ไม่มีสถานที่ใดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปไม่ถึง คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินจริงเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทุรกันดารเพียงใด พระองค์เสด็จเข้าไปเปลี่ยน พัฒนา ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปลี่ยนสถานที่ทุรกันดาร ให้เป็นที่ทำกิน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ให้วิชาความรู้ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อให้ประชาชนดำรงชีพได้
มาร่วมตามรอยพ่อเยือน 38 โครงการหลวง ที่เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งการพัฒนาที่พ่อสร้างไว้เพื่อประชาชนเรียนรู้วิถีชีวิตและธรรมชาติที่สวยงามน่าเยี่ยมชมไม่แพ้สถานที่ท่องเที่ยวใดๆ และสามารถท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
1.สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาที่พักอาศัยอยู่ตามดอยต่างๆ ทางภาคเหนือเลิกปลูกฝิ่น และทำไร่เลื่อนลอย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารของประเทศถูกทำลาย จากเดิมที่เป็นดอยหัวโล้นแปรสภาพเป็นขุนเขาแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการวิจัยและพัฒนา พันธุ์ไม้ผลกว่า 12 ชนิด ผักเมืองหนาวกว่า 60 ชนิด และดอกไม้เมืองหนาวกว่า 20 ชนิด มีพื้นที่สำหรับวิจัย ทดสอบพันธุ์พืชเขตหนาวจำนวน 1,800 ไร่ มีหมูบ้านชาวเขาบริเวณรอบสถานีฯ เป็นเขตส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ รวม 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านขอบด้ง บ้านนอแล บ้านหลวง บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านคุ้ม บ้านผาแดง บ้านถ้ำง๊อบ และบ้านสินชัย รวมประชากรประมาณ 3,215 คน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าจีนยูนาน ไทใหญ่ มูเซอดำ และปะหล่อง สภาพภูมิอากาศเย็นสบายตลอดปี
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในสถานี
สวนแปดสิบ สวนกลางแจ้งตรงข้ามสโมสรอ่างขางเป็นสวนตกแต่งสวนสไตล์อังกฤษมีดอกไม้ ไม้ประดับปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้านบนยังเป็นลานต้นซากุระญี่ปุ่นจะบานช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม
- สวนหอม เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ที่มีกลิ่นหอมทั้งในและต่างประเทศ เช่น ต้นหอมหมื่นลี้ มะลิเนปาล ลาเวนเดอร์ ถ้าเดินผ่านสวนจะรู้สึกได้กลิ่นหอมจากพรรณไม้ในสวน
- สวนบอนไซอ่างขาง จัดแสดงพันธุ์ไม้หลากชนิดยุคแรกเริ่มก่อตั้งสถานีในรูปแบบการปลูกเลี้ยงในกระถางแบบบอนไซ นอกจากนี้ยังมีพืชทนแล้ง พืชกินแมลง และสวนหินธรรมชาติจุดชมวิวภายในสถานี
- โรงเรือนดอกไม้ เป็นการจัดสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวภายในโรงเรือนมีมุมน้ำตก มุมนั่งเล่นพักผ่อน
- โรงเรือนกุหลาบตัดดอก รวบรวมกุหลาบชนิดตัดดอกสายพันธุ์ต่างๆ จากประเทศเนเธอร์แลนด์ติดกับโรงเรือนเป็นร้านค้าของที่ระลึก จำหน่ายสินค้าของโครงการหลวงและชุมชน
- โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผัก จัดตกแต่งด้วยผักเมืองหนาวหลายชนิด พืชสุมนไพรของโครงการหลวงให้ได้ชม
- แปลงบ๊วย ต้นบ๊วยที่นี่ปลูกตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งโครงการหลวงปัจจุบันแตกกิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาเย็นสบาย
- แปลงไม้ผลตามฤดูกาล ภายในสถานีฯ อ่างขางมีแปลงไม้ผลเมืองหนาวหลายอย่างให้ได้ชมตลอดทั้งปี เช่น พี้ช พลับ สาลี กีวี่
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- หมู่บ้านนอแล เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่อง (ดาราอั้ง) ตั้งอยู่ติดกับชายแดนพม่า มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการแต่งการ งานหัตถกรรม สวยงามแปลกตา งานปีใหม่ปะหล่องเดือนเมษายน มีการแสดงฟ้อนนางร้อยเงิน ฟ้อนดาบ
- หมู่บ้านขอบด้ง เป็นชนเผ่าลาหู่ (มูเซอ) มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีการถักหญ้าอิบูแค เป็นกำไรสีสันสวยงาม ให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝาก
- ชุมชนชาวจีนยูนนาน ที่บ้านคุ้ม บ้านหลวง บ้านปางม้า มีร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว ชา สมุนไพร ผลไม้แห้ง เป็นต้น
กิจกรรมท่องเที่ยว
- ปั่นจักรยานชมธรรมชาติ สถานีฯ อ่างขางมีบริการจักรยานเช่าติดต่อได้ที่สโมสรอ่างขาง ปั่นชมแปลงเกษตรภายในสถานี
- ขี่ฬ่อชมธรรมชาติ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีการจัดกลุ่มชาวบ้านนำฬ่อมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ขี่ชมสถานที่บริเวณแปลงต่าง ๆ ผู้สนใจสามารถติดต่อเช่าขี่ฬ่อได้ที่สถานีฯ อ่างขาง
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เส้นทางเดินในแปลงปลูกป่าของสถานีฯ ซึ่งเป็นไม้ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน นักท่องเที่ยวสนใจเดินในเส้นทางของสถานีฯ อ่างขาง สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อมูลก่อนการเที่ยวชมได้
- การดูนก ดอยอ่างขางเป็นสถานที่ดูนกที่มีนกหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวที่จะมีนกอพยพหาดูยากมายังบริเวณสถานีฯ อ่างขางรวมถึงพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งชมรม ‘ฅนรักษ์นกอ่างขาง’ โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีข้อมูลไว้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจดูนกที่อ่างขาง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์: 0-5396-9476-8 เบอร์แฟกซ์: 0-539-69478
ศูนย์ข้อมูลสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง: 0-5369-6489
Website: www.angkhangstation.com
2.สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้ง ‘สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์’ บนพื้นที่ 150 ไร่ ซึ่งเป็นสถานีวิจัยอีกแห่งหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวง ที่ดำเนินงานด้านวิจัยค้นคว้าข้อมูล เป็นแนวทางที่จะนำเอาผลจากการวิจัยมาส่งเสริมอาชีพเป็นรายได้ของครอบครัวเกษตรกร ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนฝิ่น พร้อมทั้งถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านการเกษตรแผนใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น ตลอดจนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสถานีฯ ให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น และเพื่อให้ผู้มาเยี่ยมชมได้ศึกษาเรียนรู้พรรณไม้ต่างถิ่นหลากหลายชนิด ที่ทางสถานีได้ศึกษาวิจัยและทดลองปลูกขึ้นมา
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในสถานี
- สวน 80 พรรษา ซึ่งจัดในปี พ.ศ.2550 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมพรรษา ครบ 80 พรรษา และเป็นสถานที่จัดแสดงขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาดูงานของผู้มีความสนใจศึกษาเกี่ยวกับพรรณไม้ดอกเมืองหนาว โดยพรรณไม้ที่อยู่ในสวนเป็นการนำพรรณไม้ดอก ไม้ยืนต้น ที่ได้จากงานวิจัยของนักวิชาการ ที่นำออกมาสาธิต ในรูปแบบของการจัดภูมิทัศน์ให้สวยงาม ภายในสวนตกแต่งด้วยไม้ดอกเมืองหนาวนานาชนิด
- สวนหลวงสิริภูมิ เป็นสวนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์เฟิน ภายในมีน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเป็นน้ำตกชั้นล่างของน้ำตกสิริภูมิ มีลำธารไหลไปตามบริเวณสวนตลอดปี เป็นแหล่งเก็บรวมรวมเฟินทั้งของไทยและต่างประเทศ ประมาณ 30 สกุล 50 ชนิด จุดเด่นภายในสวน คือ กูดต้น หรือ ทรีเฟิน (Tree Fern) เป็นเฟินขนาดใหญ่และมีลำต้นสูงร่วม 10 เมตร ซึ่งมีประมาณกว่า 10 ชนิด
- โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จัดแสดงดอกไม้ ไม้ประดับชนิดต่างๆ ที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล อาทิเช่น กุหลาบหิน รองเท้านารี ซิมบิเดี้ยม
- สวนกุหลาบพันปี เป็นสวนที่เกิดจากการศึกษาและขยายพันธุ์กุหลาบพันปีพืชในสกุล Rhododendron จากแหล่งต่างๆ ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ตามพื้นที่สูง ทั้งในและต่างประเทศเช่น พม่า มาเลเซีย ทิเบต
- โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงเฟิน ซึ่งรวบรวมเฟินที่หายากชนิดต่าง ๆ ไว้มากมายหลายชนิด ทั้งของไทย และต่างประเทศ ซึ่งบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้วเป็นโรงจัดแสดงเฟินที่มีความสำคัญทางด้านพืชสวนและเศรษฐกิจ ซึ่งมีประมาณ 50 สกุล 200 กว่าชนิด และยังมีเฟินรัศมีโชติ ซึ่งเป็นเฟินประจำถิ่นของพื้นที่ ที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร
- โรงเรือนรวบรวมและจัดแสดงพืชกินสัตว์ รวบรวมพืชกินสัตว์หรือพืชกินแมลง เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง, พิงกุย ชนิดต่าง ๆ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศบนพื้นที่สูง
- โรงเรือนผักไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics) รวบรวมผักเมืองหนาวประเภทสลัด ปลูกโดยวิธีไร้ดิน เน้นผักสลัด 5 ชนิด ของโครงการหลวง อาทิ ผักกาดหวาน กรีนโอ๊ค เรโอ๊ค บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ไอส์เบริ์ก
- หน่วยวิจัยขุนห้วยแห้ง เป็นหน่วยย่อยของสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้ดำเนินงานวิจัยพัฒนาและพัฒนาพันธุ์พืชเมืองหนาว ทำให้มีคณะเข้ามาศึกษาดูงานวิจัย
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- บ้านแม่กลางหลวง ชุมชนปกาเกอญอที่มีวิถีชีวิต สมถะเรียบง่าย ท่ามกลางธรรมชาติ มีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติเรียนรู้ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นศึกษาดูนก ประจำถิ่นในเส้นทางเดินป่าดอยหัวเสือ เส้นทางดูนกห้วยน้ำขุ่น และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดอก นักท่องเที่ยวนิยมมาชมความสวยงามของนาข้าวขั้นบันได การทำนาข้าวจะแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ
- ก.ย. – กลาง ต.ค . ช่วงหน้าฝนต้นข้าวจะเริ่มเขียว เคล้าสายหมอกบางๆในฤดูฝน
- ปลายต.ค. – ต้นพ.ย. เป็นช่วงที่ต้นข้าวออกรวงเป็นสีทองเต็มท้องทุ่งเหลืองอร่าม
- บ้านหนองหล่ม ชุมชนชาวปกาเกอญอที่นี่มีต้นกาแฟประวัติศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2517 ในหลวงเสด็จพระดำเนินด้วยพระบาทเป็นชั่วโมง เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียง 2-3 ต้น ทรงมีรับสั่งเองว่าการที่เสด็จไปทำให้ชาวเขานั้นเห็นว่ากาแฟนั้นสำคัญ จึงสนใจปลูก ปัจจุบันบนดอยมีกาแฟมากมายก็เริ่มจากกาแฟ 2-3 ต้นนั่นเอง
กิจกรรมท่องเที่ยว
- เส้นทางเดินชมธรรมชาติสวนบริเวณในสถานีฯ และนักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมรอบ ๆ สถานีและในหมู่บ้านได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ 202 หมู่ 7 บ้านขุนกลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160
เบอร์โทรศัพท์: 0-5328-6777-8 เบอร์แฟกซ์: 0-5328-6779
ติดต่อที่พัก 0-5328-6771-2 ต่อ 14-15 หรือ 080-769-1944 เบอร์แฟกซ์: 0-5328-6770
E-mail : royalinthanon@hotmail.com
3. สถานีเกษตรหลวงปางดะ
มูลนิธิโครงการหลวงได้เลือกพื้นที่ในสถานีทดลองข้าวไร่ และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง ของกรมวิชาการเกษตรหมู่บ้านปางดะ เป็นแหล่งทำการขยายพันธุ์พืช ต่อมาขยายพื้นที่สำหรับการขยายพันธุ์พืชอย่างถาวร โดยดำเนินงานภายใต้ชื่อ ‘ศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวง’ จนเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเยี่ยมศูนย์ขยายพันธุ์พืชปางดะโครงการหลวงเป็นครั้งแรก โดยทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ และในโอกาสนี้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้ทูลขอพระราชทานชื่อใหม่ว่า ‘สถานีเกษตรหลวงปางดะ’ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาพระราชทานให้ใช้ชื่อนี้ พร้อมกับได้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมรวม 150 ไร่ ในปีเดียวกัน ปัจจุบันสถานีเกษตรหลวงปางดะได้ขยายขอบเขตการปฏิบัติงาน เป็นสถานีวิจัยขยายพันธุ์พืชหลายชนิด นอกจากไม้ผลเมืองหนาว ไม้ดอกเมืองหนาว ไม้ผลเมืองร้อนและกึ่งร้อน ถั่วแขกและไม้ป่าไม้โตเร็ว
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในสถานี
- แปลงวิจัยทดสอบสาธิตไม้ผล เช่น กีวี่ฟรุ๊ต โลควัท ไม้ผลขนาดเล็ก เช่น มะเดื่อฝรั่ง องุ่นไร้เมล็ด เสาวรส ราสพ์เบอรี่ มัลเบอรี่ และไม้ผลเขตร้อน เช่น อาโวคาโด้ มะม่วง ลิ้นจี่ มะเฟือง
- แปลงวิจัยทดสอบสาธิตผัก เช่น มะระหัวใจ มันเทศญี่ปุ่น สลัดรวม ถั่วแขก
- แปลงทดสอบพืชสมุนไพร เช่น จิงจูฉ่าย เลมอนทาร์ม เสจ หญ้าหวาน ชาหอม มิ้นต์
- แปลงวิจัยทดสอบสาธิตไม้ดอก เช่น ยูโคมิส กอลิโอซ่า เฮลิโคเนีย ดอกกุหลาบสายพันธุ์ต่าง ๆ
- นอกจากนี้ยังมีแปลงทอดสอบไผ่หวาน ไผ่หยก และพืชนำเข้า เช่น ทับทิมเมล็ดนิ่ม เชอรี่สเปน
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- น้ำพุร้อนโป่งกว๋าว ที่บ้านโป่งกว๋าว มีน้ำพุร้อนธรรมชาติ ท่ามกลางหุบเขา มีบ่อแช่น้ำแร่ บ้านพัก และลานกางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว
กิจกรรมท่องเที่ยว
- เส้นทางเดินชมสวน แปลงผัก นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมรอบ ๆ บริเวณในสถานีฯ ได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สถานีเกษตรหลวงปางดะ 192 หมู่ 10 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ 50250
เบอร์โทรศัพท์: 0-5337-8046 087-173-5454 เบอร์แฟกซ์: 0-5337-8163
E-mail: pangda.rpf@gmail.com หรือ atomaun@hotmail.com
4.สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด
ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2527 ภายในเนื้อที่ 60 ไร่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น เน้นการวิจัยกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์ผสม 28 สายพันธุ์ ควบคู่ไปกับการวิจัยพืชเสริมชนิดอื่น เช่น กระวานและพริกไทย เพื่อใช้ปลูกร่วมในแปลงกาแฟ ซึ่งกาแฟพันธุ์กาแฟอาราบิก้านี้กรมวิชาการเกษตรของประเทศไทย ได้ประสานความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านทางโครงการหลวงมาก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ พ.ศ. 2517
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดเยี่ยมชมในสถานี
- ชมแปลงสาธิตกาแฟพันธุ์อาราบิก้าหลายสายพันธุ์ภายใต้ร่มเงาร่มรื่นของต้นไม้ ตลอดจนขั้นตอนการเพาะกล้าและเก็บเกี่ยวเมล็ด ช่วงเดือนธันวาคม รวมถึงพืชที่สามารถปลูกร่วมกับแปลงกาแฟ เช่น พริกไท กระวาน
- ชมแปลงปลูกสมุนไพร เช่น ยูเอสเอมิ้นต์ ออริกาโน จิงจูฉ่าย
- ชมแปลงสาธิตผัก เช่น ซูกินี แตงกวาหนาม พริกซุปเปอร์ฮอท
จุดท่องเที่ยวในชุมชน
- ชมประเพณีและวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่น่าสนใจของชาวกะเหรี่ยง เช่น การตำข้าว ดนตรีเต๊ะนา พิธีกินข้าวใหม่ การแต่งงาน การเต้นรำ ฯลฯ
- ชมงานหัตถกรรมชาวเขา เช่น ผ้าทอของชาวบ้าผาแตกที่มีความสวยงาม
การท่องเที่ยวธรรมชาติ
- กิจกรรมดูนกในช่วงฤดูหนาว ภายในสถานีฯ วิจัยแม่หลอด ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ช่วงฤดูหนาวมักจะพบเห็นนกอพยพย้ายถิ่นหลายหลายสายพันธุ์ เช่น นกกางเขนแดง นกอินทรีย์ ฯลฯ
- ชมความงามของน้ำตกหมอกฟ้า (ตาดหมอก) มีความสูงประมาณ 50 เมตร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมอกฟ้า บริเวณทางแยกริมถนนหลวง ก่อนเข้าศูนย์ฯ น้ำตกหมอกฟ้าเป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงมีน้ำตลอดทั้งปี สามารถเล่นน้ำ พักผ่อน หรือเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะสั้น โดยเส้นทางศึกษาธรรมชาติมีทั้งถ้ำค้างคาว และพันธุ์ไม้ต่าง ๆ เช่น ยางน่อง ดอกกฤษฎา กระโถนฤาษี ขนุนดิน
- ชมน้ำตกตาดเจียงฮาย เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ความสูงประมาณ 3 เมตร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด บ้านแม่หลอด ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ 50330
เบอร์โทรศัพท์: 0-5331-8303 หรือ 089-555-7030, 081-961-0014
อุทยานแห่งชาติหมอกฟ้า โทร. 0-5321-0244
5.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอ บ้านแกน้อย ทรงทราบถึงปัญหาของราษฎร ที่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการปลูกฝิ่น การปลูกข้าวที่สามารถปลูกได้เพียงปีละครั้ง พื้นที่เพาะปลูกเริ่มให้ผลผลิตตกต่ำ และมีปัญหาการพังทลายของดิน ประกอบกับพื้นที่บริเวณนี้มีความลาดเทแต่ไม่สูงชันมาก และมีแหล่งน้ำที่จะสามารถพัฒนาเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคในหมู่บ้าน และใช้ทำการเกษตรปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นรายได้ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้เป็นงบในการดำเนินงาน
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย มีพื้นที่ 57,210 ไร่ ครอบคลุม 13 หมู่บ้าน ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ามูเซอแดง จีนยูนนาน และไทยใหญ่ นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ห่างไกล ประกอบกับเป็นพื้นที่รอยต่อชายแดนประเทศพม่า จึงทำให้แกน้อยกลายสภาพเป็นเมืองปิด แต่หลังจากมีการก่อตั้งโครงการหลวง ความเจริญในด้านต่างๆ ก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่
กิจกรรมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ชมแปลงสาธิตและแปลงส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตร เช่น มะเขือเทศเชอรี่หวานสีแดง ฯลฯ
- ชมแปลงสาธิตการปลูกไม้ผล เช่น แมคคาเดเมีย บ๊วย พลัม ฯลฯ
- ชมแปลงปลูกไม้ดอก
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่ามูเซอ งานหัตถกรรมทอผ้า
- ประเพณีปีใหม่มูเซอ จัดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จะมีการเต้นจะคึ ล้อมกันเป็นวงกลมตามจังหวะดนตรี
- ชมวิถีชีวิตชาวจีนยูนนาน และชมการอนุรักษ์บ้านดินแบบดั้งเดิม
- ชมวิถีชีวิตชาวลาหู่ งานหัตถกรรมทอผ้าและเย็บปักลวดลายที่มีความสวยงาม
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- ชมวิวป่าสนธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่
- ถ้ำไชยา อยู่ห่างจากศูนย์ฯ 5 กิโลเมตร
- ถ้ำลอด เป็นถ้ำที่มีน้ำไหลผ่านตลอดปี มีช่องขนาดคนลอดผ่านได้ เหนือขึ้นไปมีถ้ำขนาดเล็กอยู่ด้านใน
- น้ำตาลห้วยจันทร์ เป็นน้ำตกสูงประมาณ 5 ชั้น อยู่ห่างจากศูนย์ฯ 4.5 กิโลเมตร
- จากบ้านแกน้อยสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังบ้านเปียง อำเภอหลวงเวียงแหง ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน อยู่ติดกับประเทศพม่า ระหว่างทางจะมีวิวสวยๆให้ชม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย บ้านแกน้อย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170
เบอร์โทรศัพท์: 0-5331-8310 หรือ 081-883-3449 หรือ 081-950-9136
6.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2527 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง ให้ได้รับการดูแลในด้านสาธารณูปโภคที่เพียงพอ ลดปัญหาการบุกรุกป่าทำไร่เลื่อนลอย และขจัดปัญหาการปลูกฝิ่น โดยสร้างอาชีพหลักทดแทน พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้มูลนิธิโครงการหลวงโดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เสด็จสำรวจพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวบ้านจำนวน 14 หมู่บ้าน ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,035 เมตร ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการปลูกพืชผัก และพืชไร่ รวมทั้งผลไม้อื่นๆ
กิจกรรมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ชมแปลงส่งเสริมผลผลิต เช่น พลับ อะโวกาโด ดอกไฮเดรนเยีย สมุนไพร และพืชไร่
- ชมนาขั้นบันไดของชาวกะเหรี่ยง เป็นที่กว้างลดหลั่นตามความสูง
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยง การละเล่นช่วงเทศกาล
- ปีใหม่ม้ง
- การทอผ้าของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และย้อมสีจากวัสดุธรรมชาติ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวเขา การปักลวดลายและเครื่องประดับ
- การนวดสมุนไพรของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- น้ำตกขุนแปะ เป็นที่พักผ่อนเล่นน้ำ มีธรรมชาติที่สวยงาม ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร จึงได้รับฉายาว่า น้ำตกแห่งแสงสว่าง
- น้ำตกห้วยขี้เหล็ก อยู่ในป่าลึก เป็นแหล่งอาศัยของตัวซาลามานเดอร์ และเขียดแลวที่หายาก
- ถ้ำป่ากล้วย ตั้งอยู่เหนือน้ำตกขุนแปะ บริเวณรอบๆ เป็นป่าโปร่ง มีทิวทัศน์สวยงาม
- เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เส้นทางโครงการหลวงขุนแปะ – ผาขาว และเส้นทางโครงการหลวงขุนแปะ – ดอยอมติง นำเที่ยวชมโดยไกด์ท้องถิ่นเป็นชาวบ้านที่มีความชำนาญเส้นทาง
- ผาขาว ผาแตก เป็นผาจุดชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะ บ้านขุนแปะ หมู่ 2 ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ 50160
เบอร์โทรศัพท์: 0-5321-4417 หรือ 081-026-2071
7.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง
เมื่อปี พ.ศ.2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังบ้านขุนวางเป็นครั้งแรก ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า บริเวณนี้ยังคงมีการปลูกพืชเสพติดเช่นฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีรายได้ทัดเทียมหรือดีกว่าปลูกฝิ่น รับสั่งให้หน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันพิจารณาปรับปรุงและพัฒนา ในครั้งนั้นเอกอัครราชทูตอเมริกาได้รับสนองนโยบายโดยให้การสนับสนุนงบประมาณสมทบ จากนั้นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จึงได้เริ่มต้นดำเนินงานอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2528
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
- ชมโรงเรือนปลูกดอกเบญจมาศหลากสีสัน ทั้งแบบดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกลิเซียทัส คาร์เนชั่น ลิลลี่
- ชมแปลงปลูกชาจีนเบอร์ 12 พันธุ์หยวนจืออู่หลง ดูขั้นตอนการผลิตชาพร้อมชิมชา (ขั้นตอนการผลิตชาอยู่ในโรงผลิตชาซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนแม่วาก)
- ชมแปลงไม้ผล เช่น องุ่นไร้เมล็ด กีวีฟรู้ท พี้ช พลับ เครปกูสเบอรี่ เสาวรสหวาน สตรอเบอรี่ และบ๊วย
- ชมแปลงปลูกผักเมืองหนาว เช่น มะเขือเทศดอยคำ บล๊อกโคโลนี ถั่วหวาน ผักกาดหวาน บล๊อคโคลี่ หอมญี่ปุ่น ฯลฯ
- ชมโรงเรือนสาธิตการปลูกวานิลลา ออกฝักพร้อมเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม โรงเรือนเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดโพโตเบลโล เห็ดแชมปิญอง
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ระยะทาง 2 กม. ชมดอกไม้และพืชผักเมืองหนาว และชมดอกพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งช่วงเดือน ธันวาคม – กุมภาพันธ์
- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งบ้านขุนวาง มีการปักผ้าม้ง และการทำการเกษตร
- ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอ บ้านโป่งน้อย เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่และมีบ้านพักแบบโฮมสเตยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานกรมการท่องเที่ยว จำนวน 5 หลัง บริการแก่นักท่องเที่ยว
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกผาดำ ระยะทางจากศูนย์ 2.5 กิโลเมตร มีไกด์ท้องถิ่นนำชม ระหว่างทางไกด์จะอธิบายให้ความรู้เรื่องพืชพรรณไม้ สมุนไพร ชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่ในป่า
- จุดชมวิวดอยผาแง่ม จุดชมวิวบนหน้าผา ระหว่างทางก็จะมีไกด์ท้องถิ่นให้ความรู้เรื่องพรรณไม้ ช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะมีดอกกุหลาบพันปีบานบริเวณลานผาแง่ม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง บ้านขุนวาง เลขที่ 112 หมู่ที่ 12 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์โทรศัพท์: 0-5331-8333 หรือ 088-413-7243
8.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
หมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมรายได้น้อยความเป็นอยู่ยากลำบาก จวบจนกระทั่งสายพระเนตรที่ทรงห่วงใยราษฎรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 300,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์ในการก่อตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ดและกาแฟพันธุ์อาราบิก้า ให้แก่ราษฎรนอกเหนือจากการปลูกเมี่ยง การรับรู้รับฟังตลอดจนสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ร่วมสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านก้าวสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ
กิจกรรมการท่องเที่ยว
เป็นแหล่งผลิตกาแฟอราบิก้าคุณภาพดีของโครงการหลวง ล้อมรอบด้วยธรรมชาติป่าไม้ และลำน้ำจากน้ำตก มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการหลวงแห่งแรก และชุมชนคนเมืองมีชื่อเสียงในด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ‘บ้านแม่กำปอง’ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากว่าบริการที่พักแบบ Home Stay ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
- มีมุมนั่งเล่นพักผ่อนริมสายธารน้ำ กิจกรรมให้อาหารปลา
- ชมสวนกาแฟใต้ร่มเงาต้นไม้ ช่วงเดือนธันวาคม จะเห็นเมล็ดกาแฟสุกสีแดงสด พร้อมเก็บเกี่ยวส่งไปยังโรงงานแปรรูปในศูนย์ ผ่านขั้นตอนกะเทาะเปลือก ตากแห้ง และคั่ว ให้เป็นเมล็ดกาแฟคุณภาพ
- โรงเรือนกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสหลากสีให้ชื่นชม
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านแม่กำปอง ชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง การทำสวนเมี่ยง หมัก-นึ่งเมี่ยงแบบดั้งเดิม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ สวนสมุนไพร โดยสามารถติดต่อให้ไกด์ท้องถิ่นนำชมหมู่บ้านได้รับรองได้ว่าได้ทั้งความรู้และสนุก นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ที่ได้รับรองมาตรฐาน บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพรพื้นถิ่น และชมขั้นตอนการทำหมอนใบชา
- จุดชมวิวดอยม่อนล้าน ชมธรรมชาติป่าไม้ ต้นกฤษณา กล้วยไม้ป่า และจุดชมดอกนางพญาเสือโคร่งบานและทะเลหมอก ช่วงฤดูหนาว และเส้นทางนี้ยังเชื่อมไปถึงอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จ.ลำปาง
- โบสถ์กลางน้ำ ในเชียงใหม่มี 2 แห่งคือที่ อ.แม่แจ่ม และที่วัดแม่กำปอง (วัดคันธาพฤกษา)
- ยังมีวิหารที่ทำด้วยไม้สักทอง แกะสลักลวดลายวิจิตรงดงาม เป็นงานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของชุมชน เป็นโบสถ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ทางศาสนา โดยปลูกไว้กลางน้ำและมีน้ำเป็นใบเสมา
กิจกรรมท่องเที่ยว
- นักท่องเที่ยวสามารถนำจักรยานมาปั่นชมธรรมชาติตามเส้นทางลัดเลาะไปตามแนวเขา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก บ้านปางผึ้ง หมู่ 8 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ 50130
เบอร์โทรศัพท์: 0-5331-8316
9.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา
มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน เริ่มต้นดำเนินการบุกเบิกจัดสรรพื้นที่ทำกินให้เกษตรกร จัดหาแหล่งน้ำ และระบบชลประทาน เพื่อลดการปลูกฝิ่น เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรชาวเขาให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดการทำไร่เลื่อนลอย ส่งเสริมความรู้ในการพัฒนาด้านต่างๆ จากวันนั้นผ่านมากว่า 30 ปี วิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาได้เปลี่ยนไป การทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น ได้ถูกทดแทนด้วยแปลงผักและผลไม้ สร้างรายได้และความสุขให้แก่ชุมชน
กิจกรรมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ชมแปลงสาธิตการปลูกผักและดอกไม้ภายในศูนย์ฯ
- ชมแปลงดอกเยอบีร่าบนไหล่เขาของชาวม้งบ้านบวกจั่น
- ชมแปลงปลูกสตรอเบอรี่และผักปลอดสารพิษ เช่น ยอดชาโยเต้ ลูกฟักชาโยเต้ พริกหวานหลากสี มะเขือเทศ ฯลฯ
- ชมแปลงสมุนไพร เช่น ยูเอสมิ้นต์ เจแปนนิสมิ้นต์ ฯลฯ
- ชมแปลงกุหลาบบ้านบวกเต๋ย
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ชมวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่าม้ง การเล่นลูกข่าง การเป่าแคนม้ง
- ประเพณีขึ้นปีใหม่ม้ง จัดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม ของทุกปี
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- จุดชมวิวสะเมิง อยู่ระหว่างรอยต่ออำเภอแม่ริม และสะเมิงเป็นจุดวิวภูเขา สามารถมองเห็นทะเลหมอกในฤดูหนาวได้
- จุดชมวิวบ้านบวกจั่น สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ทั้งสวนกุหลาบ แปลงดอกเบญจมาศหลากสีสัน
- น้ำตกนางหงส์ เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำมากช่วงเดือนตุลาคม
- น้ำตกแม่สา
- ปางช้าง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา 72 หมู่ 7 ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ 50180
โทร 0-5351-8302, 081-952-7650
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก http://www.thairoyalprojecttour.com/?cat=7