สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมและพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก ‘Child Protection Summit, Bangkok 2024’ จัดโดยมูลนิธิเด็กโลกและมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก โดยได้รับความร่วมมือจาก 3 กระทรวงด้านความมั่นคง มท. ยธ. และ พม. เซ็น MOU เดินหน้าพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทย พร้อมสร้างบรรทัดฐานใหม่ชวนประชาชนปฏิเสธการดำรงอยู่ของปัญหานี้ จนการล่วงละเมิดสิทธิเด็กในทุกมิติหมดไปจากสังคมไทย เมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2564
สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินยังห้องประชุม ESCAP Hall ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (UNCC) โดยทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมและเสด็จยังที่ประทับเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมการประชุม โดยสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งราชอาณาจักรสวีเดนพระราชทานพระราชดำรัสเปิดการประชุม จากนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชดำรัสต่อที่ประชุม ทั้งสองพระองค์ทรงรับฟังการรายงาน ทอดพระเนตรการขับร้องประสานเสียงจากกลุ่มเยาวชน พร้อมเสด็จเยี่ยมชมบูธนิทรรศการจากศิลปินเมียนมา รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในประเทศไทย และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน ในงานประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก หรือ ‘Child Protection Summit, Bangkok 2024’ จัดโดยมูลนิธิเด็กโลก (World Childhood Foundation) ในสมเด็จพระราชินีซิลเวีย แห่งราชอาณาจักรสวีเดน และมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids Foundation) ประเทศไทย ร่วมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ กระทรวงมหาดไทย (มท.) สมาคมแม่บ้านมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เดอะ มอลล์ กรุ๊ป สยามพิวรรธน์ เป็นต้น
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการเดินหน้าพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กไทยในทุกช่องทาง โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ที่กำลังลุกลามแบบก้าวกระโดดนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ให้มีปราการที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อหยุดยั้งการละเมิดทางเพศในเด็ก เสริมสร้างกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน และป้องปรามผู้กระทำผิดให้เกรงกลัวต่อโทษทัณฑ์ พร้อมผลักดันให้สังคมปฏิเสธการดำรงอยู่ของปัญหานี้ จนการล่วงละเมิดสิทธิเด็กในทุกมิติหมดไปจากสังคมไทย ผ่านพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
โดยมี คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ Ms.Paula Guillet de Monthoux เลขาธิการมูลนิธิเด็กโลก คุณสเวน ฟิลลิป ซอเรนเซน ผู้แทนมูลนิธิเด็กโลก คุณอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา คุณเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กรและการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ คุณชเล วุทธานันท์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก และ คุณสุริยน ศรีอรทัยกุล รองประธานและกรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก ถวายการต้อนรับการเสด็จฯ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมสื่อมวลชนเข้าร่วมงานดังกล่าวจำนวนมาก
ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย อาทิ เวทีเสวนาพิเศษ ‘Key steps to reduce child sexual abuse online’ และ ‘Protecting children from sexual abuse: challenges and key steps forward’ นิทรรศการเกี่ยวกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในเด็ก ‘ความจริงที่คนไทยไม่รู้’ (The Truth that Thai People don’t know) และนิทรรศการภาพเล่าเรื่องสะท้อนความเจ็บปวดของเด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิดทางเพศ ‘Story of Rose’ รังสรรค์โดยศิลปินชาวเมียนมา Ms.Hla Hla Win รวมถึงการขับร้องประสานเสียงสุดไพเราะจากคณะเด็กและเยาวชน ฯลฯ
Author By : Arunlak