ไม่มีสถานที่ใดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จไปไม่ถึง คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินจริงเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทุรกันดารเพียงใด พระองค์เสด็จเข้าไปเปลี่ยน พัฒนา ริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปลี่ยนสถานที่ทุรกันดาร ให้เป็นที่ทำกิน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ให้วิชาความรู้ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อให้ประชาชนดำรงชีพได้
คอลัมน์ Dream Destination เที่ยวตามรอยพ่อ 38 โครงการหลวง Part 1 ได้พาไปชม 9 โครงการหลวง ที่พ่อหลวงของเราได้สร้างเพื่อประชาชน สำหรับใน Part 2 นี้ จะพาไปเยือนอีก 9 โครงการหลวง ที่น่าสนใจ และมีทัศนียภาพและความสวยงามไม่แพ้ที่ใด
10.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2522 ด้วยแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาอันเกิดจากการขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีพ และขาดการสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านอาชีพที่ยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแลให้ความรู้ทางด้านเกษตรกรรมศูนย์ฯ มุ่งเน้นพัฒนาอาชีพทางด้านการเกษตรที่เหมาะสม นำรายได้ที่มั่นคงมาสู่ชุมชน ยับยั้งการบุกรุกป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย และสกัดกั้นการปลูกฝิ่น
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ตั้งอยู่ในหุบเขา ทัศนียภาพจึงมีความงดงามเป็นพิเศษ พื้นที่เหมาะแก่การทำนาและปลูกพืช ส่วนพื้นที่ลาดเชิงเขาเหมาะแก่การปลูกผลไม้และพืชไร่ ประชากรในพื้นที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและม้ง นับถือศาสนาพุทธและคริสต์
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
- แปลงสาธิตการผลิตพืชผักเมืองหนาว ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหวานโอ๊คลีฟเขียว โอ๊คลีฟแดง ตลอดจนการ เพาะกล้าผักชนิดต่างๆ
- แปลงสาธิตการผลิตไม้ผล ได้แก่ พลับ องุ่น กีวี่
- แปลงสาธิตการผลิตไม้ดอก ได้แก่ จิ๊ปโซฟิลล่า ปักษาสวรรค์ สนช่อดาว สร้อยไก่ และบอลลูนฟราวเวอร์
- คอกสาธิตการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นกกระจอกเทศ กวาง ไกฟ้า ไก่เบรส
- การสาธิตการผลิตปุ๋ยหมัก การเลี้ยงไส้เดือนดิน
จุดท่องเที่ยวในชุมชน
- แปลงผลิตพืชผัก ไม้ดอก ไม้ผลตามฤดูกาล พืชผัก ได้แก่ ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แครอท และเบบี้แครอท ไม้ผล พลับ องุ่น กีวี่ พลัม ไม้ดอกได้แก่ จิ๊ปโซฟิลล่า ปักษาสวรรค์ สนช่อดาว สร้อยไก่ และบอลลูน
- น้ำตกห้วยกระแส เดินทางจากศูนย์ฯทุ่งหลวงประมาณ 5 กิโลเมตรและเดินเท้าอีกประมาณ 1 กิโลเมตร จะได้สัมผัสกับป่าสนเขาน้ำตกหลายชั้น ซึ่งแม้จะมีปริมาณน้ำไม่มากนักแต่ก็มีน้ำไหลรินชุ่มชื่นอยู่ตลอดทั้งปี
- น้ำตกบ้านโป่งสมิต เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอย่างน้อย 3 จุดที่ต้องเดินเท้าผ่านทุ่งนาเพื่อชมวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง การทำนาละปลูกพืชแบบนาขั้นบันได
- วัดพระธาตุศรีพุทธชินวงศ์นักท่องเที่ยวสามารถไปนมัสการพระธาตุได้ตลอดทั้งปีและชมทิวทัศน์ที่สวยงามโดยรอบ ทั้งสภาพบ้านเรือนที่กลมกลืนกับธรรมชาติและแปลงผัก
- ชมวิถีชีวิตชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ภูมิปัญญาในการรักษาป่า ข้อมูลที่น่าสนในและเกี่ยวกับการเดินป่า คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านที่ได้ตกลงร่วมกันแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็น 3 ส่วน คือป่าอนุรักษ์ เป็นส่วนที่ห้ามตัดทำลาย ป่าใช้สอยเป็นป่าสำหรับการปลูกพืชทำกินและหาของป่าและอีกส่วนหนึ่งคือป่าชุมชนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย งานปีใหม่กะเหรี่ยง จัดพร้อมช่วงปีใหม่สากล ช่วงวันที่ 31 ธันวาคม และ 1 มกราคม มีการเฉลิมฉลองและจัดพิธีกรรมต่างๆ งานหัตถกรรม เป็นสินค้าผ้าทอมือของกลุ่มคนในชุมชน โดยมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ ถุงย่าม กระเป๋า เสื้อผู้ชายหญิง ผ้าพันคอ พวงกุญแจ เป็นต้น เครื่องดนตรีกะเหรี่ยง
- อ่างเก็บน้ำห้วยตอง เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในการทำการเกษตรของหมู่บ้านบ้านห้วยตองและหมู่บ้านใกล้เคียง มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความสวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง บ้านห้วยตองเลขที่ 79 หมู่ที่ 10 ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
โทรศัพท์ 098-278-9061 หรือ 084-948-3546
11.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว
ปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรชาวเขาในพื้นที่ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและยากจนของชาวเขา พระองค์ทรงช่วยเหลือและรับหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ในโครงการหลวง ต่อมามูลนิธิโครงการหลวงจึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวขึ้น ทั้งนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียวมีหมู่บ้านในความรับผิดชอบคือ หมู่บ้านหนองเขียว หมู่บ้านหนองวัวแดง และหมู่บ้านใหม่สามัคคี ในท้องที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
กิจกรรมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ชมแปลงสาธิตภายในศูนย์ฯ เช่น อะโวกาโดพันธุ์ต่างๆ มะม่วง น้อยหน่า ฯลฯ แปลงผัก และงานส่งเสริมพืชไร่ เช่น งาดำ ข้าวไร่ ข้าวฟ่างกระเจี๊ยบ ฟักทองญี่ปุ่น ฯลฯ
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ชมวิถีชีวิตของชาวเขา 6 เผ่า คือ ลั๊วะ มูเซอ คะฉิ่น (บ้านหนองเขียว) ลีซอ (บ้านรินหลวง) อาข่า (บ้านใหม่สามัคคี) จีนยูนนาน (บ้านอรุโณทัย)
- ศูนย์วัฒนธรรมบ้านตัวอย่างของชาวคะฉิ่น เป็นแหล่งรวมกิจกรรม ข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าประจำเผ่า โดยชนเผ่าคะฉิ่นนิยมการเต้นรำ จะมีการแสดงตามวาระสำคัญต่างๆ เช่น งานมะหน่าว จะจัดช่วงเดือนธันวาคม ในทุกๆ 2 ปี สำหรับชนเผ่าคะฉิ่นนั้นได้ทำการอพยพมาจากประเทศพม่า ซึ่งในประเทศไทยจะมีอยู่ที่บ้านหนองเขียวแห่งเดียวเท่านั้น
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- น้ำตกศรีสังวาลย์ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง เป็นน้ำตกหินปูน อยู่ระหว่างถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณ กม.2 4
- โป่งน้ำร้อน โป่งอ่าง เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติอยู่ระหว่างถนนสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณหลัก กม.22
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว บ้านใหม่สามัคคี หมู่ 10 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 50170 โทร 0-5304-5600 หรือ 086-181-6675
12.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย
ปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรหมู่บ้านหนองหอย ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะมีการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร จากนั้นกรมป่าไม้ได้จัดส่งหน่วยงานร่วมกับหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ทรงเห็นว่าบ้านหนองหอยมีประชากรเพิ่มมากขึ้น และมีการขยายหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองหอยใหม่และหนองหอยเก่า อีกทั้งยังมีการปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก จึงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยขึ้น เพื่อให้มีบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะพืชเสพติด ครอบคลุมพื้นที่จำนวน 6 หมู่บ้าน 371 ครัวเรือน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าม้ง เผ่าลีซอ คนพื้นเมืองและจีนยูนนาน นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธลัทธิผี และศาสนาคริสต์ลัทธิผี ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
- ม่อนแจ่ม เป็นจุดชมวิวบนสันเขาสามารถมองวิวภูเขาได้ 360 องศา สามารถชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นและตก ทะเลหมอกช่วงฤดูหนาว มีบริการร้านอาหาร มุมนั่งจิบกาแฟ และชาสมุนไพรสด 7 ชนิด ด้านหน้าทางเข้าม่อนแจ่มมีร้านค้าของที่ระลึกชุมชนจำหน่ายสินค้าผลผลิตตามฤดูกาล งานหัตถกรรมชาวเขา และรถล้อเลื่อนไม้ (ฟอมูล่าม้ง)ให้นักท่องเที่ยวได้ลองขับ
- สถานีวิจัยพัฒนาพืชผักโครงการหลวง มีผักหลากหลายชนิดหมุนเวียนปลูกตามฤดูกาลเพื่อทำงานวิจัยเก็บข้อมูล เช่น อาติโช๊ค เรดโอ๊ค มะเขือเทศโครงการหลวง พืชสุมนไพร และผักไฮโดรโพนิคส์ปลูกโดยไม่ใช้ดิน
- แปลงผักแบบขั้นบันได เนื่องจากพื้นที่เป็นภูเขาลาดชัน ชาวบ้านก็เลยทำแปลงผักแบบขั้นบันไดเพื่อให้ง่ายกับการปลูกผัก ช่วงที่สวยที่สุดจะเป็นกลางฤดูฝนจนถึงกลางฤดูหนาว (สิงหาคม-ธันวาคม) มีผักหลากชนิด เช่น ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาว กะหล่ำปลี
- แปลงสาธิตไม้ผล
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง ที่ยังมีการปักผ้าลวดลายต่างๆ มีการละเล่นต่างๆ เช่น การเป่าแคน โยนลูกช่วง ยิงหน้าไม้ ลูกข่างม้ง แข่งล้อเลื่อนไม้ ช่วงเทศกาลงานปีใหม่ม้งจัดช่วงเดือน ธันวาคม-มกราคม ชาวบ้านจะแต่งกายชุดประจำเผ่าสวยงามมาร่วมกิจกรรม บริเวณลานหมู่บ้าน
- จุดชมวิวดอยม่อนล่อง มีลักษณะเป็นหน้าผามองไปไกลๆจะเห็นถึงเมืองลำพูนเป็นที่ตั้งของศาลขุนหลวงวิลังคะตามตำนาน
- แปลงสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน (ออกผลผลิตช่วง ธันวาคม-มีนาคม ) มีหลากหลายแปลงให้นักท่องเที่ยวได้สนุกเพลิดเพลินกับการเก็บ-ชิม สตรอเบอรี่สดๆ ตลอดจนมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสตรอเบอรี่จำหน่าย เช่น น้ำสตรอเอบรี่ สตรอเบอรี่อบแห้ง
- สวนอีเดน ตั้งอยู่ซ้ายมือก่อนถึงม่อนแจ่ม 1.5 กิโลเมตร เป็นสวนองุ่นไร้เมล็ดของเกษตรกรที่ปลูกในโรงเรือนมีกิจกรรมให้เก็บองุ่นเอง และจำหน่ายองุ่นสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากองุ่น เช่น น้ำองุ่นสด องุ่นอบแห้ง
กิจกรรมท่องเที่ยว
- เส้นทางเดินชมสวนบริเวณในสถานีฯ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ 50180
เบอร์โทรศัพท์ 081-950-9767
ที่พักม่อนแจ่ม 081-806-3993 หรือ 084-732-0466
13. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง
ปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมราษฎรในพื้นที่บ้านโป่ง ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของการประกอบอาชีพทำสวนเมี่ยงที่ตกต่ำ จึงทรงมีพระเมตตาพระราชทานค่าใช้จ่ายเป็นเงินประมาณ 300,000 บาท สำหรับการปลูกสร้างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง บนพื้นที่ 60 ไร่ในเขตหมู่บ้านปางบง โดยศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์สาธิตและส่งเสริมการเพาะเห็ด และกาแฟแก่เกษตรกรในพื้นที่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยสะเก็ดและอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ครอบคลุม 8 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีความลาดชัน เป็นป่าดิบเขาที่มีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำกวง แม่น้ำหวาน และแม่น้ำตอน
กิจกรรมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ชมแปลงวิจัยเกษตรภายในศูนย์ฯ เช่น หน้าวัว กล้วยไม้กระถาง เฟินหนัง เฟินนาคราช รองเท้านารี พลับ วนิลา ฯลฯ
- ชมสวนกาแฟอาราบิก้าพันธุ์ดีของโครงการหลวงและเกษตรกร รสนุ่น ชวนให้ลิ้มลอง และมีบริการกาแฟสดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบกาแฟ
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- การต้อนรับบายศรีสู่ขวัญ การแสดงฟ้อนเล็บ ดนตรีพื้นเมือง
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- เส้นทางเดินป่าพิชิตยอดเขาภูลังกาหลวง ที่มีความสูงถึง 2,031 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีพรรณไม้ป่า กล้วยไม้ นกหลายชนิด
- จุดชมวิวยอดดอยลังกา
- น้ำตกเทพเสด็จ เป็นน้ำตกสูง 80 เมตร มีหลายชั้น สามารถลงเล่นน้ำได้
- ม่อนพระฤาษี เป็นแหล่งรวมสมุนไพรพื้นบ้านที่มีตามธรรมชาติ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง หมู่บ้านปางบง หมู่ที่ 1 ตำบลเทพเสด็จ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 50220
โทร 0-5331-8338, 081-783-1208
14. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง
ปี พ.ศ.2522 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ก่อตั้งขึ้นบนพื้นที่ 10 ไร่ โดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและประสานงาน ส่งเสริมการปลูกพืชให้เพียงพอแก่ความต้องการของคนในท้องถิ่น หาพันธุ์พืชชนิดใหม่ทดแทนฝิ่น ส่งเสริมการทำการเกษตรถาวร เน้นการปลูกไม้ผลเมืองหนาว ปลูกพืชระยะยาว และพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้มีมาตรฐานทางสังคมที่ดีขึ้น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง ครอบคลุม 17 หมู่บ้าน 1,061 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้งและกะเหรี่ยงซึ่งอยู่อาศัยก่อตั้งหมู่บ้านมานานกว่า 50 ปี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน พื้นที่ราบอยู่ตามหุบเขา ต้นน้ำสายสำคัญไหลผ่าน คือลำน้ำแม่หยอดและลำน้ำปางเกี๊ยะ อุณหภูมิเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส
กิจกรรมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ชมแปลงปลูกมันฝรั่ง แครอท อะโวกาโด
- ชมแปลงสาธิตกาแฟอาราบิก้า
- ชมแปลงสาธิตองุ่นไร้เมล็ด
- ชมแปลงสาธิตพืชผัก เช่น มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ฯลฯ
- ชมไร่ลิ้นจี่นอกฤดูกาลของเกษตรกรในพื้นที่
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง บ้านม้งที่อยู่รวมกันประมาณร้อยกว่าคนในหลังเดียว
- การละเล่นของชาวเขา เช่น ลูกข่างไม้ เป่าแคนม้ง โยนลูกช่วง ตีลูกข่าง ล้อเลื่อนไม้ ฯลฯ
- ปีใหม่ม้ง จัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม
- ปีใหม่กะเหรี่ยง จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
- พิธีกินข้าวใหม่ของชนเผ่ากะเหรี่ยง จัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง บ้านปางอุ๋ง ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ 50270 โทร 0-5331-8326, 086-922-3403
15.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง
ดิมเป็นหน่วยย่อยของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง แล้วแยกออกมาก่อตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง เดือนเมษายน พ.ศ. 2550 บริเวณหมู่บ้านผาตั้ง บนเทือกดอยผาหม่น แนวแบ่งเขตไทยกับลาว มีพื้นที่รับผิดชอบดำเนินงาน 6,471 ไร่ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน 664 ครัวเรือน
กิจกรรมการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวเชิงเกษตร
- ชมแปลงผลสดของศูนย์ฯ และเกษตรกร เช่น บล็อคโคลี แรดิชชิโอ ถั่วลันเตาหวาน กะหล่ำม่วง ฯลฯ
- ชมแปลงไม้ผล เช่น พีช พลับ บ๊วย เคปกูสเบอร์รี่ ฯลฯ
- ศูนย์ส่งเสริมเกษตรที่สูงดอยผาหม่น ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเชียงรายเพราะมีการปลูกดอกไม้เมืองหนาวสวยๆ ให้ชมอย่าง ทิวลิป และลิลลี่
การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้ง จีนยูนนาน เย้า
- ประเพณีปีใหม่ม้ง
- ประเพณีตรุษจีนของเย้าและจีนยูนนาน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- ดอยผาตั้ง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,800 เมตร เป็นจุดชมวิว ไทย-ลาว เป็นที่ชมทะเลหมอก และช่วงเดือนมกราคมจะมีต้นนางพญาเสือโคร่ง (ซากุระดอย) สีชมพูบานเต็มต้นตลอดสองข้างทาง
- จุดชมวิวผาบ่อง (ประตูสยาม) โพรงหน้าผาเป็นรูขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินผ่านไปได้ ซึ่งจะเห็นวิวที่ราบและเทือกเขาของประเทศลาว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย 57310
โทร 053-163-308, 081-882-7477
16. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มเป็นโครงการหลวงเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ซึ่งสภาพพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ความโดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้นอกจากเป็นแปลงสาธิตในศูนย์ฯแล้ว ยังมีเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณีของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่น่าสนใจ โดยใน ปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านพระบาทห้วยต้ม ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวเขา ทรงมีพระราชดำริว่า “หมู่บ้านแห่งนี้ขาดแคลนที่ทำกิน ชาวบ้านเป็นโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะเด็กๆ และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้อพยพมารวมกันอยู่เช่นนี้เป็นผลดีในการหักล้างทำลายป่า ลดพื้นที่ปลูกฝิ่นทางอ้อม จะได้ไม่ไปรับจ้างชาวเขาเผ่าอื่นอีกด้วย” จากนั้นทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้ารับหมู่บานพระบาทห้วยต้มอยู่ในการดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้มตั้งอยู่ มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน โดย 8 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บริโภคอาหารมังสาวิรัติ ได้แก่ กะเหรี่ยงโปว์และกะเหรี่ยงสะกอ
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
- แปลงสาธิตการปลูกมะม่วง ช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน และ เสาวรส มีผลผลิตตลอดปี
- การปลูกองุ่นในโรงเรือน เดือน พฤษภาคม และ เดือนพฤศจิกายน แปลงปลูกผักตามฤดูกาล ได้แก่ มะระหยก มะระขาว พริกเม็กซิกันเผ็ด คะน้ายอด และการปลูกผักอินทรีย์ในโรงเรือน
กิจกรรมท่องเที่ยว
- การสรงน้ำพระธาตุ จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 (ประมาณเดือนมิถุนายน) ของทุกปี เป็นการขอขมารอยพระพุทธบาทและครูบาทุกพระองค์ ตอนเช้าจะมีการทำบุญตักบาตร และเวลา 13.00 น. จะทำพิธีสรงน้ำรอยพระพุทธบาท โดยจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยใส่ในรางไม้ไผ่ให้ไหลลงรอยพระพุทธบาทและสรงน้ำรูปปั้นจำลองพระเกจิอาจารย์ ส่วนชาวบ้านก็จะตักเอาน้ำจากรอยพระพุทธบาทและน้ำที่ได้จากการสรงครูบาทุกพระองค์ นำไปพรมศีรษะเป็นน้ำพระพุทธมนต์และนำกลับบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว
- ทำบุญตักบาตร ไหว้พระและเวียนเทียน ในวันสำคัญ เช่น วันพระ เข้าพรรษา ออกพรรษา ทำบุญทอดกฐิน
- เปลี่ยนผ้าครูบา ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม และพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
- ชมการสร้างบ้านแบบโบราณและวิถีชีวิต ณ บ้านโบราณน้ำบ่อน้อย เรียนรู้งานด้านหัตถกรรม การปลูกฝ้าย ปั่นฝ้าย การย้อมสี การทอผ้า และการจักสานไม้ไผ่ กิจกรรมนำชมหรือแนะนำการท่องเที่ยว และกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นประวัติชุมชน การตั้งถิ่นฐาน (ให้ข้อมูลชุมชนโดย มัคคุเทศก์ท้องถิ่น)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม บ้านผาลาด ตำบลนาทราย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110
โทรศัพท์ 0-5351-8059 หรือ 083-324-3063 คณะกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนพระบาทห้วยต้ม
คุณสุรีพร พงศากมล 087-185-6171
17.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า
ปี พ.ศ. 2530 มูลนิธิโครงการหลวงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าขึ้น เริ่มต้นโดยกรมพัฒนาที่ดินดำเนินการบุกเบิกพื้นที่ จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ จัดสรรพื้นที่ทำมาหากินให้แก่ราษฎร จากนั้นส่งเสริมให้ปลูกไม้ผลเมืองหนาวศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า สูงจากระดับน้ำทะเล 640 เมตร พื้นที่รับผิดชอบ 22,505 ไร่ ประกอบด้วยชาวเขาเผ่าเย้าและม้ง ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะพื้นที่เป็นเนินเขาและภูเขาสูง มีลำน้ำสายสำคัญ คือ ลำน้ำแม่คะ และลำน้ำเงิน
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
- ชมแปลงสาธิตการปลูกผักในโรงเรือน ได้แก่ พริกหวาน, มะเขือเทศโทมัส, คะน้อยอด, คะน้าฮ่องกง, เบบี้ฮ่องเต้ แปลงสาธิตการปลูกไม้ผล ได้แก่ เสาวรสหวาน, แมคคาดีเมีย, อะโวคาโด, มะม่วงนวลคำ, เคฟกูสเบอรรี่
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- ชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) ที่บ้านปางค่าใต้ มีการฉลองปีใหม่เย้าตรงกับช่วงตรุษจีน ชาวบ้านจะแต่งกายชุดประจำเผ่า สวมเครื่องประดับเงินงดงามร่วมชุมนุมกัน มีการนำพาสปอร์ตที่ยาวที่สุดในโลก สมัยราชวงศ์กวางสีมาให้ชม ปัจจุบันมีการพิมพ์พาสปอร์ตจำลองไว้ที่อาคารวัฒนธรรมชุมชน
- ชมวิถีชีวิตชนเผ่าม้งที่บ้านสิบสองพัฒนา
- วนอุทยานภูลังกา เป็นภูเขาสูงชันอยู่ใน เทือกเขาสันปันน้ำ วางตัวอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 900-1,720 เมตร มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง โดยสถานที่ท่องเที่ยววนอุทยานภูลังกาแห่งแรกที่คุณไม่ควรพลาดไปเยือน คือ “ภูเทวดา” เป็นยอดดอยที่สวยงาม ยอดดอยภูลังกา ภูนม ทุ่งดอกโคลงเคลง ลานหินล้านปี ป่าก่อโบราณ เป็นจุดชมทะเลเมฆหมอก ดวงอาทิตย์ขึ้นลงและดอกไม้ป่าสวยงาม โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า 249 หมู่ 7 ตำบลผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา
โทรศัพท์ 0-5440-1023, 088-410-9089, อีเมล pk7019rpf@gmail.com
วนอุทยานภูลังกา โทร 081-883-0307
องค์การบริหารส่วนตำบลผาช้างน้อย โทร 0-5440-1100
18.ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ
ก่อตั้งขึ้นปี พ.ศ. 2528 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง จากการรับสั่งให้เจ้าหน้าที่เดินทางสำรวจสภาพพื้นที่ ซึ่งมีชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ด้วยการถางพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่นและพืชอื่นๆ แผนพัฒนาจึงได้ถูกกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวเขาด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทนฝิ่น โดยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แตง มีพื้นที่รับผิดชอบ 17 หมู่บ้าน 451 ประชากรประกอบด้วยคนพื้นเมืองและเผ่าม้ง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน ที่ราบมีน้อยมาก
กิจกรรมการท่องเที่ยว
จุดท่องเที่ยวในศูนย์
- แปลงส่งเสริมไม้ดอกศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ได้แก่ แปลงปลูกดอกซิมบิเดี้ยม กล้วยไม้รองเท้านารี กล้วยไม้ฟ้ามุ้ย ไม้ใบวานิลลา บ้านสามสบ บ้านเมืองก๋าย บ้านม่อนเงาะ
- แปลงส่งเสริมปลูกพืชผัก ได้แก่ ฟักทองญี่ปุ่น หอมญี่ปุ่น กระเทียมต้น กะหล่ำหัวใจ บ้านผาหมอน (กิ่วป่าหอบ)
- แปลงปลูกชาจีน กาแฟ บ้านปงตอง บ้านออบ บ้านก๋ายน้อย และบ้านเมืองก๋าย
- แปลงปลูกไม้ผล บ้านกิ่วป่าหอบ บ้านม่อนเงาะ บ้านเมืองก๋าย บ้านออบ บ้านเหล่า-ห้วยน้ำเย็น และบ้านสบก๋าย
จุดท่องเที่ยวชุมชน
- หมู่บ้านเหล่าพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว ชมวิถีชีวิตชาวพื้นเมือง การเก็บใบมี่ยง หมักเมี่ยง แบบภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม เพราะคนเหนือที่สูบบุหรี่ขี้โยจะกินเมี่ยงเพื่อลดความฉุนของยาสูบ จนกลายเป็นธรรมเนียมในสมัยก่อน เวลาไปเยี่ยมบ้านใครจะมีถาดเมี่ยงไว้ต้อนรับ
- จุดชมวิวดอยม่อนเงาะ จากลานจอดรถเดินเท้าไปอีก 300 เมตรก็จะพบกับวิวสวยงามของชั้นเขาแบบ 360 องศา สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,400 เมตรเป็นจุดชมวิวพระอาทิพย์ขึ้น-ตก วิวทะเลหมอกที่สวยงาม หน้าผามีหินงอกออกมาลักษณะคล้ายนางเงือก ชาวบ้านเรียกกันว่าเงือกผา
- หมู่บ้านม้งม่อนเงาะ ชมอดีตบ้านชาวเขาเผ่าม้งที่มีผมยาวที่สุดในโลก ได้บันทึกในกินเนสบุ๊ค ด้วยความยาว 5 เมตร สาเหตุที่ต้องไว้ผมยาวเพราะว่าเคยตัดผมแล้วทำให้เจ็บป่วย จึงไว้ผมยาวตลอด
- ไร่ชาสวนลุงเดช เกษตรกรดีเด่นที่ปลูกชาจีนและทำการเกษตรแบบผสมผสาน เรียนรู้ขั้นตอนการปลูกชา ชิมชา
- หมู่บ้านสบก๋าย หมู่บ้านท่ามกลางป่าเขาสายน้ำ เป็นจุดล่องแพยาง แพไม้ไผ่ในลำน้ำแม่แตงชมวิวธรรมชาติป่าเขาลัดเลาะโขดหิน ระยะทาง 4 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ติดต่อล่องแพได้ที่ 089-4337880
กิจกรรมท่องเที่ยว
- เดินชมธรรมชาติเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่าง ๆ มีไกด์ท้องถิ่นพานำชม
- การปั่นจักยานโดยนักท่องเที่ยวนำจักรยานมาปั่นได้ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ทางขึ้นลงเนินเป็นการออกกำลังกาย
- ล่องแพที่บ้านสบก๋าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
โทรศัพท์ 081-025-1002, อีเมล mg2009rpf@gmail.com
กลุ่มโฮมสเตย์บ้านเหล่าพัฒนา 087-183-6415 กลุ่มท่องเที่ยวบ้านม่อนเงาะ 085-621-8991
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก http://www.thairoyalprojecttour.com/?cat=7