สมัยนี้มีอุปกรณ์ นาฬิกา ที่ช่วยวัดแคลอรี่ และการขยับตัว เพื่อช่วยให้เราขยับตัวมากขึ้นในแต่ละวัน มากมายหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น Fitbit, Polar, Suunto, Apple, Garmin และยี่ห้ออื่นๆ อีกมากมาย อุปกรณ์พวกนี้หลายๆ แบบ ช่วยในเรื่องของวัด ก้าวที่เราเดินในแต่ละวัน วัดช่วงเวลาที่เรา Active หรือ ขยับตัวเยอะๆ วัดช่วงเวลาที่เรานอนเพื่อดูคุณภาพการนอนของเรา และที่สำคัญที่เราให้ความสนใจมากที่สุด คือการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เวลาที่เราออกกำลังกาย ทำกิจกรรม หรือ เล่นกีฬาต่างๆ แต่สิ่งที่คนสงสัย และตั้งคำถามน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับว่าอุปกรณ์เหล่านี้ใช้หลักการอะไรวัดสิ่งต่างๆ ที่เราทำในแต่ละวัน และสิ่งที่อุปกรณ์เหล่านี้วัด แม่นยำมากน้อยแค่ไหน
เรามาเริ่มดูกันเลยดีกว่า อุปกรณ์เหล่านี้มีหลักการสองอย่างหลักๆ ในการวัด โดยบางรุ่นจะมีสายคาดอกให้เราใส่เวลาออกกำลังหรือทำกิจกรรมต่างๆ โดยใช้หลักการ ECG หรือการวัดอัตรการเต้นของหัวใจจากตรงหน้าอกเราเลย และอีกวิธีหนึ่งคือบางเครื่องที่เราใส่ข้อมือจะมีแสงสีเขียวอยู่ด้านหลังเรียกว่า PPG (Photoplethysmography) เป็นตัววัด ซึ่งวิธีนี้ใช้หลักการส่งแสงสีเขียว ไปที่ผิวหนังและเส้นเลือดเพื่อวัตรชีพจรและอัตรการเต้นของหัวใจ กลุ่มคนที่ใส่เครื่องที่มีการวัดแบบ ECG หรือสายขาดอก จะเป็นกลุ่มที่เล่นกีฬาที่ต้องมีการขยับเยอะ เช่น CrossFit หรือ Cross Training เพราะจะเหมาะมากกว่า และในทางกลับกัน กลุ่มคนและนักกีฬาส่วนมากที่ใช้เครื่องวัดแบบ PPG จะเป็น นักวิ่งซะส่วนใหญ่ เพราะการวิ่ง เราไม่ได้ขยับช่วงข้อมือเยอะ ซึ่งทั้งสองรูปแบบ มีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน
เช่นการใช้ แบบ PPG เป็นตัววัดจะขึ้นอยู่กับปริมาณเลือดที่วิ่งผ่านเส้นเลือดข้อมือ ซึ่งถ้าออกกำลังกายแบบหนัก เช่น High intensity interval training หรือ Circuit Training จะยิ่งทำให้มีการขยับของ ข้อมือ หรือ ต้นแขนมากๆ จะยิ่งทำให้อัตราการเต้นของหัวใจอาจจะเต้นต่ำกว่าปกติ เป็นไปได้ถึง 54bpm ด้วยกัน เพราะฉะนั้น เวลาขยับแขนเยอะๆ และมีแรงกดเยอะๆ ก็จะทำให้ไม่แม่น แต่ในทางกลับกัน การใช้สายคาดอกวัด จะมีความแม่นยำกว่า เพราะ ไม่ถูกกระทบกระเทือน จึงทำให้มีตัวแปลน้อยมาก แต่ข้อเสียอาจจะเป็นที่บางคน ไม่ชอบที่ต้องมีอะไรมารัดตรงหน้าอกเวลาออกกำลังกาย หรือบางยี่ห้อที่เราชอบ มีแต่ส่วนนาฬิกาขาย แต่ไม่มีส่วนของสายรัดหน้าอกขาย ทำให้ลำบากต่อการใช้งาน หลายๆ คนเลยเลือกใช้แบบ PPG อย่างเดียว
สรุปแล้ว ตัววัดที่ใช้หลักการแสงสีเขียว PPG เหมาะกับ คนที่ต้องการวัดแค่ปริมาณพลังงานเผาผลาญแต่ละวัน จากกิจกรรมทั่วไป เช่น จากก้าวเดิน หรือออกกำลังกายในระดับที่ไม่หนักมาก เช่น เดินบนลู่วิ่ง หรือ ปั่นจักรยาน และถ้าใครที่เล่นกีฬาหรือเน้นออกกำลังกายแบบหนักมากเป็นพิเศษ ที่มีการขยับตัวเยอะๆ ก็จะเน้นเป็นแบบ ECG ที่มีสายคาดอกมากกว่า เพื่อความแม่นยำ เพราะการที่เราเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับกิจกรรมหรือกีฬา นั้นสำคัญในการที่เราจะได้รู้อัตราการเต้นของหัวใจเรา แบบแม่นยำ เพื่อมาใช้ในการฝึกต่างๆ
Story by โค้ช มิกกี้ นนท์ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร