counters
hisoparty

รากเทียมฟันชุดที่สาม ทดแทนฟันแท้ได้จริงหรือ

1 year ago

             มนุษย์ทุกคนธรรมชาติจะสร้างฟันให้ใช้ในการบดเคี้ยวอาหารจำนวนสองชุดต่างจากปลาฉลามที่ธรรมชาติจะสร้างฟันให้ผลัดเปลี่ยน ได้หลายต่อหลายชุด หากฟันนั้นถูกทำลายไปในช่วงที่มีชีวิตอยู่ ดังนั้นมนุษย์เราจึงต้องดูแลรักษาฟันชุดที่สองที่เป็นชุดสุดท้ายที่ธรรมชาติให้มาอย่างดี ไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีการใส่ฟันเทียมทดแทน ซึ่งแน่นอนว่าฟันชุดที่สามนี้ ไม่ใช่ได้มาฟรีๆ จากธรรมชาติอย่างแน่นอน

            ฟันชุดแรกจะเริ่มสร้างตั้งแต่เราอยู่ในท้องแม่ และจะเริ่มโผล่มาในช่องปากประมาณ 6 เดือนหลังคลอด ฟันน้ำนมจะขึ้นจนครบ ฟันบน 10 ซี่ และฟันล่าง10 ซี่ ภายหลังที่คลอดแล้วไม่เกินอายุ 3 ปี

            ส่วนฟันแท้นั้น ฟันหน้าล่างจะขึ้นเป็นซี่แรก มาทดแทนฟันน้ำนม เนื่องจากเด็กจะมีขากรรไกรที่ขยายขึ้น และเติบโตขึ้น แล้วตามด้วยการขึ้นของฟันแท้บน 16 ซี่ และฟันล่างอีก 16 ซี่ ร่วมกับการหลุดออกของฟันน้ำนมทั้งหมด ฟันแท้ 28 ซี่ จะขึ้นมาทั้งหมดภายในช่วงอายุไม่เกิน 13 ปี ในขณะที่ฟันแท้ซี่สุดท้ายขวาซ้ายด้านบนและด้านล่างซี่หลังสุด จะขึ้นมาหลังอายุ 16 ปี ซึ่งฟันซี่สุดท้ายของขากรรไกรนี้ อาจไม่สามารถขึ้นได้ เราก็จะเรียกว่าฟันคุดที่ต้องมาทำการผ่าตัดถอนฟันซี่นี้ออกจากช่องปากนั่นเอง

            หน้าที่ของเราก็คือ ดูแลรักษาฟันชุดที่สองนี้ให้คงอยู่ในช่องปากต่อไป จนเราหมดอายุขัยไปจากโลกนี้ หากเรานับที่อายุขัย 70 ปี ฟันแท้ของเราก็ต้องทำหน้าที่กันนานถึง 55-60 ปีเลยทีเดียว ธรรมชาติ
จึงออกแบบฟันแท้ให้มีความแข็งแรงทนทานสูงหากดูแลรักษากันให้ดีก็ไม่ต้องโดนถอนหรือสูญเสียก่อนเวลาอันควร

            หากสูญเสียฟันชุดที่สองนี้ไป แล้วไม่ใส่ฟันทดแทน สมดุลของฟันในช่องปากก็จะเสียไปฟันจะล้มเข้าหาช่องว่างนั้นๆ และฟันจะห่าง ล้ม เก ใช้บดเคี้ยวอาหารได้ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ หรือทำให้ฟันล้มไม่สวยงาม เกิดปัญหาต่อรูปร่างหน้าตา เป็นต้น มนุษย์เรานั้น ธรรมชาติออกแบบให้มีฟันไว้เคี้ยวอาหาร ตัดและบดเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนทำการกลืนลงไปในกระเพาะอาหารเพื่อย่อย และค่อยๆ เดินทางผ่านไปดูดซึมสารอาหารที่ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ตามลำดับ ก่อนขับถ่ายออกจากร่างกาย ทั้งนี้ หากเราขาดฟันไป การบดเคี้ยวอาหารก็เกิดขึ้นได้ไม่สมบูรณ์ การย่อยและดูดซึมก็เกิดได้ไม่ดีมีปัญหาต่อสุขภาพองค์รวมได้อย่างต่อเนื่อง ฟันจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการอยู่รอดและอายุขัยของมนุษย์

            ความเป็นจริงนั้น เรื่องการเจริญเติบโต ของขากรรไกร ฟันทั้งบนและล่างมีผลต่อสุขภาพเราอย่างไม่น่าเชื่อ ธรรมชาติได้ออกแบบมนุษย์ให้เติบโตอย่างถูกต้อง โดยระบบการบดเคี้ยวก็เป็นระบบที่ธรรมชาติใช้ เป็นตัวอ้างอิงหลักให้เกิดการเติบโตของใบหน้า ตา หู และกระดูกกระโหลก จนถึงกระดูกสันหลังได้อย่างดี (ไว้ครั้งต่อๆ ไปหมอจะค่อยๆ บอกเรื่อง ความสัมพันธ์ของระบบบดเคี้ยวต่อสุขภาพให้ท่านผู้อ่านฟัง แล้วเราจะได้ทราบว่า หมอฟันนั้นมีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ทุกคน มากกว่าเรื่องฟันเท่านั้น)

            ทีนี้ ถ้าฟันหายไป เทคโนโลยีปัจจุบัน ก็สามารถทดแทนฟันซี่ที่หายไปด้วยการปลูกรากเทียม ทดแทนฟันนั้นๆ โดยอาจทดแทนฟันเป็นซี่ๆ หรืออาจทดแทนฟันนั้นๆ เป็นชุดๆ ในลักษณะของแกนยึดฟันปลอมก็ได้ เราจึงอาจกล่าวได้ว่ารากเทียมก็คือฟันชุดที่สาม ฟันเทียมที่เราต้องจ่ายเงิน ก่อนจะได้มันมานั่นเอง

            รากเทียมก็คือ แกนโลหะที่มักจะทำมาจากโลหะชนิดไทเทเนียมโดยทันตแพทย์จะฝังแกนไทเทเนียมลงไปในตำแหน่งกระดูกซึ่งฟันหายไป กระดูกจะตอบสนองด้วยการเข้ายึดแกนรากเทียมนี้ ภายหลังการปลูกรากเทียมประมาณ 2-3 เดือน รากเทียมจะยึดติดกับกระดูก ทันตแพทย์ก็จะต่อส่วนครอบฟันด้านบนขึ้นมาเป็นซี่ฟันสีธรรมชาติหรือสีโลหะ และใช้บดเคี้ยวได้เสมือนเป็นฟันแท้ซี่หนึ่ง

            อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงรู้สึกดีใจว่า ต่อแต่นี้ แม้จะเสียฟันไป ก็ไม่ต้องกังวลแล้ว ทำรากเทียมได้ ใช้งานได้เหมือนฟันธรรมชาติ การสรุปแบบนี้จริงหรือไม่ หมอจะอธิบายแจกแจงให้ฟังต่อไปละกัน

            แม้ว่ารากเทียมจะสามารถทดแทนฟันธรรมชาติ แต่การได้รากใหม่มานี้ก็ต้องเสียเงินในกระเป๋าเราไปมากทีเดียว โดยรวมๆ แล้ว ราคารากเทียมระบบยุโรปจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 70,000 บาทต่อซี่ หากเราเสียฟันไปมากๆ ถึง 10 ซี่ ก็ต้องคูณจำนวนเข้าไป รับรองว่าเราคงไม่อยากเสียเงินกันทีเดียว (อย่าลืมว่า ฟันแท้ที่จำเป็นต่อการกินและใช้งานนั้น ไม่รวมฟัน 4 ซี่สุดท้าย มีจำนวนถึง 28 ซี่ทีเดียว) เราจึงควรรักษาฟันเราให้ดีที่สุด

            อีกข้อก็คือ รากเทียมนั้น ต้องปลูกในกระดูก (เหมือนต้นไม้ ที่ต้องมีดินพอเพียงให้ปลูกต้นไม้) ดังนั้น หากกระดูกในตำแหน่งที่จะปลูกมีปริมาณไม่เพียงพอเราก็ต้องปลูกกระดูกก่อน ซึ่งนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มแล้ว ยังเจ็บตัวเพิ่มขึ้นด้วยเพราะการปลูกกระดูกนั้น ต้องมีการผ่าตัดเหงือกเป็นบริเวณที่กว้างขึ้น ต้องมีระยะเวลาพักฟื้นที่นานขึ้นนั่นเอง

            ในขบวนการทำรากเทียม ก็ต้องรอนานหลายเดือน เราจะปลูกรากแล้วให้มีฟันใช้งานอย่างรวดเร็วทันใจก็คงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ ในคนบางคน ก็มีปฏิกิริยาต่อต้านรากเทียมที่ปลูก เนื่องจากภาวะร่างกายที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล (ซึ่งทันตแพทย์ ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ก่อนการรัักษาว่าจะเกิดการปฏิเสธรากเทียมขึ้น) แม้ว่าบริษัทรากเทียมจะรับประกันรากเทียม หากมีการหลุดของรากเทียม โดยจะให้รากเทียมชุดใหม่และผ่าตัดใหม่ (หมายความว่า ต้องเจ็บตัวใหม่) แต่คนไข้บางคนก็ยอมแพ้ ไม่ขอรับการผ่าตัดในรอบสอง รอบสามนั่นเอง ตามที่เคยมีรายงานสถิติการหลุดของรากเทียมนั้น พบว่ามีอุบัติการณ์น้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่แน่ว่า เราอาจตกอยู่ในกลุ่มสามเปอร์เซ็นต์นั้นได้เช่นกัน

            และเรื่องสุดท้าย คือรากเทียมใช้งานได้เหมือนฟันธรรมชาติไหม สิ่งหนึ่งที่หมอจะชี้ให้เห็นก็คือ รากฟันมนุษย์นั้นจะมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไปตามตำแหน่งและชนิดของฟัน เช่นฟันหน้าจะมีหน้าตัดของรากฟัน รูปสามเหลี่ยมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ฟันกรามจะมีหน้าตัดของรากฟันรูปสี่เหลี่ยมใหญ่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 9-10 มิลลิเมตร แต่รากเทียมนั้นมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5.5 มิลลิเมตรเท่านั้น (รูปที่ 4) ดังนั้นฟันรากเทียมอาจมีช่องว่างบริเวณคอฟันกว้างกว่าฟันจริง ใช้งานได้ดีแต่ใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ เหมือนฟันจริง อีกทั้งยังต้องมีการดูแลหลังการใช้งานไปแล้ว เหมือนรถยนต์ที่ต้องมีการดูแลส่วนต่างๆ หลังการใช้งาน อาจต้องมีการถอดส่วนบนออกมาแก้ไขรูปร่าง จุดประชิด และทำความสะอาด ทุกๆ 5 ปีขึ้นไป แม้จะมีอายุใช้งานนานเกินกว่า 10 ปี แต่รากเทียมก็ยังไม่มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่ามันจะมีอายุการใช้งานที่นานเกินกว่า 15 ปี (เพราะรากเทียมค้นพบประมาณปี 1970 และถูกใช้อย่างกว้างขวาง หลังปี คศ. 2000 เท่านั้น) ไม่ต้องไปเทียบกับฟันแท้ที่พ่อแม่ให้มาซึ่งสามารถใช้ได้ดีถึง 55-60 ปีเลย

            รากเทียมจึงเป็นเพียงฟันทดแทน ในกรณีที่เราโชคร้ายต้องเสียฟันไปก่อนอายุอันควรเท่านั้น มันไม่ใช่ยาวิเศษ ที่ดีไปกว่าฟันธรรมชาติ หากฟันผุ ฟันเสียเอาให้แน่ใจก่อนว่า ไม่มีทางรักษาแก้ไขแล้วนอกจากการถอนฟัน เราถึงจะมาใช้รากเทียมกัน แบบนั้นถึงจะดีกว่า

            การดูแลฟันให้อยู่ในช่องปากก็แสนง่าย ได้แก่ แปรงฟันให้ดี เช้าเย็นทุกด้านฟัน วันละ 5 นาทีต่อครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน ไม่ทานอาหารแข็งเกินไป และไม่ทานอาหารเป็นกรด เช่นน้ำอัดลม ของเปรี้ยว ของดอง ทานหวานให้น้อยลง เท่านี้ฟันแท้ที่พ่อ แม่ให้ ก็สามารถอยู่ทนในช่องปากเราจนแก่เฒ่าครับผม

แล้วพบกันใหม่ครับ

Author by รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์
ทันตแพทย์ด้านทันตกรรมหัตถการ และทันตกรรมความสวยงาม

SHARE