“ปาก” เป็นอวัยวะส่วนที่สำคัญอย่างมากในร่างกายมนุษย์ ปากนอกจากจะใช้พูดคุย ออกเสียงเพื่อติดต่อสื่อสารแล้ว ช่องปากยังเป็นส่วนเริ่มต้นของระบบย่อยอาหาร อาหารจะผ่านด่านย่อยด่านแรกที่ช่องปาก โดยมีฟันเป็นเครื่องตัดแบ่งอาหารเป็นชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย บดอาหารให้ละเอียด โดยขากรรไกรบนและล่าง เคลื่อนขยับอย่างเป็นจังหวะ ลิ้นจะมีส่วนช่วยในการรับรสและผลักอาหารเข้าหาตำแหน่งที่บดเคี้ยวได้ น้ำลายที่ขับออกมาจะมีเอ็มไซม์ช่วยย่อยที่จะเริ่มย่อยเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาล และยังช่วยให้อาหารจับเป็นกลุ่ม ก่อนกลืนเข้าสู่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และสำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ ก่อนขับออกมาเป็นอุจจาระ ปากจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญมากต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ในการกินอาหารนั้น เราทุกคนควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด และเป็นชิ้นเล็กมากเพื่อให้กระเพาะอาหารทำงานไม่หนักจนเกินไป อาหารชิ้นใหญ่นั้น หากตกไปถึงกระเพาะอาหาร น้ำย่อยจากกระเพาะก็จะย่อยอาหารได้ไม่หมดทั้งชิ้น เมื่อทำการส่งต่อไปยังลำไส้เล็ก ก็จะทำให้การดูดซึมสารอาหารไม่ดี และเมื่ออาหารมาถึงลำไส้ใหญ่ ก็ขับถ่ายออกจากร่างกายได้ลำบาก คนโบราณจึงสอนให้เราทานข้าวช้าๆ ไม่ทานมูมมาม เพื่ออาหารจะได้ละเอียดมากๆ และย่อยง่ายนั่นเอง
ในช่องปากนั้น ฟันเปรียบเสมือนกระดูกบดเคี้ยวที่แข็งแรงที่สุดในร่างกาย ฟันทำหน้าที่บด ตัด ขยี้อาหารให้แตก แหลก เป็นชิ้นเล็กๆ แต่ฟันก็จะมีการสึกกร่อนได้ หากผ่านการใช้งานในช่องปากเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้นการดูแลรักษาฟันให้แข็งแรง ทนทาน ไม่ใช้งานผิดหน้าที่ ก็จะทำให้เรามีฟันใช้ตลอดชีวิต ฟันในร่างกายนั้น ไม่ควรนำไปใช้ผิดหน้าที่ ได้แก่ ไม่ใช้กัดแทะของแข็งๆ ตั้งแต่การกัดน้ำแข็ง กัดกระดองปู กัดเล็บ กัดปลายปากกา หรือเปิดขวดน้ำอัดลม ต้องตระหนักว่าฟันมีใช้เพื่อเคี้ยวอาหารตามปกติ เราจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งเกินปกติด้วย ได้แก่ กระดูกอ่อน ข้อไก่ทอด ปลาหมึกตากแห้ง ปลากรอบที่แข็งๆ เนื้อติดเอ็นหรือเนื้อแดดเดียว อาหารอะไรที่เราต้องเคี้ยวจนเมื่อยกรามทุกชนิด เราควรหลีกเลี่ยงทั้งหมด
ยังมีอาหารที่อ่อน แต่เป็นอันตรายต่อเคลือบฟันอย่างมาก อาหารชนิดต่างๆ นี้ หากทานพอเหมาะ ฟันก็จะมีเวลาในการปรับสภาพคืนเป็นปกติได้ แต่หากทานมากๆ ติดต่อกัน ประเภททานแบบไม่ยั้งคิด ก็มีผลต่อฟันได้ อาหารชนิดนี้ มักจะเป็นอาหารชนิดที่มีความเป็นกรด ซึ่งให้รสชาติเปรี้ยวนั่นเอง ได้แก่ น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว น้ำส้ม ผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ มะม่วง มะเฟือง มะขามเปรี้ยว สัปปะรด เสาวรส หากทานติดต่อกันนานๆ ก็มีผลละลายเคลือบฟันได้ ผมมักเจอคนไข้ที่มีอาการเสียวฟัน เมื่อถึงฤดูกาลผลไม้รสเปรี้ยว พอเลิกทาน อาการก็ดีขึ้น แต่การทานต่อเนื่องกันนานๆ ติดต่อกันหลายๆ ปี ก็จะมีผลเสียหายต่อฟันอย่างถาวรได้ ปัจจุบันหลายคนนิยมทานสูตรอาหารล้างพิษ ได้แก่ ทานน้ำส้มสายชูล้างท้อง ทานมะนาวลน้ำหนัก เรามักพบว่า ฟันจะถูกทำลายไปอย่างมาก ดังนั้นหมอจึงอยากจะเตือนให้ทุกท่านที่ทานอาหารเป็นกรดนี้ บ้วนน้ำมากๆ ล้างความเป็นกรดออก
เพื่อป้องกันอันตรายต่อฟัน และไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังทานอาหารสูตรพิเศษนี้ นอกจากนี้ อาหารไทยที่ใส่มะนาวเยอะๆ เช่น ส้มตำ ต้มยำ ต้มโคล้ง ก็ต้องระมัดระวังเช่นกัน หลังทาน ก็ควรบ้วนน้ำตามเยอะๆ อาหารดองเปรี้ยว แช่อิ่ม ตากแห้งแบบบ๊วยจี้ดจ้าด ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือทานแบบมีสติ อาหารเหล่านี้ เป็นอาหารทำลายเคลือบฟันอย่างดี น้ำอัดลม น้ำโซดา และน้ำดื่มเพื่อคนออกกำลังกายหลายชนิดก็มีความเป็นกรดสูง กรดต่างๆ เหล่านี้ ทำลายเคลือบฟันได้อย่างมาก ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
การดูแลรักษาฟันในช่องปากนั้น ก็ทำเพียงแค่แปรงฟันให้ถูกวิธี 2 เวลา คือเวลาเช้าและก่อนนอน และต้องใช้ไหมขัดฟันทุกวันเพราะไหมขัดฟันจะช่วยกำจัดเศษอาหารระหว่างซอกฟัน การแปรงฟันที่ถูกวิธีทำได้โดยการแปรงฟันให้ครบทุกด้าน ขยับขนแปรงสั้นๆ ฟันบนให้ปัดลง ฟันล่างให้ปัดขึ้น ต้องแปรงฟันให้ครบทุกซี่ โดยแบ่งเป็น 6 ส่วน ได้แก่ ฟันหน้าบน ฟันหน้าล่าง ฟันหลังบนด้านขวา ฟันหลังบนด้านซ้าย ฟันหลังล่างด้านขวา ฟันหลังล่างด้านซ้าย ทั้งด้านริมฝีปากและด้านลิ้น ซึ่งใช้เวลาในการแปรงแต่ละตำแหน่งประมาณ 10 ครั้ง รวมเวลาการแปรงฟันทั้งสิ้นประมาณ 5 นาที หากไม่แปรงฟัน ฟันก็ผุและเป็นโรคเหงือกได้ การแปรงฟันผิดวิธีเกิดจากการลากแปรงในขณะแปรงฟันเป็นระยะยาวเกินไป ทำให้เกิดคอฟันสึกและเหงือกร่นได้
น้ำลายในช่องปาก เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการป้องกันโรคในช่องปากต่างๆ ได้แก่ โรคเหงือก โรคฟันผุ โรคติดเชื้อต่างๆ ทั้งนี้ในน้ำลายจะมีเชื้อในช่องปากที่ไม่ทำอันตรายต่อตนเอง ซึ่งสร้างสมดุลให้มนุษย์ไม่มีโรค น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์บางชนิด อาจฆ่าเชื้อที่ดีในช่องปากและทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อในช่องปาก หากใช้ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ เราจึงควรเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีสารแอลกอฮอล์ ในน้ำลายยังมีแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมฟัน ได้แก่ แคลเซียมและฟอสเฟต หากเรามีน้ำลายเยอะ จะดีต่อเหงือกและฟัน ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดภาวะน้ำลายบูด เพราะน้ำลายที่ไหลออกมามากก็จะถูกกำจัดโดยการผสมกับอาหารและกลืนลงสู่กระเพาะอาหารต่อไป ในคนสูงอายุ ต่อมน้ำลายจะฝ่อ จะเกิดภาวะน้ำลายน้อยได้ อาหารบางชนิดเช่น ชา กาแฟ ก็ทำให้น้ำลายน้อย ยาบางชนิด เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้หวัด ยาละลายเสมหะบางชนิด ยาลดอาการซึมเศร้า ยาคลายเครียดต่างๆ ก็ทำให้น้ำลายน้อยได้ จากงานวิจัยพบว่า คนที่มีน้ำลายน้อย จะเกิดโรคฟันผุได้สูงมาก เราจึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้น้ำลายในช่องปากน้อย คนที่พูดมากๆ หรือมีอาชีพที่ต้องพูดมากๆ ก็ต้องทานน้ำให้บ่อย จิบน้ำบ่อยๆ มิฉะนั้น ก็จะเกิดภาวะน้ำลายน้อยได้เช่นกัน
การสูบบุหรี่มีผลเสียต่อร่างกาย และมีผลเสียต่อเหงือกอย่างมาก ทำให้ปากเหม็น และส่งเสริมให้เกิดมะเร็งในช่องปากได้ เราจึงควรหลีกเสี่ยงการสูบบุหรี่
กรณีที่เราเคยอุดฟันกับทันตแพทย์ แล้วที่อุดฟันเก่าหลุดไป เราต้องไม่ทิ้งรูเปิดไร้วัสดุอุดนั้น ในช่องปาก ควรจะไปอุดฟันใหม่ทันที เพราะรูเปิดนั้นจะอยู่ใกล้โพรงประสาทฟันมาก ในเวลาเพียงไม่นาน ก็อาจผุทะลุโพรงฟัน จนต้องรักษารากฟันได้ อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หน้าที่ของทันตแพทย์ คือการช่วยรักษากรณีที่คนไข้มีปัญหาในช่องปาก ได้แก่ แก้ไขฟันที่ผุ แตกหัก กรณีไม่มีฟัน กรณีเป็นโรคเหงือก กรณีฟันอยู่ในตำแหน่งไม่ดี มีเนื้องอกในช่องปาก เพื่อให้เราสามารถใช้ “ปาก” ในการบดเคี้ยวอาหารได้ดี สุขภาพแข็งแรง ในผู้สูงอายุที่มีฟันน้อย จะบดเคี้ยวอาหารได้ไม่ดี ในงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุจะเป็นโรคขาดสารอาหารได้มาก ทั้งนี้หากมีฟันที่ดี สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดี ภาวะขาดสารอาหารก็จะลดน้อยลงได้ครับ
แล้วพบกันใหม่ครับ
Author By : รศ. ทพ. เฉลิมพล ลี้ไวโรจน์