องกงซึ่งผมเดินทางไปบ่อย เวลาไม่ได้ทำงานผมก็จะไปเดินตามแหล่งที่เขาขาย ผมก็จะเข้าไปคุยกับเจ้าของร้านโน้นร้านนี้ก็ได้ความรู้ หรือว่าคุยกับนักประวัติศาสตร์ ซึ่งการคุยกับนักประวัติศาสตร์เราก็จะได้ความรู้ในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่ได้พูดถึงการดูเนื้อไม้แต่พูดถึงเรื่องราว เราก็พยายามเก็บรวบรวมข้อมูล ที่สำคัญเราต้องเคยเห็นจริง ต้องเคยสัมผัสจริงด้วยถึงจะรู้ ซึ่งผมว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากความชอบก่อนและก็สะสมประสบการณ์ครับ
“และถึงเรามีเงินพอที่จะซื้อของเก่า แต่ไม่ใช่แค่การได้มาเท่านั้นเราต้องรักษาดูแล ศึกษา และต้องชอบด้วย ของเก่าบางทีคนเขาก็จะชอบคิดว่า มีอะไรติดมาด้วยหรือเปล่า เวลาผมได้ของมาความเชื่อของผมคือ ผมจะทำบุญให้เขา เคารพของของเขา โดยเฉพาะพวกศาสตราวุธ อาวุธทั้งหลาย เป็นของที่นักสะสม เขาบอกกันว่าน่าจะแรงที่สุดแล้ว เพราะคนสมัยก่อนชีวิตเขาก็ขึ้นอยู่กับอาวุธ การทำอาวุธเล่มหนึ่งต้องเอาอะไรสารพัดมาหลอมด้วยความเชื่อ บางทีต้องไปเอาเหล็กยอดพระปรางค์ ตะปูหลุมศพ 7 ป่าช้าโน่นนี่นั่นตามตำราเยอะแยะไปหมด แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเคยไปฟันใครมาหรือเปล่า แต่ว่าพอผมได้มาผมก็เคารพและทำบุญไปให้ คือว่าสิ่งที่ได้มาทั้งหลายเหล่านี้เราไม่ได้มุ่งหวังการค้า แต่ไม่แน่ใจนะเผื่ออนาคตเบื่อๆ อาจจะเปิดร้านขายของเก่า (หัวเราะ) ถ้าไม่ได้ใช้จริงๆ แต่ว่าจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ไปไหนนอกจากรถคลาสสิกที่ขาย ผมว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำด้วยความรักจริงๆ”
เสน่ห์ของของเก่า
“ผมว่ามันมีความน่าค้นหา ทั้งรูปถ่าย ทั้งของโบราณ อย่างเฟอร์นิเจอร์ผมนั่งลูบๆ คลำๆ ผมก็มีความสุขนะ แค่จับก็มีความสุขแล้ว ถ้าไปยุโรปผมก็จะเลือกพักโรงแรมที่มีตำนาน บางโรงแรมเป็นโรงแรมเก่าสี่ห้าร้อยปี เราจะไม่พักโรงแรมใหม่ๆ เพราะไปที่ไหนทั้งโลกก็เหมือนกัน พอไปโรงแรมเก่าๆ เปิดตู้ดมกลิ่นไม้โอ้โหตู้นี่ร้อยกว่าปี แล้วเราเป็นคนชอบไม้ ไม้ทุกชิ้นมีกลิ่น ไอเดียการดีไซน์เนื้อไม้มีศาสตร์ของมัน ส่วนเรื่องของอาวุธที่สะสม ผมจะสะสมอาวุธที่เป็นเครื่องยศมากกว่าอาวุธที่ใช้รบ เพราะของพวกนี้จะมีชั้นของเขา เหตุผลแรกคือลดความเสี่ยงที่อาวุธนั้นจะไม่เคยไปใช้ฆ่าใคร อาจจะมีบ้างแต่ไม่เยอะ (ยิ้ม) สองคือมันเป็นงานศิลปะ สามคือวัสดุที่ใช้จะพิถีพิถันมากกว่าอาวุธชาวบ้านทั่วไป ของส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยมีซ้ำกัน ผมพยายามที่จะสโคปสิ่งที่เราต้องการและเน้นคุณภาพ อย่างงานภาพถ่ายผมจะสะสมช่วงรัชกาลที่ 4-6 ตอนนี้ผมก็จะโฟกัสที่ช่วงรัชกาลที่ 4 กับ 5 เพราะเป็นยุคที่หายากจริงๆ เพราะยุคหลังๆ จะมีการเผยแพร่พัฒนามากขึ้น ถ่ายง่ายขึ้นเราก็จะลดตรงนั้นไป เพราะรูปถ่ายในสมัยก่อนมีอะไรที่ยากกว่า ปัจจุบันเป็นอะไรที่ถ่ายง่ายมากแต่ในสมัยก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 นี้เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ทั้งศิลปะ คนถ่ายต้องมองจัดแสง มุมกล้อง ถ่ายเสร็จต้องเอามาล้างสารเคมี บางทีมีสารปรอทเป็นขั้นตอนที่อันตราย แล้วก็มีการเคลือบซึ่งเป็นงานแฮนด์เมดซึ่งยากกว่าปัจจุบันเยอะเมื่อเทียบกันแล้ว ผมมองถึงวิธีการ กระบวนการที่มีเสน่ห์ ภาพถ่ายโบราณพวกนี้เหมือนเป็นทั้งงานศิลปะและก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ด้วยซึ่งความน่าสนใจมันอยู่ตรงนี้”
สิ่งสำคัญสำหรับคนที่อยากเริ่มเป็นนักสะสม
“ของสะสมสำหรับผมไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงหรือมีมูลค่าที่สูง แต่เราจะดูที่วัตถุประสงค์มากกว่า บางคนเก็บเพราะใจรัก คือที่สุดแล้วอย่างน้อยเราต้องมีใจก่อน อย่าไปสะสมเพราะคนอื่น คนนี้มีอันนี้แล้วเราต้องมีบ้างคือตรงนี้ผมไม่มองเลย เขาอยากสะสมอะไรก็ตามสบายเลย แต่ผมชอบแบบนี้ผมก็จะสะสมแบบนี้ แล้วการหาข้อมูลการหาความรู้ก่อนที่จะสะสม อย่าไปเชื่อคนขาย เราต้องสำรวจตลาด และต้องรู้ว่าของที่เราจะสะสมควรมีราคาอยู่ที่เท่าไหร่ในการต่อรอง ศึกษาหาความรู้ ต้องชอบจริง เพราะถ้าเกิดไม่ชอบจริงซื้อมาแล้วพอเบื่อเราก็จะไม่ดูแล การสะสมถ้าหากจะให้ได้ดีไปกว่านั้นต้องสะสมของที่มันมีมูลค่าในอนาคตเรามองในแง่ของการลงทุนได้ด้วย ในคอนเซ็ปต์ของการ Invest นอกจากจะไปลงในเรื่องของธุรกิจ เรื่องของที่ดิน ของสะสมก็เป็นหนึ่งในนั้น ของสะสมงานศิลปะ ถ้าเกิดสามารถที่จะรวมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ด้วยกันได้แล้วผมว่านั่นดีเลยนะครับ”
ที่มาของ Villa Musée @ ภูวนาลี รีสอร์ท เขาใหญ่
“โปรเจ็คต์ที่ตรงนี้ (Villa Musée เขาใหญ่) จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากน้ำไม่ท่วมตอนปี 2554 ตอนนั้นน้ำท่วมโกดังเก็บของของผม ซึ่งเฟอร์นิเจอร์ยุโรปผมเสียหายเกือบหมด เพราะเฟอร์นิเจอร์ยุโรปทำมาจากไม้เนื้ออ่อนแล้วไม้ประเภทนี้จะอมน้ำทำให้บวม เราก็เสียดายของเพราะของเก็บมานานแล้วมีอายุมาเป็นร้อยๆ ปี แต่มาเสียตอนยุคเรา เราก็รู้สึกแย่ เพราะเราเป็นคนรักของ เป็นคนผูกพัน จึงได้คิดที่จะขยับขยายหาที่เก็บ โดยบ้านหลังแรกที่มาสร้างผมรื้อเก็บไว้น่าจะสิบกว่าปีแล้ว รื้อเก็บไว้เป็นชิ้นๆ ก็อยู่ในโกดังพอเห็นจมน้ำเราก็สงสารนะ เอาของมาก็มาโดนแบบนี้ เราก็เริ่มโปรเจ็คต์นี้เลย ซึ่งเราก็มีบ้านบางส่วนแล้ว เราก็เลยค่อยๆ Concentrate กับมันว่าเราจะเริ่มทำแล้วนะ เราก็ได้เอาโคมไฟที่เราเก็บไว้ เอาพรมที่เราเก็บไว้ เอาเฟอร์นิเจอร์ที่เราเก็บไว้มาใช้ ถ้าเกิดน้ำไม่ท่วมเราก็ไม่ได้มาทำโปรเจ็คต์นี้ โดยบ้านแต่ละหลังในโปรเจ็คต์ผมก็ได้ตั้งชื่อตามบรรพบุรุษผมสี่ห้าสายทั้งปู่ย่าตายาย เพราะพวกท่านรับราชการมาตั้งแต่ปลายอยุธยา ต้นรัตนโกสินทร์ (อาทิ เรือนสัตยาธิปตัย, เรือนสิงหฬสาคร, เรือนราชพงศา)”
เรือนประเสนชิต
“เรือนไม้สักทองสีเขียว เรือนนี้ผมได้จำลองให้เป็นเรือนพักอาศัยของข้าราชการหนุ่มนักเรียนนอกที่ได้กลับมารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับเรือนหลังนี้ตอนที่ได้มาก็เป็นอะไรที่เหมือนความบังเอิญเป็นปาฏิหาริย์ในความรู้สึกของเรา ผมเคยนั่งรถผ่าน ซึ่งเดิมทีจริงๆ แล้วเรือนนี้คนข้างนอกจะมองไม่เห็นจากข้างหน้า เพราะข้างหน้าเป็นตึกแถวล้อมรอบสองชั้น แล้วก็วันดีคืนดีเจ้าของที่ดินเสียชีวิตลงลูกหลานก็จะขายที่ เขาก็ทุบตึกแถวก่อน ผมก็นั่งรถผ่านไป ผมก็ไม่รู้ว่าเขาขายหรืออะไรก็ยังพูดกับภรรยาอยู่เลยว่าบ้านหลังนี้สวยดีนะชอบ ทั้งที่สภาพบ้านตอนนั้นโทรมมากเลยนะ หลังจากนั้นเราก็ทราบว่ามีคนทำการซื้อขายแล้วไม่สำเร็จ แล้วอยู่ดีๆ มีคนมาติดต่อผมว่า ผมสนใจไหมมีคนจะขายบ้าน เราก็ไม่รู้ว่าหลังไหนแต่พอมาเจอก็โอเคเลย ตอนรื้อบ้านผมก็นิมนต์พระมาทำทุกอย่างให้ถูกวิธี รวมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้าของบ้าน ซึ่งผมก็ทำอย่างนี้กับบ้านทุกหลัง และตอนผมรื้อเรือนหลังนี้เราก็พูดกับบ้านว่า ถ้าเกิดผมได้มาจริงๆ ผมจะนำมาอนุรักษ์ และให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษา บ้านหลังนี้ผมจะไม่ให้ใครนอนผมก็พูดในลักษณะนี้ กว่าจะได้มาก็เหนื่อยเหมือนกัน และเราก็ได้ทราบจากคนที่เฝ้าบ้านว่าท่านเจ้าของบ้านที่เสียไปศพท่านอยู่ที่วัดวัดหนึ่ง ผมก็เคยพูดกับคนขับรถว่าสักวันเราจะไปไหว้ แต่ก็ไม่ได้ไปเสียที จนวันหนึ่งพ่อของเพื่อนผมเสียที่วัดหนึ่งเราก็ไปกับคนขับรถ คนขับรถผมก็เอะใจขึ้นมาแล้วบอกว่านี่เป็นวัดที่ศพเจ้าของบ้านเดิมอยู่ ผมก็บอกคนขับรถให้ไปดูศาลามาผมจะไปไหว้ ปรากฏว่าเป็นศาลาเดียวกันกับพ่อเพื่อนผมแต่เขากั้นม่านไว้ด้านหลัง เหมือนกับเขาเรียกเราไปเจอเพื่อที่จะให้ไปไหว้เลย
“บ้านทุกหลังเหมือนมีชีวิต เขาต้องการคนดูแลและเคารพเขาด้วย เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เราตั้งใจที่จะรักษาและอนุรักษ์ไว้ ซึ่งเราก็ภูมิใจว่าบ้านที่เราได้มา ได้รับรางวัลพระราชทาน (รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2558 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์) หนังสือที่ทำออกมาก็ได้รับรางวัลพระราชทาน (รางวัลหนังสือดีเด่นประจำปี พ.ศ. 2554-2555 จากกระทรางศึกษาธิการ) สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้ทำเพื่อหวังธุรกิจ หรือหวังเงิน เมื่อเราทำแล้วมีผลสะท้อนออกมาในทางที่ดี มีผู้ใหญ่มาชื่นชมจากหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งก็แสดงว่าเราทำถูกแล้วนะ เรามาทางที่ควรจะเป็นแล้ว ก็ทำให้เรามีความสุขและความภาคภูมิใจ”
Photo By : TonAuthor By : Arunlak